เสน่ห์บ้านไม้ ซิตี้ไบค์

เสน่ห์บ้านไม้ ซิตี้ไบค์

ตลอดสี่ห้าวันที่มาอยู่เมืองแพร่ จักรยานซิตี้ไบค์ 3 คันค่อยๆ ลดทอนบรรยากาศแปลกหน้าเมื่อเราผ่านพ้นการปั่นเวียนทำความรู้จัก

อากาศสดสะอาดยามสายผลักดันให้ชีวิตเริ่มต้นตั้งแต่เช้า ผู้คนคึกคักจับจ่ายบนถนนเจริญเมือง ย่านบ้านทุ่งฉายชัดไปด้วยภาพเรียบง่ายตามแบบฉบับย่านการค้าโบราณ

ตั้งแต่ต้นถนนเจริญเมืองที่แยกออกมาจากถนนยันตรกิจโกศล ความคึกคักของบ้านทุ่งไหลเลื่อนไปพร้อมกับภาพผสมผสานเก่าใหม่ ร้านขายเครื่องดนตรีและเครื่องกีฬาภายใต้รูปทรงของห้องแถวไม้สีน้ำตาลสลับเหลืองสดยังคงงดงามเมื่อเราแอบจักรยานไว้ที่ข้างฝา มันไม่เปลี่ยนไปจากสิบปีก่อนที่ผมมาถึงที่นี่

เราอยู่กันที่บ้านวงศ์พระถาง หลังแอบจักรยานแนบไว้กับอาคารฉางข้าวไม้สักสีสวย โลกของไม้ในอดีตก็ตกทอดเป็นความงามตรงหน้า ลวดลายขนมปังขิงฉลุละเอียดอ่อนอย่างที่มันเคยเป็นมาครั้งสร้างเรือนไม้หลังคาทรงมะนิลาหลังนี้ขึ้นราวปี พ.ศ.2465 โดยเจ้าน้อยเสาร์ วงศ์พระถาง มันแอบอยู่ในซอยเล็กๆ บนถนนเจริญเมือง ซุกซ่อนวันเวลาและความงดงามไว้อย่างคงทนในเรือนไม้สีฟ้าอ่อน ตัดขอบด้วยสีน้ำตาลคลาสสิก

การค้าไม้ของคหบดีเมืองแพร่และบริษัทที่มาสัมปทานทำไม้อย่างอีสต์เอเชียติกและบอมเบย์เบอร์มา ส่งผลให้เมืองแพร่เติบโตและตกสะท้อนเป็นความฟู่ฟ่าในเรื่องของสถาปัตยกรรม ไม่เพียงความงดงามและประวัติศาสตร์ หากยังต่อยอดให้ชีวิตคนแพร่แทบทุกระดับได้ผ่านการเติบโตงอกงาม ขึ้นไปข้างบนบ้าน ห้องหับใหญ่โต เฟอร์นิเจอร์โบราณ รวมไปถึงรูปถ่ายที่ตกทอดวันเวลาของบ้านหลังหนึ่ง ลายฉลุที่จั่ว เล่ากันว่ามันมาจากลายปักหมอนซึ่งผู้หญิงของบ้านนี้เคยปักหมอนส่งไปขายไกลถึงอุตรดิตถ์ หลายอย่างผ่านพ้นไปและวิ่งเต้นเรื่องราวอยู่งันเงียบในทุกส่วนประดับของบ้าน

ลัดเลาะออกจากอดีตในตรอกซอย เรายังไปได้ไม่ไกลนัก ปั่นเลียบไปถึงห้องแถวที่มีแนวอาร์เขตสวยหลังเดียวในเมืองแพร่ โค้งอาร์กตามบานหน้าต่างและเหนือขอบประตูดึงให้แวะดูร้านเอ เอส ฮารีซิงห์ ห้องแถวสไตล์โคโลเนียลที่หน้าร้านคือเรื่องราวผสมผสานผ่านการเป็นอยู่ 

คุณป้าเชื้อสายชาวอินเดียและข้าวของเครื่องใช้บูชาตามคติสิกข์ที่วางขายยิ่งเสริมเติมให้อาคารหลังนี้ดูงดงาม หัวเสาแบบโรมันและลายประดับแบบจีนทำให้หลายคนว่ากันว่า ห้องแถวงดงามหลังนี้เป็นอาคารชิโน - โปรตุกีสหลังเดียวในแพร่ และไม่ค่อยพบนักในภาคเหนือ

“แต่ก่อนที่นี่เป็นโรงแรมมิตรสำราญ เยื้องๆ กันนี่โรงหนังยอดฟ้า” คุณป้าเจ้าของบ้านเล่าว่าก่อนที่เอ เอส ฮารีซิงห์จะตกทอดมาสู่รุ่นพ่อของเธอ แต่เดิมแถบนี้คือที่รวมผู้คนอันแสนคึกคัก ขยายต่อออกมาจากย่านเมืองด้านใน

ถนนสายการค้าพาเราไปตรงสี่แยก หักซ้ายเลาะไปตามถนนร่องซ้อ บ้านพักรับรองของหลวงศรีนครานุกูลหยัดยืนขรึมขลังในรั้วไม้คร่ำคร่า สีครีมไข่ไก่และกรอบหน้าต่างประตูสีน้ำตาลชวนมอง เรือนไม้สองชั้นทรงยุโรปผ่านพ้นตัวเองมาตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 6 ว่ากันว่าที่นี่คือภาพสะท้อนของการเชื่อมต่อจากระบบเจ้านายเมืองแพร่สู่การขับเคลื่อนของคหบดีพ่อค้าพาณิชย์เชื้อสายจีน 

จากลวดลายฉลุไม้แบบขนมปังขิงในบ้านไม้ทรงยุโรปสู่การใช้การตกแต่งแบบเรขาคณิตที่นิยมกันในยุคต่อมา ลวดลายละเอียดอ่อนไม่เพียงฉายชัดอยู่ตรงหน้าจั่ว แต่ที่รั้วไม้สีน้ำตาลทึมยังฉลุลายเพื่อลดความกระด้างของรูปทรง แตกต่างจากรั้วของบ้านทั่วไปที่มักตัดเฉียง หรือทำเพียงหัวเสากลมมน

เลาะเข้าเลียบแนวกำแพงเมืองหรือที่คนแพร่เรียกมันว่า “เมฆ” เป็นบางช่วง ความสงบชัดเจนอยู่ตามโบราณสถานที่เคียงคู่กับการใช้ชีวิต จากร่องซ้อเราปั่นตัดเข้าสู่ถนนรอบเมือง ถึงบ้านเจ้าหนานไชยวงศ์ อารมณ์ความรู้สึกคล้ายเด็กกะโปโลในอดีตปั่นจักรยานไปเมียงมองบ้านเศรษฐีแสนลึกลับ

ซุ้มประตูโค้งหน้าบ้านปิดกั้นความโอ่อ่าของเรือนขนมปังขิงแสนละเอียดอ่อนไว้ไม่มิด ความสมบูรณ์ของเรือนไม้สักทองสองชั้นฟู่ฟ่าด้วยลายฉลุที่หน้าจั่วและเชิงชายรอบบ้าน สะท้อนความฟูเฟื่องของยุคสัมทานทำไม้ในอดีตของสังคมเจ้านายเมืองแพร่ เจ้าบุรีรัตน์ (เจ้าน้อยหนู) ได้สร้างบ้านหลังนี้ขึ้นเพื่อมอบเป็นของขวัญแต่งงานให้ธิดาคือเจ้าสุธรรมมาและเจ้าหนานตึ (เจ้าหนานไชยวงศ์) ซึ่งมันงดงามและคงทนมาโดยไม่เคยเปลี่ยนแปลงบูรณะ ว่ากันว่าเรือนไม้หลังนี้พิเศษตรงที่มีห้องน้ำอยู่ด้านบนมาแต่โบราณ

หันหลังให้เรือนไม้สักอิ่มแสงสาย เราปั่นเลาะวนไปมาราวเล่นเกมแพ็กแมนในเขาวงกต เขต “ในเวียง” ของเมืองแพร่พาสองล้อเลาะไปตามเสน่ห์ของคุ้มไม้ ผ่านถนนคุ้มเดิม คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่เกาะกุมประวัติศาสตร์หน้าสำคัญครั้งเหตุการณ์กบฏเงี้ยวเมื่อราว พ.ศ.2445 ไว้ในความงดงาม อาคารก่ออิฐถือปูนโอ่อ่าสีเขียวอมฟ้าที่สร้างขึ้นราวปี พ.ศ.2435 โดยเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ฯ เจ้าผู้ครองเมืองแพร่องค์สุดท้าย สง่างามในแดดสาย ใครสักคนเดินมองประตูหน้าต่างทั้ง 72 บาน แล้วยิ่งทึ่งในความละเอียดลออ

ปีกทั้งซ้ายและขวาเคยเป็นที่คุมขังทาสบริวารที่ทั้งมีความผิดร้ายแรงและลหุโทษ และเมื่อเจ้าน้อยพิริยะเทพวงศ์ได้ออกจากเมืองแพร่ไปประทับที่เมืองหลวงพระบางหลังเหตุการณ์กบฏเงี้ยว คุ้มหลังนี้ได้กลายเป็นจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเรื่อยมา

ผ่านมานับร้อยปี อดีตหรือสิ่งที่เรียกว่าบาดแผลคล้ายจะตกลับจางคลาย เหลือเพียงร่องรอยความรุ่งเรืองของเมืองและสิ่งที่เรียกว่าความทรงจำ

หลังปั่นเลาะเวียนผ่านย่านประตูชัย กาดเช้าเบาบางเหลือเพียงผู้คนที่มาหากินโจ๊กและข้าวต้มปลาเจ้าอร่อยที่ฝั่งตรงข้าม  เราขึ้นมานั่งเล่นที่ส่วนหนึ่งของเมฆ หรือกำแพงเมือง หางนกยูงติดดอกแดงชับสีสดในเปลวแดดเต้นเร่า

บ้านขัติยะวราเด่นสง่าอยู่อีกไม่ไกล เราแอบจักรยานแนบรั้ว เพ่งมองลายฉลุขนมปังขิงของบ้านสีครีม น้ำตาล และเหลือง ขับเน้นบางจุดด้วยสีขาว ทรัพย์สินของเจ้าน้อยโข้และเจ้าอ่อน ขัติยะวรา ตระกูลหนึ่งในเชื้อสายเจ้านายเมืองแพร่  สงบงามอยู่อย่างเป็นส่วนตัว ส่งมอบความร่มเย็นสู่ลูกหลาน 

เราเลาะเข้าถนนคำลือ ราวกับนาทีตรงนั้นหยุดนิ่ง บ้านเรือนในวันธรรมดาแสนเงียบเชียบ ไล่เรียงตั้งแต่ห้องแถวไม้ที่มีบานเฟี้ยมเหยียดยาว หรือบ้านไม้แสนเรียบง่าย ทว่าคงทนและเก่าแก่ในเนื้อไม้และชีวิตด้านใน

เขตเมืองชั้นในอย่างย่านถนนคำลือเหมาะยิ่งสำหรับจักรยาน บ้านวงศ์บุรี หรือที่คนแพร่เรียกกันว่า “บ้านเจ้าแม่บัวถา” อันหมายถึงแม่เจ้าบัวถา มหายศปัญญา อดีตชายาองค์แรกของเจ้าน้อยพิริยะเทพวงศ์ คงทนความสวยหวาน โอ่อ่าอยู่ด้านหลังรั้วสูงใหญ่ รอบด้านร่มรื่น ไม่เคยห่างหายผู้มาเยือน โลกแบบ “ชั้นสูง”  และการใช้ชีวิตอย่างเจ้านายล้านนาถูกเปิดให้คนนอกได้รู้เห็นในยุคของเจ้าสุนันตา วงศ์บุรี ผู้สืบเชื้อสายจากอดีตเจ้าเมืองแพร่

อาคารก่ออิฐถือปูนสีชมพูอ่อนซึ่งสร้างโดยช่างจีนจากมณฑลกวางตุ้ง มีลวดลายฉลุไม้ประดับตัวบ้านอยู่บนหน้าจั่ว ช่องลม เชิงชาย ประตู หน้าต่าง เป็นต้นแบบของบ้านวงศ์พระถางและบ้านเจ้าหนานไชยวงศ์ ภายในจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้เก่าแก่ของตระกูลที่ถ่ายทอดกันมาหลายชั่วอายุ ทั้งเครื่องเรือน เครื่องเงิน เครื่องปั้นดินเผา เอกสารสำคัญ อย่างเอกสารการซื้อขายทาส  ทั้งหมดพาเราเพลินอยู่กับโลกอดีตอันแสนแปลกตาด้านใน

ยามบ่ายอาบแดดร้อนระอุ เราลัดเลาะไปทั่วเวียงเก่าเมืองแพร่ เชื่อมโยงออกจากถนนคำลือไปสู่การเลาะแนวเมฆ ความรื่นรมย์ฉาบคลุมหลังอานและรอยล้อไปยังพิพิธภัณฑ์ไม้สัก หรือ “โรงเรียนป่าไม้” ในคำคุ้นเรียกของคนแพร่แผ่อาณาเขตร่มรื่นครึ้มไม้เมื่อเราเข้ามาเยือน อาคารไม้สักยกพื้น รวมไปถึงพิพิธภัณฑ์ทั้ง 3 หลัง ฉายภาพอันแสนคึกคักในอดีต เล่าเรื่องราวตั้งแต่ยุคสัมทานไม้จากบริษัทอีสต์เอเชียติก สู่การเป็นบ้านหลังแรกของนักเรียนป่าไม้มาตั้งแต่ พ.ศ.2478 พวกเขาเรียนเรื่องการจัดการบริหารทรัพยากรป่าไม้ เติบโตไปในทิศทางของการอนุรักษ์ หลังเมืองแพร่และรอบด้านสูญเสียทรัพยากรไปในยุคสัมปทานป่าไม้ก่อนหน้าภายในคือโลกแห่งความร่มรื่นของสวนป่า เรือนไม้บางหลังทับซ้อนแนวกำแพงเมือง เนินสูงเชื้อเชิญให้เราจอดจักรยาน และป่ายปีนขึ้นไปสัมผัสเนื้ออิฐแกร่งทนในระยะใกล้ มันราวกับแง่มุมของเมืองโบราณ ขรึมขลัง เปี่ยมบรรยากาศ

กลับเข้าสู่ในเวียง ถนนสายเล็กสายน้อยคล้ายภาพร่างจิ๊กซอว์ที่ค่อยๆ ประกอบขึ้นเป็นภาพใหญ่ เราเวียนรอบกำแพงเมืองไปทั้ง 4 ประตูเมือง ทั้งประตูมาร ประตูศรีชุม ประตูใหม่ จนมาสิ้นสุดที่ประตูชัย บ้านไม้โบราณหลังเล็กหลังน้อยที่อาจตกหล่น ไร้การรองรับจากสถาบันอื่นใด กลับฉายชัดเรื่องราวร่วมกับเรือนคหบดีใหญ่โต มันร้อยเชื่อมให้โลกหลากใบที่ขับเคลื่อนความเป็นเมืองไม้ของแพร่ให้ยิ่งสมบูรณ์คงทน เราปั่นจักรยานเก่าๆ แทรกไปในยามค่ำ แถบแยกน้ำคือ ร้าน Ginger Bread gallery สว่างไฟวามวาว งานศิลปะและกิจกรรมประเภท “สมัยใหม่”เล่าเรื่องอยู่ด้านใน ขณะที่ย่านอาหารกลางคืนแถบตลาดประตูชัยเริ่มคึกคัก กลางห้วงโอบล้อมของภูเขา ดูเหมือนเมืองเล็กๆ ที่เติบโตมาด้วยไม้สักและ ผู้คนได้ก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยมาด้วยกัน

เก็บความรุ่งเรืองและเรื่องราวหนหลังไว้ในส่วนลึกที่สุด ไม่ฟูมฟายถึงสิ่งตกหล่นเปลี่ยนผ่าน และร่วมก้าวเดินไปตามจังหวะของเมืองที่ยังยินดีจะรอพวกเขาอยู่เสมอ

How to Go?

มาปั่นจักรยานเที่ยวย่านเก่าเมืองแพร่ไม่ใช่เรื่องยาก ด้วยพื้นที่ไม่ใหญ่โตจนเกินไป แหล่งท่องเที่ยวประเภทบ้านและห้องแถว ตลอดจนวัดวาอารามเรียงรายใกล้เคียงกัน ให้ได้ปั่นเที่ยวชมได้อย่างไม่เหนื่อยจนเกินไป มีอาหารพื้นเมืองอร่อยๆ ตามชุมชนให้ได้ลิ้มลอง

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแพร่ โทรศัพท์ 0- 5452 -1118 และ 0 -5452- 1127 ติดตามข่าวสารการปั่นจักรยานเที่ยวเมืองแพร่ได้ที่เฟซบุ๊ก ปั่น.เปลี่ยน.แป้

อดีตที่ตกลับเลือนหายบางแง่มุมยุค “ทำไม้”