เรื่องของรองเท้าฟุตบอล (สตั๊ด)
หลายๆ ฉบับที่ผ่านมา หลายๆ คนที่ได้ติดตามคอลัมน์ของผมคงจะจำกันได้ว่าส่วนใหญ่เขียนถึงเรื่องของสังคมกีฬาหรือไม่ก็ฟุตบอลไทยซะส่วนใหญ่ ดังนั้นคอลัมน์ในฉบับนี้ต้อนรับปีใหม่ 2557 ขอเปลี่ยนบรรยากาศมาเขียนเรื่องเบาๆ เกี่ยวกับฟุตบอลกันบ้าง แต่เชื่อว่าเป็นเรื่องสำคัญมากถึงมากที่สุดเลยทีเดียว นั่นก็คือเรื่องของรองเท้าฟุตบอลหรือที่เรียกกันว่ารองเท้าสตั๊ด
ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าวิวัฒนาการของรองเท้าฟุตบอลนั้นมาไกลเหลือเกิน หลายยี่ห้อดังมีการออกแบบดีไซน์รองเท้าสวยงามไม่แพ้กับรองเท้าแฟชั่นหรือรองเท้าผ้าใบที่ใส่เที่ยวเล่นในชีวิตประจำวันเลยทีเดียว
ดังนั้นไม่แปลกใจเวลาที่ดูนักเตะระดับโลกจากลีกดังใส่รองเท้าสวยๆ งามๆ ถือว่าเป็นสีสันอีกอย่างในสนามฟุตบอลนอกจากการดูนักเตะเก่งๆ เล่นฟุตบอลด้วยเทคนิคแพรวพราวหรือการวางแผนในเรื่องแท็กติคที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพพร้อมด้วยเสน่ห์ที่น่าดึงดูดของทีมต่างๆ ที่เราเชียร์
รองเท้าฟุตบอลหรือสตั๊ดถือว่าเป็นสิ่งที่นักฟุตบอลไม่ว่าจะอาชีพหรือสมัครเล่นขาดไม่ได้เลยทีเดียวเพราะการออกแบบที่ใช้ได้ดีกับพื้นสนามหญ้า ถ้าใส่รองเท้าผ้าใบทั่วไปรับรองว่าลื่นแน่นอนหรือไม่ก็สวมใส่ไม่เหมาะกับการควบคุมบังคับฟุตบอลได้อย่างที่ใจคิด หรือบางรุ่นอย่างเช่นพวกที่เรียกว่า รองเท้าร้อยปุ่มก็ใช้สำหรับสนามหญ้าเทียมโดยเฉพาะ
ส่วนเรื่องของวิวัฒนาการของรองเท้าฟุตบอล จริงๆ แล้วต้องย้อนกลับไปเมื่อศตวรรษที่แล้ว ตั้งแต่ช่วงต้นปีคริสตศักราช1800 ช่วงที่การเล่นฟุตบอลกำลังได้รับความนิยมเรื่อยๆ ในอังกฤษ ตอนนั้นอังกฤษอยู่ในช่วงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมพอดีซึ่งกีฬาฟุตบอลเป็นกีฬาประเภทหลังเลิกงาน ซึ่งส่วนใหญ่พวกชนชั้นแรงงานจะเล่นกัน ทำให้รองเท้าที่ใส่กันเริ่มแรกหนีไม่พ้นพวกรองเท้าบู๊ตโรงงานทั้งหลาย ที่ทั้งหนักและไม่สะดวกเวลาเล่น
พอเข้าสู่ยุคปีคริสตศักราช 1900 รองเท้าที่ใช้เล่นฟุตบอลก็มีการพัฒนามากขึ้น มีการใช้หนังมาทำรองเท้ารวมทั้งทรงรองเท้าที่ได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมในการเล่น แต่อย่างไรก็ตามตัวรองเท้าก็ยังถือว่าหนักอยู่ดีประมาณ 500 กรัมเลยทีเดียวหรือพูดง่ายๆ คือครึ่งกิโลกรัมนั่นเอง ยิ่งถ้าเกิดเปียกจากฝนด้วยล่ะก็น้ำหนักของตัวรองเท้าอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเลยทีเดียว แต่การออกแบบก็เพื่อจุดประสงค์ในการป้องกันเท้าจากอาการบาดเจ็บเป็นหลัก
จนมาถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือตั้งแต่กลางทศวรรษ 1940 เป็นต้นไป รูปแบบลักษณะของรองเท้าฟุตบอลมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากแนวคิดที่จะเพิ่มความกระชับสะดวกสบายกับการเล่นฟุตบอลสนามให้มากขึ้น ยิ่งในภูมิภาคอเมริกาใต้ได้รับอิทธิพลการเล่นฟุตบอลจากยุโรป ซึ่งก็พยายามเน้นกระประดิษฐ์ออกแบบรองเท้าให้เบาขึ้น
จนในยุโรปเองที่ฟุตบอลแพร่หลาย ก็มีการเปลี่ยนแนวคิดปรัชญาจากสมัยก่อนที่การออกแบบให้รองเท้าปกป้องเท้าของนักกีฬามากที่สุดมาเป็นรองเท้าที่เพิ่มความสะดวกสบายน้ำหนักเบาง่ายต่อการเล่นของนักกีฬาซะมากกว่า ยิ่งช่วงสิบปีต่อมาในต้นยุค 60 รองเท้าถูกออกแบบให้เบาด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ
พอมาช่วงยุค 70 ถือว่าเกมฟุตบอลมีมูลค่าทางการตลาดมากขึ้น มีบริษัทผลิตรองเท้ากีฬาหันมาผลิตรองเท้าฟุตบอลกันมากมายหลายยี่ห้อเลยทีเดียว โดยมีเทคโนโลยีใหม่เท่าที่จะทำให้รองเท้าของตัวเองใส่สะดวกสบายมากที่สุดและเบาที่สุด ที่สำคัญบริษัทเหล่านี้ออกแบบรองเท้าให้มีสัญลักษณ์ตัวแบรนด์ของตัวเองบนรองเท้าแถมหนังที่ใช้ก็มักจะนิยมหนังจิงโจ้หรือหนังวัวที่ใส่แล้วรู้สึกสบายเท้ามาทำรองเท้า
บริษัทผู้ผลิตที่สามารถขายรองเท้าฟุตบอลได้มากที่สุดในสมัยนั้นจนถึงบัดนี้ แน่นอนคงเดาไม่ยากนั่นก็คือ อาดิดาส จากประเทศเยอรมนีโดยรุ่นที่ถือว่าขายดีที่สุดตลอดกาลคือ รุ่นโคป้ามุนเดีย จนในปัจจุบันมีนักฟุตบอลหลายคนใส่เตะอยู่บ้าง เช่น ริคาร์โด้ กาก้า ซาบี้ อลองโซ่หรือแกเร็ธ เบล
จนมาในรอบยี่สิบปีที่ผ่านมา รองเท้าฟุตบอลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคงหนีไม่พ้น พรีเดเตอร์ ของ อาดิดาส ที่ถูกผลิตอออกมาหลายเวอร์ชั่นซึ่งเป็นรองเท้าที่สวยงาม รุ่นหนึ่ง อีกทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ถูกนำมาใช้อย่างหนังเทียมหนังสังเคราะห์บ้าง หรือการเย็บก็มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อซ้อนตะเข็บหรือใช้เลเซอร์ในการผลิตเลยทีเดียว นี่ก็คือเรื่องของรองเท้าฟุตบอลซึ่งปัจจุบันมีตัวเลือกในตลาดหลายยี่ห้อเหลือเกิน แต่ที่สังเกตคนไทยมักจะนิยมสวมรองเท้าฟุตบอลแค่สองยี่ห้อคือ อาดิดาส กับไนกี้ ที่กลายเป็นคู่แข่งโดยตรง
อย่างไรก็ตามในมุมมองส่วนตัวรองเท้ามีส่วนช่วยให้เตะฟุตบอลดีขึ้นแต่ก็เพียงไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นเป็นเรื่องของฝีเท้าล้วนๆ ลองย้อนถามกับตัวเองดีๆ ว่ารองเท้าใส่เล่นฟุตบอลคู่แรกของคุณคือรองเท้าอะไร ส่วนของผมนั้นเติบโตที่ต่างจังหวัด คู่แรกจึงหนีไม่พ้นรองเท้าผ้าใบนันยางแน่นอน ...