ปรัชญา สิงห์โต
“งานออกแบบฟ้อนท์จะว่าเป็นศิลป์ก็ได้ หรือจะว่าเป็นวิทย์ก็ไม่ผิด เพราะคนทำงานด้านนี้ต้องเข้าใจเทคนิค ยุคผมเป็นยุคสุดท้ายที่ใช้มือเขียน จากนั้นคอมพิวเตอร์ก็เข้ามาแทน แต่ก็ยังมีคนที่ใช้ลายมือตัวเองในการเขียนแบบนะ ตอนนั้นผมลองทำฟ้อนต์เป็นลายมือตัวเอง ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้เรื่องอะไร ก็ได้แต่หาอ่านเทคนิคในอินเตอร์เน็ต พอลองทำฟ้อนต์ดูก็ลามไปจนอยากจะแจกคนอื่นก็เลยลองไปหัดทำเว็บ ซึ่งจริงๆ แล้วผมสนใจ 2 อย่างนี้มาควบคู่กัน เพราะงานออกแบบมันสามารถกระโดดข้ามแขนงกันได้”
เขาเริ่มต้นลงมือสร้างสรรค์ฟ้อนต์ตั้งแต่ครั้งยังเป็นนิสิต โดยเอาคำว่า “แอน” ซึ่งเป็นชื่อเล่นตัวเองมาตั้งนำหน้าฟ้อนต์ที่เขาออกแบบ แต่ชื่อแอนก็ทำให้รู้สึกว่าเป็นผู้หญิงมากไปหน่อย เขาก็เลยเติม i เข้าไปแล้วใช้มาจนถึงทุกวันนี้
“ก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมีคอมมูนิตี้ของคนทำฟ้อนต์มาก่อน เหมือนเราเป็นมวยวัด คนอื่นก็เป็นมวยวัด วันนึงพอมีเว็บฟ้อนต์ขึ้นมาคนเหล่านั้นก็เข้ามาแจมเอาผลงานมาโชว์ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน มันก็เลยน่าสนใจ เรียกได้ว่าพอเริ่มมีของ ทุกคนก็อยากจะมีพื้นที่ปล่อยของ จนเป็นที่มาของเว็บไซต์ที่เปิดให้คนทั่วไปดาวน์โหลดไปใช้งานได้ในที่สุด
“ความสนุกในการออกแบบฟ้อนต์อยู่ที่การเอาชนะอุปสรรคของตัวอักษรแต่ละตัว ถ้าเป็นอักษรภาษาอังกฤษ ตัวเลข หรือสัญลักษณ์นิดๆ หน่อยๆ รูปร่างก็มีแค่เส้นตรงกับเส้นเฉียง แค่นั้นก็จบแล้ว แต่ภาษาไทยเรามีทั้งหัว ทั้งหยัก บางตัวขมวด มันก็เลยยาก พอออกแบบเสร็จปุ๊บก็ต้องมานั่งเช็คช่องไฟว่าสระเวลาอยู่บนหรืออยู่หลัง เราจะหลบหรือแก้มันยังไง มันจึงไม่ใช่การออกแบบอย่างเดียว แต่เป็นการแก้ปัญหาอีกด้วย ฟ้อนต์ไทยเลยถือว่าปราบเซียน แต่พอทำได้แล้วก็เหมือนเราเอาชนะอุปสรรคบางอย่างที่ไม่เคยมีใครก้าวข้ามกำแพงนี้ได้
“ฟ้อนต์ที่ผมทำขึ้นมามีประมาณ 10 กว่าตัว ถ้าถามว่าตัวที่ชอบสุดคือตัวไหน ก็คงเป็น ‘iannnnn GMO’ เพราะมันเป็นฟ้อนต์แรกๆ ที่ผมทำ หลังจากรู้สึกว่ามันมีแต่ของเดิมๆ ก็เลยดีไซน์ฟ้อนต์ให้ตรงข้ามกับของเดิมที่มีอยู่ซึ่งดูจริงจัง ผมก็ทำให้มันบิดเบี้ยวอ้วนขึ้นบ้าง ผอมลงบ้าง เอียงซ้ายบ้าง เอียงขวาบ้าง ทำให้ออกมาดูเล่นๆ เพราะเป็นบุคลิกของเราด้วย ปรากฏว่าได้รับความนิยมมาก ทั้งที่สวยก็ไม่สวย เล่นเอางงเลย (หัวเราะ)
เขาเล่าด้วยน้ำเสียงที่บ่งบอกถึงความเป็นคนอารมณ์ดี พร้อมกับออกตัวว่าไม่ได้เด่นดังกว่าใคร ทั้งๆ ที่ผลงานของเขาคนเดียวมียอดดาวน์โหลดแล้วกว่า 7 ล้านครั้งก็ตาม
“ผมว่าอย่างน้อยมันต้องใส่อารมณ์ขันลงไปไม่มากก็น้อย ถ้าไม่ตั้งใจร้อยเปอร์เซ็นต์ เอาตลกหน้าตายก็ยังดี อย่างฟ้อนต์‘iannnnnPDA’ ก็เป็นฟ้อนต์ผีที่ใช้กับพวกเรื่องสยองขวัญ ถ้าพิมพ์เลข 0 มันจะเป็นหัวกะโหลก หรือเวลาพิมพ์คำว่า ‘ผี’ มันจะถูกดูดให้ติดกัน ผมชอบหยอดลูกเล่นอะไรแบบนี้ครับ มันสนุกดี”