ผศ.ดร.รชพร ชูช่วย

ผศ.ดร.รชพร ชูช่วย

 บทบาทหนึ่งเธอคืออาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอีกบทบาทเธอคือสถาปนิกแห่งค่าย All Zone Design ที่พกดีกรีด้านการออกแบบสถาปัตย์ฯ จากอเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งคุณอรรถ บุนนาค ได้พาให้มารู้จัก เรามีโอกาสพูดคุยกันตลอดช่วงบ่ายวันหนึ่งในออฟฟิศของเธอย่านสุขุมวิท แวดล้อมไปด้วยตึกรูปทรง สูงต่ำ ไร้ซึ่งความลงตัว หากแต่กลับให้ความรู้สึกที่หลากหลายได้อย่างน่าประหลาด ... 

รู้จักกับคุณอรรถ บุนนาคได้อย่างไร

ต้องเรียกว่าโชคชะตาฟ้าลิขิต เพราะตอนที่ย้ายจากอเมริกาไปอยู่ญี่ปุ่นเพื่อเรียนปริญญาเอก ก็ต้องหาบ้านเช่าที่นั่นเขาใช้ระบบนายหน้าจัดหาให้ เขาแนะนำให้ไปบ้านหลังหนึ่งที่เจ้าของแบ่งพื้นที่ชั้นล่างเป็นสองยูนิตให้เช่า ซึ่งที่มีนักศึกษาไทยอาศัยอยู่ในยูนิตหนึ่ง นั่นก็คือคุณอรรถ ก็ทำให้ได้เจอกันและตั้งแต่เจอกันครั้งแรกวันนั้นก็รู้สึกว่าเป็นเพื่อนบ้านกันได้ จึงอยู่ยูนิตติดกัน 2 ปี

ระบบการศึกษาทั้งในอเมริกาและญี่ปุ่น เมื่อเทียบกับบ้านเราต่างกันอย่างไร

มันต่างกันหมดเลย การศึกษาจะมองเป็นแค่การศึกษาไม่ได้ ต้องมองไปถึงโครงสร้างสังคม ระบบอเมริกันและญี่ปุ่นก็ต่างกันในทุกด้าน ระบบอเมริกันมันทำให้คนสามารถก้าวข้ามชนชั้นทางสังคมขึ้นมาได้  เขามองว่าการศึกษาคือการลงทุน ส่วนที่ญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางเป็นหลัก ทุกคนเรียนหนังสือเหมือนเข้าไปผ่านเครื่องคัดกรอง แล้วไปเริ่มต้นชีวิตจริงๆ คือที่ทำงาน คนก็ไม่เปลี่ยนงานบ่อย จะจงรักภักดีอยู่ทำงานกับบริษัทหนึ่งทั้งชีวิต 

ในบทบาทของอาจารย์ สิ่งที่คุณพยายามบอกกับลูกศิษย์คืออะไร   

บอกให้เขาสามารถเรียนรู้ตลอดเวลา มันพ้นยุคท่องจำไปแล้ว อยากให้เข้าใจเหตุผล และตรรกะที่แท้ว่าคืออะไร การมีวิธีตั้งคำถามและหาคำตอบที่ชัดเจนมันจะใช้ไปได้เรื่ิอยๆ ต่อให้ข้อมูลบางอย่างเปลี่ยนไป

ความยากของการสอนในยุคนี้คืออะไร

เด็กอยากจำอะไรที่สรุปประเด็นมาเป็นข้อๆ ให้สรุปความเองจะทำไม่ได้ มันเป็นวิธีคิดที่ได้รับมาตั้งแต่มัธยม ที่เป็นการทำข้อสอบล้วนๆ มีถูกผิดชัดเจน แต่กับวิชาสถาปัตย์ฯ ซับซ้อนกว่ามาก ไม่มีผิดถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องอาศัยการวิเคราะห์ ตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบ โลกนี้ไม่ได้มีแค่สี่ช้อยส์ แล้วสถาปัตยกรรมมันเกี่ยวข้องกับคน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีคำตอบตายตัว 

ได้ยินมาว่าคุณสอนหนังสือสนุก เพราะเด็กแทบไม่ต้องจด

เวลาบรรยายก็จะไม่ให้เด็กก้มหน้าจด แต่จะให้ตั้งใจฟังแล้วจะเข้าใจ แล้วไม่ใช่เอาเล็กเชอร์โน้ตของคนอื่นไปก๊อปปี้ต่อๆ กัน ครั้งนึงเลยแก้เผ็ดเอาเล็กเชอร์ปลอมไปวางไว้ เด็กก็เอาไปก๊อปปี้อ่านสอบเหมือนเดิม แต่ดิฉันออกข้อสอบไม่เหมือนในนั้นเลย ตอบมาก็ผิดหมด ถึงมาเฉลยว่าพวกคุณไปเชื่อได้ยังไง โน้ตของใครก็ไม่รู้ หรืออย่างคลาสสัมมนาก็จะบังคับให้ทุกคนพูด จะตั้งคำถามอย่างเดียว แต่เด็กเดี๋ยวนี้ก็ยังกลัวผิดอยู่มาก ถึงต้องบอกว่ามันต้องผิดก่อน ไม่อย่างนั้นจะไม่มีวันถูก

การวัดระดับผลการศึกษาของไทยอยู่อันดับ 8 ของอาเซียน คุณกังวลกับเรื่องนี้แค่ไหน

โคตรกังวล (หัวเราะ) แต่ไม่แปลกใจ เพราะถ้าถามว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น มันวนกลับไปที่การศึกษาทั้งหมด ดิฉันก็ยอมรับว่าการศึกษามันห่วยจริงๆ เวลาพูดถึงการปฏิรูปการศึกษา ประเด็นที่คนแตะน้อยมากคือนักเรียนได้อะไร ไม่ใช่ว่าจะขึ้นเงินเดือนครู หรือเลื่อนขั้นยังไง เราลืมไปหรือเปล่าว่าจะทำยังไงให้เด็กพวกนี้เก่ง 

ทำไมนักสถาปัตย์ฯ ถึงถูกมองว่าอยู่กึ่งกลางระหว่างนักออกแบบและนักวิทยาศาสตร์

บางคนที่ทำงานด้วยก็บอกว่า สถาปนิกนี่ติสท์มาก จะเอาแต่สวย พอไปคุยกับคนที่เป็นอาร์ตติสเขาก็บอกเราวิทยาศาสตร์ มองเป็นเทคนิเชียน คนที่มาหาสถาปนิกเขามีฝันอยากเห็นบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นกับการอยู่อาศัยของตัวเอง หน้าที่เราจึงอยู่ตรงกลางที่จะทำให้โลกความฝันเป็นจริงให้ได้

ในมุมของสถาปนิกเมื่อมองตึกในกรุงเทพฯ แล้วมันสะท้อนอะไร 

สถาปัตยกรรมมันสะท้อนถึงคน เพราะคนเป็นคนใช้มัน ซึ่งเราไม่ค่อยแคร์เรื่องสถาปัตยกรรม ตึกส่วนใหญ่มันไม่สวย เมืองเลยดูไม่สวย จะมีสวยก็เป็นบางจุด คนไทยจะมองรวมๆ มีน้อยคนมากที่มององค์ประกอบบางอย่างของตึกแล้วดูสวย ก็คุยกับคนที่เป็นสถาปนิกว่าเป็นความผิดเราเหมือนกันนะ (หัวเราะ) 

สถาปัตยกรรมมันสะท้อนถึงคน เพราะคนเป็นคนใช้มัน