วินัย ดิษฐจร
“เหตุผลที่ทำให้ผมหันมาจับกล้องถ่ายรูปก็แค่ต้องการจะหาความเหมาะสมของตัวเราเพื่อตอบสนองความฝันตัวเอง เพราะคนถ่ายรูปก็อยากเดินทาง อยากเห็นโลกอยากมีชีวิตอิสระและได้ผจญภัย”
จากที่เคยเป็นช่างภาพแนวท่องเที่ยว ถ่ายสินค้าของสวยๆ งามๆ ในสตูดิโอ กระทั่งหันมาเป็นช่างภาพ Photojournalist ซึ่งต้องอยู่ท่ามกลางเหตุการณ์ความรุนแรงที่อันตรายจนเกือบจะเอาชีวิตไปทิ้งไว้ท่ามกลางความขัดแย้งมาแล้ว
“ระหว่างการปะทะกันของผู้ชุมนุมทางการเมืองกับเจ้าหน้าที่ ผมเคยได้รับบาดเจ็บจากการโดนยิงทะลุขา หรือเหตุการณ์อื่นๆ ก็มีได้รับบาดเจ็บเล็กๆ น้อยๆ อย่างนิ้วคด ลำตัวถลอกปอกเปิก แบบนี้มันต้องมี อย่างครั้งนึงผมเคยแคล้วคลาดรอดจากระเบิดที่ภาคใต้ เพราะไม่ได้ไปตามนัด
“เนื้อหาของงานมันเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจอแบบนี้ มันค่อนข้างเสี่ยง แต่มันก็อยู่ที่เราจะขยับตัวไปหามันใกล้แค่ไหน เมื่อมีบทเรียนก็จะรู้ว่าต้องรับมืออย่างไร ซึ่งช่างภาพแนวนี้ของสำนักข่าวต่างประเทศจะต้องมีการอบรมเกี่ยวกับการป้องกันตัวเองจากเหตุการณ์รุนแรง การจราจลหรือในพื้นที่ก่อการร้าย เราก็เอาหนังสือจากเพื่อนที่ไปอบรม เอามาแปลแล้วอ่าน หรือดูในยูทูปก็ได้ เพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ
“เวลาทำงานผมจะใส่เสื้อสีขาว แต่งตัวเรียบร้อย สอดเสื้อในกางเกง ที่ผมใส่เสื้อสีขาวก็เพราะมันมีความเป็นกลาง อุปกรณ์ก็ต้องให้เหมาะสมกับงาน ชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้นก็ต้องมีพร้อมติดกระเป๋าตลอด”
เมื่อชีวิตเดินทางมาถึงจุดหนึ่ง เขาตัดสินใจลาออกจากการเป็นช่างภาพประจำมาเป็นฟรีแลนซ์อย่างเต็มตัว
“การเป็นฟรีแลนซ์จะว่าอิสระก็อิสระ แต่เอาเข้าจริงๆ ความอิสระไม่มีอยู่ในโลกหรอก มันอยู่ที่เราพอใจมากกว่า การเป็นช่างภาพอิสระแนวนี้มันยาก เพราะมันไม่ใช่งานที่ทำให้รวย แต่มันได้กำไรชีวิต ชีวิตผมเลยต้องถูกออกแบบ ยอมอดในสิ่งที่อยากได้ ต้องทนในสิ่งที่ไม่อยากเห็น แต่ตัวเราจะต้องเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพ เพราะวันนึงเราก็ต้องแก่ อาจได้รับบาดเจ็บ พิการ เราจึงควรจะได้รับผลตอบแทนจากสิ่งที่เราทำ
“ตอนนี้ผมอยากให้ตัวเองมีความรู้ภาษาอังกฤษดีมากๆ จะไปได้ไกลมากกว่านี้ เรื่องถ่ายรูปหรือมุมมองเราไม่ค่อยกังวล เพราะรู้สึกไหลลื่นได้อย่างเป็นธรรมชาติ แต่พอเป็นเรื่องงานเอกสาร คนเป็นฟรีแลนซ์ต้องทำเองหมด ติดต่อเองหมด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ การเป็นช่างภาพอิสระแนว Photojournalist ถ้าทำแล้วไม่พัฒนาเรื่องภาษาอังกฤษมันอยู่ไม่ได้หรอก เป็นได้แค่งานอดิเรก ด้วยค่าตอบแทนที่ไม่สมดุล ภาพแนวนี้ในเมืองไทยก็ไม่ได้ให้ความสำคัญเท่ากับต่างประเทศ”
ด้วยประสบการณ์บวกความตั้งใจรางวัลที่ได้รับ จึงเป็นเหมือนสิ่งตอบแทนให้กับเขา แต่นั่นก็ดูเหมือนจะยังไม่ใช่จุดหมายสูงสุดแต่อย่างใด
“ถ้าให้มองว่าตัวผมเองประสบความสำเร็จหรือเปล่า มันก็แค่ระดับนึงนะ ผมก็เคยได้รางวัล ผ่านช่วงเวลารุ่งโรจน์มา ก็คิดว่าวันนั้นประสบความสำเร็จ แต่สุดท้ายผ่านไปก็แค่นั้น เป็นวันหนึ่งที่อยู่ในความทรงจำ อย่าไปยึดติดกับมันมาก รางวัลมันทำให้คนเชื่องจะเป็นภัยต่อเรา พอได้รางวัลมันก็จะมีข้อเสนอต่างๆ เข้ามามาก ทำให้ปิดตัวเราจากความตั้งใจเดิม ไม่เป็นตัวเองเหมือนที่เคยเป็นเราไม่อยากเป็นแบบนั้น อยากเป็นเหมือนที่เคยฝัน มีพลังของคนหนุ่มสาวอยู่กับเราตลอด
“ผมพยายามสร้างผลงานให้เป็นมาสเตอร์พีซอยู่ตลอด แต่เอาเข้าจริงก็ยังไม่มี มันเหมือนตัวผลักดันให้ทำงานดีขึ้นไปเรื่อยๆหลายเหตุการณ์ที่ได้เข้าไปถ่าย มันก็ถือว่าท้าทายนะ อย่างครั้งนึงผมนั่งรถทัวร์ลงไปปัตตานี ไป-กลับ 28 ชั่วโมง เพื่อถ่ายชาวบ้านที่ชุมนุมเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกแค่ 2 ชั่วโมง แล้วก็ลงไปอีกหลายต่อหลายครั้ง จนเจ้าหน้าที่เข้ามาถามเราระหว่างนั่งในตู้เสบียงบนรถไฟว่า ‘ตกลงคุณเป็นพวกเราหรือพวกเขา’ ฉากนี้ผมจำได้แม่น มันเหมือนในหนังมาก
“เรื่องสไตล์ภาพ ผมจะพาคนดูให้รู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์ เห็นใบหน้าดวงตา อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงเรื่องของนัยยะเปรียบเทียบระหว่างของ 2 สิ่ง เป็นการต่อรองซึ่งกันและกันหรือว่าขัดแย้งกัน ถ้าเป็นไปได้จะใส่ความเป็น Artistic ลงไปในงานคือความมี Artistic ที่มากับ Content เมื่อรายงานเป็นพยานในที่เกิดเหตุ ถ้าลงหนังสือพิมพ์แล้วเดี๋ยวมันก็ผ่านไป แต่ถ้าภาพที่มีศิลปะมีความหมายอารมณ์และความรู้สึกมันเหมาะจะใส่กรอบแขวนผนัง หรือลงโฟโต้บุ๊ค บางครั้งช่างภาพอาจจะตายไปแล้วแต่ภาพมันยังทำหน้าที่ต่อ
“ตอนนี้อายุผมเกือบ 50 ปีแล้ว ประสบการณ์ก็จะไม่เหมือนเด็กหนุ่มที่มีพลัง วิ่งทั้งวัน แต่ไม่ได้อะไรเลย แต่เสือเฒ่าอย่างเราจะรู้ว่าต้องวิ่งแค่ไหน อยู่ตรงไหนถึงจะได้ภาพ เสือหนุ่มที่วิ่งล่าเหยื่อทั้งวันอาจจะได้เหยื่อตัวเล็กๆ แค่นั้น แต่เสือเฒ่ามันรู้ว่าเวลานี้ต้องไปดักรอลูกกวางที่หนองน้ำ แล้วจะได้กินเนื้อกวางนุ่มๆ นี่คือความต่างครับ”