ณฤต เลิศอุตสาหกูล
ในยุโรปงานประเภทนี้ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง เนื่องจากค่าแรงงานช่างค่อนข้างสูง ทำให้พวกเขาต้องพึ่งตัวเอง สังเกตว่าเขาสามารถซ่อมหลังคาบ้าน ทาสีบ้าน ทำวอลเปเปอร์ หรือซ่อมเฟอร์นิเจอร์ได้เอง แทบทุกบ้านจะมีโรงไม้เล็กเอาไว้เก็บเครื่องไม้เครื่องมือ และใช้เป็นสถานที่ทำอะไรต่างๆ จนเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง
เช่นเดียวกับหนุ่มคนนี้ ที่สามารถต่อยอดความคิดสร้างสรรค์จากสิ่งของรอบๆ ตัวที่มีอยู่ จนวันนี้สิ่งที่เขาชอบมาตั้งแต่เด็กมันสามารถผลิใบ ขยายตัวออกไปที่ละน้อยๆ
“ตั้งแต่จำความได้ผมก็ชอบทำของเล่นเล่นเอง เพราะที่บ้านจะไม่ซื้อของเล่นให้ เราก็สนุกกับการนำของใกล้ตัวเช่นกล่อง กระป๋อง ฝาน้ำอัดลม มาประกอบกันเป็นรถ ทำเป็นบ้านขึ้นมา หรือเอาของเหลือใช้มาทำเป็นของตกแต่งบ้าน เรามีนิสัยแบบนั้นตั้งแต่เด็ก ซึ่งเราชอบคิดประดิษฐ์อะไรพวกนี้ ก็ได้ทำมาเรื่อยๆ
“พอโตขึ้นมาอีกหน่อยก็รู้ตัวเองว่าชอบงานศิลปะ ชอบงานดีไซน์ ก็เรียนรู้มาเรื่อย จนสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยศิลปากร คณะมัณฑนศิลป์ ภาควิชาออกแบบภายใน จากที่เริ่มทำของเล่นเล่นเอง ก็เริ่มทำกระเป๋า ทำเสื้อผ้าไปอวดเพื่อน จากนั้นก็ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นงานดีไซน์ที่จริงจังขึ้น อย่างงานอินทิเรีย ก็ยังมีการนำงาน D.I.Y มาผสมผสานเข้าไปด้วย”
จนถึงทุกวันนี้เขาก็ยังต่อเติมความชอบในวัยเด็กผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งการเป็นคอลัมนิสต์ D.I.Y คอยสอนขั้นตอนการทำสิ่งของขึ้นมาสักชิ้น ทั้งยังเขยิบมาทำรายการทีวีที่เกี่ยวข้องกับการแต่งบ้าน ซึ่งผนวกเรื่องฮวงจุ้ยเข้าไว้ด้วยกัน ในรายการที่ชื่อ “ฮวงจุ้ยทำมือ” และอีกหลายต่อหลายผลงานด้าน D.I.Y จนสามารถเรียกหนุ่มคนนี้ว่าเป็นกูรูได้เลยทีเดียว
เขาเล่าว่าจุดเปลี่ยนที่ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นก็คือตอนทำนิตยสาร เริ่มมีคนรู้จักเขาในชื่อ Hoo D.I.Y หลังจากนั้นก็เริ่มถูกเชิญไปเป็นวิทยากรตามงานต่างๆ ไปให้ความรู้ ไปทำเวิร์คช็อปสอนผู้ที่สนใจมากขึ้นๆ
ซึ่งวิธีคิดงานสไตล์ Hoo D.I.Y นั่นก็คือ เขาจะพยายามมองสิ่งของสักชิ้นที่มีอยู่ แล้วนำมาลองวิเคราะห์ดูว่ามันสามารถเป็นอะไรได้มากกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่ จึงไม่แปลกที่จะได้เห็นผลงานโคมไฟที่ทำจากแก้วพลาสติก หรือทำจากกระโปรงเด็กเล็ก รวมถึงของกระจุกกระจิกอีกมากมาย หรือแม้กระทั่งของชิ้นใหญ่ๆ อย่างเก้าอี้และเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้อัด และยังได้ยินเขาเปรยๆ ว่ากำลังจะปั้นแบรนด์ของตัวเองขึ้นมาอีกด้วย
“นี่เป็นไอเดียที่สนุกและภูมิใจมาก กับการนำไม้อัดขนาดมาตรฐานแผ่นเดียวมาดีไซน์แล้วตัดเป็นชิ้นส่วนนำมาประกอบกันเป็นเฟอร์นิเจอร์ เมื่อไม่ใช้งานก็สามารถถอดแยกชิ้นส่วนเก็บไว้ได้ ขนย้ายก็สะดวก แล้วก็กำลังพัฒนาจากไม้อัดมาเป็นกระดาษสำหรับทำเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ถูกสร้างมาให้มีโครงสร้างแข็งแรงขึ้น และมันตอบโจทย์การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้”
นอกจากนั้นเขายังมีอีกหลายโปรเจ็กต์ที่น่าสนใจ อย่างภายในปีนี้คงมีโอกาสได้เห็นโรงเรียนสอนการทำงาน D.I.Y ที่ชื่อว่า Hoo D.I.Y Workshop โดยจะชวนเพื่อนๆ ที่รักงานประเภทนี้มาร่วมกันสอนทั้งในโรงเรียน และสถานที่ต่างๆ ตามชุมชนภายนอกในรูปแบบจิตอาสา เพื่อปลูกฝังให้เด็กโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตสำนึกในการรู้คุณค่าในของเหลือใช้ รู้จักใช้เวลาให้เกิดประโยชน์กับการทำสิ่งที่สร้างสรรค์จินตนาการ
“โชคดีที่กระแสรักษ์โลกเกิดขึ้นมาในช่วงหลัง แต่ก็ไม่อยากให้เป็นแค่กระแสแล้วหายไป อยากให้อยู่ในจิตสำนึกของคนรุ่นต่อไป เลยอยากจะเริ่มสอนเด็กๆ ให้มีในข้อนี้ แล้วคนยุคนี้ที่อยากได้สิ่งของหรืออะไรที่เป็น Unique ไม่อยากใช้ของโหล เลยทำให้คนหันมาสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ
“D.I.Y ไม่เพียงเป็นการชะลอให้เกิดขยะน้อยที่สุด แต่เป็นการสอนให้เด็กรู้จักแบ่งปัน อย่างเสื้อผ้าที่เก่า ขาดนำมาซ่อมแล้วเอาไปบริจาค พอเขาโตเป็นผู้ใหญ่ออกไปมีอาชีพการงานอะไรก็ตาม จิตสำนึกที่ถูกปลูกฝังไว้มันจะคอยเตือนอยู่ตลอดว่าให้คำนึงถึงสิ่งที่จะทำ และผลที่จะเกิดตามมา”
ไม่เพียงแต่เขาจะเป็นนักสร้างสรรค์ที่รักในศิลปะแนวถนัดเท่านั้น หากแต่ยังพยายามถ่ายทอดความคิดให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น โดยหวังว่าวันหนึ่งคนไทยจะได้คุ้นเคยกับวัฒนธรรมการซ่อมแซมและสร้างสรรค์สิ่งของขึ้นมาใช้เองจนเป็นวัฒนธรรมย่อยเหมือนในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว