วันเด็กใน AEC
วันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมทุกปี ไทยเราถือว่าเป็นวันเด็กแห่งชาติ แต่ทราบไหมครับว่าครั้งแรก ที่ไทยเราจัดให้มีวันเด็กในปี พ.ศ. 2498 รัฐบาลสมัยนั้นเขาจัดกันในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม
จัดงานวันเด็กมาได้หลายปี รัฐบาลก็นึกออกว่าเดือนตุลาคมนั้นยังเป็นหน้าฝนกันอยู่ เด็กมางานค่อนข้างลำบาก เปียกเฉอะแฉะ รัฐบาลก็เลยเลือกวันใหม่ โดยเลือกเอาวันจันทร์ที่สองของเดือนมกราคมให้เป็นวันเด็กแทน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 เป็นต้นมา
ในแต่ละประเทศนั้นเขาจัดให้มีวันเด็กต่างวันกันออกไปนะครับ และมีสององค์กรระดับโลก ที่เขากำหนดวันเด็ก แต่ก็กำหนดกันคนละวันเสียอีก อย่างสภาสตรีประชาธิปไตยนานาชาติ (Women’s International Democratic Federation) นั้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 เป็นต้นมาเขากำหนดให้วันที่ 1 มิถุนายนของทุกปีให้เป็นวันเด็กนานาชาติ หรือ International Children’s Day ขณะที่องค์การสหประชาชาติก็ได้กำหนดให้วันที่ 20 พฤศจิกายนของทุกปีให้เป็นวันเด็กสากล หรือ Universal Children’s day ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 ครับ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ทุกประเทศคุ้มครองสิทธิในชีวิต สุขภาพ และสิทธิด้านการศึกษาของเด็ก และเป็นการเฉลิมฉลองให้แก่เด็กๆ ทั่วโลกครับ
ทีนี้เรามาดูวันเด็กของประเทศ AEC กัน ว่าแต่ละประเทศเขาเลือกเอาวันไหนเป็นวันเด็กกันบ้าง
ฟิลิปปินส์และบรูไน เขาเลือกเอาวันที่จะเฉลิมฉลองวันเด็ก ในวันเดียวกับวันเด็กสากลขององค์การสหประชาชาติครับ คือ วันที่ 20 พฤศจิกายนของทุกปี ส่วนที่อินโดนีเซียเขาเลือกเอาวันที่ 23 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันเด็ก
ที่สิงคโปร์ เขาเลือกวันศุกร์แรกของเดือนตุลาคมให้เป็นวันเด็ก ซึ่งเด็กๆ สิงคโปร์ก็จะได้หยุดเรียนเหมือนเด็กไทย เพื่อให้พ่อแม่ได้ใช้เวลาอยู่กับเด็กๆ และพาลูกๆ ไปเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งก็จะจัดกิจกรรมวันเด็กกันอย่างสนุกสนาน
มาเลเซียเลือกวันเสาร์สุดท้ายของเดือนตุลาคมให้เป็นวันเด็กครับ แต่การฉลองวันเด็กของมาเลเซียนั้นนิยมฉลองกันโรงเรียน โดยโรงเรียนต่างๆ จะจัดกิจกรรมให้เด็กๆ ฉลองกันมากมายเลยทีเดียว
ส่วนประเทศลุ่มแม่น้ำโขง อย่าง พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม นั้นใจตรงกันครับคือเลือกเอาวันที่ สภาสตรีประชาธิปไตยนานาชาติเลือกให้เป็นวันเด็กนานาชาติคือวันที่ 1 มิถุนายนของทุกปีให้เป็นวันเด็กของชาติตัวเองครับ
ที่ลาว เขาเรียกวันเด็กของเขาเสียน่ารักเลยนะครับ ว่า “วันเด็กน้อยสากล” นอกจากนี้ลาวยังกำหนดให้วันที่ 1 มิถุนายนเป็นวันปลูกต้นไม้แห่งชาติของเขาด้วย ดังนั้นในวันเด็ก นอกจากเด็กๆ จะสนุกสนาน กับกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแสดง การแข่งขันกีฬา มีการแจกของเล่น อุปกรณ์การเรียน รวมไปถึงการได้รับการฉีดวัคซีนและหยอดยาแล้ว เด็กๆ ในลาวยังจะได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ซึ่งก็ถือเป็นกิจกรรมสำคัญด้วยนะครับ
ที่น่าสนใจคือที่เวียดนามครับ นอกจากเขาจะจัดวันเด็กเฉลิมฉลองให้เด็กในวันที่ 1 มิถุนายนของทุกปีแล้ว เขายังมีเทศกาลที่พ่อแม่ต้องให้เวลาให้กับเด็กๆ ชาวเวียดนามเป็นพิเศษอีกด้วย นั่นก็คือ เทศกาลไหว้พระจันทร์ ซึ่งจะมีขึ้นทุกๆ วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ ชาวเวียดนามเขาถือว่าวันไหว้พระจันทร์ หรือ “เต็ด ตรุง ตู” เป็นช่วงเวลาในการให้ความสำคัญกับเด็กๆ โดยมาจากแนวความคิดในสมัยก่อน ว่าในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว พ่อแม่มักจะทอดทิ้งลูกๆ ให้อยู่บ้านตามลำพัง ไม่ค่อยได้เอาใจใส่มากนัก เพราะต้องไปเกี่ยวข้าว ดังนั้นเมื่อหมด ฤดูเก็บเกี่ยว พ่อแม่จึงต้องหาวิธีชดเชยเวลาที่ไม่ได้อยู่กับลูกๆ
กิจกรรมต่างๆ ในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ของชาวเวียดนาม จึงมีเด็กๆ เป็นศูนย์กลาง เช่น มีการเชิดสิงโต การให้เด็กๆ ประดิษฐ์และจุดโคม ซึ่งเชื่อกันว่าโคมเป็นสัญลักษณ์แทนอนาคตของเด็กๆ ยิ่งโคมลอยสูงเท่าไหร่ ก็จะยิ่งได้คะแนนในชั้นเรียนสูงมากเท่านั้น ซึ่งโคมที่ฮิตที่สุดในเทศกาลนี้คือโคมรูปดาว 6 แฉกครับ นอกจากนี้ ทุกโรงเรียนในเวียดนาม ก็จะมีการจัดประกวดเต้นรำพื้นเมือง เพื่อให้เด็กๆ ได้แต่งตัวสวยๆ ได้ทำกิจกรรมสนุกสนาน และมีรางวัลเป็นทุนการศึกษาให้เด็กๆ อีกด้วย
กลับมาที่เมืองไทย มาดูคำขวัญวันเด็กกันบ้างครับ ผมว่าน่าสนใจมากเลยนะครับเพราะมันสะท้อนถึงแนวคิดผู้ใหญ่ในบ้านเมืองในแต่ละยุคแต่ละสมัย
ในปี พ.ศ. 2499 ซึ่งเป็นปีแรกที่ไทยเรามีคำขวัญให้เด็ก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้คำขวัญว่า “จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม” ต่อมาในสมัยจอมพลสฤษดิ์ คำขวัญวันเด็กทั้ง 5 ปี เริ่มต้นด้วยประโยคเดียวกันหมดว่า “ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า ...” แล้วก็ต่อท้ายด้วยคำสั่งแบบทหารหาญเลยทีเดียว เช่นว่า “ ... จงเป็นเด็กที่รักก้าวหน้า ... จงเป็นเด็กที่รักความสะอาด ... จงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย ...”
ส่วนในสมัยจอมพลถนอม ซึ่งมีโอกาสมอบคำขวัญวันเด็กถึง 10 ปี มีคำขวัญในปี 2516 ที่ผมคิดว่า คนจำได้มากที่สุด คือ “เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ” ซึ่งตอนหลัง พลเอกเกรียงศักดิ์ ก็ได้เอาคำขวัญดังกล่าวมาปัดฝุ่น และแก้ไขเล็กน้อย มอบให้เด็กในปี 2521 ว่า “เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติมั่นคง”
นายกฯ ไทย แต่ละสมัยต่างก็พยายามที่จะหาคำที่เหมาะสม คำใหม่ๆ ที่พวกเขาคิดว่าเก๋ไก๋หรือสังคมไทยกำลัง “ขาด” มาใส่ในคำขวัญวันเด็ก เช่น ในสมัยพลเอกเปรม เป็นสมัยแรกที่มีคำประเภท “ซื่อสัตย์ คุณธรรมและนิยมไทย” ในคำขวัญเด็ก ส่วนนายกฯชวน ใช้คำใหม่หมดทั้งสามคำ ในปีแรกที่เป็นนายกฯ ในปี 2536 คือ “ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม”
นายกฯ ทักษิณเป็นคนชอบ “คิดนอกกรอบ” คำขวัญก็เลยเขียน “นอกกรอบ” ไม่เน้นการมีสัมผัสเสียง และจะสะท้อนความเป็นตัวตนของ นายกฯ ทักษิณ มาก คือเน้นเรื่อง “คิด อ่านและกล้า” ที่ไม่เคยมีนายกฯ คนไหนอยากให้เด็กไทยเป็นมาก่อน
นายกฯ อภิสิทธิ์ ใช้คำใหม่ที่ไม่ซ้ำใคร คือคำว่า “จิต” ครับ “... จิตบริสุทธิ์ ... มีจิตสาธารณะ” และเน้นเรื่อง “คิด” เหมือนนายกฯ ทักษิณ สมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็ได้เริ่มใช้คำว่า “ปัญญา” ซึ่งก็ไม่เคยมีใครใช้มาก่อน อาทิ “... มีความรู้ คู่ปัญญา ...” ในปี 2555 ส่วนปี 2556 ที่ผ่านมา เก๋ไก๋สุดครับ เพราะใช้คำว่า “อาเซียน” ในคำขวัญ ที่ว่า “รักษาวินัย ใฝ่ความรู้ เพิ่มพูนปัญญา นำพาไทยสู่อาเซียน” ครับ ถือว่าเป็นปีแรกที่คำขวัญ วันเด็กเริ่มก้าวไกล ไปสู่ภาคต่างประเทศแล้ว