สันต์ สารากรบริรักษ์

สันต์ สารากรบริรักษ์

ชีวิตที่ไม่มีวันหยุดนิ่งของผู้ช่วยศาสตราจารย์สันต์ สารากรบริรักษ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปีพ.ศ.2547 ศิษย์ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เปิดบ้านสวนเนื้อที่ 6 ไร่ ณ ตำบลขี้เหล็ก อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ร่มรื่นไปด้วยแมกไม้เขียวขจี บ่อปลา อยู่ติดกับสนามยิงปืนเล็กๆ ท่านเป็นนักสะสมอาวุธปืนยาวปืนสั้น เก็บไว้หลายกระบอก กวาดรางวัลเหรียญทองพร้อมประกาศนียบัตรระดับชาติมามากมาย ไม่ต่างกับปลายพู่ขนาดต่างๆ ตั้งเรียงรายเด่นเป็นสง่า

เบื้องหลังความหรรษากับการทำงานที่มีความสุข เป็นตัวกำหนดความเคลื่อนไหวของภาพพิมพ์ งานวาดเส้นและงานประติมากรรมมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอย่างจริงจัง พัฒนางานศิลปะด้วยตนเองจนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว บ่งบอกแสดงออกของความรู้สึกที่มีพลังฉับไว ปราศจากการลังเล ผลงานของท่าน จึงมีสีสันสดใส สวยงามมีชีวิตชีวา สะท้อนคุณค่าทางสุนทรียะแก่ผู้เสพเป็นอย่างมาก จนได้รับรางวัลเหรียญทอง เหรียญเงินและเหรียญทองแดง จากการแสดงงานศิลปกรรมแห่งชาติหลายครั้ง

นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2501 จนถึงปัจจุบันกว่า 50 ปี ท่านได้ถ่ายทอดผลงานด้านศิลปกรรมที่ทรงคุณค่าทั้งการแสดงผลงานเดี่ยวและการแสดงผลงานร่วมกับศิลปินอื่นๆ จนเป็นที่ยอมรับในวงการศิลปะ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งยังได้ทำคุณประโยชน์แก่สาธารณชน ด้วยการอุทิศแรงกาย ความสามารถ สร้างงานศิลปะด้านจิตรกรรม ประติมากรรม ให้แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันท่านยังเป็นอาจารย์พิเศษสอนให้กับนักศึกษาเทคนิคการแพทย์ระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยการใช้ศิลปะในการบำบัดโรค ผลงานที่ยลได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่กว่า 50 ชิ้น เป็นการเขียนภาพธรรมชาติ ตามแนวคิดอิสระ “การปฏิบัติอย่างซื่อตรงต่อธรรมชาติ” ภาพคนในอริยะบถต่างๆ ภาพองค์ประกอบ ที่จะแสดงชีวิตของภาพให้ปรากฏด้วยลักษณะของสีน้ำมัน หรือการเขียนด้วยเกรียงบนผ้าใบที่มีความหนา ริ้วรอยเป็นเส้นนูนมากน้อยตามความรู้สึก การใช้สีสด มีการขูดทับซ้อนตามจินตนาการ ความบันดาลใจ สะท้อนอารมณ์หลากหลายมิติให้ปรากฏตามความรู้สึกนึกคิด รวมไปถึงผลงานการแกะสลักไม้ ที่ผสมผสานเข้ากับเทคนิคของงานประติมกรรมเข้ากับวิธีการทำงานศิลปะจิตรกรรม ภาพพิมพ์ ซึ่งเป็นสื่อผสม โดยการใช้หินกับเปลือกหอย การใช้ไพลินและแผ่นทองคำเปลวที่มีความเป็นประกายชัดเจนติดลงไปในแต่ละส่วนของผลงาน ทำให้เกิดประกายแสง สร้างความรู้สึกของความเคลื่อนไหว คงคุณค่า ผสมผสานการทำงานภาพพิมพ์ลงไปในโครงสร้างประติมากรรม ทำให้เกิดรูปร่างและแปลนต่างๆ อยู่ในรูปเดียวกัน และอยู่ในตำแหน่งที่ให้ความสมดุลเท่ากันได้อย่างสวยงาม

หมุดหมายปลายทาง

“ถึงวันนี้ผมก็อายุ 76 ปีแล้ว ผมตัดสินใจลาออกจากการเป็นอาจารย์คณะจิตรกรรม ประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อตอนผมอายุ 52 ปี ผมสอนที่ศิลปากรมา 29 ปี จากนั้นจึงดำเนินชีวิตเป็นศิลปินอิสระ มุ่งมั่นสร้างสรรค์ศิลปะอย่างจริงจัง ผมเห็นว่าแนวการศึกษามันเปลี่ยนไปมาก เปลี่ยนไปโดยไม่มีต้นสายปลายเหตุ ที่ผมลาออกผมก็มาคิดว่าลูกๆ ผมก็โตกันไปหมดแล้วเราเองก็ยังค้นไม่พบความจริงในผลงานที่แล้วๆ มา ก็จะสื่อถึงเวลา ระยะหลังๆ มันจึงสับสนมากในเรื่องเวลาที่เราจะได้ทำงานเต็มวัน มันมาเหลือเพียงครึ่งวัน

“การจัดตารางสอนตอนเช้าผมสอนเพ้นต์ติ้ง ช่วงบ่ายผมว่าง พอมาอีกวันหนึ่งช่วงเช้า ว่างช่วงบ่ายสอนเต็มเวลา ซึ่งมันไม่มีโครงสร้างของการที่จะอนุรักษ์พวกที่เคยเรียนกับท่านอาจารย์ศิลป์ พีระศรี มาผมพบอาจารย์ศิลป์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2496 ผมเป็นลูกศิษย์ท่านสมัยเรียนเตรียมศิลปะ หลังจากที่ผมเรียนจบจากโรงเรียนสวนกุหลาบแล้ว และมาสอบเข้าเรียนศิลปากรระดับปริญญาตรีได้เมื่อปี พ.ศ.2500 เรียนจนกระทั่งจบ แล้วก็ได้มาเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่นั่น 4 ปี พอขึ้นปีที่ 5 อาจารย์ศิลป์ท่านก็เสีย

“วิถีทางของผมมันเหมือนกับพรหมลิขิต ผมไม่เคยคิดเลยว่าการวาดรูปมันจะดูมีความหมายอะไร แต่ผมเขียนรูปได้ตั้งแต่เด็กๆผมเขียนรูปหมู หมา กา ไก่ นำให้พ่อกับแม่ดู พอขึ้น ม.4 ถึง ม.6 ผมได้เรียนวิชาศิลปะแล้ว โอ้โห เป็นวิชาที่ง่ายๆอย่างการเขียนภาพบน ส.ค.ส. ตอนนั้นทางโรงเรียน นำครูมาจากเพาะช่างเพื่อมาสอน ท่านก็จะสอนภาพเดิมๆ มีแต่กระต๊อบ มีดอกไม้เกลื่อนไปหมด มีภูเขา มีนกเกาะอยู่บนวงพระจันทร์คู่กัน ผมไม่ได้เห็นอย่างที่ครูเห็น ผมมองลงมาจากตึกผมเห็นสะพานพุทธ เห็นอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 เห็นรถราง ผมก็เขียนตามที่ผมเห็นออกมา ผมจึงได้คะแนนเต็ม

“เราต้องมีความคิดแปลกแยกออกไป จำได้ว่าอาจารย์จำนง จอบุญน้อย สอนสีน้ำที่โรงเรียนสวนกุหลาบ สมัยนั้นอยู่ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ผมเห็นอะไรต่ออะไรสารพัด ไม่ว่าจะเป็นถนนหน้าอาคารหลังยาว เห็นวัดราชบุรณะราชวรวิหาร เห็นการทิ้งระเบิดบอมบ์ลงมาจากเครื่องบิน B-52 ระเบิดสะพานพุทธ ผ่านเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน ผมอายุปาเข้าไป 76 ปีแล้ว ผมไม่เคยเห็นความสงบสุขของบ้านเมืองเราเลย

“เรื่องวาดเขียนนั้น มันง่ายสำหรับผม มันไม่ต้องแสดงอารมณ์อะไรออกมา มันจะแข็งๆ อย่างการเขียนเหลี่ยมเสา ที่ยื่นออกมามันจะมีแสงสีอ่อน แก่สีดำเทาๆ เป็นไฮไลต์ ต้องเอายางลบเช็ด ผมทำออกมาได้เร็วมาก ได้คะแนนสูงสุด มันเป็นความบริสุทธิ์ที่สุดในการสอบ มันออกมาจากความเข้าใจในโครงสร้าง ผมขึ้นรถเมล์ ผมสามารถมองเห็นแปลนรถเมล์ที่มองจากข้างบนหัว ผมสามารถต่อเรือบดได้ ตามหลักวิชาการ ถ้าคนเรามีลู่ทาง มันจะตอบโจทย์ ไปเรื่อยๆ เป็นขั้นเป็นตอน

“ผมเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากรรุ่นแรก ก่อนหน้านั้นผมมีความคิดว่าอยากจะเข้าโรงเรียนจ่าทหารเรือ ผมอยากเป็นแม่ทัพเพราะผมมีเลือดเนื้อเชื้อไขมาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแท้ๆ ตอนนั้นผมชอบทำระเบิด นำดินปืนมาผสมกัน ผมชอบเล่นปืนเรื่องราวในอดีตของผมมีเยอะ กำลังจะให้ลูกสาวจัดพิมพ์เป็นหนังสือออกมาเป็นตอนๆ ถ้าผมเป็นทหาร ผมก็ต้องเป็นหัวหน้านายทหารระดับผู้บังคับบัญชา เพราะผมรับคำสั่งใครไม่ได้ ผมก็เลยไม่ไปเป็นทหาร แต่ถ้าผมเป็นทหาร ผมคงก้าวมาไม่ถึงระดับ ผบ.ผมอาจจะถูกทำร้ายลอบฆ่าเสียก่อน (หัวเราะ)“

พู่กันและควันปืน

“ตั้งแต่อาจารย์ศิลป์สิ้นลง ผมเริ่มหมดหวังแล้วที่จะทำอะไรทั้งสิ้น เพราะผมเป็นไม้เบื่อไม้เมากับผู้บังคับบัญชา ตอนรับราชการทางทบวงมหาวิทยาลัยเขาให้ทางคณะจิตรกรรม ประติมากรรม ย้ายไปอยู่ที่ทับแก้ว จังหวัดนครปฐม ผมตัดสินใจไป มีผมเพียงคนเดียวที่อยากย้าย แล้วหัวหน้าเขาพูดเข้าหูผมว่า ‘ก็มันชอบป่า’ ที่ตรงนั้นไม่ใช่ป่า แต่เป็นพระราชอุทยานที่พักของพระมหากษัตริย์ ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราช ล้อกันเล่นไม่ได้ เพราะคุณพ่อผมเคยเป็นทหารเสือป่ามาก่อน ท่านเคยเป็นมหาดเล็ก เราก็ไม่ว่ากัน ส่วนคำสอนของอาจารย์ศิลป์ที่พูดกับลูกศิษย์ไว้ว่า ‘พรุ่งนี้ก็ช้าไปแล้วนาย’ เป็นสิ่งที่ผมใช้ทำงานมาอย่างสม่ำเสมอ คำว่าสายกับคำว่าช้า จะต่างกันมาก สายไปแล้ว คือไม่มีโอกาสเสียแล้ว แต่ช้ามันยังสามารถเร่งได้ ท่านพูดให้เกิดความพยายามทำอย่างขะมักเขม้น ให้รีบทำให้รู้สึกว่าเรายังขาด แต่ถ้าสายไปแล้ว มันเหมือนเราไปตามตะวัน มันไม่มีวันดึงพระอาทิตย์กลับมาได้แต่ถ้าช้าไปแล้ว จะเร่งแข่งกันได้

“ฉะนั้นการศึกษาศิลปะสากลนั้น มันจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ทั้งจากสิ่งแวดล้อม อารมณ์ จะไม่มีวันหยุดนิ่ง ซึ่งการเรียนของบ้านเรายังขาดพื้นฐาน ของเราจึงยังช้ากว่าของต่างประเทศเยอะ ในเรื่องของพื้นฐานนั้นสามารถแตกช่อออกไปได้ มันทันกันได้ แต่ในเรื่องของพื้นฐานจะสำคัญ ไม่มีทางสาย กับคำว่า ‘พรุ่งนี้ก็ช้าไปแล้ว’ ที่ผมได้ยินจากท่านอาจารย์ศิลป์ นั้นท่านต้องการให้นักศึกษามีพื้นฐาน

“ครั้งหนึ่งมีคนทำงานแบบสมัยใหม่มาก ในช่วงเวลานั้น ท่านอาจารย์ศิลป์มาเห็นเข้าท่านก็ติงทันทีโดยกล่าวว่า ‘นายความรู้ยังไม่พอกิน ยังไม่อิ่ม ยังไม่สมบูรณ์สำหรับการคิดฝัน’ พื้นฐานที่ท่านคิดก็คือธรรมชาติ ท่านอยากให้ศึกษาจากธรรมชาติ เป็นพื้นฐานให้แน่นเสียก่อน ทั้งสี แสง เงาให้จัดเจน ปัญญาจะเกิดได้เอง เหมือนเป็นแก่นสำคัญ รูปลักษณ์ต่างๆ มันต้องมีพื้นฐานก่อน หนีออกจากสิ่งแวดล้อมไปไม่ได้

“เหมือนการจับพู่กันกับการจับปืน มันเหมือนกัน ไม่ใช่จับแล้วเกร็ง เราต้องจับเบาๆ เหมือนกับจับปืน ยิงให้แม่น อย่าไปกำมือจนแข็งเมื่อไร มันจะมีแรงต้าน ชาตินี้ก็ยิงไม่เข้าเป้า เพราะเรื่องของปืน มันละเอียดลออ อ่อนโยนมาก การเหนี่ยวไก ต้องนุ่นนวลจริงๆ ต้องรู้สึกเลยว่าเราค่อยๆ เหนี่ยว แล้วมันจะลั่นเอง เหมือนกับศิลปะที่เราถ่ายทอดลงจากหัวไหล่ไปแขนสู่ปลายมือ มันจะมีพลังของปลายพู่กัน มีหนักมีเบา อย่างการเขียนดรอว์อิ้ง มันจะมีเส้นเข้ม เส้นเบาหวิว จนกระทั่งเส้นขาดใจไปเลย มันจึงเหมือนการยิงปืนขั้นเด็ดขาด ต้องจับแบบทะนุถนอม ดั่งการประคองน้องนาง ต้องเบามาก

“กว่าจะมาถึงขั้นนี้ได้ เราต้องมีสมาธิ จิตใจนิ่งและอดทนเก็บเงียบ เหมือนกับตอนที่ผมถอดฟันที่เจ็บปวดมากโดยไม่ต้องฉีดยาชาผมอยากร้องไห้แล้ว ผมไม่ได้ร้อง การถอนฟันมันน้ำตามันไหลออกมาเองด้วยความเจ็บปวด ทำให้ผมนึกถึงครั้งที่ผมตกปลา เมื่อเบ็ดเกี่ยวปากปลาได้ ดูเหมือนมันเป็นกรรมของผม มันไม่ใช่ความเศร้า

“ที่สุดเมื่ออาจารย์ศิลป์เสียไป เราไม่สามารถอุปโลกน์ขึ้นมาได้เลย จะเห็นได้ว่ารูปที่ผมเขียนแต่ละรูป จะไม่มีการร่างไม่ว่ารูปจะเป็นชนิดไหน ผมไม่เคยร่างก่อนทั้งนั้น เพราะดินสอเมื่อนำไปเอกซ์เรย์แล้ว มันจะพบ ทีนี้จึงเกิดการพนันกัน รูปของผมถ้าเกิดนำไปเอกซ์เรย์แล้วพบดินสอถ่านคาร์บอน ผมก็บอกกับเขาว่าถ้าพบไม่ต้องมานับถือผม ปรากฏว่าไม่พบจริงๆ”

อะนาโตมีที่รัก 

“ฉะนั้นการพัฒนาศิลปะผลงานจากอดีตสู่ปัจจุบันของผม สิ่งสำคัญที่สุดก็คือต้องมีพื้นฐานดีมากแล้วต้องทำงานให้ครบสามสาขาทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ถ้าไม่ทำทั้งสามอย่างจะไม่พบความสำเร็จเลย ไม่ว่าจะเป็นใครหรือแม้กระทั่งลูกศิษย์ของผมที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม หากทำไม่ครบ มันจะได้แต่ผิว มันไม่ลึกซึ้งลงไป ผมสลักไม้ หรือผมปั้นหล่อทองเหลือง มันมาจากความอยากขึ้นมา ที่ว่าทำไมเราจึงทำไม่ได้ ท่านอาจารย์ศิลป์ เป็นหัวหน้าโรงหล่อของกรมศิลปากร เป็นหัวหน้าช่างปั้นทั้งหมดท่านเป็นศาสตราจารย์ที่สอนได้ทุกอย่าง ตอนนั้นผมไปบ้านช่างหล่อ ผมไปดูเขาปั้นแบบไทยๆ ปั้นพระ เพื่อดูเทคนิค เป็นการหล่อก่อนสมัยเชียงแสนเสียอีก เวลานี้ไม่มีใครสักคนหล่อทองเหลืองเป็น เราต้องเรียนรู้เรื่องอนาโตมีให้ถูกต้อง อย่างการปั้นหน้าคน จะมีกะโหลก ลึกเข้าไปในเบ้าตา จะมีลูกตา มีที่หยุดของรูหูมาถึงกราม ต่อเป็นกระดูก การเรียน อนาโตมี เราต้องไปเรียนในเรื่องกล้ามเนื้อศพในสมัยนั้น ต้องข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปเรียนที่โรงพยาบาลศิริราช

“ผมปั้นหมาหลังอานกัดกัน ประติมากรรมชิ้นนี้ชื่อ ‘สู้ตัวต่อตัว’ ปั้นด้วยดินให้มีน้ำหนัก มองจากมุมสูงก็ได้ ฉะนั้น อนาโตมีของคนกับของสัตว์จะคล้ายๆ กัน ถ้าเราคลานมันก็ไม่ต่างอะไรกับหมา มันจะต่างกันที่ส้นเท้านิ้วหมามันจะยาวออกมา มีแกนในของแขนมีลูกสะบ้า มีหน้าแข้ง มีเชิงกราน มีเขี้ยวใกล้เคียงกับคนมาก

“งานของผมจึงไม่มีการร่าง เราหาจังหวะจากความรู้สึกของเราเอง มันมาจากการเที่ยวป่าของผมมาหลาย10ปี ทั้งป่าเมืองกาญจนบุรี ป่ากบินทร์บุรี ฯลฯ ไปที่ไหนก็แล้วแต่ ที่มันมีสัตว์ ถ้าจะถามถึง อัตลักษณ์ตัวตนของผม จึงยังไม่มี มันเหมือนนิรนามไร้จุดหมายปลายทาง การสร้างสรรค์ผลงานของผม มันจะต่อๆ กันมาแล้วพัฒนาการไปเรื่อยๆ ในหัวผมจะคิดเชื่อมโยงกันมาตลอด ยุคแรกๆ จะเป็นเพ้นท์ติ้งและดรอว์อิ้ง อาจารย์ศิลป์เป็นผู้ให้คะแนนผลงานผมในช่วงปีที่ 4 งานของผมอาจจะดีกว่าคนอื่น

“ผมคิดว่าท่านมองเห็นอนาคตของลูกศิษย์ที่อาจจะสับสน เพราะเวลานี้มีคนตั้งตนเป็นครูบาอาจารย์กันเยอะ ถ้าท่านสอนอะไรที่เป็นพื้นฐานจริงๆ แล้วเผอิญผมเป็นลูกศิษย์ของท่าน ผมก็จะนำการสอนเหล่านั้นมาต่อยอด เพราะอาจารย์ศิลป์ท่านมีเป้าหมายว่าอยากจะสร้างลูกศิษย์ของท่านตั้งแต่เรียนจนกระทั่งจบออกจากมหาวิทยาลัย แล้วประสบความสำเร็จ เป็นครูบาอาจารย์ หรือสร้างให้เป็นศิลปิน ท่านทำมาตลอด พอมาถึงปีที่ 2 ท่านก็หยุด ท่านคิดว่ามันหาไม่ได้ คนที่จะมาเป็นศิลปิน มันไม่ใช่คนที่ต้องชอบเขียนรูปมาก่อน ผมฟังมาจนเบื่อแล้ว”

เอกลักษณ์พราวศิลป์

“งานของผมระยะหลังจึงเป็นเรื่องขององค์ประกอบ เรื่องคอมโพส ถ้าคนที่ไม่ได้เรียนภาพพิมพ์ จะไม่ได้เรื่องคอมโพส ผมทำภาพพิมพ์จนได้รางวัลเหรียญทอง พวกเพ้นท์ติ้งมาทำทีหลังก็ได้รางวัลอีก ผมผ่านมาหมดแล้ว จนกระทั่งมาถึงแนวแอบสแตรกเวลาจะแสดงผลงาน ผมก็นำไปจัดที่กรุงเทพฯ แต่เดี๋ยวนี้รูปปั้นไม่มีความหมายแล้ว เราปั้นเสร็จแล้วพอออกสู่ตลาด เขาเห็นแล้วก็จะนำไปก๊อบปี้ เดี๋ยวเดียวออกมาเป็นร้อยๆ ชิ้นแล้ว ตอนหลังผมหันมาทำประติมากรรมพวกไม้แกะสลัก เพราะมันทำก๊อบปี้ไม่ได้มันเป็นเอกลักษณ์ของเราที่ต้องใช้ฝีมือจริงๆ แม้แต่ภาพบางภาพถ้าดูให้ดี จะมีอะไรแอบแฝงอยู่ วัสดุที่ใช้สื่อผสมจะมีพวกไพลินการใช้ทองคำเปลวติดไว้ในภาพ

“กว่าจะมาเป็นอย่างนี้ได้ เราต้องทำมามาก พวกนักสะสมหรือพวกที่ชอบเล่นศิลปะ เมื่อมาเห็นภาพเขาจะเอาแว่นขยายส่องดูรายละเอียด แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานแต่ละชิ้น มันมาจากหลายเหตุการณ์ เหมือนเรามองไปที่พื้นดิน เราเห็นรอยแตกแยก หรือรอยแตกด้านหลังของพระสมเด็จ รอยแตกแยกของหิน ของมอส ของตะไคร่น้ำ เป็นที่มาของพระแม่ธรณี ที่จะรองรับอยู่ที่พื้น สามาถนำมาสร้างสรรค์ได้ แต่ถ้าเราตั้งขึ้นเอง มันจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เหมือนกับช่างภาพ เมื่อเจออะไรบินผ่านมาก็ลองถ่ายภาพแล้วเอามาตั้งดูตรงๆ บางทีเส้นมันจะเป็นต้นไม้ ท้องฟ้า คน สารพัด ฯลฯ ผมเห็นด้านหน้า ด้านข้าง เห็นแปลน เป็นอันเดียวกัน ถ้ามีความลึกเรานำมาไว้ข้างหน้า มันจะมีความลึก มีน้ำหนัก อ่อนแก่สำคัญที่สุด

ลายไทยลายธรรม

“ตอนที่ผมรับราชการอยู่ที่ศิลปากร มีดอกเตอร์คนหนึ่ง ท่านเป็นชาวเยอรมนี จะสนับสนุนให้ทุนพวกศิลปากรให้ไปเรียนวิชารักษาภาพผนังที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ อาจารย์ศิลป์จึงสนับสนุนให้ผมได้ไปเรียน ส่วนที่อาจารย์ศิลป์เลือกอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ให้มาดูแลเรื่องจิตรกรรมไทย เพราะเห็นว่าอาจารย์เฟื้อมีฝีมือเก่งมากในเรื่องดรอว์อิ้งและลายไทย อาจารย์เฟื้อจะเก่งเรื่องดรอว์อิ้งเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการวาดเส้นลายรดน้ำ ท่านทำได้เนี้ยบจริงๆ ถือว่าถึงฝีมือ

“อย่างที่วัดเชิงหวาย อาจารย์เฟื้อเองท่านก็เสียสละการทำงานสากลหันมาทำลายไทย จึงใช้ชีวิตคัดลอกลายไทย ตามวัดโบราณต่างๆ พวกนี้ไว้เยอะมาก ซึ่งไม่มีใครจะเสียสละได้อย่างนี้อีกแล้ว อาจารย์เฟื้อท่านเก่งมาก ท่านเองก็เป็นครูของผม ครูที่สอนให้มองด้วยสายตาที่เป็นธรรม อย่าไปเห็นอะไรสำคัญ ถ้าเห็นทั้งหมดแล้ว เราจะได้รู้จุดว่าเราจะใส่อะไร ตรงไหน โดยการประมาณที่ถูกต้อง เห็นทั้งหมดมันก็เป็นแก่น ทุกอันมันสัมพันธ์เกี่ยวโยงกัน อันนี้เองที่ทำให้เราเข้าใจงานที่ทำทุกชนิด มันจึงเกี่ยวกับเรื่องทัศนศิลป์ เราต้องมองในสิ่งที่มันเกี่ยวโยงกัน มันถึงจะเป็นรูปที่สมบูรณ์

“ผมอยากจะฝากไปถึงนักศึกษาที่เรียนศิลปะหรืออยากจะก้าวเข้ามาเป็นศิลปินในอนาคตว่า อย่าทิ้งเรื่องความรู้ที่เป็นธรรมชาติเป็นอันขาด แม้แต่ก้อนหินสักก้อนก็สามารถนำมาเป็นแบบได้ ไม่ต้องไปคิดมาก แล้วศึกษาพื้นฐานตรงนี้ เพราะเรื่องเรียลลิสติกมันยากที่สุด ไอ้ที่จะแผลงอะไรออกไปเป็นความลึก ความสนุก หรือแสดงความชำนาญอะไรบางอย่างออกมา มันไม่ใช่เนื้อหาที่แท้จริง เรื่องเรียลลิสติกจึงเป็นเรื่องที่ยากที่สุด เรียลลิสติกไม่ใช่รูปถ่าย แต่เป็นฝีมือที่คนทำออกมาอย่างมีชีวิตชีวา เขียนรูปให้มันมีชีวิต แค่คนก็เป็นศิลปินที่มีเหตุแห่งผลได้แล้ว”

การย่นย่อยกลืนบางอย่างยังถนอมรักษาบางสิ่งไว้ได้