พระตะบอง

พระตะบอง

รอบด้านดูงดงาม เต็มไปด้วยการเติบโต นาข้าวกลางฤดูเพาะปลูกเขียวชอุ่มชื่นตา ริมคันนาคือแปลงดักจับจักจั่นที่มีปลายทางอยู่ที่ฝั่งไทย เมื่อเราผ่านพ้น 50 กิโลเมตรและเข้าใกล้ศรีโสภณ ฝุ่นแดงและหลุมบ่อที่เป็นเหมือนหนทางวัดใจของนักเดินทางในยุคหลังสงครามเย็นเลือนหายไปกับการเปลี่ยนผ่านของวันเวลา

เราแวะพักกันที่ชุมทางหลักของศรีโสภณ ทางหลวงหมายเลข 6 ที่จะมุ่งเข้าเสียมเรียบทอดยาวดิ่งตรงไปลิบลับ ความเติบโตของศรีโสภณตกทอดอยู่ตามมหาวิทยาลัยการอาชีพบันเตียเมียนเจยอันใหญ่โต โรงแรมและห้างร้านต่างๆ มีไว้รองรับพ่อค้าจากต่างแดนที่ข้ามเข้าสู่เมืองชุมทางแห่งนี้ด้วยจุดหมายทางการลงทุน หาใช่นักท่องเที่ยวที่แสวงหาความรื่นรมย์

สะพานเหล็กที่เป็นส่วนหนึ่งของรางรถไฟร้างหยัดยืนในฤดูเปี่ยมน้ำ ยามเราหักขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 5เราจอดรถหยุดยืนมองมันในหมู่บ้านริมทางแห่งหนึ่งความขวักไขว่บีบอัดตัวเองบนถนนสายเล็กจนกลายเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวอันน่าทำความเข้าใจ เส้นทางหลักที่แยกจากศรีโสภณและมุ่งหน้าลงสู่เมืองหลวงของประเทศอย่างพนมเปญทำให้การเดินทางแทบทุกรูปแบบดำเนินร่วมกันอย่างมีสีสัน รถโดยสารระหว่างจังหวัด สิบแปดล้อคันโต มอเตอร์ไซค์ที่พูนเพียบไปด้วยสินค้าเกษตรกรรม

ไม่เกินชั่วโมงครึ่งเราเข้าสู่เขตจังหวัดพระตะบอง เมืองเกษตรกรรมหลักที่เป็นดังชามข้าวของกัมพูชาสะท้อนตัวตนอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 5 นาข้าวเขียวชื่นและโรงสีขนาดใหญ่ ว่ากันว่าพื้นที่ราบลุ่มอันรายล้อมด้วยภูเขาและตั้งอยู่ติดกับโตนเลสาบผืนนี้ล้วนปลูกข้าวหล่อเลี้ยงคนกัมพูชาได้ทั้งประเทศ ผ่านพ้น 66 กิโลเมตรที่ครอบคลุมด้วยผืนนาและผู้คน เราเข้าสู่เมืองใหญ่อย่างพระตะบอง ความคึกคักปนเปไปในการเติบโต โรงแรมขนาดใหญ่ขยายตัวออกมาถึงนอกเมือง

อนุสาวรีย์ตาดอมบองกระยูงโดดเด่นชัดเจนราวเทพเจ้าคุ้มครองเมืองยามเมื่อเราผ่านพาตัวเองเข้าสู่พระตะบอง วงเวียนอนุสาวรีย์คลาคล่ำไปด้วยผู้คนสักการะท่ามกลางรถราฉวัดเฉวียน กลิ่นธูปและควันเทียนหลอมรวมความเชื่อความเคารพอันไม่เคยเปลี่ยนแปลง ไม่ว่ามันจะก้าวข้ามผ่านพ้นสู่ยุคสมัยใด

แม่น้ำซองแกร์ไหลเรื่อยเคียงคู่เมืองพระตะบอง ถนนสวายปาวเลียบเลาะและฉายชัดเมืองที่ถูกวางผังและจัดสร้างโดยฝรั่งเศสอันเก่าแก่คงทน มันไม่ได้โอ่อ่าราวเมืองใหญ่อื่น ๆ ในอินโดจีน แต่กลับชวนให้ค่อยๆ ก้าวเท้าสัมผัสความเก่าแก่ของมันอย่างแช่มช้าละมุนละไม

เราเดินไปบนถนนสวายปาว หรือ Street no.1 อาคารธนาคารแห่งชาติกัมพูชาเอี่ยมอ่องสีเหลืองนวลตัดขาวไม่ไกลกันคือชุดห้องแถวที่มีลวดลายปูนปั้นประดับอาคารแสนวิจิตร มันเข้ากันดีกับแม่น้ำสายโบราณตรงหน้า

ตามตรอกซอยเต็มไปด้วยความเก่าแก่แบบคู่ขนาน ทั้งผังเมืองอันแสนเป็นระเบียบ เป็นบล็อกเป็นตรอก ทว่าการค้าและชีวิตความเป็นอยู่ล้วนเต็มไปด้วยสีสันอันผสมผสาน ทั้งการก้าวไปตามคืนวันหรือเปลี่ยวร้างตกหล่นในห้องแถวร้างที่สีเก่าคร่ำชวนมอง

เราลัดเลาะไปตามถนนเครือข่าย ทั้ง Street no.1.5 ไล่ไปถึง no.2, no.2.5 และ no.3 โครงสร้างและการผสมผสานทั้งตะวันตกและตะวันออกก่อเกิดเป็นความคงทนนับร้อยปี มันไม่ได้มีความหมายเพียงความฟู่ฟ่าของสถาปัตยกรรมในบ้านเรือนจากชาติตะวันตกที่ปกครอง แต่เต็มไปด้วยรูปแบบหนทางชีวิตที่พวกเขาเลือกเดินเองได้ในเวลาต่อมา

ในโรงหนังเก่าร้างบน Street no. 2 ที่เคยฉายภาพยนตร์ทั้งของคนเขมรและต่างชาติโดยเฉพาะหนังไทย ด้านหน้าหลงเหลือเพียงร้านขายขนมเล็กๆ ทว่าเมื่อรอยยิ้มของเจ้าของผลักพาเราเข้าสู่ด้านใน เมื่อเปิดไฟสลัวๆ เก้าอี้ไม้โบราณและจอภาพยนตร์สีขาวซีดก็ฉายชัดคืนวันอันเคยเป็นสุขของพวกเขาในอดีต

ตึกหลายห้องถูกปรับเปลี่ยนกลายเป็นร้านกาแฟ คาเฟ่เล็กๆ หรือร้านอาหารที่เต็มไปด้วยชาวตะวันตก โลกตรงหน้าพบปะกันในถนนไม่กี่สายในย่านโอลด์ทาวน์ของพระตะบอง เราอาจเห็นนักท่องเที่ยวสักคนนั่งมองโลกเคลื่อนไหวประจำวันของคนพระตะบองผ่านกาแฟสักแก้วในยามบ่าย ชีวิตที่เปิดบ้านเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงและหากินล้วนน่าใส่ใจ

เลาะแม่น้ำไล่เลียบสู่ทิศใต้ ตามความร่มรื่นของไม้ใหญ่ ไม่นานศาลากลางจังหวัดพระตะบองหลังเก่าก็โดดเด่นอยู่ตรงหน้า มีประตูโครงเส้นเหล็กบางๆ กั้นขวาง แต่ความหมายของมันนั้นแสนเข้มงวดว่าเราเฝ้าดูมันได้แต่ภายนอก

ริมแม่น้ำซองแกร์ยังคงร่มรื่นสำหรับผู้มาเยือนในยามบ่าย เราข้ามฟากเข้าไปดูพระพุทรูปหินทราย รวมไปถึงทับหลังและรูปจำหลักทั้งวิถีพุทธและฮินดูภายในพิพิธภัณฑ์เมืองพระตะบอง โลกในอดีตแม้ไม่อลังการเหมือนแถบเสียมเรียบ แต่ก็เล่าเรื่องของผืนแผ่นดินได้ไม่แตกต่าง

หน้าตาของพระตะบองเป็นตัวของตัวเองอย่างถึงที่สุดเมื่อยามเย็นมาเยือน เรากลับสู่ย่านโอลด์สตรีทเพียงเพื่อจะพบตัวเองอยู่บน Street no. 121 ถนนสายเล็กๆ แสนคึกคักด้วยโรงเรียนสอนภาษาจีนและร้านไก่ทอดริมทาง 

ความเป็นเมืองคึกคักอยู่ไม่นานท่ามกลางโลกคู่ขนานที่ดำเนิน นักท่องเที่ยวแบกเป้จากหลายมุมโลกกลับจากนอกเมือง บางคนเพิ่งมาถึงพระตะบองพร้อมไกด์บุ๊คในมือ หันรีหันขวางอยู่ตามย่านตึกเก่า ขณะที่ซานัด (Phar Naht Market) หรือตลาดนัด กลับขวักไขว่ด้วยผู้คนท้องถิ่น ปลาจากโตนเลสาบแม้ไม่ก่ายกองเหมือนช่วงเช้า แต่อาหารและของกินประเภทกับข้าวกลับขยายแผงชัดเจน ภายในมีโซนแยกเขตขายเครื่องประดับพวกพลอยเป็นสัดส่วน

หลังเลือกเบียร์อังกอร์และเดินเล่นแถบริมน้ำซองแกร์ที่ทางเมืองพระตะบองสร้างเป็นโซนอาหารริมน้ำในชื่อ “ริเวอร์ไซด์ ฟู้ดส์” เราจมตัวเองในวันแรกที่พระตะบองไปพร้อมๆ กับผู้คนที่นี่ พวกเขามากินมื้อพิเศษด้วยท่าทีเริงร่าอาหารตามสั่งอย่าง “ลกลัก” เนื้อลูกเต๋าผัดซอส ราดด้วยพริกไทยบีบมะนาวคือจานพิเศษสำหรับเราเลือกลอง จากค่ำคืนสู่ยามเช้าแสนพิเศษ เมื่อเราพาตัวเองมาอยู่ในความเคลื่อนไหวกลางฤดูฝน ความอึมครึมหม่นเทาหาได้กลบกลืนชีวิตยามเช้าของเมืองพระตะบอง ตลาดบึงชุกที่อยู่ถัดออกจากย่านโอลด์ทาวน์มาไม่ไกลกำลังเต็มไปด้วยนาทีแห่งการซื้อขายและรอยยิ้ม

ฟักทองผลโตก่ายกองอยู่ด้านนอก มันแบ่งพื้นที่กับกองสับปะรดและมันเทศ ตลาดบึงชุกคือตลาดค้าส่งสินค้าทาการเกษตรของพระตะบองต่างจากซานัด น่าแปลกที่มันไม่ได้เต็มไปด้วยเสียงโหวกเหวกเรียงร้องการซื้อขาย พวกเขามาพบกันเงียบๆ รอยยิ้มมีมากพอๆ กับการถามไถ่และตกลงราคา

ร้านกาแฟหัวมุมถนนลาเอเต็มไปด้วยผู้เฒ่าและชายกลางคน พวกเขาจมจ่อมอยู่กับการพูดคุยสนทนา ซาลาเปานุ่มหอม กาแฟดำที่ไม่แตกต่างกันสักเท่าไหร่ในหลายเมืองของอินโดจีน น่าสนุกหากเราฟังภาษาของพวกเขารู้เรื่อง เพราะจากที่ซางบอก วงข้างๆ พนันขันต่อกันเรื่องปริมาณน้ำฝนที่รองได้จากเมื่อคืนว่าได้กี่ลิตร

จะว่าไปรอบนอกของพระตะบองเต็มไปด้วยความหลากหลายประเภทที่ใครสักคนที่หลงรักเมืองที่เหมือนจะไม่มีอะไรอาจต้องใช้เวลาและทำความเข้าใจหนทางเฉพาะของที่นั่น เพียงเพื่อที่จะพบว่า มุมเล็กๆ ในสายตาเราอาจเป็นทั้งชีวิตของใครสักคน 

How to Go?

จากด่านคลองลึก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ข้ามสู่ปอยเปต จังหวัดบันเตียเมียนเจย ของกัมพูชา มีรถโดยสารสาธารณะทั้งรถโดยสารประจำทางสายปอยเปต-พระตะบอง หรือรถแท๊กซี่แคมรี่ที่มีให้บริการที่สถานีขนส่งปอยเปต

ในพระตะบองมีที่พักให้เลือกพักมากมาย ทั้งโรงแรมและเกสต์เฮ้าส์ ย่านโอลด์ทาวน์ราว (10-15 ยูเอสดอลลาร์ หากเป็นย่านริมแม่น้ำซองแกร์ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก ราว 25-30 ยูเอสดอลลาร์) 

หลังยามเช้าอันแสนมีชีวิตชีวาที่ด่านบ้านคลองลึก