บัณฑูร จิระวัฒนากูล
เป็นทหาร...เปลี่ยนชีวิต
ด้วยความที่ไม่ได้เกิดมาบนกองเงินกองทอง ทำให้ชีวิตในวัยเด็กของคุณบัณฑูรไม่ได้สวยหรูเหมือนในเทพนิยาย คุณพ่อคุณแม่ของเขาประกอบอาชีพทำสวนผัก เขามีพี่น้องรวม 12 คน ชาย 5 หญิง 7 เมื่อตอนที่เรียนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ยังไม่ทันได้ขึ้นชั้น ก็ต้องลาออกจากโรงเรียนเสียก่อน เพราะต้องมาช่วยพ่อแม่ทำสวนผัก เขาทำหน้าที่เหมาซื้อผักตามสวนใกล้เคียงไปขายให้แม่ค้าที่ตลาด เพื่อที่จะได้เงินมาจุนเจือทั้งครอบครัว
“ตอนเด็กๆ บ้านผมอยู่ที่บางซื่อ ตอนนั้นไม่มีเงิน จะใช้เงินทำอะไรก็ต้องคิดให้ดี หลังจากทำสวนผักได้สักพัก เงินทางบ้านก็ไม่พอใช้ คุณพ่อผมเลยตัดสินใจย้ายไปเชียงใหม่ ก็เหลือผมกับแม่ ตอนนั้นจำได้เลยว่าอายุแค่สิบกว่าขวบ ต้องไปเร่ขายอ้อยควั่นกำละสลึงที่สนามหลวง ตอนนั้นรู้สึกว่าจะเป็นงาน 25 พุทธศตวรรษ แล้วพอย่างเข้าปี พ.ศ.2504 ผมก็ตัดสินใจย้ายตามพ่อไปอยู่ที่ฟ้าฮ่าม อยู่ที่นั่นก็ค้าขายเหมือนเดิม ตอนเช้าไปซื้อของมา ซื้อมาก็ขายไป ใช้ชีวิตอยู่แบบนี้ ยังไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ”
จากเด็กที่เรียนไม่จบ ป.3 ไม่ว่าใครมองอนาคตตัวเองก็คงคิดว่าไปได้ไม่ไกล แต่สำหรับคุณบัณฑูรแล้ว ด้วยใจที่ทนและสู้กับทุกสภาวะที่เกิดขึ้น ชีวิตเขาก็มาถึงจุดเปลี่ยนครั้งแรก ด้วยเหตุที่ชายไทยทุกคนเมื่ออายุถึงเกณฑ์ก็จะต้องเข้ารับใช้ชาติด้วยการเกณฑ์ทหาร ทำให้เขาได้มีโอกาสได้ไปเป็นทหารที่จังหวัดเชียงใหม่ ค่ายกาวิละ โดยเข้าประจำการถึง 2 ปีเต็ม ไม่น่าเชื่อว่าวันนั้นทำให้เขามีทุกวันนี้
“ตอนนั้นถ้าผมมีเงินสัก 1,000 บาท ผมก็อาจจะไม่ต้องเป็นทหาร แต่พอไม่มีก็เลยต้องไปจับใบดำ ใบแดง ผมอยู่ที่ตำบลฟ้าฮ่าม ตอนนั้นเป็นตำบลท้ายๆ ที่เขาคัดเลือกกัน ก็มีอยู่สิบกว่าคน เขาขอ 2 คน คนที่หนึ่งก็เริ่มจับ ก็เป็นใบดำ สอง สาม สี่ ห้า คนที่ตามมาเป็นดำหมด จนถึงผมเป็นคนที่สิบ แดง ผลัด 406 ส่วนคนที่สอง ไม่ต้องจับ เพราะทุกคนจับใบดำหมด เหลือคนสุดท้าย ไม่ต้องลุ้น ผมก็ไปเป็นทหาร ช่วงชีวิตตอนนั้นผมทำทุกอย่าง ใครสั่งให้ทำอะไรผมทำหมด ฝึกทุกอย่าง แม้กระทั่งหนีไปเที่ยวแล้วโดนจับได้ โดนลงโทษหนัก ผมก็เคยมาแล้ว”
และเพราะการได้มีโอกาสใช้ชีวิตแบบทหารนั่นเองที่ทำให้คุณบัณฑูรได้เรียนรู้ถึงระเบียบวินัย เรื่องของความสะอาด ความอดทน การทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน รวมทั้งเรื่องความสามัคคีในการอยู่กับคนหมู่มาก และจากจุดนี้เมื่อวันที่ทำธุรกิจ เขาก็ใช้สิ่งที่เรียนรู้จากการเป็นทหารมาประยุกต์ใช้ในรูปแบบของเขาเอง
“การเป็นทหาร สิ่งหนึ่งที่ต้องทำก็คือห้ามปฏิเสธ ถ้าจะปฏิเสธจะถูกถามว่าทำหรือยัง ถ้ายัง ไปทำก่อนแล้วค่อยมาบอก ตื่นเช้า เก็บมุ้ง เข้าห้องน้ำ แปรงฟัน ใส่รองเท้า ทำทุกอย่างต้องเสร็จภายใน 10 นาที คุณลองคิดดูสิ แค่ใส่รองเท้าก็หมดเวลาแล้ว แต่ถามว่าพอเอาเข้าจริงทำได้ไหม ก็ต้องทำให้ได้ ระหว่างการฝึกผมก็เข้าห้องเรียนไปด้วย ผมเป็นทหารอยู่ถึง 2 ปีเต็ม
“ชีวิตผมได้เรียนรู้อะไรจากการเป็นทหารเยอะมาก หลังจากที่ปลดประจำการก็ออกมาค้าขาย ซื้อส้มจากไร่คุณสุวิมลที่ฝางไปขาย หรือไม่ก็ซื้อจากวังน้ำค้างบ้าง พอหมดหน้าส้มก็ไปเป็นลูกจ้าง ย่างเข้าปี พ.ศ.2516 เริ่มมีการทำปลาทะเลแช่แข็งมาขายในจังหวัดเชียงใหม่ ผมก็ว่าน่าจะอนาคตไกล ไปได้ดี ก็เลยรวบรวมเงินจากพี่น้องทำปลาทะเลแช่แข็งขายสด และแปรรูป โดยใช้การนึ่ง
“จากขายที่เชียงใหม่ เชียงราย ก็ขยายมาที่อุบลราชธานี ขายดีมาก ขายวันหนึ่ง 6,000-7,000 กิโลกรัม พอขายดีก็ไปเปิดสกลนคร ขายดีอีกก็ให้ญาติมาช่วยขาย ผมก็ไปซื้อปลา ซื้อที่ชุมพรบ้าง ซื้อที่มหาชัยบ้าง ปลาจากสุราษฏร์ธานีก็มี จากปัตตานีเราก็ไปซื้อมา ผมก็เช่าห้องเย็น เพราะขายทีเป็นหมื่นๆ โล แล้วก็ทำต่อเนื่องไปนครพนม มุกดาหาร ทำตอนนั้นไม่มีเวลานับเงินเลยนะ มีเงินเป็นปี๊บๆ ผมไปไหนก็ขับวอลโว่ ขับเบนซ์ มีทั้งเงิน มีทั้งรถ”
ไม่ถึง 3 เดือน...หมดตัว
ชีวิตของคุณบัณฑูรหลังรับราชการทหารเปลี่ยนไปเยอะมาก ทำมาค้าขายอะไรก็ดีไปหมด แต่เหมือนโชคชะตายังไม่หยุดเล่นตลก เพราะธุรกิจที่กำลังไปได้สวย กลับมีอันต้องล้มหมอนนอนเสื่อในช่วงเวลาเพียงไม่ถึง 3 เดือน เหตุการณ์ครั้งนั้นทำเอาเขาแทบหมดตัว
“ผมจะบอกให้ว่าถ้าคนเรามันจะเจ๊ง ไม่ถึง 3 เดือนมันก็เจ๊งได้ ผมหมดเนื้อหมดตัวเลย เหตุเพราะแค่หนังสือพิมพ์ลงว่าปลามีพยาธิ ตอนนั้นช่วงปี พ.ศ.2518 จากที่เคยขายได้เป็นหมื่นๆ โล กลับกลายเป็นว่าขายได้ไม่ถึงพันโล ปลาที่ซื้อไว้ในห้องเย็นสองสามล้านโล ขายไม่ได้เลย แล้วการที่ปลามันขายไม่ได้ มันไม่ได้จบแค่นั้น เพราะค่าเช่าห้องเย็นก็ยังต้องจ่าย ค่าปลาที่ซื้อมาก็ต้องจ่าย เงินเดือนพนักงานก็ต้องจ่าย รายจ่ายมันวิ่งเข้าหาไม่มีหยุด สรุปปลา 2-3 ล้านโลของผมถูกยึดหมด แถมยังเป็นหนี้องค์การอุตสาหกรรมอีกล้านกว่าบาท รถต่างๆ ที่ผมเคยขับ ทั้งเบนซ์ วอลโว่ ผมขายหมด มีกี่คันขายหมด เหลือแค่ปิ๊กอัพคันเดียว”
ชีวิตของคุณบัณฑูรในตอนนั้น แทบจะกลับมาเป็นเหมือนในวัยเด็กคือไม่มีเงิน แต่ด้วยต้นทุนความคิดที่เขายังไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา จึงตัดสินใจกลับไปตั้งหลักที่จังหวัดเชียงใหม่ และหันมาทำมาค้าขายด้วยการซื้อส้มมาและขายไปเหมือนเช่นเคย และด้วยวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกล พลังใจที่ไม่มีวันหมดของเขา ก็ทำให้เขาก้าวเข้าสู่การเป็นเจ้าของสวนส้มในที่สุด
“ผมกลับมาที่สวนส้มของคุณสุวิมล คุยกับเจ้าของสวนว่าผมไม่มีเงิน แต่คุณออกเงินให้ผมก่อน ผมเป็นคนดูแล เรื่องของดอกเบี้ยผมรับผิดชอบให้ ผมก็เริ่มต้นด้วย 66 ไร่ แล้วก็ทำไปเรื่อยๆ ขยายไปเรื่อยๆ พอขยายมาถึง 70-80 ไร่ ก็ไปทะเลาะกับชาวบ้านอีก เรื่องน้ำ ก็มีปัญหาอีก แต่ก็ผ่านพ้นไปได้ แล้วช่วงที่มาเปิดสวน ปี พ.ศ.2525 ผมก็เจอคนที่เคยปล่อยกู้ให้ผม โดยไม่ต้องมีหลักค้ำประกัน ตอนที่ผมทำธุรกิจห้องเย็น เขาถูกให้ออกจากราชการเพราะปล่อยกู้ผม ผมฟังแล้วก็น้ำตาไหลเลย ปีนั้นผมพอมีเงิน ผมก็เอาเงินไปใช้เขา ใช้หนี้องค์การอุตสาหกรรม ผมเขียนเช็กให้ใบละ 50,000 บาท 4 ใบ ใบสุดท้ายไม่มีเงิน เพราะผมหมุนไม่ทัน กว่าจะเคลียร์กันจบก็หลายขั้นตอน ชีวิตผมก็ยังมีเรื่องมีราวอื่นๆ อีก เรียกได้ว่าชีวิตตอนนั้นมีแต่ปัญหา แถมศาลสั่งให้ล้มละลาย เพราะไม่มีเงินมาจ่ายหนี้ แต่ก็ยังไม่ทันได้ล้มละลาย เพราะมีคนมาช่วยไว้ทัน”
เรือใบชุบชีวิตสวนส้ม
จุดหนึ่งที่ทำให้ชีวิตของคุณบัณฑูรประสบความสำเร็จได้มีสวนส้มธนาธรให้เราได้เป็นที่รู้จักกัน ก็คงต้องย้อนกลับไปวันที่เขาประสบปัญหาหนักๆ และมีโอกาสได้รู้จักกับเถ้าแก่โรจน์ คุณประวิทย์ โรจนเพียรสถิต ประธานกรรมการบริษัทโรจน์กสิกิจเฟอร์ติไลเซอร์ จำกัด โดยจุดเริ่มต้นของทั้งคู่นั้น เป็นการเริ่มต้นจากการเป็นคู่ค้าทางธุรกิจ ซึ่งเถ้าแก่โรจน์เปิดโอกาสให้คุณบัณฑูรได้เป็นตัวแทนค้าปุ๋ย
“ช่วงที่ผมทำสวนส้ม ก็อยากจะใช้ปุ๋ยดี ก็มีคนแนะนำให้ใช้ปุ๋ยตราเรือใบไวกิ้งของเถ้าแก่โรจน์ ผมก็ซื้อแค่ 40 กระสอบ ตอนนั้นบริษัทปุ๋ยอยู่ที่ปากคลองตลาด เมื่อเขารู้ว่าผมจะไปขายที่เชียงใหม่ เขาก็เลยให้ผมเป็นตัวแทนที่เชียงใหม่ พอเก็บเกี่ยวส้มได้ ผมก็นำไปขยายต่ออีก เอาเงินมาทำสวน ผมลุยต่อ ก็หมุนเงินเวียนเปลี่ยนไปทุกวัน พอเครดิตเริ่มดี ก็เริ่มกู้ธนาคารได้ แต่ก็มีอุปสรรคอีก เพราะมีข่าวว่าธนาธรบุกรุกป่าเป็นพันไร่ เขาเอาเฮลิคอปเตอร์มาจับเลยนะ แต่พอตรวจเช็กไป เรื่องนี้ผมไม่ผิด แต่ผมเสียเครดิตไปแล้ว ธนาคารไม่ปล่อยกู้
“ผมก็ไปหาเถ้าแก่โรจน์ยืมเงินเขามาอีก เขาก็โอนมาให้ พอถึงตอนจะคืนก็คืนไม่ได้ เพราะผมไม่มีคืน ธนาคารไม่ให้กู้ เช็กที่ผมจ่ายค่าปุ๋ยแกไป ก็เด้งอีก เถ้าแก่โรจน์ก็โทรมาให้ผมไปหา ไปถึงผมก็อธิบายไปว่าเกิดอะไรขึ้น เถ้าแก่บอกวันนี้ไม่ต้องกลับ พรุ่งนี้ให้ไปด้วยกัน ไปหาหมอดู
“ตอนนั้นผมรู้สึกว่าถึงไหนถึงกันแล้ว ไม่เกี่ยวกับเชื่อหรือไม่เชื่อ คือผมคิดแต่จะหาเงินอย่างไรให้จ่ายคนอื่นได้ครบ ตอนนั้นหมอดูบอกว่า คนๆ นี้ไม่เป็นไรนะ มีคนช่วยอยู่ เป็นผู้หญิง อ้วน ท้วม พอดูหมอเสร็จเถ้าแก่โรจน์ก็ไม่ให้ผมกลับ ให้ไปกับเถ้าแก่เนี้ย ไปธนาคารแห่งหนึ่ง ผมไปถึงตอนนั้นก็คุยเรื่องทั้งหมดให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางด้านการกู้เงินฟัง สำคัญตรงนี้คือ เถ้าแก่เนี้ยเขาเป็นผู้หญิง แล้วก็อ้วน ท้วมด้วย เขาก็ถามว่าผมจะเอาเงินเท่าไร ผมก็ขอเลย 65 ล้าน เพราะคิดมาตลอดอยู่แล้วว่า ถ้าเขาถามจะขอเท่าไร ใช้หนี้ให้หมดเลย แล้วเหลือส่วนหนึ่งเป็นทุนมาทำธุรกิจต่อ
“ตอนนั้นนะยอมรับเลยว่าถ้าไม่ได้มีคนมาช่วยผมตายแน่ๆ หลังจากนั้นยังไม่หมดนะ ตอนที่ผมไปขอกู้ธนาคารเพิ่ม ก็มีอีกธนาคารหนึ่งเขามายื่นข้อเสนอให้ผมกู้ เถ้าแก่โรจน์ก็บอกผมว่า ให้ผมคิดดีๆ นะ เพราะที่ผ่านมาธนาคารเดิมตอนผมลำบากเขาก็ช่วยมาตลอด ผมก็กลับไปคุยกับธนาคารเดิม ผมบอกตัวเลขไปเขาก็โอเค
“ปีแรกผมจ่ายคือต่อ 1 เหรียญ ก็ 25 บาท ปีที่สองจ่าย 28 คือตอนนั้นธนาคารที่ผมกู้เขาล้มแล้ว ธนาคารของรัฐฯ เขาก็เข้ามาดูแลแทน หนี้ผมก็ถูกโอนไป ตอนนั้นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ค่าเงินที่ต้องใช้คืนมันก็มากขึ้นกว่าเดิมเรื่อยๆ เพื่อนๆ หลายคนก็บอกให้ทำ NPL เถ้าแก่โรจน์เขาก็มาบอกว่า ห้ามผมทำ NPL นะ
“ปรากฏว่าเฮงจริงๆ พระเจ้าช่วย ปีนั้นส้มออกดอก ราคาดีด้วย ผมใช้หนี้หมดเลยร้อยกว่าล้าน กรรมการผู้จัดการเขามามองหน้าเลยว่าคนนี้ใช้ได้อย่างไร กู้ 25 ใช้ 48 แล้ว 3 ล้านเหรียญ ตอนนั้นผมดังเลยในวงการธนาคาร พอจ่ายหนี้หมด เครดิตผมก็ดี ทำให้ผมนึกถึงคำของเถ้าแก่โรจน์เลยว่าเขาพูดถูก คนที่ทำ NPL เวลาจะขอกู้เงิน ทำยากมาก พอผมไม่ทำตอนนี้มีแต่คนจะมาขอให้ไปกู้ เพราะว่าความซื่อสัตย์ต้องมาก่อน เถ้าแก่โรจน์เขาก็สอนเรามาตลอด
“เหตุผลหนึ่งที่ผมเชื่อฟังท่านมาตลอด เพราะสิ่งที่เถ้าแก่สอนเรามาตลอดเวลามันไม่มีผิดพลาด แล้วทำไมเราจะไม่ฟังเขา สิ่งที่เขาสอนมันดีเราก็ต้องยอมรับ ทุกวันนี้ได้เครดิตดีก็เพราะสิ่งที่เถ้าแก่สอน ทุกวันนี้ผมอยากได้ปุ๋ยเท่าไร ร้อยสองร้อยล้าน ไม่ต้องห่วงเขาส่งให้ ขอให้ผมเอาเท่านั้นเอง แล้วผมก็มีบ้านหลังหนึ่ง ชื่อบ้านโรจน์กสิกิจ คือผมติดเงินท่านแล้วยังไม่ได้จ่าย เถ้าแก่โรจน์ก็เลยบอกว่าไม่ต้องจ่ายไปสร้างบ้านให้หลังหนึ่ง เผื่อเอาไว้รับแขก”
ของแท้ต้องมีคนเลียนแบบ
ธุรกิจสวนส้มธนาธรเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง ใครที่ชื่นชอบการกินส้มจะต้องเคยได้ยินชื่อนี้อย่างแน่นอน แต่ด้วยธุรกิจที่ขยายไปอย่างกว้างไกลก็ทำให้เกิดปัญหารอบด้านอยู่พอสมควร หลายครั้งที่เขาถูกปองร้ายจากคนใกล้ตัว ทำให้ทุกวันนี้ภรรยาสั่งห้ามออกไปไหนดึกๆ คนเดียว ต้องมีคนติดตามไปด้วยทุกครั้ง
“ผมเคยเกือบถูกอุ้มมาแล้ว ครั้งนั้นผมทำเกี่ยวกับเรื่องขนส่งอยู่ ผมจับคนงานที่ไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดได้ ผมก็ไล่ออก เขาก็คงคิดแค้น ไปว่าจ้างคนมาเพื่อจะอุ้มผม แต่เวลาผ่านไป คนที่ถูกว่าจ้างเขาก็ยังไม่ลงมือสักที ผู้ว่าจ้างก็เลยทนไม่ได้ ไปอุ้มคนที่วานให้มาอุ้มผมแทน ตำรวจก็สืบคดีไป ก็รู้ว่าคนที่จะมาอุ้มผมเขารับเงินไปแล้ว แต่ยังไม่ลงมือ เขาก็เตือนให้ระวัง นั่นคือครั้งแรก ยังมีอีกสองครั้ง เป็นเพราะคนใกล้ตัวทำให้ผมรอดมาได้
“ชีวิตผมยังมีเฉียดตายอีกหลายอย่าง แต่ผมก็คิดว่าเราซื่อสัตย์กับเขา เขาไม่ซื่อสัตย์กับเราก็จบไป แล้วเขาจะดีกว่าเราแค่ไหน ถ้าเขาดีกว่าเราก็แล้วไป แต่ผมอยากจะบอกว่าคนที่ทำแบบนี้กับผมหรือใครก็ตาม สุดท้ายเขาดีกว่าเราตรงไหน เราอย่าไปอิจฉาหรืออะไรเขาเลย แต่ผมชอบคู่แข่งนะ แต่เป็นแข่งขัน ไม่ใช่แข่งฆ่า”
ในการทำธุรกิจหลายๆ ครั้ง การมีคู่แข่งถือเป็นการแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด แต่แนวคิดของคุณบัณฑูรนั้นไม่ใช่เลย เพราะเขาคิดว่าการมีคู่แข่งนั้นเป็นเรื่องดี เพราะจะได้เกิดการพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญ ถ้าไม่มีคู่แข่งกับสวนส้มธนาธร วันนี้ก็คงไม่มีส้มมีลาภให้เราได้ลองกิน
“เราต้องมีคู่แข่ง ถ้าไม่มีคู่แข่งมันก็อยู่แค่นั้น มันไม่เกิดการพัฒนาหรอก ถ้าวันนี้ไม่มีคู่แข่งนะ ส้มนัมเบอร์ 1 ก็จะไม่เกิดขึ้น ส้มสายน้ำผึ้งก็ไม่มี ส้มมีลาภก็ไม่มี ก็มีแต่ส้มเขียวหวานมาเป็นสิบๆ ปี คือคู่แข่งต้องแข่งกันทำ ถ้าสู้ไม่ได้ก็ต้องยอมรับ แล้วกลับมามองตัวเองว่าจุดบอดอยู่ตรงไหน แล้วเราก็ต้องไปศึกษาเพื่อสู้เขาให้ได้ ยิ่งถ้าเกิดว่าวันนี้เราชนะเขาไป ก็อย่าไปชะล่าใจ เราต้องพัฒนาต่อ เพราะถ้าเราหยุดเราก็โดนแซงได้
“ผมไม่กลัวคู่แข่ง เราต้องมองว่าคู่แข่งคือการทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ คุณลองคิดดูสิว่าเมื่อก่อนสักสิบห้าปียี่สิบปีที่แล้ว มือถือใหญ่โตอันละเจ็ดแปดหมื่นบาท ปัจจุบันเห็นรูปด้วย เล่นเน็ตได้ด้วย เราต้องมีการแข่งขันกัน โลกถึงจะเจริญ ประเทศถึงจะก้าวหน้า”
ปัญหาสำคัญในการทำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอีกอย่างหนึ่งก็คือ การมีสินค้าเลียนแบบ เพราะการเลียนแบบนั้นเขาก็แค่ทำตาม แต่คุณภาพอาจจะไม่ได้อย่างที่เราต้องการ แต่สำหรับผมแล้ว การเลียนแบบถือเป็นเรื่องที่ดี แล้วทำให้สวนส้มธนาธรต้องพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ให้คนเลียนแบบไม่ได้ ทั้งเรื่องรสชาติและเรื่องสติกเกอร์ที่แปะที่ตัวส้ม”
คุณภาพต้องมาก่อน
ส้มที่สวนส้มธนาธรไม่ใช่เพียงแค่ส้มชั่งกิโลขายเป็นโลๆ เหมือนตามตลาดนัดทั่วไปเท่านั้น แต่ยังมีส้มที่ถูกบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม เมื่อไรก็ตามที่เห็นแล้วก็อยากจะซื้อกลับไปฝากผู้คนที่อยู่ที่บ้าน โดยแนวคิดแรกเริ่มนั้น คุณบัณฑูรบอกว่าได้มาจากประเทศญี่ปุ่น
“เมื่อไรก็ตามที่เราหยุดพัฒนา เราก็จะถอยหลัง เราต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดี เรื่องของแพ็คเกจ คุณจะทำอย่างไรให้เขาซื้อของของคุณ คุณก็ต้องทำให้สะดุดตา แล้วคุณจะทำอย่างไร คุณก็ใส่แพ็คเกจไปไม่ให้เหมือนคนอื่นสิ ผมได้แนวคิดนี้มาจากญี่ปุ่น เวลาเราซื้อของจากญี่ปุ่น แพ็คเกจเขาจะสวยงามมากเลย แม้บางอย่างข้างในจะไม่ได้เรื่องก็ตาม แต่หลายๆ ครั้งพอเราเห็นว่าสวย เราก็ซื้อ เราก็เอาไอเดียมาทำของเราบ้าง อย่างตอนนี้มีกล่องไม้ คนที่ได้รับเขาก็รู้สึกดี กินส้มหมดแล้วกล่องไม้เขาก็นำไปใช้อย่างอื่นต่อได้ และทุกครั้งที่เขาเห็น เขาก็จะนึกถึงคนให้ ส้มหมดไปแล้ว แต่ความทรงจำยังอยู่ ก็รู้สึกดี
“เราทำการเกษตร แต่เราไม่เหมือนคนอื่น ผมบอกลูกน้องผมทุกคนเลย ห้ามคิดถึงเรื่องเงิน คุณภาพต้องมาก่อน ทุกอย่างต้องมีคุณภาพ ลองนึกดูสิว่าถ้าคุณมีลูกสาวสวย เก่ง แม้จะอยู่ในป่า ผมถามว่าใครจะไม่ไปหา แต่ถ้าคุณมีลูกสาวสวย อยู่ข้างถนน แต่ไม่เก่ง ไม่มีอะไร ใครจะไปดูอะไร เขาไปหาคนสวย คนเก่งในป่าไม่ดีกว่าหรือ ไกลแสนไกลแค่ไหนก็ไป เพราะฉะนั้นทุกอย่างการทำการตลาด คุณห้ามคิดเรื่องราคา ให้คุณคิดว่าคุณทำอย่างไรให้ผลผลิตคุณสูง ทำให้ของของคุณมีคุณภาพ สิ่งเหล่านี้ต้องมาก่อน นี่คือการเกษตรของเรา”
ผิดเป็นครู ยึดถือซื่อสัตย์ สุจริต
สิ่งที่ทำให้คุณบัณฑูรประสบความสำเร็จถึงทุกวันนี้ได้นั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพราะวิถีทางการดำรงชีวิตและแนวคิดของเขานั่นเองที่พาเขามาสู่จุดๆ นี้
“ทุกอย่างไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คนเราทำผิดต้องยอมรับผิด ต้องพูดความจริงทั้งหมด อย่าผิดอะไรแล้วมาแก้ตัวทีหลัง เพราะเมื่อไรที่เราแก้ตัว พอไปสอน ก็สอนผิดอีก เราต้องรู้ว่าเราต้องพูดความจริง เอาความจริงมาพูด อย่ากลัวความผิด เพราะมันจะทำให้เราได้ความรู้ ถ้าหากว่าทำผิดแล้วแก้ตัวก่อน คนๆ นี้ใช้ไม่ได้ คือเราทำผิดอะไรก็บอกไป เหตุการณ์จะได้สอนเรา ต่อไปจะได้ไม่ทำ ครั้งแรกไม่เป็นไร แต่ถ้าทำผิดแบบเดิมอีก ก็ต้องโทษหนัก
“สิ่งสำคัญต่อมาก็คือ เราต้องซื่อสัตย์ แล้วก็ต้องเป็นคนจริงใจ เราอยากจะให้เขารักเรา เราก็รักเขาก่อน เหมือนอย่างคุณจะรักผู้หญิงสักคน คุณก็ต้องรักเขาก่อน ถ้าจะรอเขามารักคุณก่อน อาจจะไม่มาก็ได้ เหมือนอย่างลูกน้องผม สวนส้มธนาธร ผมทำคนเดียวไม่ได้ ทุกวันนี้ผมมีกินมีใช้มีทุกวันนี้ได้ก็เพราะพวกเขา ผมก็ต้องทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดี ผมปลูกบ้านให้ลูกน้องผมสวยๆ เพื่อนฝูงเขามาเห็น เขาก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ต้องไปไหนแล้ว อยู่ที่นี่ล่ะ ผมทำให้ลูกน้องผมไม่น้อยหน้าใคร อย่างเวลาเพื่อนฝูงมาหา มาเยี่ยม ห้ามขี่มอเตอร์ไซค์นะ ให้เอารถผมไปใช้ ให้เขามีหน้ามีตาว่า เขาเอารถเถ้าแก่ไปใช้ได้
“ทุกวันนี้ผมมีลูกน้องกว่า 3,000 คน เราก็ต้องเชื่อใจเขา สิ่งที่เราทำก็ต้องซื้อใจเขา คนเก่งๆ ไปอยู่ที่ไหนก็ได้ แล้วถ้าเราอยากให้เขาอยู่กับเรานานๆ เราก็ต้องหาวิธี แล้วการที่ผมได้อยู่กับลูกน้อง ได้ทำงาน ได้พูด ได้คุย ก็ถือเป็นความสุขของทุกวันนี้แล้ว เห็นเขามีความสุข เราก็มีความสุข มีเงินเยอะๆ มีไปทำไม ถ้าเกิดไม่มีความสุข
“ถ้าถามผมว่า ผมอยากทำอะไรอีก ทุกวันนี้ผมก็ทำไปเยอะแล้ว แต่ผมไปเจอคนที่อายุมากกว่าผม เขาอายุ 88 ปีแล้ว เขายังสู้ ผมก็ต้องทำต่อ สวนส้มธนาธรก็มีไปต่างประเทศหลายๆ ประเทศแล้ว ตอนนี้ผมอยากทำท่องเที่ยว ผมมีโครงการให้คู่รักไปฮันนีมูนกันที่รีสอร์ทที่ผมสร้างไว้ที่ประเทศใกล้เคียง ด้านหน้ารีสอร์ทเป็นสวนส้ม ช่วงที่เข้าพักกินส้มได้ไม่อั้น กินสดๆ จากต้นเลย แล้วบ้านพักก็เป็นบ้านพักที่ทันสมัยที่สุด ผมสร้างแบบไม่ใช้เสาสักต้น นั่นคือความชอบของผม ชีวิตคนเราเกิดมา อย่าหยุดพัฒนา เพราะเมื่อไรที่คุณหยุด ก็เท่ากับคุณเดินถอยหลังแล้ว”
The Land of Orange
การสัมภาษณ์ของเราในครั้งนี้ เป็นการสัมภาษณ์แบบออนทัวร์ โดยคุณบัณฑูรขับรถพาพวกเราทีมงาน MiX ท่องเที่ยวไปทั่วบริเวณสวนส้ม ทำให้เราได้เห็นทุกขั้นตอนการทำงานอย่างใกล้ชิด ช่วงที่จอดรถแวะเพื่อหยุดถ่ายรูปในสวนส้มนั้น จะมีป้ายเขียนติดไว้ว่า ห้ามเด็ดส้ม ปรับ 500 บาท แต่ครั้งนี้พวกเราได้สิทธิพิเศษ เพราะคุณบัณฑูรเด็ดจากต้นสดๆ ให้พวกเราได้กินเลย นับว่าเป็นครั้งแรกจริงๆ ที่ได้กินส้มจากต้น
“ปกติแล้วถ้าไปโรงงาน หรือสวนส้มที่อื่น เขาจะไม่ให้คุณเข้ามาดูเครื่องจักรหรือวิธีการใกล้ชิดแบบนี้หรอก แต่ผมทำเพราะคิดว่ามันน่าสนใจ หลังจากที่ส้มถูกตัดออกจากต้น เริ่มแรกจะมีการนำมาล้างทำความสะอาดด้วยการแช่น้ำ จากนั้นก็จะถูทำความสะอาด แล้วก็เป่าให้แห้ง จากนั้นก็แวกซ์ ซึ่งการแวกซ์นั้นหลายคนอาจจะกลัวว่าแวกซ์แล้วจะทำให้ส้มกินไม่ได้ เป็นอันตราย ในความเป็นจริงแล้ว การแวกซ์ก็ใช้สารที่ผลิตมาจากธรรมชาติ จึงปลอดภัย อีกทั้งการแวกซ์ก็ยังช่วยให้ส้มได้มีระบบการหายใจที่ดีขึ้น ทำให้ส้มไม่เน่าอีกด้วย จากนั้นก็เป็นขั้นตอนการติดสติกเกอร์ เครื่องจักรของที่นี่นั้นจะมีขนาดใหญ่โตมาก เครื่องนึงก็หลายสิบล้านบาท”
ส่วนที่มาของชื่อธนาธรนั้น ไม่ใช่เพียงแต่จะเป็นชื่อของลูกสาวคุณบัณฑูรเท่านั้น แท้ที่จริงแล้วมีความหมายแฝงอยู่ด้วย และครั้งแรกสวนส้มแห่งนี้ก็ไม่ได้ใช้ชี่อนี้
“ไทยจิระ ตอนแรกใช้ชื่อนี้ แต่มันก็ไม่ค่อยดีเท่าไร ก็เลยเปลี่ยนเป็นธนาธร คำว่า ธนา ก็แปลว่าเงิน ธร ก็เงินทองเก็บอยู่ เราก็เลยใช้คำว่า ธนาธร ทุกวันนี้พอผมกระจายไปต่างประเทศ ก็ใช้ชื่อธนาธรหมด ทั้งพม่า ลาว จีน”
การจะปลูกส้มให้ได้ผลผลิตดี และให้ส้มออกผลจำนวนมาก หลายคนอาจจะเล็งไปที่ต้องมีเงินทุนก้อนโตถึงจะทำได้ แต่จากประสบการณ์ในการปลูกส้มของคุณบัณฑูรที่ได้เล่าให้เราฟัง สรุปได้ว่าสิ่งที่เราคิดนั้นผิด
“สิ่งสำคัญที่สุดในการทำสวนส้ม เงินทุนเป็นลำดับสุดท้าย ที่ผมพูดแบบนี้ผมมีเหตุผล คุณลองเอาลิ้นจี่ไปปลูกที่กรุงเทพฯ ดูสิว่าคุณจะเก็บผลได้ไหม แต่ผมอยู่ที่นี่ ผมปลูกแค่สิบต้น ผมเก็บกินได้แน่นอน เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่เงินทุน แต่เป็นอากาศ ดิน น้ำ เงินทุนเป็นลำดับสุดท้าย และผมจะบอกวิธีการดูส้มให้ ก็คือดูสีเข้ม เปลือกบาง ผิวเรียบ ไม่หยาบ นี่เป็นวิธีการดูแบบง่ายๆ แล้วส้มจะกินอร่อยก็ช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคม เดือนมิถุนายนเริ่มไม่อร่อยแล้ว กรกฏาคมยิ่งไม่อร่อย สิงหาคม กันยายน นี่ไม่อร่อยสุด พอเข้าตุลาคมก็เริ่มดีขึ้น พฤศจิกายนก็ดีขึ้น”