รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี

รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี

ภายในห้องใต้ดินของบ้านเรือนไทยโบราณหลังใหญ่ย่านพระรามเก้า ภาพและโมเดลผลงานการออกแบบหมู่เรือนไทยในสถานที่สำคัญต่างๆ มีมากมาย พอๆ กับรางวัลเกียรติคุณต่างๆ ล้วนบอกเล่าถึงตัวตน ของอาจารย์ภิญโญได้ดี การให้นิยามถึงความหมายของสิ่งปลูกสร้างของคนไทย จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมันคือความรู้สึกถึงสิ่งที่ฝังหยั่งรากลึกลงไปในจิตใจจนกลายเป็นจิตวิญญาณ

“สถาปัตยกรรมไทย มันคือชีวิตของผม” คำบอกเล่าผ่านประสบการณ์กำลังจะเริ่มขึ้น เหมือนภาพยนตร์กำลังจะเริ่มฉาย ต่างกันตรงที่ไม่ต้องมีคำโฆษณาชวนเชื่อใดๆ ภาพของเด็กชายภิญโญ สุวรรณคีรี จึงปรากฏขึ้นในฉากแรก

เริ่มเขียนลาย ใฝ่งานศิลป์

“ผมเกิดปีพศ. 2480 เป็นคนบ้านนอก จังหวัดสงขลา คุณพ่อเป็นกำนัน ท่านบวชมานาน กว่าจะแต่งงานก็อายุ 40 กว่า กว่าจะมีลูกก็ช้า ภรรยาคนแรกมีลูกสาวสองคนก็เสีย เลยมาแต่งงานใหม่เป็นคุณแม่ของผมเอง ท่านก็เลี้ยงพี่สาวสองคนเติบโตมาพร้อมกับผม

“คุณพ่อมีเพื่อนสนิทที่ชอบพอกันตอนที่บวชคือ พระครูปทุมธรรมธารี ได้เอ่ยปากว่าหากมีลูกชายขอสักคนหนึ่ง เพื่อเอาไปเลี้ยง คุณพ่อท่านก็มีผมเป็นลูกชายคนโต แล้วก็มีน้องชายที่เกิดไล่เลี่ยกัน (ท่านอดีตรัฐมนตรี อำนวย สุวรรณคีรี) ท่านพระครูก็มาเยี่ยมเยียน ท่านเห็นผมมาตั้งแต่ผมยังเล็ก ยิ่งเห็นก็ยิ่งนึกเอ็นดู เมื่อผมอายุได้ 7 ขวบ ท่านก็เลยมารับไปเลี้ยงดู ก็เลยได้เริ่มเขียนลายตั้งแต่ 7 ขวบ เพราะท่านพระครูนั้นเชี่ยวชาญด้านเขียนลาย มีช่างลูกศิษย์ลูกหามากมาย พอเวลา 8 ค่ำ หรือ 15 ค่ำ ที่วัดมีงานก็จะมีช่างทั้งหลายมารวมตัวกันทำงานที่วัดกันเต็มไปหมด ตั้งแต่ช่างทำลายแกะสลักหนังตะลุง ช่างทำลายเครื่องแต่งตัวมโนราห์ ช่างทำลายกนกติดโลงศพ ช่างทำลวดลายฉลุติดอาคาร เรียกว่าเป็นช่างพื้นบ้านกันทั้งนั้น ผมก็ไปช่วยทำ พอท่านเห็นผมสนใจ ชอบที่จะลองทำ ก็เลยสอน เรียกว่าเขียนลายมาพร้อมกับเขียนหนังสือ

“ระหว่างนั้นผมก็เรียนหนังสือวิชาตามปกติ เวลาว่างๆ พวกช่างก็จะเอาเครื่องมือต่างๆ มาให้ลองทำ อาจารย์ก็ได้ฝึกไปด้วย จะว่าไปเด็กขนาดนั้นพอได้ทำมีผลงานออกมาเป็นรูปเป็นร่างออกมาให้ได้ภูมิใจ มันก็เลยคิดว่าเราก็ทำได้เข้าที ก็เลยรู้แน่ว่าตัวเองชอบมาแต่นั้น พวกช่างท่านเขียนให้บ้าง ผมเขียนตามบ้าง เรื่อยมาจนขึ้นชั้นมัธยม ทีนี้มีวิชาวาดเขียน ก็ชอบอีกเพราะว่าตนเองวาดเขียนดี จึงฝึกเขียนอยู่เรื่อยๆ เพื่อนก็ใช้ให้เขียนกันทั้งชั้น (หัวเราะ) ตอนเด็กๆ เรียนดี ได้ข้ามชั้นมาเรียนกับพวกโตๆ กลัวเขารังแกเลยเขียนงานให้เขามาเรื่อย จนกระทั่งสามารถตัดรูปหนังตะลุงขาย หารายได้เอง สมัยนั้นไม่ต้องขอตังค์พ่อแม่ซื้อกางเกง ซื้ออะไร อยากได้อะไรก็ทำงานหาเงินเอาเอง”

จุดเปลี่ยนชีวิตนักศิลปกรรม

เมื่อเส้นทางชีวิตของแต่ละคนนั้นยากที่จะคาดเดา การจะต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอนาคตและความฝันจึงดูเป็นเรื่องของวันพรุ่งนี้ในความคิดของเด็กชายบ้านนอกคนหนึ่ง การวาดลวดลายไทยจึงเป็นอนาคตอันใกล้ที่ไขว่คว้าได้เท่านั้น

“ผมเกือบไม่ได้เรียนต่อเพราะเป็นไข้มาลาเรีย หยุดเรียนไปตั้งเกือบสามปี หลังจากจบชั้นมัธยมจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ก็อยู่บ้านเขียนลายทำอะไรไปตามเรื่อง จะว่าไปเมื่อตอนเด็กก็ไม่ได้นึกอยากทำอาชีพอะไรเมื่อโตขึ้น เพราะไม่ได้มีความรู้ว่าจะต้องเรียนมหาวิทยาลัย ครอบครัวก็ไม่ได้คิดเห็นว่าควรจะทำอย่างไร คุณพ่อเป็นกำนัน คุณแม่เป็นแม่บ้านที่มีฝีมือทอผ้าเกาะยอ หลังๆ มาก็มาปรับเป็นทอเสื่อจันทบูร คุณนายของนายอำเภอซึ่งผมเรียกท่านว่าคุณป้า และผมเองก็ได้ไปช่วยทำงานบ้านให้ท่านด้วยในช่วงนั้น ท่านก็มาเรียนงานฝีมือทอเสื่อกับคุณแม่อยู่เรื่อย

“พอดีท่านกับนายอำเภอจะย้ายไปประจำที่อื่น ท่านก็บอกว่าอยากได้ผมไปอยู่ด้วย จะได้เรียนสูงๆ อย่างลูกชายท่านที่เรียนแพทย์ เรียนวิศวะ จบมาจะได้มีเงินมีทอง ท่านก็ว่าอย่างนั้น ผมก็ตามท่านมา คุณพ่อผมได้รับคัดเลือกเป็นกำนันตัวอย่าง ท่านมารับรางวัลที่กรุงเทพฯ แล้วได้พักอยู่ที่กองทะเบียนตำรวจพอดี คุณพ่อก็เลยพาผมมาฝากอยู่ที่วัดประยูรวงศ์ จากนั้นผมก็เลยได้เรียนที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ ธนบุรี แล้วก็ย้ายมาเรียนที่โรงเรียนสันติราษฎร์บำรุง เมื่อจบแล้วก็สอบเข้าจุฬาฯ เพื่อเรียนต่อในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

“พอมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ก็ยังเหมือนเดิม ทำงานหาเงินเอง แต่ทำงานที่หลากหลายมากขึ้น ทำลายฉลุทองแดงเป็นลายไทย ราชสีมา มหาดไทย นกวายุภักดิ์ หงส์ ทรัพย์สินส่วนพระองค์ต่างๆ ผมทำมาหมด ทั้งงานช่างฉลุ ช่างเขียนลาย ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้มาจากการที่ผมฝึกเอง เรียนรู้ด้วยตัวเองทั้งนั้น

“และอย่างที่บอกว่าผมก็ไม่รู้หรอกว่าแรกเริ่มเดิมทีจะเรียนอะไร แต่มีคนยุให้เรียนเพาะช่างทั้งนั้น เพราะว่าผมมีฝีมือด้านช่างเขียน แต่พอมาอยู่วัดประยูรวงศ์ ก็จะอยู่กับพวกพี่ๆ เพื่อนๆ ที่เรียนหนังสือเก่งๆ เพราะจะได้ความรู้มาจากพวกเขาไปด้วย ไม่ต้องไปเรียนกวดวิชาให้เสียเงิน ผมอยู่กันมากับศาสตราจารย์กิตติคุณ จรูญ สุภาพ (อดีตอธิบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) นอ.วิจิตร ชุมนุมมณี, พล.ต.ต.วาทิน คำทรงศรี เขาก็แนะนำว่าผมต้องเรียนสถาปัตยกรรม สมัยนั้นก็เห็นว่าสาวๆ ชอบไปเรียนจุฬาฯ เรียนแพทย์ เรียนวิศวะ เรียนสถาปัตย์ เราก็ยิ้มเลย รอบวัดประยูร ก็สาวๆ เยอะ ศึกษานารีบ้าง ซางตาครู้สคอนแวนท์บ้าง ไปเรียนกันคาดเข็มขัดพระเกี้ยวเดินมากันทั้งนั้น ผมเลยมุ่งมั่นไปเรียนจุฬาฯ เลยทีนี้ (หัวเราะ)”

ฝากตัวเป็นลูกพระเกี้ยว 

หากส่วนประดับเรื่องราวของชีวิตจะประกอบไปด้วยประสบการณ์ ความเกกมะเหรกเกเรจึงเป็นเรื่องธรรมดาของคนหนุ่มเมื่อถึงคราวได้รับอิสระ แต่ถือว่าน่าแปลกที่เขากลับแบ่งภาค บทบาท หน้าที่ไว้อย่างชัดเจน ไม่เว้นแม้ตอนเล่น ทำงาน และเรียน

“ช่วงที่เรียนผมก็เกเรบ้างตามประสาคนหนุ่ม แต่ก็มีขอบเขตอยู่ คือไม่ได้โลดโผนโจนทะยาน เพราะต้องทำงานหาเงินเรียนเอง ว่างหน่อยก็รับงานเขียนลาย ฉลุงาน จะไม่ค่อยได้ไปเกเรอะไรที่ไหนมาก ยิ่งพอเข้าเรียนมหาวิทยาลัยยิ่งยุ่งมาก เพราะนอกจากจะเรียนและทำงานไปด้วยแล้ว ยังทำกิจกรรมที่คณะอีก อย่างสมัยนั้นละครสถาปัตย์อะไรไม่มีหรอก เขามีเป็นภาพยนตร์เป็นเรื่องเป็นราวเลย ผมก็ไปเล่นกับเขาทุกปี ว่างๆ ก็ไปสอบวิชาวาดเขียนที่เพาะช่างจนได้ใบประกาศ แล้วก็ไปเป็นอาจารย์พิเศษสอนให้นักเรียนเตรียมอุดมพญาไท ทั้งๆ ที่ยังเรียนมหาวิทยาลัยอยู่

“พอเวลาว่าง เสาร์อาทิตย์ก็ไปอยู่ตามวัดตามศาลา ไปนั่งเขียนแบบ ครั้งหนึ่งตอนอยู่ปี 1 ปี 2 ไปนั่งช่างดูเขาปั้นปูนบนหลังคาวัดเลียบ ไอ้เราอยากเห็นใกล้ๆ ก็ปีนขึ้นไปบนนั่งร้านเขาเพื่อดูว่าเขาทำอย่างไร ช่างเขาก็ไล่เราลงมา ผมก็ตื๊อเขา เขาก็ไล่ท่าเดียว พอตอนจะลงก็เหลือบไปเห็นซองบุหรี่กรุงทองของช่างเข้าพอดี จากนั้นอีกวันก็ไปอีก ขึ้นไปดูเขาก็ไล่ ลงมาอีก ก็เลยบอกว่าผมเอาบุหรี่มาฝาก แล้วก็ให้เขาไปสองซอง ทีนี้นั่งร้านมีที่ให้ผมยืนเฉยเลย (หัวเราะ) ก็เลยได้ลองทำบ้าง ช่างเขาสอนคอยบอกจนรู้ขั้นตอน นั่นคือความรู้ที่ผมได้มา เสียค่าเรียนแค่บุหรี่ 2 ซอง เมื่อตอนอยู่ชั้นปีที่ 4 ก็มีผลงานออกแบบอาคารแสดงสินค้าไทยในงาน New York Faire Pavilion ตอนนั้นถือว่าเป็นผลงานที่สร้างความปลาบปลื้มใจ

“สมัยนั้นเรื่องการเรียนวิชาสถาปัตยกรรมไทยถูกทอดทิ้งมาก เพาะช่างก็ย้ายมาอยู่กับวิศวะ แล้วก็แยกออกมาเป็นคณะสถาปัตยกรรม ซึ่งจะเป็นหลักสูตรเดียวกับประเทศอังกฤษ เพราะอาจารย์นาถ โพธิ์ประสาทผู้ก่อตั้ง ท่านจบมาจากอังกฤษ ท่านก็เอาหลักสูตรนั้นมาใช้ จะเน้นหนักไปทาง Modern Architecture เป็นสถาปัตย์ที่ทำเพื่อผลประโยชน์ของคนในเมือง ซึ่งหลายมหาวิทยาลัยเขาก็เรียนกันแบบนี้ แต่ของที่จุฬาฯ ดีหน่อย ตรงที่มีวิชาสถาปัตยกรรมไทยมาเสริม แต่คะแนนก็น้อย เพราะเป็นเพียงแค่วิชาโท

“คนมักมองไม่เห็นคุณค่าของความเป็นไทย อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามามาก ใครเล่นดนตรีไทย เล่นกีฬาไทยอย่างตะกร้อก็ดูถูกกัน คนอื่นนิยมเล่นเทนนิสกัน ผมก็มาเล่นตะกร้อไทย ก็เล่นเรื่อยมาจนได้เป็นนักกีฬาเหรียญทองของจุฬาฯ อะไรที่เป็นไทยๆ ผมสนใจเรียนรู้ทุกอย่าง กีฬาไทยอย่างตะกร้อ ดนตรีไทย เครื่องดนตรีทุกชิ้น โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ การ์ตูนขำขันใน ต่วย’ตูน แต่ผมเน้นศิลปะของไทย เพราะมีคุณค่าทางด้านจิตใจ”

จิตวิญาณไทยทั้งชีวิต

เมื่อความคิดที่พุ่งพล่านอยู่ในใจเสมอว่าอยากเก่งกว่านี้ก็ต้องเรียนรู้ให้มาก จึงเป็นแรงผลักดันให้เส้นทางที่จะก้าวต่อไปจำต้องข้ามแดน แม้สิ่งที่เต็มตื้นอยู่ในหัวใจคือไทยแท้ แต่หากมีสักครั้งที่จะได้รู้จักโลกให้กว้างขึ้น มีหรือที่เขาจะเมินเฉยต่อโอกาส

“หลังจากเรียนจบปริญญาตรี ผมก็เข้าเป็นอาจารย์สอนวิชาสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ อยู่สักพัก แล้วจึงไปเรียนต่อ การตัดสินใจไปเรียนต่อเมืองนอก เพราะเราอยากรู้ให้มันเยอะ อยากเห็นให้มันเยอะ เมื่อโชคดีได้รับทุนเรียนที่มหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกาคือ University of Pennsylvania ผมเรียนดีจนได้ใบประกาศอยู่หลายใบ โปรเฟสเซอร์ที่นั่นก็ชื่นชมเสมอ ผมเรียนเร็วมาก ใช้เวลาเพียงเก้าเดือนเท่านั้นก็สำเร็จปริญญาโท

“พอเรียนจบกลับมา ผมก็เข้ารับตำแหน่งอาจารย์ต่อที่สถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้เริ่มสอนนักศึกษาตั้งแต่รุ่น 1 ของสถาบัน จนถึงทุกวันนี้ก็ยังสอนอยู่ แล้วก็มีที่มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ส่วนเอแบคนี่พอเขาย้ายไปเรียนไกล ไปไม่ไหวก็เลยหยุดไป

“แม้จะเรียนเมืองนอกมา แต่ตัวของผมเองก็ยังเน้นไปที่ศิลปะเน้นความเป็นไทยแท้อยู่เช่นเดิม เราไปเรียนหาความรู้ว่าประเทศเขาเมืองเขาเป็นอย่างไร ซึ่งมันก็สามารถนำมาประยุกต์กันได้ แต่ผมไม่ค่อยทำ อย่างที่บ้านพักของผมหลังนี้ การสร้างห้องใต้ดินใต้บ้านเรือนไทย สมัยโบราณไม่มีหรอก มีแค่ใต้ถุน ไม่มีที่ไหนเขาทำ เพราะสมัยนั้นใต้ถุนเอาไว้ใช้ประโยชน์ตอบรับวิถีชีวิตสมัยนั้น ผูกวัวอะไรไป แต่บ้านเรือนไทยสมัยนี้สามารถทำได้ก็ใช้เทคนิค ใช้หลักการออกแบบที่ได้ร่ำเรียนมาจากที่โน่นมาใช้ เราจะต้องเรียนสากลด้วย ของไทยด้วย มันคือการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกไว้ด้วยกันอย่างแนบเนียน

“ปัจจุบันผมได้ประโยชน์จากห้องใต้ดิน โดยใช้เป็นที่สอนหนังสือหรือจะเป็นห้องซ้อมดนตรีไทยเป็นงานอดิเรก อีกทั้งยังเป็นที่สำหรับเขียนแบบขยาย แบบขนาดใหญ่ และการสร้างบ้านหลังปัจจุบันของผมก็ไม่ได้เพื่อจะเป็นตัวแทนของตัวเอง แต่อยากให้เป็นตัวแทนของชาติไทย เป็นตัวแทนของสถาปัตยกรรมไทย นี่ก็เป็นตัวอย่างให้ลูกศิษย์ได้ดูว่าเรือนไทยปัจจุบันนี้ สามารถดัดแปลงได้อย่างไรบ้างโดยไม่เสียความเป็นเอกลักษณ์ของเรือนไทย ใช้ความเจริญทางเทคโนโลยีทำให้เห็นว่านี่คือเรือนไทยหลังแรกในประวัติศาสตร์ของชาติไทยที่มีห้องใต้ดิน” 

ปลุกจิตวิญญาณแห่งสถาปัตยกรรมไทย

 

แม้จะเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคมามากตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษา สิ่งที่ได้จากตำราดูท่าว่าจะน้อยไป เมื่อช่องทางเริ่มเปิดให้เกิดการปฏิรูปขึ้นมาใหม่ ก้าวต่อไปที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน คือการเขียนหน้าประวัติศาสตร์งานศิลป์ไทยขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

“หลังจากที่ผมได้เข้ามาเป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ ผมก็ได้มีโอกาสสร้างผลงานไว้มาก อย่างที่จุฬาฯ ผมก็ได้ปั้นพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 ศาลาไทยผมก็สร้าง สมเด็จพระเทพฯ ท่านทรงเห็นว่าผลงานมีมาก ก็เลยดำริว่าน่าจะมีการเปิดสอนอย่างจริงจัง ถ้าไม่มีอาจารย์ภิญโญแล้วใครจะสอน นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดภาควิชาสถาปัตยกรรมไทยที่เปิดขึ้นในปี พ.ศ.2539 เป็นต้นมา

“พอมีโอกาสได้สอนเอง ก็เลยคิดทำหลักสูตรใหม่หมด แบบเดิมไม่เอาแล้ว เอาประสบการณ์ที่มีความรู้ที่ได้ทั้งหมดมารวบรวม เริ่มมาตั้งแต่การสอนผูก ทำเรือนเครื่องจากไม้หวาย เครื่องจักรตอกอะไรแบบนั้น ผมเอาเข้ามาสอน เพราะมันเป็นวิชาสถาปัตยกรรมไทยที่ถ้าได้เรียนแล้วสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ช่วยเหลือพี่น้องในชนบทได้

“อย่างหมู่เรือนเครื่องสับมันก็มีเอกลักษณ์มีภูมิปัญญา ทั้งเรือนไม่มีตะปูสักตัว อายุอยู่ได้เป็นร้อยปี ทั้งหมดทั้งมวลของเครื่องเรือนแบบไทย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสับ เครื่องก่อ เครื่องลำยอง เครื่องยอด เครื่องผูก ถ้าผมไม่รวบรวมมาสอน มันก็คงหายไป อันที่จริงเครื่องผูกนี่สำคัญมากนะ อยู่เย็นเป็นสุขมาก จะไม่มีไฟฟ้าสถิตผ่าน ระบบระบายอากาศภายในก็ดีมาก ทั้งฝา ทั้งพื้น นอนยังไงก็ไม่เจ็บตัว สถาปัตยกรรมไทยมันเหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่และภูมิอากาศประเทศไทย แต่เราเพิกเฉย หันไปเอาอย่างยุโรป อย่างอเมริกากันมาก ก็ต้องมาติดแอร์อะไรกันวุ่นวาย”

นายช่างใหญ่แห่งรัตนโกสินทร์

เมื่อการไหลผ่านทางวัฒนธรรมเพิ่มมากขึ้น ‘ศิลปวัฒนธรรมไทย’ ก็ได้กลายเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงจุดอ่อนของสังคม การจะพลิกฟื้นคืนคุณค่าอาจทำได้ยาก แต่หากคุณค่าความสำคัญเหล่านั้นได้ฝังหยั่งรากลึกลงไปในตัวตนของคนใด เชื่อได้ว่านั่นจะเป็นแรงผลักดันให้คนนั้นยืนหยัดยึดถืออย่างมุ่งมั่นที่จะพลิกหน้าประวัติศาสตร์ของชาติไทย ดังเช่นที่ รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ทำมากกว่าจะหยุดความหมายไว้ที่ “ศิลปิน”

“ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าช่างฝีมือไทยนั้นมีสองสาย คือช่างพื้นบ้าน และช่างหลวง ช่างพื้นบ้าน คือชาวบ้านที่มีความสามารถด้านงานช่าง คิดเองทำเอง ถึงเวลาทำนาก็ทำนาไป หมดหน้านาก็ทำงานช่างต่อ นี่คือสิ่งที่ผมเรียนมาด้วยตั้งแต่เด็ก แต่พอเข้ามากรุงเทพฯ ก็อาศัยเรียนด้วยตัวเอง ฝึกด้วยตัวเอง เสาร์อาทิตย์หยุดเรียนไม่ได้ไปไหน ก็ไปวัดสุทัศน์ ไปวัดพระแก้ว ไปนั่งจดนั่งเขียนลาย หลังคาวัดเป็นแบบไหน ปูนปั้นทำอย่างไร ถือว่าเป็นกิจกรรมยามว่าง เรื่องพวกนี้ไม่มีใครสอน ผมไปเรียนด้วยตัวเองแบบครูพักลักจำเอา จนทำงานช่าง ควบคุมช่างได้ทั้งหมด และเมื่อเราได้คุมงานเราต้องแม่นยำ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามสเป็ก ถ้าตรงไหนผิด สามารถแก้ให้ดูได้ทันที เพราะผมมีความชำนาญของช่างและถือว่ามากที่สุดของประวัติศาสตร์ชาติไทย

“แต่ช่างหลวงนี้จะได้รับการฝึกมาอย่างดีโดยเฉพาะ จะฝึกกันตั้งแต่เด็กๆ เอามาอยู่กับนายช่างใหญ่ พอชำนาญแล้วก็ได้ทำงานเป็นช่างหลวงต่อ ส่วนมากจะทำงานให้กับพระเจ้าอยู่หัว ทั้งชีวิตก็จะทำงานช่างเพียงอย่างเดียว ดังนั้น

ถ้าเทียบกันแล้ว ช่างหลวงจะมีความชำนาญมากกว่าแน่นอน ผมเองก็เอาสองอย่างมาผสมผสานกัน เพราะเริ่มเรียนจากช่างพื้นบ้านแล้วค่อยมาปรับตัวเป็นช่างหลวงนี่เอง แต่ผมจะมากกว่าช่างหลวงตรงที่ได้เดินทางไปรอบโลก ได้รู้ได้เห็นอะไรมาเยอะ พอได้เรียนมาก สมองมันก็ได้วิเคราะห์วิจัยอะไรได้ อย่างที่คนโบราณห้ามเดินเหยียบธรณีประตู ห้ามนั่งขัดบันได ห้ามนอนขวางขื่อ ห้ามสารพัด ไม่มีใครสามารถอธิบายได้ แต่ผมทำได้ มันไม่ใช่เรื่องของความเชื่อ แต่มันเป็นกุศโลบาย ที่มีเหตุและผลของมันอยู่ แต่ถ้าอยากรู้ก็ต้องลองมาเรียนกับผม (หัวเราะ)”

“ทุกครั้งที่เริ่มเขียนลาย มันมีความสุข มันคือจิตวิญญาณ มันเหมือนเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจเราพอได้ทำมันจะเหมือนได้อยู่ในอีกโลก แม้จะมีงานที่มากมาย ก็แบ่งภาคแบ่งเวลาไปทำ ไม่เครียด ทำด้วยความชำนาญและแม่นยำ ผมเลยเขียนแบบเร็ว ผมจะเน้นศิลปะทางจิตใจ อย่างการสร้างพระราชวังนี่มีใครทำบ้าง ทำวัดไทยในอินเดีย ที่ประสูติของพระพุทธเจ้าอย่างเนปาล คือสถานที่ธรรมดานั้นทำไม่ได้หรอก อย่างการไปสร้างเรือนไทยไว้ที่เยอรมัน ศาลาไทยที่ฮาวายอย่างนี้ มันยากนะ เพราะเขามีกฎหมายห้ามสถาปนิกชาวต่างชาติมาออกแบบ ต้องมีการทำเรื่องขอ ขั้นตอนวุ่นวาย แต่สำหรับผมเขายอม อาจเป็นเพราะการที่เป็นอาจารย์มีลูกศิษย์ลูกหามาก อาจได้เปรียบหน่อยก็ตรงนี้ ก็ถือว่าได้ไปสร้างผลงานไว้รอบโลก แต่ไม่เคยคิดว่าเป็นศิลปิน เพราะศิลปินมันเป็นกันง่ายไป อะไรก็เป็นได้หมด แค่คิดว่าเป็นช่างใหญ่ ก็มักจะบอกใครๆ อย่างนั้น เพราะผมถนัดและคุมงานด้านนี้ได้หมด 

สถาปัตยกรรมกับวิวัฒนาการ

จากประวัติศาสตร์ชาติไทย หลักฐานสำคัญทางวัฒนธรรมต่างๆ ที่เหลือไว้ ย่อมแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ ตลอดจนลักษณะนิสัยหรือรสนิยมอันละเมียดละไมของคนไทย ที่ลึกๆ แล้วต่างก็ตอบโจทย์ในใจ ว่าจะโมเดิ้ร์นแค่ไหน แต่ศิลปะของบ้านไทยก็บอกความหมายของคำว่า “บ้าน” ได้เป็นอย่างดี

“ทุกวันนี้วิถีชีวิตคนเราห่างไกลคำว่าบ้าน เพราะอย่างคำว่าบ้าน ในความหมายของผมก็คือที่ที่เรานั่งกันอยู่นี่แหละ คือที่พักอาศัย อยู่ร่วมกันของคนในครอบครัว มีอาณาบริเวณให้ได้พักผ่อน มีต้นไม้ แต่สมัยนี้ด้วยอะไรที่เปลี่ยนไปเยอะ ทำให้บ้านกลายเป็นรู อย่างคอนโดมิเนียม มันเหมือนตัวต่อบินเข้าไปในรูมากกว่า

“สถาปัตยกรรมพวกนั้นต้องทำอย่างรวดเร็ว เรียบง่าย ราคาถูก ไอ้ที่เราบอกว่าสวยๆ เราพูดกันเองทั้งนั้น แต่ละชิ้นแต่ละองค์ประกอบมันมาจากโรงงานผลิตไว้ทั้งนั้น มันไม่ได้มีคุณค่าทางจิตใจเหมือนงานหมู่เรือนไทย ที่มีรายละเอียด มีความปราณีต มีความสวย เราออกแบบไว้อย่างไร แต่ละชิ้นแต่ละองค์ประกอบต้องสวยงามให้ได้อย่างนั้น ที่เรียกว่า ‘Master of Material’ นั่นเอง

“สถาปัตยกรรมมันไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรอก แต่เป็นสายงานที่ควรมีการเปลี่ยนแปลงมากกว่า เดี๋ยวนี้เงินใครก็อยากได้ แต่ถ้าไม่นึกถึงความรับผิดชอบต่อสายงานของตนเองแล้ว มันจะเดือดร้อน การจะสร้างสถาปัตยกรรมแต่ละชนิด มันจำเป็นจะต้องมีทางเฉพาะ อย่างตึกสูง คอนโด หรือโรงพยาลบาล อาคาร บ้านช่อง ก็ควรจะมีสถาปนิกที่เชี่ยวชาญแต่ละด้าน จะมารวมๆ ทำทั้งหมดไม่ได้ ผมเชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมไทย ก็เน้นแต่เรื่องหมู่เรือนไทยไป ไม่ใช่สักแต่ว่ารู้หลักแล้วทำหมดไม่ได้ จะให้ผมมาเขียนแบบสร้างคอนโดตึกเหลี่ยมๆ มันก็ทำได้อยู่ แต่ไม่ทำ เพราะคนละทางกัน ด้วยความที่มันมีหลายสายในสถาปัตยกรรม ดังนั้นมันควรจะมีการแบ่งให้ถูก ตามแต่ความชำนาญเฉพาะด้านไป“ 

หัวใจสำคัญของศิลปะ

ท่ามกลางตึกสูงระฟ้าในเมืองใหญ่ นอกจากจะให้ความรู้สึกศิวิไลซ์ แต่กลับไร้ซึ่งจิตวิญญาณ สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในใจกลับกลายเป็นคำถามที่ว่า “ทำไมชีวิตมนุษย์จึงดูคล้ายนกนางแอ่น” การที่ชีวิตคนเราถูกปรับเปลี่ยนให้ผูกพันอยู่กับตึกสูง อาจไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้านั่นเป็นเพียงแค่ที่อยู่อาศัย แต่เหนืออื่นใด ผู้ที่มีใจอุทิศให้ศิลปะ กลับมองได้ลึกถึงแก่นมากกว่านั้น

“งานสถาปัตยกรรมไทยมันมีเอกลักษณ์ ไม่มีที่ไหนเหมือน ตราบใดที่เรามีสถาบันพระมหากษัตริย์ ตราบใดที่เรามีพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักอยู่ งานพุทธศิลป์ สถาปัตยกรรมไทย ย่อมมีความสำคัญ ไม่มีทางที่จะลดน้อยถอยลงไป เพราะงานสำคัญเหล่านี้แสดงถึงฐานานุศักดิ์อันสูงส่งของสถาบันเหล่านี้ แล้วการที่จะมาเป็นนักสถาปัตยกรรมไทยมันต้องเชี่ยวชาญในทุกเรื่อง อย่างที่ผมได้ฝึกฝนมาให้ใฝ่หาความรู้อยู่เสมอ

“เรื่องพรสวรรค์หรือพรแสวงอะไรนั่น สำหรับผมคิดว่าคนเรามันเหมือนกล้องถ่ายรูป ถ้าเราโฟกัสจิตเราให้แน่วแน่ในการทำงานได้ มันก็ทำได้หมด อย่างเรื่องดนตรีไทย บอกใครเขาก็เชื่อยากว่าผมพึ่งจะมาเริ่มเล่นเอาเมื่อตอนอายุ 50 กว่า แล้วไม่มีใครสอนทั้งนั้น เรียนเอง เล่นเอง จนทุกวันนี้ก็ได้เล่นถวายพระเทพฯ อยู่เสมอ หลักการใหญ่ เรื่องศิลปะนั้นต้องเรียนเอง ก็คิดอยู่เสมอเวลาทำอะไรว่าเราต้องทำเป็น ทำได้ และทำได้ดี แล้วมันก็ทำได้อย่างนั้น ของพวกนี้มันอยู่ที่ใจ อีกอย่างที่สำคัญถ้าเราไม่เรียนมาก เราจะไม่สามารถสร้างผลงานที่หลากหลายได้”

ด้วยความรักในศิลปะอันทรงคุณค่าและมากความหมาย ด้วยจิตวิญาณที่หยั่งรากลึกลงไปถึงแก่นแท้ของความเป็นไทย และด้วยกว่าที่ศิลปะสถาปัตยกรรมไทยจะสานต่อมาถึงวันนี้ได้ อยู่ที่ใจของใครจะมองให้ความสำคัญ

“อาจมีคนมองว่าผมดุ ปากจัด แต่ไม่หรอกผมพูดตรงๆ มากกว่าและที่ผ่านมาต้องฝ่าฟันอะไรมาก็เยอะกว่าจะสร้างรากฐานสถาปัตยกรรมไทยขึ้นมาอีกครั้ง ท่ามกลางคนที่มองไม่เห็น การที่จะมองอะไร เราต้องแยกให้ออก มองให้เป็น ใช้ปฏิภาณอย่างหนึ่ง ไหวพริบอย่างหนึ่ง มนุษย์สัมพันธ์อย่างหนึ่ง มันคือองค์ประกอบทั้งหมดที่จะทำให้เราเป็นที่ยอมรับในสังคม และทำให้ผมมีวันนี้”

ผู้ที่สร้างบันทึกหน้าใหม่แห่งสถาปัตยกรรมไทย 

นอกจากจะเป็นผู้ริเริ่มบรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ในภาควิชาสถาปัตยกรรมไทย ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจนกลายเป็นหลักสูตรมาตรฐานการศึกษาของประเทศไทยแล้ว เขายังเป็นผู้สร้างตำนานวิชาช่างไทย ด้วยการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ ให้ชาวโลกได้ร่วมสัมผัสถึงอารยธรรมที่สูงส่งของคนไทยไว้ในหลายประเทศทั่วโลก เขาได้รับการเชิดชูให้เป็นคนดีศรีมหาวชิราวุธ บุคคลดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาสังคม (สถาปัตยกรรมไทย) รางวัลนิเคอิ เอเชียไพรซ์ (สาขาศิลปะวัฒนธรรม) เมื่อปี พ.ศ.2543 รางวัลอันทรงเกียรติอย่างศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) เมื่อปี พศ.2537 และได้รับการยกย่องเป็นราชบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ.2546 และอีกมากมาย พร้อมกับได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ได้รับเหรียญดุษฏีมาลา เข็มศิลปวิทยา และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย ประถมาภรณ์ช้างเผือก ได้รับเชิดชูเกียรติจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นศาสตราภิชาน ในสาขาสถาปัตยกรรมเช่นกัน ซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดจากผลงานอันทรงคุณค่าทั้งหลายที่อาจารย์ได้สร้างไว้

“ผมไม่เคยคิดหรือคาดหวังว่าจะได้รับรางวัลอะไร เราทำงานด้วยใจ ไม่ได้คาดหวังอะไร แค่หันมองไปทางไหนแล้วเห็นว่านั่นก็ลูกศิษย์เรา โน่นก็ใช่ แต่ละคนได้ทำประโยชน์อะไรให้กับชาติ ศาสน์ กษัตริย์นั่นก็พอแล้ว

“เดี๋ยวนี้เราได้บัณฑิตดีๆ มีคุณภาพมากมาย งานสำคัญๆ ในพิธีต่างๆ เช่น พระเมรุที่สนามหลวง หรืออะไรก็ตาม ฝีมือลูกศิษย์ของผมทำกันทั้งนั้น มองเห็นก็ภูมิใจอยู่ลึกๆ อยู่เหมือนกัน อย่างอาจารย์เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี ก็เป็นลูกศิษย์รุ่นแรกและคนแรกที่เอามาเป็นผู้ช่วยในบรรดาลูกศิษย์ที่สอน เขามีความใฝ่รู้ พากเพียรเหมือนอาจารย์สมัยโน้น มีความตั้งใจจริงที่จะอนุรักษ์และสืบทอดสถาปัตยกรรมไทย แต่ผมเป็นนักกิจกรรมมากกว่า อย่างเมื่อสมัยเรียนสถาปัตย์ ก็เล่นละครอยู่ทุกปี สมัยนั้นมันไม่ใช่แค่ละคร เแต่ทำกันเป็นภาพยนตร์เลย ฉายเป็นเรื่องเป็นเป็นราว อย่างภาพยนตร์เรื่องพระนเรศวรมหาราช ผมเล่นเป็นพระยาเกียรติ เล่นเรื่องเผ่าไทยเป็นพระยาตองอู เล่นเรื่องโพงพาง เยอะแยะ ส่วนดนตรีไทยทุกชนิดผมเล่นได้หมด”

หากเปิดตำราแล้วค้นหาความหมายของคำว่า สถาปัตยกรรมไทย