นักเรียนนอกของจีน

นักเรียนนอกของจีน

การเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นสมัยใหม่ของจีนนั้นน่าสนใจ ... จีนในช่วงเวลาก่อน ดร.ซุนยัตเซน จะปฏิวัติเคลื่อนสังคมจีนจากระบอบกษัตริย์สู่ระบอบประชาธิปไตยโดยยึดโยงความคิดในการพัฒนาสังคมจากพื้นฐานความคิดของลัทธิไตรราษฎร์ (ซามิ่นจูงี๋ - ซานหมินจู่อี้ - 三民主義) โดยถือลัทธิประชาธิปไตย - 民主 / ประชาราษฎร์ - 民生 /ประชาสิทธิ์ - 民權 เป็นหลักการของประเทศ ประชาชนเปลี่ยนสถานะจาก “ฝุ่นเมือง” หรือ “ไพร่พล” หรือ “ไพร่ทาส” ในระบอบเก่า กลายมาเป็น “พลเมือง” หรือ “ประชาชน” หรือ “มนุษย์” และ “เสรีชน”

ในช่วงเตรียมตัวเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ชีวิตในโลกยุคใหม่ จีนในช่วงปลายสมัยราชวงศ์ชิง (清) โดยขุนนางและปัญญาชนหัวก้าวหน้าอย่าง เจิงกว๋อฝาน (曾国藩) และ หลี่หงจาง (李鸿章) ได้ผลักดันให้ราชสำนักศักดินาชิง (清廷) อนุมัติให้ส่งนักเรียนทุนหลวงรุ่นแรกจำนวน 120 คนที่มีอายุระหว่าง 12-15 ปีไปเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาหลายแห่งในอเมริกา ความคิดเรื่องส่งนักเรียนทุนหลวงไปเรียนยังอเมริกานี้ หรงหง 容闳 นักศึกษาจีนที่ไปสำเร็จการศึกษาสาขาวิศวกรรมเครื่องกลจากมหาวิทยาลัยเยลล์ใน
ปี คศ.1847 เป็นผู้เสนอและผลักดันต่อ เจิงกว๋อฝาน (曾国藩) และ หลี่หงจาง (李鸿章) กระทั่งทั้ง 2 ซึ่งเป็นขุนนางระดับใหญ่นำไปผลักดันต่อทางราชสำนักจนได้รับอนุมัติในเวลาต่อมา นักเรียนทุนรุ่นแรกจำนวน 120 คนนี้ศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาหลายแห่งในอเมริกา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1872 และกลับสู่ประเทศจีนในปี ค.ศ.1881 

พวกเขาได้นำเอาวิชาความรู้ต่างๆ ที่ศึกษาจาก “ประเทศตะวันตก” มาปรับปรุงพัฒนาประเทศ หลายคนเป็นบุคคลสำคัญที่มีบทบาทในการวางรากฐานสังคมสมัยใหม่ของจีนในช่วงปลายสมัยราชวงศ์ชิง ถางจาวอี้ 唐绍仪 นายกรัฐมนตรีคนแรกในช่วงต้นยุคประชาธิปไตย, ถางกว๋ออาน 唐国安 อธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยชิงฮว๋า 清华学校, จานเทียนโย่ว 詹天佑 วิศวกรใหญ่ผู้รับผิดชอบการวางโครงสร้างการคมนาคมรถไฟของจีน ล้วนแต่เป็นนักเรียนทุนหลวงรุ่นแรกนี้ทุกคน 1894 - 1895 นักศึกษาเป็นจำนวนมาก “ไปเรียนเมืองนอก” ที่ประเทศญี่ปุ่น นักเรียนนอกรุ่นนี้ถือเป็นนักเรียนนอกรุ่นที่ 2 ในระยะ 10 ปีแรกของศตวรรษที่ 20 มีนักเรียนจีนไปศึกษาต่อที่ญี่ปุ่นมากกว่า 5 หมื่นคน ปี ค.ศ.1905 หมอซุนยัตเซน ก่อตั้ง “สมาคมร่วมใจ” (ถงเหมิงฮุ่ย - 同盟会) ขึ้นที่โตเกียว ภายในระยะเวลา 2 ปี มีนักเรียนจีนในญี่ปุ่นลงชื่อเข้าร่วม 960 คน พวกเขาเหล่านี้คือขุมกำลังที่แข็งแกร่งในการปฏิวัติซิงไฮ่ 辛亥革命

นักเรียนนอกรุ่นที่ 3 ของจีนไปเรียนที่อเมริกาจากส่วนหนึ่งของงบปฏิกรสงครามที่จีนต้องจ่ายให้กับอเมริกาด้วยวงเงินก้อนใหญ่มาก ปัญญาชนจากอเมริกากลุ่มนี้มีส่วนสำคัญในการก่อร่างสร้างตัวในแขนงวิทยาการสมัยใหม่ของจีน เช่น หูเส้อ 胡适 กับวิชาปรัชญาสมัยใหม่และวรรณกรรมที่เขียนด้วยภาษาจีนแบบแผนใหม่ (ไป๋ฮว่าเหวิน 白話文), จ้าวหยวนเริ่น 赵元任 กับการวางรากฐานวิชาภาษาศาสตร์, จู๋เข่อเจิน 竺可桢 กับการวางรากฐานด้านอุตุวิทยา ฯลฯ

นักเรียนนอกรุ่นที่ 4 เป็นกลุ่มที่ไปฝรั่งเศสเพื่อทำงานด้วยเรียนหนังสือด้วยในช่วงปี 1915 แนวความคิดนี้ก่อตัวมาจากกลุ่มปัญญาชนมีความรู้โดยรวมตัวกันเหมือนการตั้งชมรมหรือสมาคมแล้วเผยแพร่ความคิดออกไป จากปี 1915 จนถึงปี 1920 มีนักเรียนจีนเข้าร่วมในโครงการนี้ถึง 1,600 คน ในจำนวนนี้หลายคนกลายเป็นนักปฏิวัติชาวพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเวลาต่อมา เช่น เติ้งเสี่ยวผิง 邓小平, โจวเอินไหล 周恩来, เฉินอี้ 陈毅 ศิลปินใหญ่ที่มีส่วนดูแลสถาบันการศึกษาศิลปะสมัยใหม่ของจีน สวีเปยหง 徐悲鸿 , และ เสี่ยนซิงไห่ 冼星海 ผู้แต่งเพลงคอนแชร์โต้ “แม่น้ำเหลือง” ก็เป็นนักเรียนในรุ่นนี้ 

นักเรียนนอกรุ่นที่ 5 ไปเรียนที่โซเวียตรัสเซียในช่วงปี 1920 เมื่อกลับมาแล้วนักเรียนนอกรุ่นนี้มีบทบาทอย่างสูงในการวางพื้นฐานระบบสังคมใหม่ภายหลังเหมาเจ๋อตงปฏิวัติเมืองจีนได้สำเร็จ นักเรียนนอกรุ่นที่ 6 เป็นนักเรียนทุนหลวงเป็นส่วนใหญ่ นักเรียนกลุ่มนี้ถูกส่งไปศึกษาวิชาความรู้ยังอเมริกา, อังกฤษ, ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ระหว่างปี 1927 - 1937

นักเรียนนอกรุ่นที่ 7 คือนักเรียนนอกหลังการสถาปนาประเทศจีนใหม่ ในช่วงเริ่มแรกเมื่อจีนเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ การไปศึกษาต่างประเทศอยู่ในความควบคุมดูแลของรัฐอย่างเข้มงวดจริงจัง นักเรียนนอกแต่ละกลุ่มที่ส่งออกไปจึงเป็นบุคคลากรที่ทางการคาดหวังให้นำวิชาความรู้กลับมาทำประโยชน์ให้กับสังคม จนราวๆ หลังทศวรรษที่ 1980 การไปศึกษาต่อยังต่างประเทศของนักเรียนจีนเป็นไปอย่างผ่อนคลาย หลังจากนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของเติ้งเสี่ยวผิงทำให้ชาวจีนจำนวนหนึ่งร่ำรวยขึ้น ลูกหลานของคนกลุ่มนี้ และลูกหลังผู้ปฏิบัติงาน ลูกหลานข้ารัฐการระดับสูงที่มีรายได้มากจึงได้ออกไป “เรียนเมืองนอก” อย่างกว้างขวาง และกระแสคลื่นไปเรียนเมืองนอกของจีนก็คลี่คลายตัวจนแพร่หลายกลายเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็หาโอกาสไปชุบตัวเหมือนสังคมประเทศอื่นแล้วในบัดนี้ 

 

การเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นสมัยใหม่ของจีนนั้นน่าสนใจ