ชัย ราชวัตร
ที่มาคมความคิด
แทบไม่ต้องพูดถึงผลงานของเขาที่เรียกว่าได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาคือคนที่ประสบความสำเร็จที่สุดคนหนึ่งในวงการนักเขียนการ์ตูนไทย ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เราคงต้องย้อนกลับไปถึงชีวิตของเขาในสมัยที่ยังเป็นเด็กชายจากจังหวัดอุบลราชธานีและยังไม่ได้คิดถึงเรื่องของการเขียนการ์ตูนเท่าไหร่นัก
“เด็กบ้านนอกที่อยู่ต่างจังหวัดค่อนข้างจะอยู่กับธรรมชาติ พ่อแม่ก็ไม่ได้ร่ำรวย ยุคนั้นไม่มีของเล่น กลางคืนก็ไล่จับหิ่งห้อย ขุดจิ้งหรีด จับปลากัดตามหนองน้ำเอาไปกัดกัน ของเล่นเด็กสมัยนั้นจะเล่นกับธรรมชาติ เด็กบ้านนอกอย่างผมก็เลยค่อนข้างจะมีความคิดสร้างสรรค์ในการทำของเล่น
“ผมทำเครื่องฉายหนังเอง เอาหลอดไฟเอาไส้ออก เอาน้ำใส่ มันก็จะกลายเป็นเลนส์ แล้วไปเก็บเศษหนังที่เขาตัดต่อเอามาฉายเหมือนเครื่องฉายสไลด์ เวลาฉายเพื่อนก็มาเต็มเลย อยากดูหนัง แล้วจะมีเพื่อนบางคนพากย์หนังเป็น เราฉายไป เพื่อนก็พากย์ไป ไม่ปะติดปะต่อกันหรอกเพราะเป็นเศษฟิล์ม ชีวิตก็จะเป็นแบบนี้ พอหมดวัยเล่นของเล่นก็เล่นกีฬา เล่นบาส วอลเลย์ ผมลงแข่งให้โรงเรียนอยู่ประจำ
“บ้านผมที่อุบลฯ มีทุ่งศรีเมือง เหมือนสนามหลวงนี่แหละ นักการเมืองก็จะมาปราศรัย สมัยก่อนเรียกไฮด์ปาร์ก นักการเมืองจะไปยืนไฮด์ปาร์กที่นั่น แล้วเส้นทางเดินกลับจากโรงเรียนผมมันต้องเดินผ่านทุ่งศรีเมือง วันไหนมีใครมาพูด ผมก็ไปยืนฟัง สมัยก่อนต่างจังหวัดไม่มีสิ่งบันเทิงเลย เพราะฉะนั้นการไปฟังไฮด์ปาร์กมันก็เป็นความบันเทิงอย่างนึง
“พอไปฟังนานๆ เข้ามันก็ซึมซับ อยากรู้ตอนต่อเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วพวกผู้ใหญ่ใกล้บ้านตอนเย็นก็ตั้งแคร่ไม้ไผ่ตั้งวงกินเหล้า เราก็ไปนั่งฟัง แล้วพอมีไฮด์ปาร์กเขาก็ลากผมไปฟังด้วย ผมเลยกลายเป็นเด็กประหลาดตรงที่ว่าผมคุยการเมืองกับผู้ใหญ่ได้ แต่คุยกับเพื่อนในโรงเรียนไม่ได้เพราะเพื่อนไม่รู้เรื่อง ความคิดเรามันโตกว่าวัย ขนาดไปตัดผมยังหยิบสยามรัฐมาอ่านเลย”
จุดเปลี่ยน
“ผมเข้ากรุงเทพมาเรียนวิชาบัญชีที่โรงเรียนกรุงเทพการบัญชีวิทยาลัย ที่ต้องเรียนบัญชีเพราะผมมีพี่น้อง 9 คน ผมเป็นคนโต มีความรู้สึกว่ามหาวิทยาลัยมันใช้เวลานานกว่าจะเรียนจบ เรียนวิชาชีพนี่สามปีจบก็ช่วยผ่อนภาระทางบ้านได้แล้ว รีบหาเงินมีเงินเดือนช่วยแบ่งเบาทางบ้านดีกว่า สมัยก่อนบัญชีมันหางานง่าย แล้วมันก็ค่อนข้างโก้สุดๆ ที่จะได้ทำงานแบงค์ พอจบบัญชีผมก็ได้ทำงานแบงค์สมใจอยาก แต่พอไปอยู่แล้วก็รู้เลยว่าไม่ชอบความเป็นระเบียบของแบงค์
“ตอนนั้นผมทำงานอยู่ฝ่ายต่างประเทศของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ช่วงนั้นเป็นช่วง 14 ตุลา กำลังเรียกร้องประชาธิปไตย ด้วยความเป็นคนชอบการเมือง ผมก็อินไปด้วย พออ่านหนังสือการเมืองก็อยากจะเขียนการ์ตูนการเมือง สมัยก่อนนักเขียนการ์ตูนการเมืองมีดังคนเดียวก็คือคุณประยูร จรรยาวงษ์ ผมก็มีความรู้สึกว่ายังมีเวทีให้เขียนอีกเยอะ เพราะนักเขียนมีน้อย นอกจากคุณประยูรก็มีอีกแค่สองสามคน แต่ก็ไม่ดัง
“พอดีมีเพื่อนเรียนหนังสือสมัยมัธยมออกแม็กกาซีนกีฬา เขาชวนผมไปเขียนการ์ตูน ผมก็ไปเขียนให้ จนได้ไปรู้จักคนๆ นึง ชื่อพี่ปรีชา สามัคคีธรรม ซึ่งทำหนังสือพิมพ์การเมือง พี่เขาก็ชวนผมไปเขียนการ์ตูนการเมือง เขาถามผมว่าเขียนการ์ตูนการเมืองได้ไหม ผมก็ไม่รู้ แต่อยากเขียน เขาก็ให้ลง พอลงไปชิ้นแรก ก็ได้เขียนประจำเลย แต่ตอนนั้นไม่ได้ตังค์นะ เพราะหนังสือพิมพ์ยังล้มลุกคลุกคลาน
“ส่วนนามปากกา ชัย ราชวัตร ก็ได้มาตอนเขียนการ์ตูนอยู่ราชวัตร สมัยก่อนเป็นค่านิยมเวลาตั้งนามปากกาก็จะเอาถิ่นมาเป็นนามปากกา ผมก็อยู่กับหนังสือพิมพ์ด้วยใจรัก รักการเมืองหนึ่ง รักเขียนการ์ตูนหนึ่ง เขียนจนหนังสือพิมพ์เขาเลิกกิจการ พรรคพวกก็ชวนไปเขียนที่เดลินิวส์ พอไปอยู่เดลินิวส์ก็กลายเป็นมืออาชีพ ได้ค่าเขียน ได้เงินเดือน กลายเป็นอาชีพ มีคนรู้จักเยอะ พอเขียนอยู่สองสามปีก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ผมก็โดนห้ามเขียน เพราะตัวผมเองถูกหมายหัวว่าเป็นนักเขียนฝ่ายซ้าย”
ประสบการณ์ต่างแดน
“ตอนนั้นนักศึกษามาเดินขบวนเรียกร้องอะไร เราก็เขียนเชียร์ตลอด พอเขาออกมาปราบปรามนักศึกษาเราก็เลยโดนหางเลขไปด้วย ตอนนั้นก็คิดถึงขนาดว่าออกนอกประเทศดีกว่า แต่ไม่ได้ไปเพราะถูกปราบปรามนะ ผมไปเพราะความปลอดภัย หรือเราเองอาจจะสำคัญตัวผิดไปก็ได้ นึกว่าตัวเองสำคัญ (หัวเราะ) ช่วงนั้นยังไม่ได้ลาออกจากแบงค์ ก็ลาออกเลย จะได้มีเงินไปอเมริการวมขายรถแล้วมีเงินแสนกว่าบาท สมัยนั้นถือว่าไปแบบเสี่ย ที่ว่าไปสบายเพราะมีน้องสาวสองคน น้องชายอีกคน ตั้งรกรากอยู่อเมริกา ผมไปอยู่กับน้องก็เลยไม่เดือดร้อน
“คนไทยไปอเมริกาต้องไปอยู่ลอสแองเจลิส ไม่ต้องใช้ภาษาอังกฤษ เพราะคนไทยเยอะ พออยู่ซักพักเบื่อก็หางานทำ ทำไปเรื่อยๆ พอมีปัญหาก็ออก ไม่ได้เดือดร้อนอะไร อยู่ไม่ไหวก็ออกแบบนี้อยู่หลายที่ จนได้ไปทำงานล้างฟิล์มในห้องมืด ไปทำงานในบาร์ แล้ววันหนึ่งผมก็มีความรู้สึกว่าทำไมเราถึงเอามือที่เคยเขียนการ์ตูนมาล้างจาน ผมเริ่มถามหาคุณค่าของตัวเอง จนกระทั่งมีคนไทยที่เขาออกหนังสือพิมพ์ไทยที่ลอสแองเจลิส เขาก็มาชวนผมไปทำหนังสือพิมพ์ ผมก็ไป ด้วยความที่เป็นมืออาชีพ ผมก็ไปทำทุกอย่าง เลย์เอาท์ พาดหัวข่าวเอง ได้โฆษณามาก็ออกแบบเอง แทบจะเป็นบรรณาธิการ แต่ว่ามันก็โอเค เพราะเป็นงานที่ชอบ อาทิตย์นึงทำสามสี่วัน แต่ทำยันสว่าง เพราะเป็นรายสัปดาห์ ไปอยู่สองปีได้ประสบการณ์เยอะมาก
“พอเหตุการณ์ในประเทศสงบลง เดลินิวส์เขาก็โทรไปเรียกตัวผมกลับมา ก่อนหน้าที่ผมจะกลับมามีการยกทีมกันออก คุณโรจน์งามแม้น (เปลว สีเงิน) โทรทางไกลไปบอกว่าตอนนี้เหลือแต่พวกเรารุ่นหนุ่มให้ช่วยมาบุกเบิก ผมก็เลยกลับดีกว่า การ์ตูนชุด‘ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน’ ก็เกิดที่เดลินิวส์
“พออยู่ได้ 2 เดือน กลายเป็นว่าคนที่ชวนผมเข้ามาทำงานมีทัศนคติการทำงานไม่ตรงกับหนังสือพิมพ์ ก็เลยชวนกันยกทีมออกสมัยก่อนวงการนี้สปิริตสูงมาก เพื่อนออกก็ต้องออกด้วย ถ้าเพื่อนทะเลาะกับนายทุน เราต้องออกด้วย แต่ถ้าสมัยนี้ เพื่อนออกเราก็บ๊ายบาย แล้วเจอกันนะ เพียงข้ามวัน รุ่งเช้าไทยรัฐก็โทรมาทาบทาม คือพอลาออกคืนนั้นก็รู้กันหมดทั้งวงการ
มันเร็วมาก พอตอบรับคำที่ไทยรัฐ ก็เลยอยู่ยาวที่นั่นมาตั้งแต่ปี 2522 จนถึงวันนี้ก็ 33 ปีแล้ว”
จุดยืนของคนเล่าเรื่องด้วยภาพ
งานเขียนการ์ตูนสะท้อนสังคมนั้นต้องใช้ความคิดเยอะ ต้องคมคายพอที่จะทำให้คนอ่านอมยิ้ม และฉุกคิดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นพร้อมกันๆ คล้ายกับตลกร้ายที่ขำปนเศร้า เขาเผยว่าทุกครั้งที่ทำงานไม่ถึงกับคิดไม่ออก แต่จะรู้ตัวว่างานชิ้นนี้จืด ไม่คมพอเพราะเงื่อนไขของเวลาหนังสือพิมพ์รายวันที่ต้องรวดเร็ว
“หนังสือพิมพ์รายวันมันมีโอกาสแก้ตัวเยอะ วันนี้จืด พรุ่งนี้ก็เอาใหม่ ทำการบ้านเยอะๆ แต่ถ้าจืดติดกัน 5-6 วันก็ใจเสียแล้วคนอาจจะคิดว่าผมคงหมดอายุทำงานแล้ว เพราะคิดอะไรไม่ออก แต่มันก็ไม่เคยเป็นอย่างนั้น อย่างมากก็วันสองวัน คือเราทำอาทิตย์นึง กะว่าดีสามวันเราก็โอเคแล้ว มันไม่มีคอลัมน์ไหนที่เขียนได้คมคายทุกวัน ก็ปลอบใจตัวเองแบบนี้
“ทำงานแบบผมไปเที่ยวต่างจังหวัดสามวันก็ต้องเขียนงานล่วงหน้าไว้ ต้องเขียนเผื่อตกเครื่องบินด้วย แต่ทำแบบนี้มันก็จะเริ่มจืดคิดไม่ไหว สุดท้ายก็เลยไม่ค่อยได้ไปไหน ไปก็ต่างจังหวัดใกล้ๆ วันสองวัน ต่างประเทศก็ไม่ได้ไปหลายปีแล้ว เพราะต้องเขียนทิ้งไว้เจ็ดแปดชิ้น เขียนแล้วมันไม่อัพเดท
“สิ่งที่ผมเขียนเป็นเรื่องที่ต้องการสะท้อนมุมมองของผมออกมา ไม่จำเป็นจะต้องตรงกับใครคนไหน หรือเป็นนโยบายของหนังสือพิมพ์ ถ้าใครอ่านประจำก็จะรู้เลย บางทีความคิดก็จะสวนทางกับผม ผมเขียนจากความรู้สึกของตัวเอง จะไม่กังวลว่าใครจะคิดยังไง มองเรายังไง ผมเห็นมาเยอะแล้ว บางคนที่เขียนแล้วไปไม่รอด ก็เพราะพอคนนี้ว่าทีก็เขียนตามคนนี้ พอคนนั้นว่าอีกทีก็เขียนตามคนนั้น คือพยายามจะเอาใจคนทุกกลุ่ม ในที่สุดก็จะไม่ได้ใจใครสักกลุ่มเลย แต่ผมมีจุดยืนของผม แล้วคนอ่านของผมก็จะเป็นแฟนติดตามตลอด เขาเชื่อว่าเรามีจุดยืนที่แน่นอน ไม่ใช่แกว่งไปแกว่งมา มันเหมือนกับการขายสินค้า แบรนด์ของเราดีมีคนเลื่อมใส ก็จะมีคนซื้อแบรนด์นี้ตลอด”
ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน
“แนวคิดแรกของ ‘ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน’ มาจากบทความของท่านอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ ในยุคเผด็จการ อาจารย์ป๋วยเขาไม่อยากวิจารณ์นายกโดยตรง ก็เลยเขียนบทความมาชิ้นนึงชื่อ จดหมายถึงนายทำนุ เกียรติก้อง จากนายเข้ม ยืนยิ่ง ซึ่งแทนชื่ออาจารย์ป๋วย ทุกคนก็รู้ว่าอาจารย์กำลังเขียนวิจารณ์ใครอยู่ ผมก็เลยได้ไอเดียนี้มาเขียนเป็นหมู่บ้านจำลอง จึงพูดได้ว่าการ์ตูนชุดนี้อาจารย์ป๋วยมีส่วนในการจุดประกายความคิด แต่รายละเอียดปลีกย่อยนั้นผมนำมาตั้งใหม่ทั้งหมด
“คราวนี้ผมจะเขียนวิพากษ์วิจารณ์ในการ์ตูนก็ทำได้ แต่ไม่เต็มที่ เลยสมมติตัวละครขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่มาซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้นำผู้ปกครองบ้านเมือง ส่วนไอ้จ่อยเป็นลูกบ้าน ตัวละครแต่ละตัวก็จะแทนสัญลักษณ์ มีเฒ่าหยอยที่เดินถือฝิ่นอยู่ทั้งวัน แทนคนในชนบทที่วิพากษ์วิจารณ์การเมือง แล้วตัวละครอื่นๆ ก็จะค่อยๆ ตามมา มีเถ้าแก่อ้วน มีใครต่อใคร เวลาพูดถึงปัญหาเศรษฐกิจ เถ้าแก่อ้วนก็จะมา ตัวละครแต่ละตัวก็จะแทนคนแต่ละกลุ่มในสังคม
“มีเยอะเลยครับ ที่มีคนไม่พอใจเรื่องการเมือง ผมเขียนงานจะมีคนอ่านสองขั้ว นักการเมืองเขามีคนนิยมศรัทธาอยู่ เพราะฉะนั้นเวลาเราแตะนักการเมืองก็จะมีสาวก มีบริวารไม่ค่อยพอใจ แต่ตัวนักการเมืองนี่ไม่มีปัญหา เพราะคนที่เราไปเขียนกระทบเราไม่ได้แตะคนเดียว มีคนเขียนหลายคน ฉบับอื่นก็วิจารณ์ ผมไม่ได้เป็นศัตรูคู่อาฆาตอะไรกับใคร ผมทำงานตามปกติของผมแต่ก็จะมีจดหมายเขียนมาข่มขู่สารพัด อย่างมีอยู่ครั้งนึง มีคนมาข่มขู่ แต่เขาไม่ได้สืบเสาะประวัติของผม อย่างเช่น ระวังนะ ลูกไปโรงเรียนห่วงลูกมั่ง ลูกจะโดนลักพาตัว ซึ่งเขาไม่รู้หรอกว่าผมไม่มีลูก (หัวเราะ)
“นอกจากเรื่องแบบนี้ ก็มีบางคนเชิญผมไปกินไปเที่ยว เสนอนู่นเสนอนี่ คือผมจะรู้ คุยแค่สองคำก็อ่านออกแล้ว เราก็พยายามไม่ไปใกล้ชิด เพราะถ้าหลวมตัวไปรับอะไรเขาสักครั้งสองครั้ง ถ้าวันหลังเขาสั่งแล้วไม่ได้ดังใจ เขาก็จะเปิดโปงเรา ซึ่งมันไม่คุ้มแล้วเราก็ไม่ได้เดือดร้อนขนาดนั้น ผมเองโชคดีอย่างคือผมไม่มีภาระ ไม่มีหนี้สินอะไร ทุกวันนี้ก็อยู่ได้ แม้ฐานะไม่ได้ร่ำรวย แต่อยู่อย่างนี้ก็สบายใจแล้ว
“ผมเคยไปเป็นอาจารย์ ตอนนั้นคณะมัณฑณศิลป์ มหาลัยศิลปากรเพิ่งเปิด พอผมสอนครั้งแรกคนแน่นห้องเลย ทุกคนอยากรู้อย่างเดียวเลยว่ามีเคล็ดลับอะไร ผมก็บอกว่าไม่มีเคล็ดลับ มันเป็นประสบการณ์ที่สั่งสมมา เหมือนไปหาข้อมูลคอมพิวเตอร์ มันต้องมีคนใส่ข้อมูลเข้าไปก่อน คุณอยากเขียนคุณก็ต้องติดตามการเมือง อ่านข่าวการเมือง จนมีความรู้ รู้ว่าจะวิพากษ์วิจารณ์มุมมองเป็นอย่างไร
“สำคัญที่สุดคือต้องอ่านการเมืองได้ ไม่ใช่อ่านแต่ข่าวการเมือง ไม่อย่างนั้นเครียดตายเลย แล้วก็ต้องรู้ว่าละครอะไรฮิต แม่บ้านชอบพระเอกนางเอกในดวงใจคนไหน บางทีผมก็อ่านหนังสือผู้หญิงด้วย ผมไม่มีเวลาดูละคร แต่ผมติดตามข่าว เพราะพวกนี้คือผงชูรสที่จะเอามาใส่ในการ์ตูน คือต้องรู้รอบตัว แค่นี้ก็จะได้ใจคนอ่านแล้ว นี่ล่ะคือคำตอบว่ามันไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีทางลัด”
ความภูมิใจสูงสุดของชีวิต
“แรกเริ่มเดิมทีในหลวงท่านโปรดให้พิมพ์พระมหาชนกกับสำนักพิมพ์ อมรินทร์พริ้นติ้ง แล้วพระมหาชนกก็มีหลายเวอร์ชั่น ในที่สุดก็รับสั่งว่าอยากจะได้ฉบับการ์ตูนให้เด็กๆ อ่านได้ ก็ทรงให้อมรินทร์หาคนมาทำ สุดท้ายก็ติดต่อมาที่ผม ทีแรกผมไม่กล้ารับปาก ประการแรกผมไม่ถนัด เพราะพระมหาชนกเป็นเรื่องโบราณ เครื่องแต่งกายอะไรๆ ก็ไม่ถนัด ผมถนัดเขียนการ์ตูนแนวปัจจุบัน ผมก็ขอเวลาไปคิด ผมกังวลมาก อมรินทร์เลยหาทางออกโดยให้อาจารย์ปรีชา เถาทองมาช่วย แล้วก็มีลูกมือ ก็เลยเบาใจ รับปากทำ พอเขียนแล้วก็เสนอไปในวัง พอโอเคแล้วก็เขียนเป็นเวอร์ชั่นสีน้ำ
“พอมาถึงคุณทองแดง ผมก็ไม่ถนัดเขียนสัตว์อีก ผมต้องเขียนให้ดูน่ารัก อิริยาบถในรูปแบบต่างๆ จึงส่งเรื่องเข้าไปในวังว่าชัยราชวัตรไม่แน่ใจว่าจะเขียนได้ จะลองเขียนให้ดูก่อน ทีนี้พอในวังเขาโอเค คราวนี้ก็ได้ โอม รัชเวทย์ มาช่วย ให้เขาสเก็ตรายละเอียด ผมเขียนสตอรี่บอร์ด ลงสี ก็เลยได้ทำคุณทองแดงอีกครั้ง
“ผมได้รางวัลจากการเขียนการ์ตูนมาเยอะมี รางวัลสมาคมนักข่าว คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรังสิต คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ รางวัลศรีบูรพา ฯลฯ แต่การได้ทำงานถวายพระเจ้าอยู่หัวเป็นรางวัลที่ใหญ่ที่สุด แล้วก็เป็นเกียรติประวัติของชีวิต ผมมีโอกาสเข้าเฝ้าถึง 2 ครั้ง ครั้งที่ 2 พระองค์ประทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้ ถือเป็นมงคลที่สุดในชีวิตแล้วครับ”
ชีวิตและแรงบันดาลใจ
แม้จะไม่ได้ร่ำเรียนมาทางด้านศิลปะ แต่เขาก็สามารถเขียนการ์ตูนได้ไม่แพ้คนที่เรียนมาทางด้านนี้โดยตรง เขาเริ่มต้นเขียนการ์ตูนจากการฝึกฝนด้วยตัวเอง ไม่มีอาจารย์สอน แต่เพราะความชอบจึงใช้สูตรครูพักลักจำอย่างเดียว
“ผมชอบคุณประยูร จรรยาวงษ์ สมัยนั้นมีความคิดว่าก็อปปี้ใครแล้วเหมือนก็เก่งแล้ว ตอนนั้นแกเขียนการ์ตูนด้วยพู่กัน เราก็หัดเขียนด้วยพู่กัน จนวันนึงมีโอกาสเขียนการ์ตูนลงหนังสือพิมพ์ ก็บอกกับตัวเองว่าเราจะมานั่งก็อปปี้ไม่ได้แล้ว ต้องเขียนด้วยตัวเองต้องสร้างเอกลักษณ์ของตัวเอง ถ้าไปไหนมาไหนแล้วเขาเรียก ประยูร จรรยาวงษ์ 2 ผมก็ไม่เอา ผมก็เลยชิ่งหนี ถ้าเมื่อไหร่จับพู่กันจะเหมือนคุณประยูร ผมก็เลยหันมาใช้ปากกาคอแร้ง ซึ่งวิธีเขียนมันไม่เหมือนพู่กัน การตวัดมันไม่ได้ ลักษณะการ์ตูนก็จะต่างออกไป แล้วตอนนั้นพอเริ่มโตขึ้นอีกนิดนึงก็อ่านการ์ตูนฝรั่ง เราก็เอามั่ง ก็เลยผสมผสานกันเยอะ มาจากจับฉ่ายของคนอื่น ก็ค่อยๆ พัฒนามาผสมผสานมาเป็นตัวเองจนทุกวันนี้”
นอกจากงานเขียนการ์ตูนแล้ว เขายังวาดภาพเหมือนสีน้ำได้สวยงามไม่แพ้ศิลปินคนไหนๆ เลยทีเดียว
“ด้วยความที่ชอบสีน้ำ แต่ผมไม่มีเวลา ก็เคยไปจัดแสดงงานอยู่หลายครั้ง แต่ไปร่วมกับเขานะครับ ไม่ได้แสดงเดี่ยว อย่างภาพบางภาพก็เอาไปประมูล
“ผมตั้งใจไว้ว่าช่วงบั้นปลาย จะรีไทร์แล้วเดินทางไปเรื่อยๆ ด้วยกระเป๋าสามใบ ใบแรกกระเป๋าเสื้อผ้า สองกระเป๋ากอล์ฟ สามกระเป๋าอุปกรณ์เขียนรูป แล้วก็เที่ยวไป วันไหนเจอที่น่าเขียนรูปก็เขียน วันไหนไม่เจอก็เอาไม้กอล์ฟออกมาตีกอล์ฟ”