มนู ทรงศรี
“ผมไม่ได้มีพื้นฐานทางศิลปะเลย เรียนทางสายงานช่างมาด้วยซ้ำ ระหว่างที่เรียนนั้นพี่เขยก็ทำอาชีพนี้อยู่แล้ว ก็เลยมีโอกาสได้เข้าไปคลุกคลีกับเขาตั้งแต่ตอนพี่เขาทำอยู่ที่โรงแรมบางกอก เซ็นเตอร์ ดูพี่ทำงานช่วยหยิบของให้เขาเท่านี้ก็สนุกแล้ว จนพอเรียนจบปุ๊บ พี่ก็ชวนให้เข้ามาช่วยงานที่โรงแรมอินทรา ผมก็รู้สึกชอบ และที่นี่ก็เป็นที่แรกที่ทำให้ผมเป็นนักแกะสลักน้ำแข็ง”
ประสบการณ์ 20 ปี ของผู้ชายที่ชื่อ มนู ทรงศรี ซึ่งยึดอาชีพเป็นนักแกะสลักน้ำแข็ง ได้ฝากผลงานจนมีชื่อเสียงเอาไว้มากมาย ล่าสุดเมื่อช่วงปลายปี 2012 เขาเพิ่งนำทีมไปคว้ารางวัลที่ 3 จากการแข่งที่เมืองฮาร์บิ้น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน ที่แม้จะเป็นการแกะหิมะ หากพื้นฐานในการแกะน้ำแข็งที่เข้าขั้นเชี่ยวชาญ การลงมือสร้างสรรค์ก้อนหิมะจึงง่ายกว่า เพราะความหนาแน่นนั้นมีไม่มาก เขาบอกอย่างนั้น
ถึงวันนี้การแข่งขันในเมืองไทยคงจะไม่ท้าทายเพียงพอสำหรับเขาอีกต่อไป เพราะการตระเวนแข่งขันในประเทศอยู่บ่อยๆ ทำให้เขารู้สึกอิ่มตัว เพราะได้เห็นแต่ผลงานรูปแบบเดิมซ้ำๆ
“เมื่อ 10 ปีที่แล้วเป็นยังไง เด็กสมัยนี้ก็ยังแกะแบบนั้นอยู่ มันไม่พัฒนาเลย ผมคิดว่าเราต้องออกนอกกรอบ ก็เลยเริ่มออกไปแข่งขันในต่างประเทศ” นั่นเองจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมชื่อของเขาถึงเป็นที่รู้จักในต่างประเทศมากกว่าเมืองไทย
สำหรับผลงานชิ้น Masterpiece เขาเล่าย้อนให้ฟังถึงเมื่อครั้งที่ไปแข่งขันแกะสลักน้ำแข็งที่เมืองฮาร์บิ้น ในปี 2011 โดยครั้งนั้นเขานำทีมคว้ารางวัลที่ 2 กับผลงานที่มีชื่อว่า “Love You” โดยแกะเป็นสัตว์ในวรรณคดีไทยอย่างสิงห์และพญานาค
“บนหัวของสิงห์ตัวนี้ผมเพิ่มให้มันไหลเลื้อยออกไปอีก ตอนนั้นนึกขึ้นได้ว่าเคยดูภาพยนตร์แฟนตาซีเรื่องหนึ่ง เห็นตัวละครมีผมตั้งชี้ไปข้างหลัง ผมก็เอาตรงนั้นมาประยุกต์กับผลงานชิ้นนี้ รู้สึกว่ามันลงตัวดี ที่นั่นเขาจะตัดสินเน้นไปในแนวโมเดิร์น-แอ็บสแทร็ค ถ้าแกะแบบไทยๆ คะแนนตกแน่นอน ผมก็รู้อยู่แล้ว แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะแค่อยากจะนำความเป็นไทยไปนำเสนอให้ต่างชาติได้เห็นเท่านั้นเอง”
“ผมชอบที่จะนำเอาความเป็นไทยมาผสมไว้ในตัวผลงาน ไม่ถึงขนาดต้องไทยจัดจ้าน แต่จะนำความเป็นไทยผสมเข้ากับความโมเดิร์นให้ออกมาร่วมสมัย หาลูกเล่นสอดแทรกเข้าไป อย่างการสะบัดลายลงบนก้อนน้ำแข็งให้ดูลื่นไหลนั้นเป็นเหมือนลายเซ็นของผมไปแล้ว ช่างแกะน้ำแข็งด้วยกันเองจะมองออกว่างานของผมจะไม่เหมือนคนอื่น”
นี่เองที่เป็นเทคนิคซึ่งเขาค้นพบ โดยเป็นการนำเอาลวดลายไทยมาผสมผสานความโมเดิร์นเข้าไป และแน่นอนว่าการเตรียมตัววางแผนก่อนการแข่งขันในรายการสำคัญๆ นั้น เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ที่ไม่สามารถมองข้ามได้เลย
“ก่อนจะเดินทางไปแข่งขัน เราต้องเตรียมแบบ เตรียมทีมงานให้พร้อม แล้วยังต้องทำโมเดลจากโฟม โดยย่อส่วนตามสเกลจากของจริงลงมา เพราะโมเดลที่แกะออกมาเป็น 3 มิติ เราจะเห็นได้ง่ายเวลาแข่งจริง เนื่องจากขนาดชิ้นงานนั้นใหญ่มาก โอกาสซ้อมจากน้ำแข็งจริงๆ จึงไม่มีเลย จะซ้อมแกะได้จากโฟมเท่านั้น
“ผมเป็นคนเขียนแบบขึ้นมา ทำอยู่หลายครั้งกว่าจะได้โมเดลต้นแบบจริงๆ ออกมา แต่ผมจะแม่นเรื่องโมเดลมาก พอทำออกมาเสร็จก็นำไปถ่ายทอดให้ลูกทีมดูว่ามีอะไรต้องเพิ่มเติม แล้วก็ค่อยให้ลูกทีมลองกลับไปแกะเป็นโมเดลขึ้นมา จากนั้นจึงนำกลับมาให้ผมดูว่าถูกต้องตามต้นแบบหรือเปล่า
“ความยากของการแกะน้ำแข็งมันอยู่ที่การถูกกำหนดให้ทำตามขนาดก้อนน้ำแข็งจริง จะพลาดไม่ได้เลย โอกาสหักก็มีสูง คนที่เริ่มต้นแรกๆ จึงอาจจะยากหน่อย ทั้งเรื่องของจังหวะและน้ำหนักแขนที่ลงไป
”ในปีหน้าเป้าหมายของเขาที่ใกล้เข้ามาก็คือการแข่งขันที่เมืองอลาสก้า สหรัฐอเมริกา ซึ่งคงต้องเตรียมความพร้อมให้มากกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว
เป็นได้สูงว่าเราน่าจะได้เห็นเขากลับมาพร้อมถ้วยรางวัลเหมือนเช่นเคยอีกครั้ง