เพลิน พรหมแดน

เพลิน พรหมแดน

หนึ่งในผู้ที่เสมือนเป็นตัวแทนแห่งยุครุ่งเรืองของวงการเพลงลูกทุ่งไทย ผู้ที่สร้างสรรค์พลิกโฉมหน้าเพลงลูกฉบับใหม่ใส่ศิลปะบอกเล่าเรื่องราวลงไปได้อย่างศิลปิน ก็คือ เพลิน พรหมแดน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยลูกทุ่ง)แต่ละฉากเรื่องราวชีวิตของ เพลิน พรหมแดน หรือนายสมส่วน พรหมสว่าง เสมือนเป็นอีกหนึ่งละครโรงเล็กที่จำลองการตามล่าความฝันของเด็กหนุ่มบ้านนาที่มีให้เห็นกันได้ดาษดื่นทั่วไปในสมัยนั้น กว่าจะมาเป็นราชาเพลงพูดหนึ่งเดียวคนนี้ได้นั้น ใจความสำคัญคงไม่ได้อยู่ที่ว่าเขาได้มันมาได้อย่างไร แต่มันขึ้นอยู่กับว่าเขาได้ใช้ความฝันนำพาชีวิตมาอย่างทุกวันนี้ได้อย่างไรต่างหาก

จากนักธรรมสู่นักเพลง

ในยุคสมัยหนึ่ง กรุงเทพฯ ไม่ต่างอะไรกับเมืองฟ้าที่หนุ่มสาวชาวบ้านนาใฝ่ฝันจะได้มาเยือน เพื่อหวังตามล่าหาชีวิต ชื่อเสียง ความเป็นอยู่ที่ดูศิวิไลซ์ แม้การจะเข้ามานั้นไม่ง่าย แต่การที่จะอยู่อย่างไรนั้นกลับเป็นเรื่องใหญ่ที่หลายๆ คนกังวลถึง และนายสมส่วนคนนี้ก็เช่นกัน

“ผมเป็นคนบ้านนอก อยู่อำเภออรัญประเทศ ชีวิตส่วนใหญ่ก็อยู่ตามท้องร่อง ท้องนา หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาแล้ว ก็ช่วยพ่อแม่ทำนาอยู่ระยะหนึ่ง แต่ในใจคิดอยากจะเข้ากรุงเทพฯ ก็เลยมาบวชเรียนเป็นสามเณร และจำพรรษาอยู่ ณ วัดเศวตฉัตร กรุงเทพฯ แต่เมื่อสอบได้นักธรรมโท ก็ลาสิกขาบทออกมาช่วยบิดามารดาทำนาอยู่ที่บ้านเกิด

“เรื่องร้องเพลงนี้ ผมก็ไม่รู้ว่ามันเริ่มชอบมาตั้งแต่เมื่อไหร่นะ เพราะผมก็แค่ชอบฟังเพลง แนวเพลงก็จะเป็นเพลงลูกทุ่งนี่แหล่ะ ฟังแล้วมันเพลินดี แต่ตอนเด็กๆ ผมก็ชอบร้องเพลงอยู่แล้ว ตามประสาเด็กบ้านนอกก็จะร้องเพลงลูกทุ่งอะไรไปตามเรื่องตามราว 

“ต่อมาพอโตขึ้นก็ร้องเพลงของคุณชรินทร์ นันทนาคร คุณสุเทพ วงศ์กำแหง พอหลังๆ เห็นพี่สุรพล สมบัติเจริญร้องเพลงแปลกๆ เช่น เราชาวนาอยู่กับควาย พอหมดงานไถ เราจูงฝูงควายเข้าบ้าน... ฮึ่ย ฮึ่ย ฮึ่ย ฮึ่ย ผมก็เอ๊ะ มันแปลกดี ก็เลยจำเอาไปร้อง แล้วไอ้ความที่ชอบแนวเพลงแปลกๆ ไปๆ มาๆ ก็เลยได้ร้องเพลงที่มันแปลกๆ อย่างนี้แหละ (หัวเราะ) 

“ผมตระเวนประกวดร้องเพลงไปเรื่อยตามงานต่างๆ จากนั้นก็ได้เข้ามาเป็นนักร้อง ร้องเพลงเชียร์รำวงในคณะรำวงของตาเหมือน คราวนี้ก็รู้ข่าวว่าสถานีวิทยุยานเกราะประกาศรับสมัครประกวดร้องเพลง ผมรีบไปสมัครประกวดร้องเพลงแล้วก็ได้รับรางวัลชนะเลิศ จนได้เข้าไปอยู่ในวงดนตรีจำรัสวิภาตะวัธ ตอนแรกก็ใช้ชื่อเดิมมาตลอด แต่พอมาอยู่วงนี้หัวหน้าเขาก็ตั้งชื่อให้ใหม่ เป็นเพลิน พรหมแดน 

“จำได้ว่าเริ่มเป็นนักร้องในช่วงที่เมืองไทยมีเครื่องบินเข้ามาใหม่ๆ (พ.ศ.2507) ก็ร้องอยู่กับหัวหน้าสักได้ประมาณ 1 ปี เลยตัดสินใจออกมาตั้งวงดนตรี เพลิน พรหมแดน ขึ้น (พ.ศ.2508-10) ตอนนั้นแฟนเพลงให้การต้อนรับดีมากเลยนะ 

ช่วงนั้นผมจะมีเพลงคนไม่มีดาว เพลงชมทุ่ง เพลงอย่าลืมเมืองไทย เพลงรักติดหล่ม เพลงจากเธอที่บึงบอระเพ็ด 

“หลังจากนั้น พ.ศ.2512-13 ชื่อเสียงก็ดังมากขึ้นเรื่อยๆ พอมาเล่นหนังก็ยิ่งดังขึ้นอีกในเรื่องฝนใต้ เพลงหนังก็คือเพลงซากมนุษย์ เพลงตลาดเมืองใต้ กับเพลงสมัครด่วน คำพูดในเนื้อเพลงนี้ผมก็เป็นคนคิดมาใส่เอง 

“พอต้น ปี พ.ศ.2515 ก็ได้ร้องเพลงหนังอีก แต่ก็ไม่ดังเท่าเรื่องแรก ก็คิดว่ามันอาจจะถึงช่วงเวลาของมันแล้วล่ะ ก็เลยพยายามคิดว่าจะเอามุขไหนมาใส่เพลงให้มันดังเปรี้ยงขึ้นมาอีก ก็มาได้เพลงข่าวด่วนนี่แหละที่ช่วยดึงกระแสขึ้นมาอีก เพลงมันมีทั้งร้องและพูด มันก็ได้อรรถรสอีกแบบหนึ่ง มันเรียกเสียงฮือฮาจากคนฟัง เพลงนั้นทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนเลยก็ว่าได้นะ 

“ชีวิตการร้องเพลงของผมเข้าสู่ในยุคที่เรียกได้ว่ากลับมาผงาดยิ่งกว่าเดิมอีก เพราะเพลงมันแปลก การแสดงก็สนุก เรามีการปรับกันตลอด วงเราปรับจากหางเครื่องมาเป็นแดนเซอร์มากขึ้น เป็นกระแสที่คนดูฮือฮามาก 

“ต่อมาปี พ.ศ.2516 ก็เริ่มมีเพลงตาแป๊ะฝันขึ้นมา จากนั้นก็มีเพลงออกมาเรื่อยๆ โดยส่วนใหญ่จะเป็นเพลงพูดหมดเลย เหมือนผมจะร้องเพลงอะไรตอนนั้นมันก็ต้องเป็นเพลงพูดมันถึงจะใช่ จริงๆ ก็มีเพลงธรรมดาเหมือนกันนะ แต่ไม่ได้รับความนิยมเท่า แล้วส่วนใหญ่ท่อนคำพูดผมก็จะเป็นคนคิดเองทั้งหมด ผมจึงกลายเป็นราชาเพลงพูดมาตั้งแต่นั้นมา 

“แต่ในช่วงนั้นมันก็ยังเล่นตามงานวัด งานโรงเรียน งานประจำปีกันอยู่ หรือจะช่วงหน้าฝนก็เล่นในโรงหนัง ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่มีกันแล้ว อย่างช่วงเทศกาลที่งานชุกเลย เล่นกันตั้งแต่รอบกลางวันยันสว่างก็มี คนจะชอบดูเราแสดงสดบนเวที เพราะจะมีตลก มีการแสดง แต่ผมไม่ใช่นักร้องที่ร้องอย่างเดียว เพราะผมมีการเล่น มีมุก เรียกเสียงฮาได้ด้วย 

“ชีวิตช่วงนั้นมันดูเร่งรีบไปหมด มันทำทุกอย่างทุกที่มีที่งานก็ไป เรียกได้ว่าไม่มีเวลาจะเหนื่อยกันเลย ทุกวันนี้ผมยังมานั่งคิดนะว่าตอนนั้นทำไปได้อย่างไร” 

เหตุการณ์ที่บีบคั้นจิตใจ

เมื่อชื่อเสียงกำลังรุ่งโรจน์ก็เปรียบเสมือนแสงจากดวงดาวที่กำลังสว่างไสว บางคนหลงระเริงกับแสงสีที่สวยงาม บางคนเลือกที่จะกอบโกยโดยไม่คิดเหนื่อยยาก แต่ เพลิน พรหมแดน กลับเลือกที่จะหยุดความวูบไหวเหล่านั้น แม้เขารู้ดีว่ายังมีเวลาอันหอมหวานกับการงานและชื่อเสียงนานกว่านั้นก็เพื่อครอบครัว

“ชีวิตนักร้องก็จะมีแต่การเดินทางตลอด ตอนนั้นภรรยา (คุณสกุนตรา) เขามีส่วนสำคัญในการพัฒนาวง เขาจะคอยดูแล คอยจัดการวงทุกอย่าง ซึ่งเขาเองก็จะเหนื่อยมาก เพราะต้องไปทุกที่ เดินทางทุกเที่ยวกับผม 

พอช่วงปี พ.ศ.2524 งานมันเริ่มซาๆ ลงไปนิดหน่อยแล้ว กอปรกับภรรยาผมก็รู้สึกว่าเริ่มไม่ไหวแล้วถ้าต้องเดินทางตลอดแบบนี้ ร่างกายไม่ได้พักผ่อน 

“ผมก็เลยมีความคิดที่จะเลิกทำวง เพราะเหมือนเราไม่พร้อมแล้ว ถ้ายังทำต่อไปงานต้องออกมาไม่ดีเท่าที่ควรแน่ แต่ก็ยังเก็บความคิดนี้ไว้ก่อน เพราะคิดว่าหากบอกไปลูกน้องจะขวัญเสีย พอปี พ.ศ.2525 ช่วงเดือนเมษายน หลังจากเสร็จงานที่เชียงราย ผมก็ประกาศกับลูกน้องในวงเลยว่าเราคงต้องจากกันเพียงตรงนี้ ผมอาจพาเขาไปกันไม่ไหวแล้ว หากผมจะสู้แต่คู่คิดต้องมาเจ็บป่วยมันก็ไปไม่ได้ 

“ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่พูดยากนะ มันเจ็บปวด มันลำบากใจ วงที่เราสร้างมา ลูกน้องที่อยู่กันมา ผมเข้าใจความรู้สึกพวกเขาดี ลูกน้องก็ยังคิดว่าจะมีงานกันต่ออีก แต่อยู่ๆ เราไปบอกเลิกวง เค้าก็ร้องไห้โฮกันเลย แต่จริงๆ มันก็มีสัญญาณมานิดหน่อยแล้ว เพราะช่วงนั้นคาเฟ่เริ่มขึ้นมากันแล้ว สมาชิกในวงก็เริ่มถอนตัวออกไปร้องคาเฟ่บ้าง เล่นตลกกันบ้าง เราก็เลยว่ามันถึงเวลาแล้วจริงๆ ก็เลยเลือกเลิกวงตอนที่คนกำลังนิยม ก็เหมือนนักมวยที่ยังไม่ถูกน็อค มันยังมีความสง่า ยังมีความภาคภูมิใจ 

“ช่วงแรกที่เลิกวงเราก็ไม่รับงานเลยเกือบสี่ห้าเดือน มีวันหนึ่งไปนั่งทานอาหารกับเพื่อนๆ ที่ห้องอาหาร มีนักร้องเอาเพลงเรามาร้อง ก็ทำให้นึกถึงบรรยากาศเดิมๆ ขึ้นมาเหมือนกันนะ 

“หลังจากนั้นก็มีเพื่อนๆ นักร้องมาชวนไปร้องเพลงที่อเมริกา ผมก็ไปกับเขา ไปร้องเดี่ยวนี่แหละ ก็พอทำให้หายคิดถึงไมค์ไปเหมือนกัน แต่พอกลับมาเมืองไทย ก็ยังไม่ร้องเพลงต่อนะ เพราะอยากจะพัก แล้วก็คิดไม่ออกว่าเราจะไปร้องที่ไหน ตอนนั้นเวทีนักร้องมันเริ่มเปลี่ยนแล้ว ไปอยู่ในคาเฟ่มากขึ้น 

“ผมก็คิดไม่ถึงหรอกนะว่าวันนึงจะต้องไปร้องในคาเฟ่ จนมีลูกน้องมาชักชวน เราก็คิดว่าดีกว่าอยู่เฉยๆ ก็ลองดู ก่อนหน้านี้ผมเคยถาม ไพรวัลย์ ลูกเพชร ว่าร้องในคาเฟ่นี่มันต้องร้องอย่างไร เขาก็บอกว่า ‘ไม่ต้องห่วงหรอกร้องในคาเฟ่สบาย ร้องอยู่ไม่กี่เพลง เดี๋ยวคนดูเขาก็ขอวนไปวนมา’ 

“พอไปจริงๆ เมื่ออยู่บนเวที คนเขาก็มองบ้าง กินอาหารไป ฟังบ้างไม่ฟังบ้าง มันก็อีกประสบการณ์หนึ่งนะ ตอนนั้นที่ร้องคาเฟ่ก็ต้องเตรียมทีมงานไปเอง ซึ่งก็หายากเต็มที ผมเลยไปตามเอาคนในวงเก่าที่เขายังไม่มีงานเป็นหลักแหล่งให้มาช่วยๆ กัน 

“ครั้งแรกก็ไปเดี่ยวๆ นี่แหละ แต่มันไม่สนุก จะเล่นมุขเล่นอะไรมันก็แปลกๆ พอผมหาลูกน้องมา ค่าตัวผมก็เลยต้องสูงกว่าคนอื่น แต่เขาก็รับได้นะ เพราะผมมีตลกมาด้วย มีมุขมีอะไรเรียกคนดูได้ แต่รายได้มันก็ไม่ได้มากมาย อาศัยร้องหลายที่เอา แต่มันก็ทำแบบนี้ได้พักเดียว ประมาณ 5-6 ปีนี่แหละ จากนั้นผมก็ไม่ไหว”

แน่วแน่ในความเป็นศิลปิน

แม้ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในวงการเพลงมากมาย โดยเฉพาะเพลงลูกทุ่ง เนื่องจากช่วงนั้นเรียกได้ว่าเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนถ่ายทางวัฒนธรรมที่มีการไหลเวียนมากมาย ศิลปินหลายคนต่างเบนเข็มการเดินทางก็เพื่อการอยู่รอด แต่ เพลิน พรหมแดน กลับเลือกที่จะเดินตามความฝันของตนต่อไป และยังคงเป็นต้นแบบที่ดีของวงการเพลงลูกทุ่งไทย

“พอดีมีบริษัทสนใจให้ผมไปทำเทป ทีแรกก็ไปรวบรวมเพลงที่เคยร้องมา ยอดขายก็ไปไม่ค่อยดีนัก จากนั้นผมก็เข้าไปอีกบริษัทหนึ่ง เขาให้หันกลับมาร้องเพลงพูด ทีนี้เริ่มมีปัญหาที่คนแต่งแล้ว เพราะคนแต่งเพลงพูดนี้มันจะต้องมีมุขมากมาย ตอนนั้นมันยังไงก็ไม่ถูกใจนะ ก็เลยไปแก้เอง มุขไม่ดีเอามาแก้เอง 

“ปรากฏว่าเพลงพูดชุดแรกขายดี พอมาชุดที่สองผมก็คิดที่จะมาแต่งเพลงเอง โดยใช้เหตุการณ์บ้านเมืองรอบตัวเข้ามาเป็นเรื่องราวในเพลง ตอนนั้นชื่อเสียงก็ยังไม่แรงเท่ากับตอนทำวง เพราะมันคนน้อยไม่อลังการเหมือนเดิม ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ผมเข้าใจนะ มันเป็นวงจรมีขึ้นก็มีลง แต่แม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนคนก็ยังจำเพลงของผมได้ อันนี้สิผมชื่นใจมาก

“เพลงของเพลิน พรหมแดนจะสนุกสนาน แต่ชีวิต หรือบุคลิกนี่จะคนละเรื่องเลย คนอาจคิดว่าผมเป็นคนทะลึ่งตึงตัง แต่ตัวตนจริงๆ ของผมจะเฉยๆ ไม่ค่อยพูด ออกจะเรียบร้อย ไม่ทะลึ่งตึงตังอะไรเลย  มันก็น่าแปลกนะ 

“ความสุขมากๆ ในความเป็นผม เป็นเพลิน พรหมแดน นี้ก็คือเมื่อร้องเพลงไหนแล้วแฟนเพลงชอบ โดนใจ มันเหมือนต่อยเข้าเป้าอะไรอย่างนั้น เมื่อก่อนช่วงที่ผมรู้สึกสนุกและมีความสุขมากที่สุดก็คือช่วงที่ผลิตแผ่นเสียง เพราะเราจะร้องพร้อมกับเล่นดนตรีกันสดๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นนักดนตรีที่คุ้นเคยกันทั้งนั้น มันอบอุ่น รู้ใจกัน แต่สมัยนี้ เราไปไม่รู้จักใครเลย มีดนตรีมารอเราอยู่แล้วพอถึงเวลาอัด ก็มีเพียงเราที่เป็นนักร้องกับคนคุมเท่านั้น พูดแล้วมันก็คิดถึงบรรยากาศแบบนั้นนะ 

“คำว่าศิลปะในความหมายความรู้สึกของผมคือความสวยงามของแต่ละแขนงเป็นความกลมกลืนของแต่ละบรรยากาศ อย่างเราทำงานเพลง เราก็ต้องคิดหาคำต่างๆ มาใส่เพลงของเราให้ลงตัว ศิลปะมันอยู่ตรงนี้ 

“ความยากของการทำงานในความรู้สึกของผมคือองค์ประกอบที่ลงตัวของการทำงานเพลง มันต้องลงตัวเข้าขากัน กว่าจะรวมตัวมาผสมกลมกลืนกันได้อย่างลงตัวยากมาก อย่างการแสดงหน้าเวที ก็ต้องทำให้คนดูมีอารมณ์ร่วมไปกับการแสดงของเราด้วย

 “การเป็นศิลปินจะมีชื่อเสียงหรือไม่ จะเก่งอย่างไรก็ตาม อย่าทะนงหรือลืมตัวเป็นอันขาด ผมอยากให้ถือว่าเราคือคนที่ยังไม่เก่งเสมอ อยากให้นอบน้อม เห็นคุณค่าของคนแต่ละคนเท่าเทียมกัน เพราะทุกคนรอบตัวเรา มีส่วนสร้างให้เรามีวันนี้ ไม่เว้นแม้แต่คนที่ตำแหน่งต้อยต่ำกว่าก็อย่าคิดแม้แต่จะดูถูกเขา จงมีสติ คิดให้สะอาดอยู่เสมอ เท่านี้มันก็จะไม่มีเรื่องอะไรให้วุ่นวายใจ  

“เพลงนั้นผมมองว่าเป็นสื่ออีกชนิดหนึ่ง ที่จะทำหน้าที่สะท้อนยุคสมัย และถือเป็นการดีที่เพลงของผมมีส่วนที่ทำให้คนฟังได้ระลึกถึงภาพของคนไทยชนบทในสมัยก่อนว่ามีความเป็นมาอย่างไร

“ทุกครั้งที่เดินขึ้นเวทีผมจะคิดเสมอว่าจะร้องอย่างไร จะแสดงอย่างไรให้คนดูประทับใจ ให้เขามีความสุขที่ได้มาดูเรา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พลังของผมก็ยังไม่หมดไป 

“และเมื่อวันนี้ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ ก็คิดว่าเราคงแสดงไปเรื่อยในฐานะที่เรายังมีกำลังที่จะสร้างสรรค์งานต่อไปได้ ผมยังอยากที่จะทำงานเพลงที่จะถ่ายทอดบรรยากาศเก่าๆ สมัยที่ผมเป็นวัยรุ่น ก็เลยคิดจะแต่งเพลงในจังหวะรำวงขึ้นมา เพื่อที่อยากให้คนรุ่นหลังได้ซึมซับความบรรยากาศเหล่านั้นไปด้วยกันครับ”

ว่ากันว่าเสียงเพลงเป็นสิ่งที่ช่วยปรุงแต่งอารมณ์ความรู้สึกของคนเรา