กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร

กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร

ก้าวแรกของเข็มวินาที

ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้พบกับเส้นทางเดินชีวิตตั้งแต่เยาว์วัยเด็กชายกีรติในวันนั้นก็เช่นกัน เขายังคงเป็นเด็กน้อยธรรมดาๆ ที่แม้ว่าจะมีทักษะด้านดนตรีมาตั้งแต่จำความได้ก็ตาม แต่ก็พึ่งจะมีเค้าลางของความฝันเมื่อครั้งที่ฮอร์โมนของความหนุ่มสาวเข้ามาเยือน 

“ผมก็เหมือนเด็กผู้ชายทั่วๆ ไป ชอบเล่นกีฬา ตอนเข้าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยได้ก็เพราะกีฬาวิ่ง ตอนนั้นก็จะมีห้อง ก. ห้องข. ไปเรื่อยๆ ห้อง ซ. ก็จะเป็นห้องนักกีฬา แต่มันมีสอบสองรอบ ผมผ่านรอบแรกก็เลยมาอยู่ห้อง ช. แล้วพอเข้ามาอยู่สวนกุหลาบ ก็จะชอบเล่นฟุตบอลมาก เล่นไปเล่นมาก็ไปเล่นให้ทีมโรงเรียน เรียกได้ว่าช่วงนั้นชีวิตก็มีแต่ฟุตบอล จนกระทั่งได้มารู้จักเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งแถวๆ บ้าน เขาตั้งวงดนตรี ผมก็ไปเกาะแกะอยู่กับเขา เอากีต้าร์มาดีดเล่นงูๆ ปลาๆ ไป

“จนกระทั่งมีอยู่ช่วงหนึ่งอายุซัก 12-13 ปี แถวบ้านจัดปาร์ตี้กัน แล้ววงนี้ก็จะต้องเล่นดนตรีในงาน ทีนี้แต่ละคนเขาก็มีน้องกันหมด แล้วพี่คนนี้เขาไม่มีน้องก็เลยดึงเอาผมเข้าไปเล่นในวงดนตรีนี้ ตอนนั้นผมก็เล่นกีตาร์พอเริ่มได้บ้างแล้ว อยู่ๆ เขาก็จับผมไปเล่นเบส เขาให้เวลาผมอาทิตย์หนึ่งในการไปฝึก 10 เพลงให้ได้ นั่นก็เลยถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเล่นดนตรีของผม

“ช่วง มศ.3 ผมยังเป็นนักฟุตบอลอยู่ พอจะขึ้น มศ.4 ก็เริ่มโตเป็นหนุ่มแล้ว เริ่มอยากโชว์สาว ผมก็คิดว่าใช้ดนตรีนี่แหละ จึงได้เริ่มเล่นดนตรีเยอะขึ้น จากที่ไปซ้อมกีฬา ก็เปลี่ยนเป็นไปซ้อมดนตรีเยอะขึ้น การเล่นกีฬาก็เลยน้อยลง มาตอนหลังก็เลยตั้งวงดนตรีขึ้นมากับเพื่อนเพื่อเล่นดนตรีในโรงเรียน แล้วก็คิดจะหันมาเอาด้านนี้อย่างจริงจัง”

ถึงคราวเข็มนาทีเริ่มเคลื่อนไหว

จากใช้เวลาเพื่อกีฬา หันมาจับกีต้าร์เพื่อเล่นดนตรี ความหลงใหลในเสียงแห่งจินตนาการจึงยิ่งเกิดขึ้น ความแปลกใหม่แห่งเส้นทางเดินชีวิตจึงเริ่มขยับไปพร้อมกับความมุ่งมั่นอันแรงกล้า

“สมัยก่อนก็ไม่ได้มีห้องซ้อมอะไร ผมก็แค่เอากีต้าร์มานั่งแกะเพลง แล้วก็ไปเล่นกันที่บ้านรุ่นพี่คนนั้น ซึ่งอยู่แถวๆ ฝั่งธน เพราะตอนนั้นเขามีวงจริงจังแล้ว ตอนนั้นสิ่งที่ให้ความรู้ด้านดนตรีสำหรับผมนั้นมีอยู่สิ่งเดียวคือ หนังสือพระเจนดุริยางค์ นอกนั้นเป็นภาษาอังกฤษซึ่งก็อ่านลำบาก เพราะฉะนั้นปัจจัยหลักก็คืออาศัยการแกะเพลงเอา

“ช่วง ม.ปลาย ผมก็เริ่มเล่นดนตรีเยอะขึ้น เริ่มทำวงชื่อ ‘Farrowry’ จนกระทั่งจบ มศ.5 ก็คิดว่าไม่เรียนแล้ว ผมเริ่มทำดนตรีแต่ก็ยังไม่ได้คิดว่าจะทำเป็นอาชีพ เน้นไปเล่นตามงานก็ไม่ได้ตังค์อะไร แถมบางทีไปตามร้านเสียตังค์ซื้อบัตรเข้าไปแล้วยังขอเขาขึ้นไปเล่นอีก แต่ใจมันรักแล้ว ช่วงนั้นมันเป็นช่วงวัยรุ่นอะไรก็ไม่สนใจ จะเล่นดนตรีอย่างเดียว

“งานแรกที่เล่นดนตรีแล้วได้เงินนั้น ผมเล่นกับวงแถวบ้าน ได้มาประมาณร้อยกว่าบาทสำหรับทั้งวง หารกัน 4-5 คนก็ตกคนละยี่สิบกว่าบาท ก็ถือว่าเยอะนะสำหรับวงเด็กๆ เพราะสมัยนั้นค่าครองชีพยังไม่สูงเท่าทุกวันนี้

“ทีนี้พอตั้งใจว่าจะไม่เรียน ชีวิตผมก็เลยเปลี่ยน เพราะต้องเริ่มจริงจังในการเล่นดนตรีมากขึ้นแล้ว ก็เปลี่ยนจากการเล่นแต่กับวงเพื่อนข้างบ้าน ไปออกแสวงหานักดนตรี แล้วเราก็เริ่มได้รู้จักคนมากขึ้น พอดีมีเพื่อนผมไปร่วมวงกับน้องชายของพี่ต๋อย วินัยพันธุรักษ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งวงดิอิมพอสซิเบิล เขาก็มาชวนผมไปเล่นกีต้าร์ ผมก็เลยไปเล่น นั่นก็เลยถือเป็นเรื่องโชคดีที่ผมได้เข้าไปใกล้ชิดกับวงดิอิมพอสซิเบิล ตอนนั้นก็ถือว่าเป็นช่วงเซมิโปรแล้ว

“ช่วงนั้นผมไม่ได้อยู่กับที่บ้านแล้ว ออกไปใช้ชีวิตตามประสาวัยรุ่น แรกๆ ก็เป็นอาทิตย์ถึงกลับ หลังๆ ก็หายไปเป็นปี ปัญหาของชีวิตในช่วงนั้นมันก็มีมากเลยทีเดียว เพราะด้วยคุณแม่ผมเป็นครู ท่านก็จะดุ และอยากให้ผมเรียนหนังสือ เพราะพี่ๆ ผมเรียนเก่งๆกันหมด เพราะฉะนั้นวิธีที่ผมจะได้ออกไปเล่นดนตรีก็คือต้องแอบหนีไปเล่น เพราะขอแล้วท่านไม่ให้

“พอตอนนี้มานั่งนึกถึง สิ่งที่ทำไปก็เจ็บ มันเป็นภาพที่ฝังใจ เพราะคุณแม่ท่านเป็นทุกข์มาก ท่านอยากให้เรียนต่อ จนกระทั่งท่านบอกว่าจะเล่นดนตรีด้วยก็ได้ แต่ต้องเรียนไปด้วย นั่นถือเป็นการยอมแพ้ของท่านเลยนะ ผมก็เลยไปเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง ตอนนั้นเขาพึ่งเปิดเป็นปีแรก ผมก็เลยได้กลายเป็นศิษย์รามคำแหงรุ่นแรก เรียนไปครึ่งปี ได้มา 3 วิชา จากนั้นเปลี่ยนไปเรียนบริหารธุรกิจ ที่วิทยาลัยกรุงเทพ (มหาวิทยาลัยกรุงเทพในปัจจุบัน) ซึ่งยังคงเล่นดนตรีไปด้วยตลอด แต่พักหนึ่งจากนั้นก็ออกอีก แล้วก็ไม่ค่อยได้กลับบ้านเลย”

เกือบครึ่งรอบของการเดินทาง

กลิ่นของความอิสระช่างหอมหวาน เขาจึงใช้เวลาแห่งความหรรษาไปอย่างรื่นรมย์ แม้จะเจือไปด้วยรสขม แต่ทุกประสบการณ์ได้เพิ่มบทเรียนอันสุดคุ้มให้กับความเป็นบุปผาชนในขณะนั้น

“ในที่สุดผมก็ได้เป็นนักดนตรีอาชีพ สมัยนั้นตรงถนนเพชรบุรีตัดใหม่เขาจะมีบาร์ของพวกทหารจีไอ ผมก็ตระเวนเล่นอยู่แถวนั้นสักพักก็ย้ายมาเล่นทางเส้นที่ติดสุขุมวิท จนกระทั่งคนในวงทะเลาะกัน วงแตก ผมจับมือกับเพื่อนที่เหลืออีกคนหนึ่ง จนไปได้นักดนตรีฟิลิปปินส์กับมาเลเซียมาทำวงขึ้นมาอีกครั้ง ตอนนั้นถือว่าสุดยอดแล้ว ได้เงินวันละสองร้อยกว่าบาท เล่นกันอยู่ได้ 6 เดือนปรากฏว่านักดนตรีมาเลเซียในวงเขาต้องการได้เงินมากกว่าเราอีกวันละ 20 บาท เพราะเขาต้องไปต่อวีซ่า เพื่อนผมไม่ยอม ก็เลยวงแตก

“จากนั้นผมก็เริ่มเคว้ง ไม่รู้จะทำยังไง ก็กลับบ้านไปหาคุณแม่ พอคุณแม่เห็นผม ท่านน้ำตาไหลเลย เกือบสองปีที่ไม่ได้ติดต่อกันแต่ท่านก็จะพยายามจะถามข่าวคราวของผมจากคนอื่นว่าผมยังมีชีวิตอยู่ดีไหม

“ตอนนั้นผมคิดว่าไม่เอาแล้วดนตรี อยากเรียนต่อ พอดีเพื่อนๆ ที่โรงเรียนสวนกุหลาบไปเรียนต่อที่ฟิลิปปินส์กันเยอะ ผมก็เลยไปด้วย แต่คนมันเคยเล่นดนตรี มันก็ทิ้งไม่ได้ ก็เลยเล่นกันที่บ้านเฉพาะกลุ่มนักเรียนนั่นแหละ ช่วงนั้นในกลุ่มนักเรียนไทยใครๆ ก็รู้จักผมเพราะการเล่นดนตรีนี้แหละ

“ผมเรียนวิศวะอยู่สี่ปีครึ่ง พอเรียนจบกำลังจะกลับ ก็ได้รู้จักกับแอ๊ด (ยืนยง โอภากุล) ก็เลยได้ลองซ้อมแล้วเล่นด้วยกัน จากนั้นก็ไปประกวดทั้งวงมีอยู่สามคน ปรากฏว่าเราได้เข้ารอบ 10 วงสุดท้าย นั่นก็เลยเป็นที่มาที่ทำให้ผมกับแอ๊ดสนิทกัน”

เข็มที่เดินมาเจอกันในความต่าง

คงจะเป็นเรื่องจริงในนิยามของแรงดึงดูดที่ว่า ‘คนที่เหมือนกัน มักเดินเข้าหากัน’ เมื่อการมาปรากฏตัวของเพื่อนร่วมแนวคิดเดียวกัน ทำให้เขาควายซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคาราบาวจึงเหมือนถูกเติมเต็ม

“ตอนนั้นแอ๊ดเขาจบอนุปริญญา แล้วไปต่อปริญญาตรีที่โน่นอีก 9 เดือน เขามาทีหลังในช่วงที่ผมเก๋าที่โน่นแล้ว (หัวเราะ) มีคนมาเล่าให้ผมฟังว่ามีนักเรียนไทยคนหนึ่งเล่นกีต้าร์ดี ร้องเพลงเพราะ ผมก็อยากเห็น พอมีคนชวนเขามาที่บ้าน ก็เลยได้เล่นด้วยกันแอ๊ดเขาร้องเพลงฝรั่งได้เพราะมากนะ เพลงของ John Denver นี่เสียงเขาใช่เลย ทีนี้ทางแอ๊ดเขาก็มีความคุ้นเคยกันอยู่กับทางพี่หงา คาราวาน เราก็เลยคุยกันว่า พอกลับเมืองไทยไปแล้วเราจะลองทำวงแบบนี้กัน ไปทำเพลงไทยกันดีกว่า

“ส่วนชื่อคาราบาวนั้น แอ๊ดเขาไปเห็นสัญลักษณ์เขาควายนี้ที่กำแพง ซึ่งมันเป็นสัญลักษณ์ของผู้ใช้แรงงานที่ฟิลิปปินส์ แล้วคำว่าคาราบาว มันก็คือชื่อควายของฟิลิปปินส์ เหมือนควายไทยนี่แหละ แต่ว่าตัวเล็กกว่า เขาเขียนว่า CARABAW แต่ว่าของเรานำมาเขียนเป็น CARABAO

“ที่เราใช้ชื่อควายนี้ มันก็เป็นเรื่องบังเอิญที่สอดคล้องกับเหตุผลว่า คาราวานคือแม่แบบของเรา ตอนนั้นดนตรีเพื่อชีวิตยังไม่เกิดเราก็จะถูกจัดว่าเป็นดนตรีพวกซ้าย (ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์) เราจะต่อสู้เพื่อชนชั้นกรรมาชีพ

“พอเรียนจบ ผมได้งานจากทางฟิลิปปินส์ บริษัทแม่อยู่ที่อเมริกา พอเขามาเปิดสาขาที่ประเทศไทย ผมก็ได้กลับเข้ามาทำงานด้านประเมินราคาเครื่องจักรที่นี่ทันที ซึ่งมันก็ไม่ใช่งานถนัดเราเท่าไหร่ แต่ก็อยู่มาได้ตั้ง 6 ปี เพราะมีผมทำหน้าที่นี้อยู่คนเดียวช่วงนั้นก็ทำงานประจำนี้ไปด้วยแล้วก็เล่นดนตรีไปด้วย

“ในขณะที่เล่นดนตรีไป ก็เป็นจังหวะที่แอ๊ดเขาได้เริ่มแต่งเพลงไว้บ้างแล้ว แล้วเขาก็ไปช่วยงานกับวงแฮมเมอร์ ซึ่งตอนนั้นวงนี้เขาก็กำลังทำเพลง ‘ปักษ์ใต้บ้านเรา’ แล้วแอ๊ดเขาก็ทำเพลงถึกควายทุยภาคแรกไปด้วย จากนั้นผมก็เล่นอยู่กับแอ๊ดบ้าง มารวมตัวกันอยู่กับวงโฮปบ้าง

 “มีวันหนึ่งแอ๊ดเขาก็มาบอกว่า ‘เฮ้ย รู้แล้วว่าเขาทำเพลงกันอย่างไร’ แล้วเขาก็มาชวนผมไปทำเพลง เราก็เลยได้เริ่มทำคาราบาวชุดลุงขี้เมา พร้อมกันนั้นผมก็ชวนเขามาเล่นที่แอมบาสเดอร์ วันหนึ่งเขาก็ขึ้นมาแจมกันบนเวที แล้วนึกยังไงไม่รู้เอาเพลงลุงขี้เมามาเล่น ซึ่งวันนั้นเป็นวันที่เล็ก (เล็ก คาราบาว) มาเยี่ยม เล็กกับแอ๊ดนี่เขารู้จักกันอยู่แล้ว เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เรียนอุเทนถวายพอเล่นวันนั้นปั๊บ โรงแรมเขาก็ไล่เราออกกันเลย (หัวเราะ) เพราะมันเป็นเพลงซ้ายอย่างที่บอก แต่เราก็มารวมตัวกันต่อ ก็เลยเกิดเป็นอัลบั้มที่สองชื่อ แป๊ะขายขวด”

เพื่อเพลง เพื่อชีวิต 

คาราบาวนั้นเกิดขึ้นเพื่อหวังจะขับเคลื่อนพลังบางอย่างในสังคม ในยุคหนึ่งเขาจึงกลายเป็นต้นแบบแห่งคนที่มีอุดมการณ์ ดนตรีของเขาถูกขนานนามว่า ‘ดนตรีเพื่อชีวิต’

“แอ๊ดเคยบอกกับผมว่าก่อนที่เราจะไปช่วยชาวบ้านได้ เราต้องดังก่อน จากนั้นเราสื่อสารอะไรไปเขาก็จะฟัง ซึ่งนั่นมันก็จริง นั่นคือที่มาว่าทำไมคาราบาวถึงมีอิทธิพลต่อคนฟัง แต่เมื่อถึงคราวเกิดคำถามว่า คาราบาวเพื่อชีวิตใครกันแน่ มันจึงเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ผมหันเหตัวออกมา

“มันเป็นธรรมดาของวงดนตรีเมื่อมีชื่อเสียง มันก็จะมีคนเข้ามารุมล้อมมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเข้ามาด้วยผลประโยชน์ มันก็ทำให้อุดมการณ์เดิมเริ่มสับสนได้ แต่ว่าผมก็ไม่ได้ออกจากวงนะครับ มาทำเบื้องหลัง ทำด้านห้องอัดเป็นหลัก ก็ยังได้เจอสมาชิกคาราบาวทุกวันอยู่แล้ว

“ตอนที่ผมผละออกมาจากคาราบาว มันก็มีเสียดายนะ แต่ในเมื่อบางอย่างมันถูกแทรกแซง ผมก็ถอยออกมาดีกว่า ในทัศนะของผม ในความเป็นศิลปิน ผมเชื่อว่าศิลปะมันต้องออกมาจากตัวตนของเรา ไม่สนใจสิ่งเร้าอื่น ถ้าทำเพลงแล้วต้องมาคิดอย่างเดียวว่าเพลงนี้จะดังไหม จะโดนใจคนฟังบ้างหรือเปล่า จะทำเงินได้แค่ไหน แบบนั้นอย่าทำเลย ผมเชื่อว่างานที่ปรุงแต่งอะไรลงไปมากมันอยู่ได้ไม่นานแน่นอน

 “คำว่าศิลปะมันคือเจตจำนงที่ถูกหล่อหลอมลงไปในงานของคาราบาว ในสมัยที่ผมยังร่วมอยู่ เราจะมีการแชร์ความรู้สึกร่วมกันในงานแต่ละชิ้น ใครคิดอะไรก็เอามาแชร์ แล้วจับเขย่ารวมกันจนได้งานแต่ละชิ้น ซึ่งมันจะมีงานที่หลากหลาย แต่ก็จะมีลายเซ็นของแต่ละคนแฝงอยู่ในนั้น สิ่งเหล่านี้มีอยู่ในคาราบาว อัลบั้มชุด 1 ถึง 10 เท่านั้น อัมบั้มหลังๆ จากนั้นจะเป็นแอ๊ดทำ 80 เปอร์เซ็นต์เพลงมันก็เลยเหมือนๆ เดิม

“ถ้าจะพูดถึงสภาพสังคมของชนชั้นกรรมาชีพ ตั้งแต่ผมเริ่มมีความคิดที่จะทำเพลงเพื่อปลุกจิตวิญญาณของพวกเขาแล้ว จนถึงทุกวันนี้มันได้มีอะไรเปลี่ยนไปมากแค่ไหนนั้น ตอบได้ยากจริงๆ เพราะโลกมันไปในทิศทางที่คาดเดายากและเปลี่ยนไปเร็ว คนที่มีอุดมการณ์ก็มีการแปรเปลี่ยนไป”

โมงยามแห่งความสุข 

เมื่อกลับมาสู่ตัวตน กลับมาสู่เส้นทางแห่งความเป็นปัจเจกชนโดยไม่ได้แต่งแต้ม เส้นโครงร่างของความเป็นคนอบอุ่นของเขายิ่งเด่นชัด

“ตอนนี้ผมกำลังจะทำมินิคอนเสิร์ตครั้งแรกในชีวิตของผม หลังจากแซยิดเมื่อปี 2554 ก็เลยมีความรู้สึกว่ามันจะต้องมีสักครั้งได้แล้วล่ะ ที่ผ่านมาก็อาจมีบ้างเป็นเขียว มรกต แต่ยังไม่มีในฐานะเขียว คาราบาว อยากให้เป็น 60 ปีสัญญาหน้าฝน ก็จะมีพี่น้องเพลงเพื่อชีวิตหลายคนได้มาร่วมเวที ได้พบปะกันอีกครั้ง อย่างหน้าหมู พงษ์เทพ คุณสุเทพ วงโฮป คุณไข่ มาลีฮวนน่า ลูกสาวลูกชาย โดยรูปแบบก็จะประมาณว่าเส้นทางดนตรีผมได้เดินทางมานั้น ได้เดินผ่านพบเจอใครมาบ้าง ก็จะพยายามพามาเจอกันบนเวทีนี้อีกครั้ง

“พลังในการอยากที่จะขับเคลื่อนสังคมยังมีอยู่ แต่ผมอาจเปลี่ยนรูปแบบไป ทุกวันนี้ผมชอบทำอาหาร ลูกๆ ไปทานอะไรที่ไหนอร่อย ผมก็จะเอามาลองวิเคราะห์ดู เหมือนแกะเพลงเลย ลองทำดูจนลูกบอกว่าอร่อยกว่าที่ร้านเสียอีก อย่างตอนน้ำท่วม ภรรยาผมเขาติดชานมไข่มุกมาก เขาก็จะออกไปซื้อไม่ได้ พอดีแถวนี้มีร้านขายวัตถุดิบ ผมก็ลองทำให้เขาชิม เขาก็บอกว่าอร่อย อย่างตอนนี้ก็กำลังฝึกทำเบเกอรี่อยู่นะ พอทำได้แล้ว ก็คิดที่จะเอามาทำประโยชน์แก่สังคมต่อ ผมจะทำเป็นรถแล้วเอาไปให้ชาวบ้านเค้าเลือกราคาที่เหมาะสมแล้วเอาไปขาย เพราะผมอยากทำเป็นโมเดลให้ชาวบ้านได้เห็นว่า คุณมีเงินเท่านี้ ก็สามารถทำอะไรขายได้เหมือนกัน

 “ความสุขในชีวิตของผมก็คือไปห้องอัด ไปทำเพลง กับเวลาทำอาหาร ผมค่อยๆ ทำด้วยความประณีต ค่อยๆ ปรุง ค่อยๆ ชิม ผมอยู่กับมันได้ แต่ถ้าทำอย่างอื่นนอกจากนี้ผมจะเบลอมาก (หัวเราะ)”

ทางเดินชีวิตเคล้าเสียงเพลงของผู้ชายคนนี้