ประสาท ทองอร่าม
รากเหง้าที่หยั่งลึก
หาก ‘โขน’ คือรากเหง้าแห่งวัฒนธรรมไทย อีกหนึ่งสิ่งที่ยิ่งใหญ่อยู่ในใจ ‘โขน’ ก็คือ รากเหง้าครูของแผ่นดินคนนี้ความใฝ่รู้เป็นต้นทุนที่เขามี บวกกับความใฝ่ดีที่ถูกส่งเสริม เมื่อมองย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น ก็จะค้นพบว่าเขาคือผลผลิตแห่งความศรัทธาในนาฏศิลป์ไทยอย่างแท้จริง
“พ่อผมมีอาชีพถีบสามล้อ แม่ขายข้าวแกง ปู่มีอาชีพเป่าปี่งานศพ ผมเองก็จะไปคลุกคลีอยู่กับท่านที่วัดพระพิเรนทร์ถนนวรจักร ซึ่งถือได้ว่าที่นั่นคือแหล่งรวมศิลปะทุกแขนง เพราะจะมีถนนหลายสายของแหล่งศิลปะเชื่อมโยงถึงกันอยู่แล้วอีกอย่างสมัยก่อนที่วัดก็คือศูนย์รวมของคนในชุมชนอยู่แล้ว ผมเองก็ติดตามปู่ไปวัด เพราะเรายังเด็ก อย่างน้อยไปวัด วันนี้เราอิ่มแน่
“แต่พอไปถึง ได้อยู่กับพวกโขน ละคร ลิเก ปี่พาทย์ มันก็เลยได้ความรู้ด้านดนตรีมา พอเขาจะมีงานอะไร ผมก็เข้าไปดู เข้าไปช่วย พอปู่เห็นว่าผมมาทางนี้แน่แล้ว ก็เลยเอาผมมาฝากเรียนกับนักดนตรีดั้งเดิม อย่างร้อยเอกองค์การ กลิ่นชื่น หรือครูต่อ ท่านเป็นหัวหน้าแผนกดุริยางค์ไทยอยู่ที่กรมศิลปากร จากนั้นท่านก็เอาผมไปฝากกับครูประสิทธิ์ ถาวรซึ่งท่านเป็นครูที่ควบคุมอยู่ในโรงเรียนนาฏศิลป์สมัยโน้น ผมก็เลยได้ทำการสอบเข้ามาเรียนเป็นหนึ่งในนักเรียนโรงเรียนนาฏศิลป์ ในระดับต้นที่สาขาดุริยางค์ไทยก่อน
“ผมเข้าเรียนชั้นต้น 1 ในปี พ.ศ.2504 สมัยนั้นเรียนชั้นต้น 6 ปี ชั้นกลาง 3 ปี ชั้นสูง 4 ปี ก็เป็นโชคดีของผมที่ปีนั้นอาจารย์เสรี หวังในธรรม ท่านจบมาเป็นครูพอดี ท่านก็ได้รับมอบหมายจากคุณธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เพื่อรวบรวมเด็กที่เก่งๆ แต่มีข้อด้อยในเรื่องของครอบครัวหรือความเป็นอยู่ ให้เอามาอยู่รวมกัน เพื่อช่วยกันสืบสานศิลปวัฒนธรรมเอาไว้ได้
“เมื่อพ่อเสได้รับมอบหมาย ก็บังเอิญมีเจ้านายพระองค์หนึ่งคือ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร หรือพระองค์ชายกลาง ท่านโปรดในเรื่องของโขน ละคร ท่านก็เลยรับเป็นองค์อุปถัมภ์ ให้พ่อเสจัดกลุ่มเด็กๆ ขึ้นมาประมาณ 13 คน รวมกันเป็นหมวดหมู่ เพื่อฝึกฝนโดยมีทุนของสมเด็จพระองค์ชายกลางเป็นองค์อุปถัมภ์ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ค่าเล่าเรียนอะไรทั้งหลาย
“ต่อมาเมื่อผมเรียนอยู่ราวชั้นกลางปีที่ 2 ผมก็ไปสมัครเป็นราชการนักเรียน เพื่อเตรียมเข้ารับราชการในกรมศิลป์ หรือเพื่อเป็นศิลปินสำรอง รอที่จะเป็นศิลปินชั้นครูต่อไป ประสบการณ์นอกตำราผมจึงมีมากขึ้นนับแต่นั้น”
วิชาแห่งอาชีพ
เมื่อเติบโตขึ้น ความคิดของหลายๆ คนเปลี่ยนไป ความสนใจก็ย่อมเปลี่ยนตาม เมื่อการทำมาหาเลี้ยงชีพคือจุดมุ่งหมายที่สำคัญของลูกผู้ชาย เมื่อเส้นทางที่ทอดยาวไม่รู้จะสิ้นสุดที่ตรงไหน แต่การเริ่มต้นใหม่ในสิ่งที่ไม่ใช่กลับไม่เคยมีอยู่ในความคิดของเขาคนนี้
“กว่าจะมาถึงวันนี้ก็ต้องย้อนกลับไปดูว่าผมมาจากไหน ผมมาจากความผูกพันกับสภาพสังคมที่ผมอยู่กับศิลปะ กับนาฏศิลป์ไทย โรงเรียนชั้นประถมที่ผมเรียนดั้งเดิมนั้นเขาสอนขับร้องเพลงไทยด้วย มันก็เลยมีพื้นฐานมา จิตใจมันใฝ่อยากจะเรียนด้านนี้ เมื่อได้เข้าเรียนที่โรงเรียนนาฏศิลป์ มันก็ทำให้ผมตั้งปณิธานไว้ว่า ผมจะเป็นผู้ที่สืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยในสายของโขนต่อไปให้ได้
“การเรียนโขนละครของผมมันเป็นการเรียนนอกหลักสูตร ต้องศึกษาหาความรู้ไขว่คว้าด้วยตัวเอง ผมจำคำของพ่อเสที่ว่า ‘เวลาไปงาน อย่าไปเอาเงิน อย่าไปเอาความสนุกสนานกลับมาอย่างเดียว ไปเอาความรู้ เอาประสบการณ์กลับมาด้วย’ เพราะฉะนั้นเวลาไปโขน ไปละคร ผมจะไม่เคยได้มีเวลาพักผ่อนอย่างคนอื่นเลย จะโดนพ่อเสบังคับให้ไปนั่งอยู่ในวงปี่พาทย์บ้าง หรือช่วยงานส่วนต่างๆ บ้าง ไม่ให้ไปไหนเลย
“ครูที่พากย์เก่งๆ ในสมัยนั้นก็คือครูประพันธ์ สุคนธชาติ คู่กันกับพ่อเส หรืออาจารย์เสรี หวังในธรรม ครูเจริญ เวชเกษม ฯลฯ นอกจากนั้นก็ศึกษาจากโขนสำนักต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโขนนราศิลป์ โขนหลวงราชพงษ์ โขนไทยศิริ หรือย่าหมัน ครูมัลลี คงประภัศร์ ฯลฯ
“เมื่อก่อนผมก็อาศัยว่าความจำดี ก็เลยไม่จด จำเอาตลอด แต่ปัจจุบันนี้อายุมากขึ้น มันก็มีลืมเหมือนกัน ก็ต้องเริ่มจดๆ ไว้บ้างเพื่อเด็กๆ รุ่นหลัง เพราะงั้นตอนที่ผมเกษียณอายุราชการเมื่อสามปีที่แล้ว ผมได้รวบรวมขึ้นมาบทหนึ่งแล้วใช้ชื่อว่า ‘บทซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากครู’ ผมจดด้วยลายมือจากบทของครู จากความจำ จากสิ่งที่ผมได้เรียนรู้มาแล้วก็มอบให้กับรองอธิบดีฯ ในสมัยนั้นไว้ เพราะคิดว่ามันคือสิ่งที่ผมได้มาจากโรงเรียนนาฏศิลป์ ผมก็อยากที่จะคืนกลับให้กับโรงเรียนนาฏศิลป์ให้กับลูกศิษย์รุ่นหลังต่อไป”
แสงมงคลแห่งชีวิต
สิ้นอาจารย์เสรี ก็ยังมีครูมืด แต่ถ้าสิ้นครูมืดจะมีใคร? นี่คือคำถามที่ใครหลายคนอาจจะนึกห่วงด้วยเพราะมองไม่เห็นว่าจะมีการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งโขนไทยไว้อย่างไร เพราะยิ่งวันเวลาผ่านไป ระยะห่างของผู้ชมกับโขนก็กว้างขึ้นเรื่อยๆ
“พ่อเสเคยพูดว่า ‘ดนตรีนาฏศิลป์ไทยไม่สิ้นแล้ว เพราะมีทูลกระหม่อมแก้วเอาใจใส่’ เป็นข้อความที่ผมฟังแล้วตื้นตันมากนะ ณ โรงละครแห่งชาตินี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ท่านเสด็จมาแล้วหลายครั้ง ท่านเคยมาทรงระนาดกับวงปี่พาทย์ของเรา ซึ่งไม่เคยมีในประวัติศาสตร์มาก่อนเลยว่า เจ้านายระดับชั้นเจ้าฟ้าจะมาตีระนาดให้ไพร่อย่างพวกผมได้เล่นโขนละครกัน
“จำได้เลยว่าขณะนั้นผมพากย์เอง ผมจะอยู่อีกปีกของเวที ก็มองไปที่ท่าน พอผมร้องว่า “บัดนี้ เชิดดด!” ท่านก็จะต้องหยิบไม้ขึ้นมาเพื่อบรรเลง แล้วท่านก็ไม่ได้มาวันแสดงวันเดียวนะ ท่านมาวันซ้อมอย่างที่พวกผมซ้อมกันด้วยแถมยังมีการซ้อมส่วนพระองค์ท่านอีก ทั้งๆ ที่ท่านเองก็มีภารกิจมาก จากนั้นท่านยังรับสั่งไว้ว่าหากมีโอกาส ท่านจะเล่นอีกครั้งที่สนามหลวงเลย เพื่อให้คนไทยทั้งชาติได้มีโอกาสดูโขนนี้
“ในชีวิตนี้ผมผ่านงานสำคัญอย่างการจัดแสดงมหรสพสมโภชในงานพระราชทานเพลิงพระศพมาแล้ว 3 งาน งานพระเมรุแรกคือสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ผมเป็นมือเป็นเท้าของพ่อเสเลยก็ว่าได้ ท่านเป็นคนคิด ผมเป็นคนทำถือได้ว่าเป็นโขนประวัติศาสตร์ที่เล่นตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึง 6 โมงเช้า ในยุคเรายังไม่เคยมีปรากฏ จบแล้วคนทั้งสนามหลวงยังมีคนแน่นอยู่เลย พระเมรุที่สองคือสมเด็จพระพี่นางเธอฯ บังเอิญพ่อเสท่านจากไปแล้ว ผมเลยได้รับหน้าที่ต่อจากท่านโดยตรง ซึ่งผมก็ทำทุกอย่างตามรอยที่ท่านได้วางไว้ แถมยังได้เล่นถวายหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่างหากอีกหนึ่งรอบ ส่วนพระเมรุที่สามคือสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ซึ่งเป็นช่วงที่ผมเกษียนราชการแล้ว แต่ก็ยังได้รับหน้าที่ดูแลตรงนี้อยู่”
โขนต้องไม่ขาดความเป็นโขน
เมื่อการเปลี่ยนแปลงมาเยือน คนรุ่นใหม่มีเป้าหมายที่แตกต่าง เมื่อการได้สืบสาน สร้างสรรค์ให้เกิดความยิ่งใหญ่ คือหัวใจของคนโขนสมัยก่อน การมีจุดยืนที่มั่นคงต่ออนาคตกลับเป็นเพียงสิ่งที่คนโขนในปัจจุบันฝากชีวิตไว้ สิ่งที่ครูมืดทำได้ก็คือพยายามหล่อเลี้ยงให้โขนกลับมามีชีวิตอย่างที่เคยเป็น
“องค์ประกอบของโขนมันเยอะมาก สิ่งสำคัญเลยก็คือตัวพระ สมัยก่อนต้องเป็นพระ พระรามคือกษัตริย์ที่เข้มแข็ง ต้องไม่อ้อนแอ้น แต่สมัยนี้คนดูมีอิทธิพลต่อการแสดงมากขึ้น ก็ต้องมีแสดงเพื่อเอาใจคนดู เช่น ปกติโขนจะไม่ยิ้ม แต่คนดูอยากให้ยิ้ม มันก็ต้องยิ้ม เมื่อก่อนใส่หัวโขน คนดูอยากให้เห็นหน้าตัวพระ ก็เลยไม่ใส่ อาจเป็นเพราะกระแสของการละครเข้ามา คนดูก็จะชอบให้ได้อย่างใจแบบละคร
“สมัยก่อนคนดูโขนละครของอาจารย์เสรี หวังในธรรม แย่งกันจองบัตรกันเป็นปี แต่สมัยนี้ไม่เห็นภาพนั้นแล้ว ศิลปวัฒนธรรมของเราต้องรู้ว่าเมื่อมีจุดสูงสุด แน่นอนว่ามันก็ต้องมีจุดที่ต่ำลงมา เมื่อหมดยุคแห่งความเจริญ ก็ต้องมีความเสื่อมโทรมเข้ามา หลังจากนั้นก็จะเกิดสิ่งใหม่ขึ้นมา โขนละครของเราทุกวันนี้บอกได้ว่าทรงอยู่ เพื่อรอวันที่จะกลับมาพ่อเสท่านเคยบอกไว้ว่า ท่านไม่ได้อยากให้คนเล่นโขนเป็นทั้งประเทศหรอกครับ แต่อยากให้คนไทยดูโขนเป็นเท่านั้นเอง
“ถ้ามีโอกาสผมพยายามจะแนะให้เด็กรุ่นใหม่ได้มีความเข้าใจที่ถูกเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของเราว่าไม่ใช่เรื่องล้าสมัยคนจะคิดว่าโขนเข้าถึงยาก อย่างครั้งหนึ่งผมเคยไปสอนนักศึกษาที่คณะโบราณคดี ผมถามนักศึกษาหญิงคนหนึ่งว่าเคยมาไหว้ครู หรือรู้จักเรื่องโขนบ้างไหม เขาก็ตอบมาว่าคิดว่าผู้หญิงคงมาไม่ได้ คงจับหัวโขนไม่ได้อะไรแบบนั้นเป็นข้อห้าม ผมก็ถามว่าใครสอนความคิดแบบนี้กัน ผมก็ไปหารูปครูผู้หญิงใส่ชุดโขนมาให้ดูเลย ซึ่งเป็นรูปของย่าหมันครูของผมเอง ผมกำลังจะบอกว่าสามารถจับได้ แต่ต้องทำด้วยความเคารพ
“ผมว่าสิ่งเหล่านี้ต้องเกิดจากการฟังอย่างเข้าใจ สิ่งสำคัญเลยคือการศึกษา คุณต้องใส่สิ่งที่ถูกต้องเหล่านี้ลงไปในบทเรียนด้วย ให้กลายเป็นความรู้พื้นฐานไป แล้วก็ต้องทำกันอย่างจริงไม่ว่าจะทั้งภาครัฐ หน่วยงานการศึกษาต่างๆ เองก็ต้องช่วยกัน ต้องสนับสนุนกันอย่างเต็มที่ อย่างช่วงหนึ่งที่หนังเรื่องโหมโรงดัง คนก็หันมาเล่นดนตรีไทยกันมาก ผมเห็นคนเดินถือขลุ่ย ถือซอ ขึ้นรถเมล์ ผมก็ดีใจแล้วนะ และผมก็อยากเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับโขนเหมือนกัน”
“ผมได้เห็นพ่อเสเดินทางให้ความรู้เกี่ยวกับโขนมาแล้วทั่วประเทศไทย เกือบทั่วทุกหน่วยงานราชการ สถานศึกษาทุกระดับ ในหัวข้อ “สิ่งควรรู้ก่อนดูโขน” แต่ทราบมาว่าที่พ่อเสยังไม่มีโอกาสได้เข้าไปให้ความรู้ก็คือ ‘โรงเรียนนาฏศิลป์’แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ถ้ามีโอกาสผมก็ยังอยากทำโครงการนี้ต่ออยู่ดี เพราะผลที่ได้คือมันได้ให้ความรู้แก่เด็กๆ ตามโรงเรียนทั่วทั้งประเทศ เพราะผมเชื่อว่าถ้าทุกคนรู้ ก็จะมีความรู้สึกได้ถึงความยิ่งใหญ่ ถึงความน่าหวงแหน และจับต้องได้ไม่ยาก
ความสุขทุกวันนี้
ความสุขของครูมืดคือ การที่ได้เดินทางเข้ามาอยู่ในนี้ (โรงละครฯ) ทุกวัน ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง ได้คุย ได้พูด ได้พบ ได้แนะ จากสิ่งที่เขาได้รับมา แก่คนรุ่นปัจจุบัน กับ ณ สถานที่แห่งนี้ และทุกครั้งที่เขาได้มีโอกาสไปบรรยายให้ความรู้เรื่องโขนที่ไหน เขาจะฝากให้น้ำหยดหนึ่งนี้ ได้ถูกนำพา กระจายออกไปอย่างทั่วถึง “แม้จะไม่มีใครรู้จักผมรู้จักพ่อเสก็ไม่เป็นไร แต่เขาจะได้รู้จักโขน”
เกือบทุกถ้อยคำแห่งคำบรรยายชีวิต สิ่งที่ครูมืดสอดแทรกไว้เสมอคือคำกล่าวของอาจารย์เสรี หวังในธรรม หรือ ‘พ่อเส’ ที่เคารพยิ่งของเขา และก่อนที่ความในใจที่คั่งค้างถึงพ่อเสจะถูกกล่าว เสียงสะอื้นแห่งความอัดอั้น ตื้นตันพลันสะท้อนออกมาเบาๆ ก่อนที่จะสะกดกลั้นกลืนหายมันกลับเข้าไปไว้ในหัวใจ
“ผมหวังว่าพ่อคงเห็น ว่าน้ำลายในปากที่พ่อได้พ่นรดใส่หัวผมมาเสมอนั้น ผมได้ทำตามแล้วทุกอย่าง เพียงแต่ว่าบุญญาบารมีผมอาจมีไม่เหมือน พ่อเคยเขียนไว้ว่า ‘เดินตามรอยพ่อจะสมหวัง สองมือพ่อยังคอยป้องประคองเจ้า สองเท้าเล่ายังนำทางสร้างสรรเสริญ จะกู่ร่างต่างบันไดให้เจ้าเดิน ถ้ารักพ่อก็ขอเชิญเดินตามทาง’ ผมก็เดินตามท่านมาทุกอย่าง สองมือพ่อท่านอุ้มผม สองเท้าท่านนำทางผม พ่อสอนผมมาทุกอย่าง ผมก็อยากบอกพ่อว่าสุดลมหายใจสุดท้ายของชีวิตผม ก็ยังจะทำให้คนไทยดูโขนเป็นให้ได้ ถึงแม้จะหมดรุ่นผมไปแล้วก็จะฝากไว้ในคนที่เขายังรักและระลึกถึงพ่ออยู่”
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวความงดงามของจิตใจแห่งความกตัญญูที่ส่งผ่านไปยังคนที่ถือว่าเป็นครู..ผู้ที่อยู่บนฟ้า