ฐาพล ภณเศรษฐ์

ฐาพล ภณเศรษฐ์

นอกจากนี้ SHK Group ยังสนใจที่จะเริ่มทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยก่อนหน้านี้ทุ่มเงินกว่าพันล้านบาทเพื่อสร้างคอนโดที่มีชื่อว่า “เปรมสิริ” บนทำเลเกษตร-นวมินทร์ ตามมาด้วยโครงการบ้านเดี่ยวย่านรังสิตในนามบริษัท อนันดา พรอพเพอร์ตี้ และล่าสุดยังได้สร้างโครงการภณาสิริ เรสซิเด้นท์ ซึ่งเป็นทาวน์โฮมขนาด 3 ชั้น จำนวน 95 ยูนิต มูลค่าโครงการกว่า 500 ล้านบาท

ทั้งหมดทั้งมวลนี้เกิดมาจากชายทีชื่อว่า ฐาพล ภณเศรษฐ์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทในเครือ SHK Group

เริ่มจากใจรัก

“ส่วนหนึ่งที่ผมเริ่มมาทำอสังหาริมทรัพย์ก็มาจากการที่มีใจรักก่อน แล้วอีกส่วนหนึ่งก็คืออยากจะกระจายพอร์ตการลงทุนและกระจายความเสี่ยงต่างๆ อย่างตอนนี้ผมกำลังทำโครงการภณาสิริ ซึ่งลูกค้ากำลังรอดูบ้านตัวอย่างขณะนี้    สร้างเสร็จแล้ว แต่ในส่วนบ้านจริงก็กำลังดำเนินการสร้าง แล้วเราก็ทยอยเปิดการขายบ้างแล้ว 

“ทาวน์โฮมที่ผมสร้างคิดว่าจุดที่แตกต่างจากโครงการอื่นๆ ก็คือ องค์ประกอบเรื่องดีไซน์และวัสดุที่เราคัดมาอย่างดี โดยกลุ่มคนที่เข้ามามีอยู่หลายประเภท เช่น กลุ่มของ SME ทำโฮมออฟฟิศ หรืออยู่อาศัยแบบปกติก็ได้ ที่สำคัญเลยคือเรื่องของทำเล เพราะย่านนี้ถือเป็นย่านที่การคมนาคมสะดวก ที่สามารถทะลุไปออกถนนรามอินทราได้ แล้วในอนาคตก็น่าจะมีทางด่วนอีกด้วย

“แม้ว่าผมจะทำเกี่ยวกับธุรกิจรถมาก่อน เรื่องประสบการณ์ด้านอสังหาของผมอาจจะน้อยกว่า แต่ผมก็ไม่กังวล เพราะมีที่ปรึกษาที่ดีจากที่เคยทำงานในบริษัทใหญ่ๆ ทางด้านอสังหามาก่อน แต่ก็ไม่ใช่ว่าผมอยากทำแล้วจะทำได้เลย ผมต้องมีที่ปรึกษาชั้นดีแล้วก็ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังไปด้วย แล้วทำงานคู่กันไป

“ผมเริ่มเรียนรู้จากทุกส่วนของการสร้างบ้าน พนักงานขายก็ต้องเป็นครับ เราต้องรู้ทุกอย่าง แล้วหลังจากนั้นก็ต้องถอยออกมาไปควบคุม สร้างคนทำระบบให้มันขับเคลื่อน มันเป็นหลักการเดียวกันการทำรถยนต์ เรารู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร จะปิดความเสี่ยงตรงไหนได้ จากนั้นเราก็จะสร้างคนให้ทำงานได้ ไม่ใช่ว่าเราจะทำงานอยู่ตลอดเวลา”

“ผมคิดว่าเรื่องของธุรกิจบางเรื่องมันก็เป็นโอกาสที่เราจะคว้ามาให้ได้ แต่บางทีอยากทำแต่โอกาสไม่มาก็มี เช่น เรื่องของที่ดิน ผมไม่ได้ซื้อที่ดินเก็บไว้เลยครับ สไตล์ผมคือซื้อแล้วทำเลย โครงการของผมจึงไม่ได้ใหญ่มาก เพียงแค่ 95 ยูนิตเท่านั้น หรืออย่างโครงการที่แล้วก็สร้างคอนโด 700 ยูนิต

“แต่ผมคิดว่าคอนโดทำยากกว่า เพราะต้องสร้างเสร็จแล้วค่อยโอนได้ทั้งโครงการ คอนโดต้องลงทุนเยอะกว่า เหลือห้องนึงยังสร้างไม่เสร็จก็ไม่สามารถโอนได้ ทำ 700 ยูนิตก็ต้องโอนพร้อมกัน แต่ทาวน์เฮ้าส์จะคล้ายกับบ้านเดี่ยว สร้างบ้านหนึ่งหลังก็สามารถโอนได้เลย การหมุนเวียนของธุรกิจก็จะดีกว่า แต่ผมจะทำอะไรก็ไม่อยากอยู่ในความประมาท เราเรียนจากที่ยากมาแล้ว ซึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาก็บอกว่า ที่ทำอยู่ตรงนี้ไม่ได้ยากเท่าไหร่ มันอยู่ที่การสำรวจ ทำเลและการตลาด แล้วคิดให้รอบคอบ เป็นการปิดกั้นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้

“ชีวิตผมเกิดมาก็ไม่ได้สบายนะครับ คุณแม่ยังไม่ได้คลอดผมที่โรงพยาบาลเลย แต่สมัยนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็เริ่มมีฐานะบ้างแล้ว ผมเติบโตมากับพี่น้องรวม 5 คน ผมเป็นคนสุดท้อง ผมเรียนอยู่ที่จังหวัดยโสธรตั้งแต่เด็ก ตอนนั้นผมก็เห็นคุณพ่อทำงานหนักมาก ท่านมีกิจการหลายอย่าง แต่เรื่องการเรียน ผมไม่ชอบเรียนสักเท่าไหร่ ยิ่งพวกท่องจำนี่ไม่ชอบเลย แต่สิ่งที่ชอบคือเรื่องของทำงานทำธุรกิจ

“ผมมีความฝัน มีความทะเยอทะยานตั้งเด็กว่าอยากจะประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงในด้านธุรกิจ ผมจึงชอบนักธุรกิจอย่างคุณธนินท์ เจียรวนนท์ และคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นอย่างมาก ผมว่าคนเราเวลาฝันมันก็ฝันสุดๆ แต่ว่าไปได้ไกลแค่ไหนมันอยู่ที่ตัวเรา คือมันต้องฝันก่อนถึงจะไปได้ จากฝันมันก็ต้องทำตามเป้าหมายไปก่อนว่าจะถึงไหน

“ผมถูกเลี้ยงมาไม่ถึงกับตามใจนัก เพียงแต่คุณแม่จะใจอ่อนกับลูกชายซึ่งมี 2 คนพอเล่าถึงอดีตบางทีก็ขำตอนเด็กๆ ผมอยากได้อะไรบางครั้งก็เกินเหตุ แต่ขออะไรบางครั้งได้บ้างไม่ได้บ้าง พอโตขึ้นมาหน่อยคุณพ่อก็จะเริ่มสอนเรื่องของคำพูด คุณพ่อบอกว่าพูดอะไรไปต้องรักษาคำพูด แล้วก็เรื่องกตัญญูสำหรับผู้มีพระคุณนั้นสำคัญมาก ต้องรู้จักบุญคุณ เห็นอกเห็นใจคน แต่ผมไม่ได้ถูกเลี้ยงให้มาเป็นเถ้าแก่เลยครับ

“ครอบครัวผมจะมีอยู่อย่างหนึ่งที่ไม่เหมือนครอบครัวอื่น คือพวกเราไม่ค่อยเวลาคุยกันในตอนเช้า แต่จะมาประชุมกันตอนกินข้าว แล้วลองนึกภาพดูว่าตอนประชุมกันบางครั้งซีเรียสนะครับ กินอาหารไปบางครั้งย่อยบ้างไม่ย่อยบ้าง คือมันเป็นเวลาที่รวมกันได้ในเฉพาะตอนเย็น เพราะตอนเช้าทุกคนตื่นมาก็ออกไปทำงานของแต่ละคน อย่างภรรยาผมตอนแต่งงานเข้ามาในครอบครัวใหม่ๆ เขาบอกเลยว่า ครอบครัวคุณนี่ทานข้าวซีเรียสมากเลย (หัวเราะ) คือคุยกันแต่เรื่องงานตอนกินข้าว”

จุดเริ่มต้นของคนธุรกิจ

“ผมทำงานกับคุณพ่อตั้งแต่อายุ 17 ปี ทำโรงสี ขายของโชห่วย คุณพ่อผมเริ่มสร้างตัวเองจากการขายพวกยาดมยาลมบนรถไฟ คือเป็นหลงจู๊มาก่อน เหมือนเป็นเซลล์แมนสมัยนี้นั่นแหละ แกทำมาตั้งแต่ตอนหนุ่มๆ ขายมาตั้งแต่จังหวัดโคราช ขอนแก่น แล้วมาหยุดที่จังหวัดยโสธร 

“ชีวิตผมเกิดมาก็จะต้องทำงานอยู่ในโรงสี ซึ่งเรื่องของข้าวมันมีรายละเอียดเยอะ อย่างเรื่องของข้าว มีความชื้นเยอะน้ำหนักมันก็จะหาย แต่ว่ามันหายจริงหรือถูกขโมยมันไม่สามารถกำหนดสต๊อคระหว่างปริมาณที่แท้จริงได้ จึงเป็นเหตุให้ต้องมีคนเฝ้าอยู่ตลอดเวลา แล้วตัวผมเองก็ต้องมานั่งเฝ้าโกงดังโรงสีตลอด ผมเลยไม่ชอบ เพราะจะเดินทางไปไหนก็ไม่ได้

“แล้วช่วงเวลาที่ผมเป็นวัยรุ่นที่จังหวัดยโสธรนั้นเป็นจังหวัดเริ่มต้นของรถยูสคาร์ หรือรถมือสอง จังหวัดไหนก็ตามที่ต้องการรถประเภทนี้ก็จะมาซื้อที่นี่ คือจะมีคนไปหาซื้อรถตามบ้าน แล้วก็ต้องมีค่านายหน้าให้คนซื้ออีก คนอยากขายรถไม่ใช่จะไปตีราคาซื้อขายที่โชว์รูมเหมือนสมัยนี้นะ เพราะยุคนั้นยังไม่มี ก็ต้องหาซื้อกันตามบ้าน 

“แล้วผมเองก็เป็นวัยรุ่นที่ชอบแต่งรถ หมดเงินไปไม่รู้กี่ล้อ ทั้งโหลดเตี้ยบ้าง ยกสูงบ้าง ขี่ไปแบบไม่มีเบรกก็เคยทำ คงคล้ายเด็กแว๊นในสมัยนี้มั้ง (หัวเราะ) พอแต่งเสร็จก็ขี่ไปอวดสาว แล้วรถมอเตอร์ไซด์ยอดนิยมสมัยนั้นก็ต้องคาวาซากิที่มีหม้อน้ำรุ่นแรกของประเทศไทย นั่นถือว่าเจ๋งสุดแล้ว เวลานั้นถือว่าผมเป็นคนเอาแต่ใจพอสมควร ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่ซื้อรถให้ก็จะไม่ทำงาน ซึ่งมันไม่ถูกต้องนะ

“เรื่องของยูสคาร์นี่คือต้องเอามาแต่งให้สวย เวลาซื้อมาก็เอามาปรับแต่งเอง แล้วมันดันขายได้ ผมก็ซื้อคันใหม่มาแต่งอีก แล้วก็ขายไป ซึ่งบางทีมันก็มีกำไร แต่บางทีก็ขาดทุน 

“ช่วงเวลานั้นยังไม่เป็นระบบ มันเป็นเพียงความชอบ แล้วพอเห็นเขาทำกันแบบมีดีลเลอร์เป็นธุรกิจ ผมก็อยากทำบ้าง ก็เลยเริ่มหาลูกน้องมา 3 คนมาช่วยทำจริงจัง จึงไปซื้อรถมาแล้วเอาไปให้อู่แต่ง ช่วยเขาคิดด้วยแล้วเอามาขาย สมัยนั้นระบบเช่าซื้อในจังหวัดเล็กๆ มันไม่มีครับ จึงต้องลงทุนเอง ไฟแนนซ์เขาก็ไม่รับจัด บริษัทเขารับแต่จังหวัดใหญ่ๆ พวกรถเก่าเขาก็ไม่ทำ 

“ผมก็เลยเอาธุรกิจนี้ไปคุยกับคุณพ่อ เขาก็กล้าๆ กลัวๆ เพราะมันเป็นธุรกิจใหม่ คุณพ่อก็ไม่ค่อยมั่นใจบอกว่าจะทำได้เหรอ แต่คุณแม่ก็บอกว่าให้เงินลูกไปเถอะ คือยิ่งสบประมาทก็ต้องทำให้สำเร็จได้ คือคุณแม่เป็นผู้หญิงที่ใจอ่อนกับลูกคนเล็กแบบผม ขอเงินมาลงทุนก็เอาไปทำแค่ในวงเงินที่มี ในแบบที่ว่าถ้าเจ๊งก็ไม่ต้องเอาอีกนะ จำนวนเงินก็ประมาณ 5 ล้านบาทในสมัยนั้น แต่ว่าทยอยให้นะครับ เพื่อทำเป็นพอร์ทเช่าซื้อ ตอนนั้นอายุประมาณ 24 เห็นจะได้

“ในที่สุดผมก็ขายรถคันแรกได้ เป็นรถกระบะยี่ห้อมาสด้า แต่จำรุ่นไม่ได้แล้ว ผมขายไปเจ็ดหมื่นห้าพันบาท ได้กำไรประมาณหนึ่งหมื่นบาท ภูมิใจมากที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง แต่พอตื่นมาลูกค้าที่เราขายรถไปเป็นเป็นผู้ชาย พอขับไปถึงบ้าน ภรรยาไม่ชอบรถแบบนี้ ก็เกิดทะเลาะกันขึ้นมา ภรรยาของเขาบอกว่าไปซื้อรถเก่ามาทำไม สามีก็บอกว่าที่ซื้อเพราะประหยัด ทั้งสองคนก็เกิดทะเลาะกันขึ้นมารุนแรงจึงอยากจะคืนรถ 

“ผมก็กลุ้มใจเพราะมันกลายเป็นปัญหาชีวิตทำให้ครอบครัวเขาเดือดร้อน ผมก็คิดไม่ออกว่าจะไปแก้ไขปัญหายังไง แต่ก็คิดว่าต้องเข้าไปหาพวกเขา ถ้าเกิดว่าทะเลาะกันไม่จบ ถ้าอยากจะคืนจริงๆ ก็คงต้องให้คืน ผมก็คิดว่าทำยังไงก็ได้ไม่ให้เขาทะเลาะกันแล้วอย่าเอาธุรกิจของเราให้เกิดความเสียหาย ผมก็เอาความดีเข้าสู้ คือให้เขาใช้รถไปก่อนเดือนนึง ถ้าไม่มีปัญหาอะไรก็จบ ก็เลยกลายเป็นว่าเกิดปัญหาขึ้นมาตั้งแต่คันแรกเลย (หัวเราะ) 

“หลังจากทำยูสคาร์แล้ว ก็เป็นปกติที่เราต้องเข้ามาทำเรื่องของรถใหม่ คือสมัยนั้นนิสสันเขาก็มีสาขาที่เขาทำเองกันอยู่แล้ว แต่บังเอิญช่วงหลังเขาเปลี่ยนจากสาขาเป็นดีลเลอร์ และนั่นก็คือโอกาสครับ แต่ถ้ายังเป็นสาขาอยู่โอกาสมันก็ไม่มีโอกาสอย่าง Honda ก็เหมือนกัน ที่เขามีสาขาคือเขามาทำเอง เราก็ไม่มีสิทธิ์ แต่เขาเปิดโอกาส คล้ายกับ Nissan ซึ่งเราก็เข้าสมัครเพื่อขอเป็นดีลเลอร์ ไม่ใช่คนเดียวนะครับต้องเข้าไปแข่งขันกัน แต่สุดท้ายก็ได้ทำ”

ไม่มีอุปสรรค ไม่ใช่ธุรกิจ

“ปัญหาที่ผมเจอเยอะที่สุดก็คงต้องเป็นเรื่องของคน แต่ว่ามันเป็นเรื่องปกติที่จำนวนคนเยอะๆ เราบริหารคนจึงยากที่สุด ผมว่ามันอาจเกิดจากความเคยชิน เพราะเรื่องคนเป็นการบริหารจัดการที่ต้องคิดและแก้ไข คนแต่ละคนมาจากหลากหลาย แต่เราต้องสามารถจูนให้เขาเข้ามาอยู่ร่วมกันได้

“เรื่องของปัญหาจริงๆ ที่เจอก็คือวิกฤตการเงินในปี 2540 คือใช่ว่าจะไม่มีผลกระทบอะไรเลย แต่ก็ถือว่าเป็นความโชคดีของผมอย่างนึงคือผมอยู่จังหวัดเล็ก แล้วเวลานั้นไม่ได้มีความรู้ของเงินตราต่างประเทศมากนัก ผมก็ใช้เงินไทยมาตลอด ไม่ได้ไปเก็งกำไร แล้วจังหวัดเล็กไม่มีไฟแนนซ์เข้าไป พอร์ตต่างๆ ต้องรับเอง 

“ช่วงปี 2539 ยุคนั้นกับการซื้อมาขายไปดีมาก มันเป็นโอกาสที่ผมได้ทำทั้งยูสคาร์แล้วก็รถใหม่ พอเศรษฐกิจตกตอนที่มีการประมูลรถยนต์ที่ถูกยึดกันมีคนแย่งกันเยอะมาก แต่ส่วนใหญ่คนไม่ได้ซื้อไปใช้จริง แต่ซื้อไปขายกัน ซึ่งเศรษฐกิจตอนนั้นคนเขาซื้อยูสคาร์กัน ผมก็มีโอกาสตรงนั้นมากพอสมควร แต่อีกด้านหนึ่งรถใหม่ก็ไม่ค่อยได้ขาย แต่ตัวยูสคาร์นี่เองที่ทำให้ผมมีรายได้ ถือเป็นธุรกิจที่ช่วยประคองบริษัทในช่วงเวลานั้น

“การบริหารงานในช่วงวิกฤตต้องคิดทุกวิถีทาง อะไรที่เราลดได้ ตัดอะไรออกไป บางเรื่องก็ต้องปรับเปลี่ยนดึงเอากลับมาทำเองทั้งหมด หลายอย่างจากที่เคยมอบหมายให้พนักงานทำ ก็ต้องดึงเอากลับมาแทบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณอะไรก็ตาม ทุกบาททุกสตางค์เราต้องเอามาลุยเอง คือเราต้องปิดประตูที่รั่วไหลทุกอย่าง อย่างธนาคารกรุงเทพในสมัยนั้น ถ้าใครจะกู้เงิน ยังต้องไปคุยเองที่สำนักงานใหญ่เลยครับ ในยุคนั้นไม่รู้ว่าใครเป็นอย่างไร จึงต้องมานั่งคุยกันทีละราย แต่ผมเพิ่งมารู้ทีหลังว่าเขาทำหลักการเดียวกับผม

“ปัจจุบันเรื่องของรถยนต์ตอนนี้มันดีครับ ไม่มีใครอยากจะเลิกหรอก มีแต่คนอยากทำ จะมีเลิกกันตอนวิกฤตนี่แหละ คือวงจรของธุรกิจมันจะมีรอบของมัน เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นตอนไหน แต่คาดไว้ว่าต้องมี คือมันไม่มีหรอกครับที่จะดีตลอดหรือแย่ตลอด เพียงแต่ปีนี้อาจจะตกนิดหน่อย แต่ไม่ถึงกับวิกฤต มันเป็นไปในระดับปกติ 

“ประมาณ 5 ปีข้างหน้าผมก็ยังเชื่อมั่นอยู่ครับว่าเราจะสามารถเติบโตได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอสังหาริมทรัพย์หรือรถยนต์ ในส่วนของ AEC นั้นผมว่าเรื่องของอสังหาริมทรัพย์น่าจะมีการเติบโตที่ดีกว่ารถยนต์ เพราะน่าจะมีรายละเอียดที่ต่างกัน อย่างเรื่องของพวงมาลัยมันก็ไม่เหมือนกันแล้ว ถ้าขายไปแบบนั้นน่าจะยากพอสมควรกับความคุ้นเคยของคนที่เป็นเพื่อนบ้าน แต่เรื่องของรถเช่าที่ผมทำอยู่นี่ก็น่าจะรองรับเรื่องของ AEC ได้มากกว่า ส่วนในเรื่องอสังหาริมทรัพย์ ผมว่าโตได้อีก และผมก็จะมุ่งมั่นในการสร้างโครงการต่อไป”

ไลฟ์สไตล์ผ่อนคลายชีวิต

“ส่วนเรื่องครอบครัว ผมก็มีลูก แล้วเด็กยุคใหม่บางครั้งตื่นมาไม่ได้เจอกับครอบครัวเท่าไหร่ ผมก็เลยต้องพยายามหาเวลาว่างว่าในหนึ่งอาทิตย์ต้องมีการไปทานข้าวร่วมกัน หรือไม่ก็ไปเที่ยวต่างประเทศ คือตอนนี้ยุคใหม่สอนกันตรงๆ ไม่ได้ ต้องใช้ทักษะ พูดไปด้วยเที่ยวไปด้วย ให้เขาซึมซับ แต่ถ้าไปสอนตรงๆ ก็รับปากครับๆ แต่อาจไม่ได้รับฟังอย่างแท้จริง

“วันหยุดส่วนใหญ่ผมก็ดูข่าว ผมชอบทำอาหาร ชอบไปหาร้านอาหาร แล้วไม่ค่อยชอบตลาดที่มันติดแอร์ คือผมมองว่าคุณแม่ผมชอบทำอาหารให้ลูกกิน ปัจจุบันท่านอายุเยอะแล้ว แต่ก็ยังซื้อนั่นนี่มาให้ลูกอีก มันอาจจะเป็นผลบุญผลกรรมที่ผมรับมา ผมก็เลยต้องทำต่อ คุณแม่ผมอายุ 70 กว่ายังต้องไปตลาด เพราะนี่คือความสุขของแกที่ซื้อนั่นนี่มาให้ ผมว่าก็ดี ได้ออกกำลังด้วย 

“ผมคิดว่าผู้บังเกิดเกล้าถือว่าเป็นบุคคลที่สูงที่สุดในชีวิตเลย ทุกวันผมต้องโทรศัพท์ไปถามสารทุกข์สุขดิบของท่าน แล้วในวันหยุดถ้ามีโอกาสผมจะพาท่านไปทานอาหารบ้าง นั่นคือสิ่งที่ทำประจำอยู่ทุกวัน หรือถ้าไม่ได้ไปก็ต้องโทรศัพท์ว่ายากินรึยัง เป็นยังไงบ้าง เพราะคุณแม่ผมท่านจะมีเรื่องเกี่ยวกับเบาหวาน แล้วคนที่เป็นเบาหวานก็จะชอบทานข้าวเหนียว ผมก็จะต้องโทรไปหาแม่บ้านที่ดูแลว่าต้องเว้นหน่อยนะ ส่วนคุณพ่อผมก็ต้องโทรไปดูแล ผมมองว่าลูกผมจะทำแบบนี้หรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งที่ผมทำ ทำแล้วสบายใจก็พอ

“เรื่องของการทำบุญบริจาค ผมทำประจำทุกปีนะ เราตอบแทนแก่สังคม ไม่ใช่ว่าทำที่บ้านเกิดอย่างเดียว ผมว่าสังคมคือผู้มีอุปการคุณที่ดีของเรา เราก็ควรจะตอบแทนสังคมไปบ้าง ทำดีก็จะได้ดี ทำไม่ดี สิ่งไม่ดีก็จะสนองกลับมา เราทำอะไรไว้ก็จะสะท้อนกลับ ส่วนใหญ่ผมจะทำในรูปแบบโรงเรียนการศึกษาหรือกีฬา ทำเท่าที่เราจะทำได้ ผมเป็นส่วนเล็กของสังคม ไม่ได้ใหญ่โตอะไร”

 

 

SHK Group คือบริษัทที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับรถยนต์