มกร เชาว์วาณิช

มกร เชาว์วาณิช

ระหว่างคำว่า ‘Design’ และ ‘Creative’ แตกต่างกันอย่างไร แล้ว ‘ดีไซน์ ‘และ ธุรกิจสอดคล้องกันเพียงใด มกร เชาว์วาณิช คือผู้ที่จะให้คำตอบเพื่อคลายข้อสงสัยที่ว่า การดีไซน์ มันมีความหมายมากหรือน้อยกว่าที่เคยเข้าใจเพียงใด

ตลอดเส้นทางของการเป็นดีไซเนอร์ของชายผู้นี้ ส่งผลให้มุมมองและวิธีคิดต่างๆ ได้รับการบ่มเพาะ จนกระทั่งสามารถใช้การออกแบบเพื่อแก้ปัญหาในสิ่งรอบตัว
ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของธุรกิจ ด้วยภายใต้บทบาทการเป็นผู้นำในองค์กรอย่าง Cerebrum ที่คอยให้คำปรึกษาเพื่อการพัฒนาธุรกิจ โดยใช้การออกแบบเป็นเครื่องมือ เพื่อต่อยอดให้กับผู้ประกอบในการก้าวเข้าสู่การแข่งขันที่ขับเคี่ยวกับเจ้าตลาดในแต่ละเซ็กเม้นต์ ที่มีความแข็งแกร่งในครบทุกด้าน และการออกแบบก็นับเป็นตัวช่วยที่สำคัญไม่น้อย

เขาบอกว่าการดีไซน์และเรื่องของธุรกิจมันคือ
เรื่องเดียวกัน ทุกวันนี้ธุรกิจที่ไปได้คือต้องตอบโจทย์และแก้ปัญหา คนจะยอมควักเงินจ่ายแปลว่าของสิ่งนั้น
ต้องมีประโยชน์บางอย่าง ถ้าเจ้าของธุรกิจและดีไซเนอร์เข้าใจเหมือนกันว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้คนตัดสินใจเลือกซื้อได้
แล้วล่ะก็ ไม่ว่าจะทำอะไรออกมาขาย ก็ย่อมขายได้ทั้งสิ้น และเขายังย้ำว่า “งานดีไซน์ที่ดี คืองานดีไซน์ที่ขายได้”

“เวลาคนจะควักเงินจ่ายให้กับอะไรบางอย่างมันต้องแก้ปัญหาให้ชีวิตเขา เช่น ของบางอย่างไม่ได้มีประโยชน์อะไรมาก แต่ซื้อมาแล้วอารมณ์ดีขึ้น คนเราจะมีภาพอะไรบางอย่างที่ต้องการสื่อสารให้คนรอบข้างรู้ว่าตัวตนเราเป็นยังไง การจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้กับอะไรก็แล้วแต่ บางครั้งก็ไม่ได้ Make Sense แต่อารมณ์ของเขายอมจ่าย เพื่อจะได้เป็นอย่างนั้น” 

ตัวอย่างล่าสุดที่เห็นชัดเจนก็คือการออกแบบขวดน้ำดื่มสปริงเคิล ที่ต้องการรีแบรนดิ้งให้ดูทันสมัย 
ด้วยการพยายามหาจุดยืนแบบที่เจ้าตลาดยักษ์ใหญ่ไม่สามารถทำได้ ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงแตกต่างด้วยรูปลักษณ์คล้ายผลึกน้ำแข็งสื่อถึงความเย็นและให้ความรู้สึกหรูหรากว่าขวดน้ำดื่มทั่วไป 

เมื่อผลงานการออกแบบของเขาถูกวางตลาดก็ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางไม่เฉพาะในเมืองไทย ยังสามารถออกไปคว้ารางวัลด้านการออกแบบอย่าง G Mark จากประเทศญี่ปุ่นได้อีกด้วย เขาเล่าว่าไอเดียแรกเริ่มเกิดขึ้นจากโจทย์ที่ต้องการจะทำในสิ่งที่คู่แข่งไม่สามารถทำได้ เลยพยายามหาจุดยืนที่ไม่มีใครกล้ามาเล่น ด้วยการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อสื่อสารให้คนเห็นคุณค่าบางอย่างของตัวผลิตภัณฑ์ ด้วยการนำภาพบางอย่างเข้ามาเชื่อมกับภาพที่อยู่ในหัวของทุกคน 

มันจึงเป็นการขายประสบการณ์ที่ถูกเซ็ตเอาไว้แล้วว่าต้องการให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างไร ที่จะทำให้คนมองว่าน้ำขวดนี้มีมูลค่าสูงกว่าราคาจริงที่ตั้งไว้ และกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบของคนเป็นนักออกแบบ ที่ทำตามขั้นตอนเดิมได้ซ้ำแล้วซ้ำอีกนี่เอง จึงสามารถประเมินผลลัพธ์ได้อย่างค่อนข้างแม่นยำ ถึงขนาดที่เขาเปรยขึ้นมาเองว่า 
ใครให้เขาออกแบบ การันตีเลยว่าได้รางวัล 

“เราผ่านกระบวนการซ้ำมาแล้ว ทำซ้ำแล้วซ้ำอีกจนได้รางวัลเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่คิดต่างได้แค่ครั้งเดียว แล้วกว่าจะคิดอะไรแปลกใหม่ได้อีกก็ไม่รู้เมื่อไหร่ เพราะธุรกิจมันต้องดำเนินอย่างต่อเนื่อง จะมารออารมณ์กว่าจะคิดออกคงไม่ได้ การได้รางวัลจึงไม่ได้ทำแบบฟลุคๆ เรารู้ว่าจะต้องทำอย่างไรถึงจะได้รางวัล”

แล้วเขายังบอกอีกว่า เรื่องความคิดสร้างสรรค์นั้น คนในแถบเอเชียเจ๋งกว่าฝรั่งทางยุโรปหรืออเมริกาด้วยซ้ำ ดูจากคนไทยที่ใช้ชีวิตไม่อยู่ในกรอบเลย คนไทยแหกกฎทุกเรื่อง ทำทุกอย่างที่ประเทศอื่นไม่กล้าทำ เราจึงอยู่ในสังคมที่มี Creativity สูงอยู่แล้ว เราหาทางออกได้ทุกเรื่อง แต่ที่ผ่านมาการแก้ปัญหายังไม่เป็นระบบเท่านั้น คนไทยไม่เคยเอาความเก่งของเรามาจัดระบบระเบียบ ฝรั่งเขาเป็นระบบระเบียบมากเรื่องนี้ แต่ไม่เก๋าในการแก้ปัญหาเท่ากับคนไทย เพราะคนไทยนอกกรอบ

ก่อนที่เขาจะทิ้งท้ายบอกข้อสงสัยตั้งแต่แรกว่า ‘Design’ นั้นใช้ได้กับทุกอย่างที่เกิดขึ้นจริงและสามารถจับต้องได้ ส่วน ‘Creative’ นั้นอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่อะไรที่เป็นไปในเชิงบวกล้วนเป็นสิ่งสร้างสรรค์ ถึงตรงนี้จึงทำให้รู้ว่าการจะออกแบบอะไรสักอย่างมันต้องมีความสมดุล ไม่เฉพาะแค่การออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ หากยังต้องรู้จักผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เพื่อเติมเต็มและแก้ปัญหาอย่างตรงจุดได้มากที่สุด   

 

งานดีไซน์ที่ดี คืองานดีไซน์ที่ขายได้