พันโทเสนาะ หลวงสุนทร

พันโทเสนาะ หลวงสุนทร

พันโทเสนาะ หลวงสุนทร คือศิลปินอาวุโสแห่งวงการดนตรีไทย นอกจากนั้นท่านยังมีความสามารถในการเรียบเรียงพร้อมบรรเลงดนตรีได้ทั้งโน้ตเพลงไทย และสากลได้อย่างดีเยี่ยม สมกับที่เป็นท่านบุตรชายของครูบาง หลวงสุนทร ครูสอนดนตรีไทยของโรงเรียนนาฏศิลป์ กรมศิลปากร เมื่อศึกษาการดนตรีได้ระยะหนึ่งแล้วจึงสมัครสอบเข้ารับราชการเป็นทหารบก จากนั้นจึงเริ่มต้นการเป็นครูโดยเข้าสอนที่โรงเรียนดุริยางค์ทหารบก เรื่อยมาจนกระทั่งเกษียณอายุราชการ แต่ก็ยังไม่ว่างเว้นต่อจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู เนื่องจากยังได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษยังสถาบันการศึกษาต่างๆ อยู่เสมอจวบจนทุกวันนี้

สายเลือดดนตรีไทย

เส้นทางของครูเสนาะ แม้จุดเริ่มต้นของสิ่งที่รักนั้น จะมาจากครอบครัวคนดนตรีแล้ว ด้วยใจที่รักดีในเส้นทางแห่งนี้ จึงหลอมหลวมกลายเป็นจิตวิญญาณที่ซึมลึกลงไปจนถึงแก่นแท้ ตัวตน และความผูกพันกับการดนตรีที่ในวันนี้ไม่เฉพาะเน้นแต่โน้ตเพลงของไทยก็ตาม 

“ผมเริ่มเรียนรู้ตั้งแต่ได้มีการต่อเพลง จนมีความรู้สึกติดอกติดใจรักในด้านดนตรีขึ้นมาและได้เริ่มฝึกอย่างจริงจังตอนอายุ 11 ปี จากนั้นก็ไม่เคยห่างเครื่องดนตรีหรือโน้ตเพลงอีกเลย ในสมัยนั้นทางด้านเพลงสากลยังไม่ค่อยได้พบได้เห็น ส่วนมากจะเป็นภาพยนตร์ ยิ่งวงดนตรีที่จะไปเล่นยิ่งไม่มี ถ้าเป็นโขนก็ต้องคนที่เงินถึงหน่อยถึงจะหาไปเล่น เพราะตอนนั้นโขนแพง ค่าตอบแทนในสมัยที่เล่นดนตรีแรกๆ 15 บาท 20 บาท แล้วต่อมาก็เพิ่มราคาขึ้นมา ในสมัยนั้นนักดนตรีไม่มีทางรวยจากการเล่นดนตรีหรอก ถ้าจะรวยก็คือมีที่มีทาง มีสวนอยู่แล้วทำมาหากินควบคู่กันไป 

“ครูคนแรกในการเรียนดนตรีคือตาของผมและต่อมาคือพ่อผม และท่านครูหลวงประดิษฐ์ ไพเราะ ซึ่งนอกจากเล่นดนตรีแล้วมีอยู่ระยะหนึ่ง เมื่อตอนอายุ 16 ได้กลับมาทำสวนของครอบครัว ขึ้นมะพร้าว ทำน้ำตาลมะพร้าวขาย ผมเป็นนักดนตรีทีไม่ร่ำรวยนัก แต่พออยู่ได้ เมื่อเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ผมก็เริ่มมาเรียนดนตรีอย่างจริงจัง เรียนที่บ้านท่านครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ท่านเมตตาให้เรียนฟรี พักฟรี แต่อาหารการกินให้ซื้อเอง คนที่จะมาเรียนกับท่านหลวงประดิษฐ์ นั้นไม่ว่าจะยากดีมีจนเก่งไม่เก่งท่านรับเป็นลูกศิษย์หมด คือท่านเป็นคนที่มีเมตตาต่อนักดนตรีทุกคน

“จะว่าไปแล้วในช่วงที่เรียนกับท่านได้ใกล้ชิดมาก เช่นเวลากลางคืนท่านจะเรียกให้ไปนวดท่านเพื่อเป็นการตอบแทน ตลอดเวลาที่เรียนอยู่ที่บ้านท่านหลวงประดิษฐ์ผมมีความสุขมาก ได้เวลาซ้อมก็ซ้อม เล่นก็เล่น เป็นช่วงชีวิตที่ไม่มีวันลืม ผมอยู่ที่บ้านท่านจนวันที่ท่านเสียชีวิต อยู่ปรนนิบัติท่านจนกระทั่งท่านเสียชีวิตไปต่อหน้า”

เมื่อวันที่ต้องก้าวเดินต่อ

แม้ความรักความผูกพันนั้นยึดเหนี่ยวให้เขาได้เรียนรู้และเฝ้าปรนนิบัติครูผู้เป็นที่รักไว้จนนาทีสุดท้าย แต่ชีวิตนั้นก็ต้องก้าวเดินต่อไป ความพากเพียร และประพฤติดี จึงเป็นหลักชัยอันสำคัญที่เขายึดถือ จนผู้มีพระคุณหลายท่านพร้อมที่จะยื่นมือเพื่อสานฝันอนาคตของเขาต่อไป 

“ตอนนั้นมีความรู้สึกว่าวิชาความรู้ที่ได้รับจากครูยังได้ไม่เต็มที่ ภรรยาของท่านจึงได้แนะนำให้ผมไปเรียนกับครูเผือด นักระนาด จนกระทั่งผมรับราชการแล้ว ก็ยังเรียนต่อไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ ต่อมาฐานะทางการเงินของผมเริ่มดีขึ้น ผมเริ่มสอนดนตรีระหว่างที่ผมรับราชการทหารได้รับเชิญไปสอนบ้างเช่น ในมหาวิทยาลัย วังท่าพระ สอนในทางด้านสากลทางทฤษฎีสากล สอนนายร้อย จปร. ผมเริ่มต้นจากการรับราชการเป็นอาสาสมัคร อายุ 22 ตำแหน่งวงโยธวาทิต เข้าไปเรียนดนตรีในนั้นครูทหารก็บังคับให้เรียนทางโน้ตสากลและฝึกเครื่องดนตรีที่หลากหลาย

“ในระหว่างที่อยู่ในนั้นผมได้ฝึกเล่นเครื่องโอโบ เพราะครูที่ฝึกบอกว่าผมเล่นเครื่องดนตรีไทยมาน่าจะมีความจำได้ดีกว่านักดนตรีสากล แต่ผมย้ายวงไม่ได้ ต้องเล่นดนตรีไทย ต่อมาหลังจากนั้นการที่จะเลื่อนขั้นต้องมีการสอบผมสอบได้สิบตรี ปีที่สามผมได้สิบโทเลื่อนขั้นโดยไม่ต้องสอบ อยู่ต่อมาได้สิบเอก  ผมมีความมานะมีความเพียรในการเรียนและมีความตั้งใจภายในเวลา 17 ปี ก็ได้ขั้นสัญญาบัตร

“เป็นความจริงที่เขาว่านักดนตรีไทยบางคนใจคอไม่ค่อยกว้างขวางนัก ใครที่เก่งกว่าจะไม่ค่อยชอบกัน ตัวผมเองก็จะพยายามหลีกให้พ้นที่เขาไม่ชอบเรา อย่างผมสามารถไปทางด้านอื่น ผมก็หันไปเรียนเพิ่มเติมทางด้านดนตรีสากลจากดนตรีสยามกลการ เรียนประสานเสียง เหตุผลที่ไปเรียนเพราะผมจะมาสอบนายทหาร ก็สามารถสอบได้อย่างที่ตั้งใจไว้ 

“จนกระทั่งได้มาเป็นครู ก็อาศัยประสบการณ์และความขยัน เรื่องของการสอน สมัยก่อนอย่างหนึ่งมาสมัยนี้เป็นไปอีกอย่างหนึ่ง เราก็ต้องมีวิธีการสอนที่แตกต่างไป อย่างที่เราเคยได้รับจากท่านครูก็เป็นรูปแบบอย่างหนึ่ง เสร็จแล้วก็เอารูปแบบนั้นมาพัฒนาให้ศิษย์ที่มาเรียนกับเรา 

“นักดนตรีไทยส่วนมากไม่เป็นดนตรีสากลแต่ผมเป็นวงดนตรีลูกกรุง หรือลูกทุ่งผมหากินได้หมด พอเล่นดนตรีในทั้งสองแบบก็จะเห็นได้ชัดเลยว่าคนที่เขาเล่นดนตรีสากลเขามีน้ำใจกว้างขวางดีมากเขาไม่แข่งกัน เขาก็เล่นกันได้หมด แต่ดนตรีไทยบางคนใครจะเก่งกว่าไม่ได้เขาไม่ชอบ ซึ่งนักดนตรีสากลขนาดตั้งวงคู่กันผมนั่งเป่าตรงนี้ เขานั่งเป่าตรงนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร ต่างคนต่างเล่นเพื่อเอาเงินเข้ากระเป๋าไม่ได้แข่งขันกัน” 

เส้นทางดนตรีไทยในวันนี้

แม้ปัญหาเพียงเล็กน้อยจากสิ่งที่ครูท่านนี้มองเห็น อาจจะถูกลบเลือนหายไปพร้อมกับการค่อยๆ สูญสลายๆ ไปพร้อมกับการหลอมรวมทางวัฒนธรรม สังคม และเทคโนโลยี แต่หากมองให้ลึกลงไปถึงรากฐานสิ่งที่สำคัญนั้นก็คือการไม่มองข้ามปัญหาใดๆ แล้วเร่งแก้ไขที่ต้นตอ

“บางครั้งเราคงต้องหันกลับไปมอง และปลูกฝังให้นักดนตรีไทยเห็นถึงความสำคัญของการร่วมมือกันในการดูแลและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของเราให้มากกว่าการมองไปที่ตนเองเป็นเป้าหมาย คือสิ่งนี้มันทำให้ดนตรีไทยไม่พัฒนาไปไหน ซึ่งลักษณะแบบนี้จะเป็นคนรุ่นหลัง มันจะไม่มีในช่วงที่ท่านครูยังอยู่ แต่ขณะเดียวกันผมสังเกตนะว่านักดนตรีรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้เก่ง เก่งในระดับอายุเท่าๆ ผม คือไม่ทราบว่าเขาพัฒนาฝีมือไปได้อย่างไร รู้สึกมันดีขึ้น แม้กระทั่งนิสิตนักศึกษาที่เรียนอยู่ไม่น่าเชื่ออายุขนาดนี้เขาพัฒนาได้ขนาดนี้ได้อย่างไร ผมว่าสมเด็จพระเทพฯ ท่านมีส่วนทำให้ดนตรีไทยมีอยู่ในทุกวันนี้นะครับ

“คือสิ่งต่างๆ เหล่านี้มันมีหลักการอยู่ ในการเรียนเราต้องรู้และยึดถือหลักเอารูปแบบประเพณีของไทยดั้งเดิมไว้ให้ได้ แต่บางอย่างที่ต้องใช้เลี้ยงชีพก็สามารถปรับเปลี่ยนกันได้ เพียงแต่เรายึดหลักเดิมไว้ไม่ให้หายไปก็พอ เพราะปัจจุบันนี้ วงปี่พาทย์มโหรีเต็มวงก็ไม่ค่อยมีงานที่จะต้องใช้กันแล้ว ด้วยสภาพสังคมที่ถูกปรับเปลี่ยนไป 

“ในฐานะที่ผมเป็นครูเป็นนักดนตรีร่วมสมัยทั้งยุคสากลที่กำลังเข้ามา ทั้งช่วงที่ดนตรีไทยกำลังรุ่งเรือง ผมก็เห็นว่ามันมีการผสมผสานระหว่างกันมาตั้งแต่สมัยที่ลูกชายของท่านครูแล้ว จนถึงทุกวันนี้เขาก็มีการส่งเสริม มีรายการที่แปลกใหม่อย่าง ‘รายการคุณพระช่วย’ ต้องบอกว่าเป็นการเอาดนตรีไทยมาประยุกต์เล่นกับดนตรีสากล ไม่ได้เอาดนตรีสากลไปเล่นกับดนตรีไทยนะ ผู้ที่ทำตรงนี้ได้ต้องมีความคิดสอดแทรกในด้านของการทำเสียงประสาน แล้วทำให้คนรุ่นใหม่ฟังแล้วไม่เบื่อสำหรับคนรุ่นใหม่ ก็หาแนวที่สามารถปรับปรุงสิ่งใหม่ขึ้นมาเพื่อให้ทันเหตุการณ์ในยุคปัจจุบันนี้ แต่ว่าของเดิมก็ต้องยังอยู่ ยังคงอนุรักษ์สืบทอดกันต่อไป” 

ความสุขของชีวิต

หากจะพูดถึงความสุขในทุกวันนี้ ในชีวิตวัยเกษียณ คงหนีไม่พ้นการที่มีลูกศิษย์แวะมาเยี่ยมเยียนให้ครูเพลงท่านนี้ได้สอนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตัวโน้ต เสียงเพลง และเรื่องราวของชีวิต และคุณความดีที่ครูท่านนี้ได้ประกอบให้กับวงการดนตรีไทยจึงทำให้ท่านได้รับเกียรติประกาศให้เป็นศิลปินแห่งชาติ 

“ผมเองก็ไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งจะได้รับเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ ที่ผ่านมาก็ยินดีกับเพื่อนฝูงที่ได้รับ แต่เราเองก็ไม่คิดอะไร อะไรที่ทำประจำอยู่ก็ยังทำต่อไป แต่มีบ้างที่งานเยอะขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือผมก็เสมอต้นเสมอปลายใครที่เคยมาอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น  แล้วก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นศิลปินแห่งชาติแล้วจะต้องถือเนื้อถือตัวไม่ใช่อย่างนั้น ผมก็เป็นปกติธรรมดา ยังวางตัวเหมือนเดิม

“ชีวิตของผม ดนตรีทำให้ชีวิตเราได้ดิบได้ดีจนถึงวันนี้ มีความภูมิใจและมีชีวิตชีวาได้ คือคำว่าดนตรีนี่มันเป็นศิลปะอย่างหนึ่งกับคนที่ได้ยิน ได้ฟัง ถึงแม้จะเครียดหรือที่ไปเที่ยวหรือเวทีที่จัดขึ้นถึงแม้กระทั่งได้ยินในวิทยุ เมื่อได้ฟังแล้วเราก็จะคลายกังวลในเรื่องต่างๆ ได้ไม่มากก็น้อย 

“ทุกวันนี้สิ่งที่ทำให้มีความสุขอยู่เสมอๆ ก็คือเสียงเพลง แต่นานๆ ทีจะได้เล่นเองสักครั้ง มีบ้างที่มีโอกาสได้ต่อเพลงกับเด็กๆ เพราะว่าผมนั่งกับพื้นไม่ค่อยถนัดเหมือนเดิมแล้ว นอกจากนั้นก็ยังเขียนหนังสืออยู่ ผมเขียนเยอะ แล้วความสุขอีกอย่างหนึ่งคือ ‘ร้องคาราโอเกะ’ ส่วนมากก็ไปเจอกับเพื่อนๆ มิตรสหายที่ไปรู้จักกันที่นั่น มีแต่รุ่นสูงวัย อายุหกสิบ เจ็ดสิบ อะไรประมาณนั้น ที่ต้องออกไปร้องข้างนอกเพราะอยู่ที่บ้านไม่มีคนปรบมือ มันก็ถือว่าเป็นความสุขเล็กๆ ของคนแก่แล้วนะ (หัวเราะ)” 

นั่นก็คือแก่นแท้ศิลปะแห่งดนตรีของไทย ที่มั่นคงและแข็งแกร่งพอ