สัตหีบ
ระหว่างการหมุนเหวี่ยงของวันเวลา จุดมุ่งหมายของแต่ละคนล้วนถูกตีความผ่านทะเลผืนเดิม หลากนิยาม หลายคำจำกัดความ สำหรับที่นี่ ยังมีใครอีกหลายคนนั่งลงท่ามกลางสุ้มเสียงแห่งการเปลี่ยนผ่าน และยินดีจะใฝ่ฟังเสียงหัวใจตนเอง
ถนนเลียบชายทะเลเหยียดยาวแนบขนานไปกับผืนทะเลสัตหีบ ห้องแถวไม้เล็กๆ บางชุดยังฉายชัดความงดงามอยู่ตรงส่วนฉลุประดับ ขณะดวงตาของผู้เฒ่าเฝ้ามองโลกปัจจุบันเคลื่อนหมุน
โลกที่ไม่ต้องคึกคักเคลื่อนไหวตัวเองเหมือนทุกเมื่อเชื่อวัน อาคารไม้สองชั้นรวมไปถึงตึกโบราณริมทะเลเดินทางผ่านเดือนปีอย่างอดทน มันรักษารูปทรงของกาลก่อนผสานเข้ากับสีสันของวันใหม่อย่างกลมกลืน ไม่ยิ่งใหญ่ฉูดฉาด แต่ก็เพียงพอจะทำให้ใครสักคนพร้อมจะเดินเลียบเลาะและจ้องมองมันในยามเช้า
ชุมชนประมงเก่าแก่ที่เติบโตเคียงข้างกับฐานทัพเรือสัตหีบ ผู้คนในตลาด ชาวประมง รวมไปถึงทหารเรือและเจ้าหน้าที่ราชการต่างผ่านพ้นวันเวลามาคู่เคียงกันเนิ่นนานจนแยกกันไม่ออก
บ้านไม้สีเหลืองตรงข้ามไปรษณีย์สัตหีบส่งกลิ่นหอมของขนมโบราณพร้อมวันเวลาเนิ่นนานของร้านแสงแก้ว เรานั่งลงตรงหน้า อรสา แสงแก้ว มองลึกเข้าไปถึงหลังบ้านทึบทึมที่มีทะเลโอบอยู่ด้านหลัง
“แต่เดิมไม่ได้ขายนักท่องเที่ยวนะ ทองม้วนของป้านี่มีแต่คนแถวสัตหีบ บ้านอำเภอ บางเสร่ นี่ละ ที่เขามาเวียนซื้อหา” ทองม้วนบ้านแสงแก้วไม่เพียงขึ้นชื่อในเรื่องความเข้มข้น ถึงเครื่อง หอมผักชีพริกไทย แต่เรื่องอารมณ์ดีของป้าผู้เป็นเจ้าของสูตร คนสัตหีบมักจดจำแกได้ในเสียงหัวเราะอันเป็นเอกลักษณ์
รสชาติหวานหอมและวิธีทำทองม้วนแบบโบราณดึงดูดเราอยู่นาน นั่งเพลินๆ ดูลูกหลานของป้าอรสา เท ปาด ม้วน ขนมรสมีเอกลักษณ์อย่างคล่องแคล่ว ป้าเองนั่งมองนั่งพากย์อยู่ไม่ไกล รอยยยิ้มปะปนบรรยากาศญาติมิตรอาบคลุมไปทั่วห้องแถวไม้เล็กๆ อย่างยากนักที่ใครสักคนจะฉีกแยกตัวเองออกมา
ผ่านแยกหลักที่ตัดกับถนนเทศบาล 7 ห้องแถวที่ขายข้าวของ เสื้อผ้า ตราสัญลักษณ์เกี่ยวกับทหารเรือเพิ่งเปิดประตูได้ไม่นาน น่าทึ่งที่ว่าจะมีร้านประเภท “เฉพาะทาง” เช่นนี้ในเมืองเล็กๆ หากไม่เพราะภาพอันเป็นตัวของตัวเองของสัตหีบ อันแสดงถึงการอยู่ร่วมระหว่างผู้คนและหน่วยงานราชการ คงไม่ใช่เรื่องอื่นไหน
จนถึงเรือนไม้เลขที่ 0082-0086 ที่กำลังอาบแดดอุ่น อายุราวร้อยกว่าปีของมันเล่าเรื่องราวของผู้คนข้างในที่อยู่กันมากว่า 3 รุ่น มองลึกไปด้านใน รูปถ่ายของใครสักคนเป็นมากกว่าการระลึกถึงบรรพบุรุษ
ชื่อ “ขุนสัตหีบหรรษา (ล็อก) ก้องสมุทร” กำกับอยู่ใต้รูปถ่ายชายชราในชุดภูมิฐาน เหรียญตราสัญลักษณ์และตราพระราชทานบรรดาศักดิ์วาววามแม้เป็นภาพขาวดำ ยายน้อย อังคสุวัฒน์ ผู้เป็นหลานในวัย 93 ปียิ้มละไม คอยเงี่ยหูฟังยามใครสักคนถามไถ่ถึงคืนวันอันผ่านพ้น
“คุณตาท่านเล่าว่าแต่ก่อนสัตหีบเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ขาดแคลนน้ำจืด เป็นที่พักเรือที่ขึ้นล่องระยอง เมืองจันท์ เมืองชลบุรี” ยายน้อยพูดเบาๆ หันหลังพิงโอ่งโบราณอายุร่วมไม่ต่ำกว่า 120 ปี ที่ตั้งเด่นอยู่หน้าบ้าน
ความขาดแคลนน้ำจืดในอดีตของย่านริมทะเลสัตหีบ เนื่องจากอยู่ไกลแหล่งน้ำหลักอย่างหนองตะเคียน ที่ปัจจุบันคือสวนสาธารณะประจำท้องถิ่น ทำให้ที่นี่ได้รับการกล่าวขานว่า “แห้งแล้ง” สำหรับคนเรือที่แวะพักหาแหล่งน้ำจืด ด้วยความเป็นนักพัฒนาของขุนสัตหีบหรรษา โอ่งโบราณตรงหน้าบ้านจึงถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับน้ำฝนให้ผู้คนในย่านตลาดสัตหีบได้กินใช้น้ำฝน
อารมณ์ละมุนละไมสัมผัสได้ยามเดินอยู่บนถนนเลียบชายหาด คนที่นี่ไม่ได้รู้สึกแปลกแยกกับผู้มาเยือน พวกเขาดูมีความสุขยามเห็นใครสักคนยืนมองบ้านไม้เก่าอย่างลุ่มหลงสนใจ ไถ่ถามดูสินค้าประดามีแม้ไม่ได้ซื้อหา
ในตลาดเช้าของสัตหีบ ฝั่งตรงข้ามคือปลายทางของการงานกลางทะเลอ้างว้าง หมึกกล้วย หมึกหอม ตัวโตอย่างไม่น่าเชื่อว่ามันมีที่มาจากท้องทะเลอ่าวไทยที่หลายคนเฝ้าเป็นห่วง เสียงพูดคุยถามไถ่ทุกข์สุขเคล้ากลิ่นทะเลในตลาดระหว่างผู้อยู่และแม่ค้าผู้มาเยือนปนเปไปกับภาพการซื้อขายง่ายๆ อย่างมีเสน่ห์ มันมีสีสันพอๆ กับแรงงานประมงที่นั่งผ่อนคลายตรงริมทะเลหลังผ่านพ้นคลื่นลมหลายวัน เรือประมงสีฉูดฉาดอิ่มแดดสาย ไม่น่าแปลกใจที่วิถีดั้งเดิมยังคงฉายชัดอยู่ในท้องทะเลสัตหีบ ตราบเท่าที่โลกบนฝั่งยังเฝ้ารอการกลับมาของพวกเขา
ยามสายของสัตหีบผ่านพาให้ทุกอย่างเงียบสงบ หยุดนิ่ง ราวเฝ้ารอสิ่งใดสักอย่าง ร้านรวงบ้านเรือนเหมือนกลับสู่ความเป็นตัวของตัวเองอีกหนึ่งชั่วยาม ห้องแถวไม้และท่าเรือกลับสู่ความเงียบเชียบ ผู้เฒ่าผู้แก่ไม่นั่งอยู่ตามหน้าบ้านก็เฝ้ามองมหรสพในจอโทรทัศน์เป็นเพื่อนคลายเหงา ทะเลหลังบ้านเคล้าสายลมเอื่อยยามใครสักคนนั่งมองที่ศาลาชราเหนือท่าน้ำ
เป็นนาทีที่สัตหีบงีบหลับ เฝ้ารออีกห้วงเวลาที่จะฉายชัดอีกใบหน้าของย่านโบราณริมทะเลแห่งหนึ่งสู่การรับรู้
สะพานไม้ทอดยาวสู่ผืนทะเล ยามเย็นดึงดูดให้หลายคนมาอยู่ที่นั่น
เรามาที่นี่กันทุกวัน นั่งมองฟ้าที่เปลี่ยนสีสันตามจังหวะของม่านฝนและดวงแดด เรือเล็กประเภทชายฝั่งนำพาความตื่นเต้นของเรา ทว่าคือความสามัญของพวกเขามาพบปะกันที่ปลายสะพาน
เรือบางลำติดเบ็ดพร้อมรอกขนาดใหญ่ไว้ท้ายเรือ อย่างที่เพื่อนรุ่นพี่ที่มาอยู่ที่นี่ชอบเรียกมันอย่างสนุกๆ ว่าเรือทรอลลิง ทว่าภาพจริงแท้คือชายชราผิวแดงแดดยืนปลดปลาสาก ปลาอินทรี ยามลอยเรือเวิ้งว้างแรมรอน
แนวหญ้าทะเลเผยสีสันเขียวตุ่นยามน้ำลง กระดานโต้คลื่นที่เห็นล่องลอยเหนือผืนน้ำยามเย็นหาใช่เรื่องหย่อนใจ หากคือชีวิตชายฝั่งที่หยัดยืนอยู่กับผืนทะเล พวกเขาล่องกระดานออกมาเก็บหอยกันจนมืดค่ำ เห็นเป็นเงาตะคุ่มไปจนสิ้นแสง
ภาพเช่นนี้ที่สัตหีบปรากฏตัวตนของมันในทุกยามเย็น ลูกเรือฝึกหัดถูกพร่ำสอนจากประมงชราเรื่องการดูแลเรือหลังกลับจากทะเล กรอกน้ำเค็มเพื่อไปยืดอายุปลาที่ได้ หรือแม้แต่เก็บข้าวของให้เป็นระบบระเบียบ
เป็นนาทีที่ทุกอย่างเคล้าผสมจนเกิดภาพอันจริงแท้ สำหรับผู้คนที่ลืมตาขึ้นมาข้างๆ เกลียวคลื่นและแผ่นผืนดินที่มีสายลมและระดับน้ำขึ้นลงเป็นสิ่งบอกคืนวัน
ถนนเทศบาลหลายสายตีกรอบและขีดแบ่งเมืองสัตหีบ โดยเฉพาะย่านตลาดให้มีเรื่องราวและภาพเฉพาะตัว ยามบ่ายไล่ไปถึงค่ำคืน เสน่ห์ของเมืองเล็กๆ แห่งนี้ชัดเจนเมื่อใครสักคนผ่านพาตัวเองเข้ามาสู่ย่านตลาดของสัตหีบ ปลา หอย หมึก นอกจากจะเดินทางไกลไปสู่เมืองอื่น ยังตกทอดอยู่ในของกินเจ้าอร่อยที่ไม่เคยจางคลายผู้คน
จากแผงแจงลอน ข้ามเดินเข้าสู่ถนนเทศบาล 4 ศาลเจ้าเทียนดกวางตนอยู่ทางขวา ประตูไม้บ้านสวยแง้มให้เห็นทวยเทพและควันธูป ผู้คนเชื้อสายจีนในสัตหีบเคารพศรัทธาศาลเจ้าแห่งนี้พอๆ กับผืนทะเลหน้าเมือง
ตึกแถวรูปทรงโบราณที่เป็นเอกลักษณ์ด้วยโครงสร้างดิบๆ ช่องหน้าต่างด้านบนเป็นสี่เหลี่ยมกรอบใหญ่ ทึมหม่นเก็บงำอดีตของย่านสัตหีบไว้ไม่มีตกหล่น ร้านชำหลายเจ้ามักต้องมีแห อวน และอุปกรณ์ทำงานประมงแทรกแซมไว้ขายปนกับสินค้าอื่นๆ แต่ละเจ้ามีลูกค้าประจำกันเฉพาะของตน สะท้อนความผูกพันในการซื้อขายกันมายาวนาน
ยิ่งค่ำมืด ถนนเทศบาล 4 ยิ่งมากมายผู้คน หน้าร้านโค้วไช้หลีคือผัดไทยหอยทอดเจ๊หนูอันโด่งดัง ลูกค้ามารอคิวตั้งแต่ยังตั้งร้านไม่เสร็จ หอยแมลงภู่ตัวอวบอ้วน หรือผัดไทยที่ปรุงน้ำผัดเฉพาะสูตร ทำเอาคนต่างถิ่นอย่างเราต้องแวะเวียนมาทุกเย็น
ย่านตลาดกลายเป็นปลายทางของทั้งทรัพยากรทางทะเลและผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่กับมันแทบทุกอณู ปลา กุ้ง หมึก ก่อนที่มันจะเดินทางออกจากแผ่นดินสัตหีบ คนที่นี่ย่อมมีสิทธิ์ได้สัมผัสมันก่อนใคร
ค่ำคืนของย่านโต้รุ่งบรรจุผู้คนและการกินอยู่ของสัตหีบไว้อย่างมีชีวิตชีวา ใครสักคนอาจรู้ว่า นาทีของที่นี่ไม่ได้มีแต่แผ่นผืนของทะเล หากแต่บรรจุเต็มอยู่ด้วยนาฬิกาชีวิตเรือนเดียวกัน
ทั้งเฒ่าทะเลผู้แรมรอน หญิงชราในเรือนไม้คร่ำคร่า หรือแม่ค้าสักคนที่หยัดยืนชีวิตต่อรุ่นมาด้วยอาหารเคยมือ
มากไปกว่านั้น ท่วงทำนองวิ่งเต้นในหัวใจของพวกเขาอาจดำเนินอยู่ห้วงจังหวะเดียวกัน
สำหรับมุมหนึ่งในสัตหีบ ชีวิตเรียบง่ายคล้ายทะเลยามเช้าอาจไม่มีอยู่จริง
หากแต่ฉายชัดอยู่ด้วยคืนวันอันจริงแท้ ไร้บทสรุปเอาใจคนโรแมนติก ทว่ามีทิศทางและจุดจบอันคลี่คลายอย่างเป็นตัวของตัวเอง
แม้ว่าคลื่นลมในทะเลหน้าบ้านจะพัดผันผลักพาพวกเขาให้ก้าวย่างไปในทิศทางใด
How to Go?
จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 34 (บางนา-ตราด) มุ่งหน้าสู่ชลบุรี ก่อนถึงเมืองชลบุรี แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์) มุ่งหน้าพัทยา-ระยอง เมื่อถึงแยกเขาไม้แก้ว เข้ามาร่วมกับทางหลวงหมายเลข 3 (สุขุมวิท) ตรงเข้าผ่านเมืองพัทยา บางเสร่ บ้านอำเภอ แล้วแยกขวาเข้าเมืองสัตหีบ ริมทะเลสัตหีบมีบ้านพักสไตล์บูติกโฮเต็ลน่ารักอย่างบ้านสัตหีบชายทะเล เปิดให้บริการ ด้วยการตกแต่งและวิวหลังบ้านอันงดงามทั้งยามเช้าและยามเย็น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม บ้านสัตหีบชายทะเล โทรศัพท์ 0-3843-9304 และ 08-9929-7807 เว็บไซต์ www.facebook.com/BaanSattahipbythesea