สมชนะ กังวารจิตต์

สมชนะ กังวารจิตต์

  ถ้ามองภาพถ่ายของชายคนนี้ และพูดถึงชื่อของเขา สมชนะ กังวารจิตต์ คนส่วนใหญ่ก็สงสัยว่าเขาคือใคร เพราะเขาไม่ได้เป็นคนดังมีชื่อเสียง หรือมีคนตามกรี๊ด แต่ถ้าพูดถึงในวงการนักออกแบบผลิตภัณฑ์แล้วล่ะก็ เขาคือเจ้าของบริษัท Prompt Designและเป็นตัวจริงคนหนึ่งของวงการนักออกแบบไทยและของโลกอย่างไม่ต้องสงสัย  

  เขาผ่านการประกวดและได้รับรางวัลตั้งแต่สมัยยังเรียนออกแบบผลิตภัณฑ์อยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง หลังจากเรียนจบ เขายังได้รับรางวัลประกวดในประเทศไทยนับไม่ถ้วน ก่อนจะไปคว้ารางวัลที่ 1 ในเวทีระดับโลกเกี่ยวกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์อย่าง Pentawards และ The Dieline ซึ่งไม่เคยมีคนไทยคนไหนทำได้แบบนี้มาก่อน

  “ถ้าไม่เคยส่งประกวดเลย ผมคงไม่สามารถเดาใจกรรมการได้อย่างแน่นอน แต่ด้วยประสบการณ์บนเวที ผมเองจะคิดเสมอว่าคนอื่นเขาน่าจะทำอย่างไร แล้วผมก็จะเลิกทำแบบนั้น ซึ่งถ้าเราทำให้มันต่างมันจะเหลือหนึ่งชิ้นที่ประทับใจกรรมการ พอผมได้รางวัลระดับโลก ก็มีคนสนใจ เขาก็ให้ผมเขียนหนังสือ หรือไปบรรยายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่นักศึกษา และผู้ประกอบการต่างๆ รวมถึงได้ร่วมงานกับบริษัทผลิตสินค้ามากมาย”

  เราสามารถพบเห็นผลงานออกแบบผลิตภัณฑ์ของเขาได้ทั่วไปในซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะซองขนมต่างๆ ที่เขาร่วมออกแบบให้กับหลายๆ บริษัท 

  “จริงๆ แล้วศาสตร์ที่จะสอนทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จมันมีเยอะมาก เช่น หลักการตลาด การเงิน กฎหมาย หรือผลิตภัณฑ์แต่สำหรับผม ที่สำคัญเลยคือตัวผลิตภัณฑ์ ถ้ามันไม่ดี ทำยังไงก็ยาก ถ้าผลิตภัณฑ์ที่เน้นดีไซน์ ผมจะทำให้มันดูมีมูลค่าและจุดขายมากขึ้น บางบริษัทอาจไม่ได้มีเงินในการทำการตลาดมาก แต่ถ้ามีดีไซน์ก็จะเป็นตัวช่วยสินค้าได้อย่างดี แค่บรรจุภัณฑ์สวยสะดุดตาก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของธุรกิจรุ่นใหม่ไปแล้ว

  “ถ้ามีลูกค้าให้ช่วยออกแบบของชิ้นนึง ผมจะถามเลยว่าเอาไปขายที่ไหน เพราะเป็นที่มาของกลุ่มผู้บริโภค เช่น ขายสยามก็กลุ่มนึง ขายหน้ารามก็อีกกลุ่มนึง ขายคิงเพาเวอร์ก็อีกกลุ่มนึง เราจะได้รู้ช่องทางการขายของสินค้า เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว เราต้องดูว่าคู่แข่งของเรามีอะไรบ้าง จากนั้นก็เริ่มเก็บข้อมูลมาให้เยอะที่สุดแล้วเข้ากระบวนการออกแบบ พอออกแบบแล้วก็ต้องคาดการณ์สัก 2-3 แนวทาง แล้วออกไปสำรวจว่าผู้บริโภคชอบที่เราทำออกมารึเปล่า

  เราขอให้เขาเลือกงานที่ถือว่าเป็นงานมาสเตอร์พีซมาสักชิ้น แต่เขาเลือกให้เรา 2 ชิ้นเลยนั่นคือ รางวัลที่ 1 สองรางวัลใหญ่ในสถาบันหลักของวงการนักออกแบบโลกที่เขาได้รับคือ รางวัล Pentawards  2010 จากเสื้อยืดแบรนด์เฮียสด (Here! Sod)และ The Dieline Awards 2011 จากบรรจุภัณฑ์ถุง Kokoa Hut 

  เริ่มจากแบรนด์เสื้อยืดเฮียสด (Here! Sod) ที่ได้รับรางวัล Pentawards  2010 เขาเล่าว่าการคิดงานชิ้นนี้คิดขึ้นมาจากการที่เขาทำเสื้อยืดขายในงาน Fat Radio ซึ่งยอมรับว่าผลงานการออกแบบเสื้อยืดของคนกลุ่มนี้ต้องไม่ธรรมดา และตามคอนเส็ปต์เดิมคือคนอื่นทำอะไรเขาต้องไม่ทำ เขาจึงคิดเรื่องของซูเปอร์มาร์เก็ตเอามาผสมกับเสื้อยืด จนกลายเป็น เฮียสด (Here! Sod) ที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

  “เฮียสดมันมาจากความกวนๆ ก็เลยพยายามคิดคำอาเฮียจากร้านโชห่วยขายของสด ถ้าเป็นภาษาอังกฤษก็ที่นี่ขายของสด หลังจากนั้นผมก็ส่งเฮียสดไปประกวดในนามบริษัท Prompt Design ปรากฏว่าได้รางวัลที่ 1 ซึ่งได้รับที่เซียงไฮ้เวิลด์เอ็กซ์โปกรรมการคนหนึ่งบอกว่าพอเขาเข้าไปในซูเปอร์มาร์เก็ตเขาจะนึกถึงงานของผมก่อนเลย เมื่อเสร็จงานนี้ก็มีหลายๆ แบรนด์มาจ้างให้ใช้แนวคิดนี้ในงานของพวกเขา

  อีกรางวัลหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กันก็คือ The Dieline Awards 2011 จากบรรจุภัณฑ์ถุง Kokoa Hut ช็อกโกแลตแบรนด์ไทยที่ติดต่อให้เขาช่วยออกแบบถุงหิ้วที่แสนจะธรรมดาให้ดูสะดุดตา และเขาก็ไม่พลาดที่จะทำมันออกมาได้อย่างประทับใจ

  “ความยากของงานนี้ก็คือเราจะทำอย่างไรให้ลูกค้าเข้าใจ เพราะถ้าเป็นรูปแบบที่แปลกใหม่บางทีลูกค้าอาจไม่กล้า แต่อย่างผู้ประกอบการรายนี้เขาเปิดโอกาสให้ผมคิดเต็มที่ ผมก็ทำงานชิ้นนี้ขึ้นมา ถุงช็อปปิ้งส่วนใหญ่จะเป็นแค่ลายธรรมดาหรือติดยี่ห้อสินค้าตามปกติ แต่ผมออกแบบถุงช็อกโกแลตให้สามารถใช้ได้ตามเทศกาลหรือตามความรู้สึกที่แตกต่างกันไป ถ้ารู้สึกรักก็ทำรูปหัวใจ หรือทำ I Love you ก็เหมือนการแปลอักษร หรือจะใส่ชื่อผู้ให้ก็ได้ ผมว่าคนชอบตรงนี้ พอผมส่งประกวดก็ได้รับรางวัลที่ผมต้องบินไปรับรางวัลที่ชิคาโก ฝรั่งที่นั่นชอบมาก

  “ปัจจุบันเราเริ่มมีการสนใจเรื่องของดีไซน์และบรรจุภัณฑ์มากขึ้น จริงๆ ผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ เขาใส่ใจอยู่แล้ว แต่กลุ่มของSME เพิ่งเริ่มเข้ามาศึกษาเรื่องนี้ ซึ่งมันก็อาจจะมีส่วนช่วยให้กลายเป็นบริษัทขนาดกลาง และบริษัทขนาดใหญ่ในอนาคตก็ได้” 

การออกแบบมันมีนิยามของผู้รู้จริงที่ได้บัญญัติไว้