
Equal Rights For All สมดุลแห่งความเท่าเทียม : Scoop
ย้อนกลับไปในอดีตจะเห็นว่าความหลากหลายทางเพศนั้นมีมาอย่างช้านานแล้ว อีกทั้งชาว LGBTQIAN+ เองต่างก็มีตัวตนมาตั้งแต่โบราณกาลและกระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลกดั่งมนุษย์ธรรมดาสามัญ สิ่งนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเลยว่าพวกเขาควรมีความสำคัญไม่แพ้ใคร ๆ บนหน้าประวัติศาสตร์
ดังนั้น MiX MAGAZINE ฉบับที่ 203 จึงอยากขอพาท่านไปพบกับแง่มุมต่าง ๆ ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQIAN+ นับตั้งแต่ยุคแรกที่เริ่มเปิดเผยตัวตนเพื่อต่อสู้ด้านสิทธิและเสรีภาพ สู่ความก้าวหน้าทางกฎหมายอย่างสมรสเท่าเทียม (Marriage Equality) ที่ประเทศไทยเพิ่งประกาศใช้สำเร็จในปี 2025 นี้ รวมถึงเรื่องราวการเปิดรับของสังคมกับมุมมองอันหลากมิติของชาวสีรุ้งที่ใครหลาย ๆ คนอาจไม่เคยรู้มาก่อนด้วย
ทำความเข้าใจมิติทางเพศด้วย The Gender Unicorn
เพศแรกเกิด (Sex Assigned at Birth)
เพศที่ทางการแพทย์กำหนดให้เมื่อแรกเกิด พิจารณาจากอวัยวะสืบพันธุ์ โครโมโซม หรือฮอร์โมน แบ่งออกเป็นหญิง (Female) ชาย (Male) และอินเตอร์เซ็กส์ (Intersex) อันหมายถึงผู้มีลักษณะทางเพศซึ่งไม่สามารถจำแนกเป็นหญิงหรือชายอย่างเดียวได้
อัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity)
ความรู้สึกและสำนึกทางเพศซึ่งไม่จำเป็นต้องยึดโยงผูกติดเฉพาะแค่กับเพศแรกเกิดทางกาย แต่อยู่ที่ใจเราจะนิยามตนเองว่าเป็นเพศใดหรือไม่เป็นเพศใด อาทิ เพศหญิง เพศชาย นอนไบนารี (Non – Binary) หรืออัตลักษณ์อื่น ๆ ในกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+)
การแสดงออกทางเพศ (Gender Expression)
การแสดงออกผ่านพฤติกรรมหรือลักษณะท่าทางซึ่งไม่ยึดโยงผูกติดกับเพศกำเนิดหรืออัตลักษณ์ทางเพศ สามารถรับรู้และสังเกตได้ อาทิ เพศหญิงที่มีความเป็นชาย (Masculine) เพศชายที่มีความเป็นหญิง (Feminine) เป็นต้น
แรงดึงดูดทางอารมณ์ (Emotionally Attracted to)
อารมณ์รักหรือแรงดึงดูดทางใจในแง่ความรู้สึก สามารถเกิดกับเพศเดียวกัน ต่างเพศ ทุกเพศ หรือไม่เกิดกับเพศใดเลยก็ได้ โดยแยกออกจากแรงดึงดูดทางกาย (Physically Attracted to) อาทิ มีความรักได้กับทุกเพศ แต่มีอารมณ์ทางเพศแค่กับคนที่มีเพศแรกเกิดเป็นหญิงเท่านั้น เป็นต้น
แรงดึงดูดทางกาย (Physically Attracted to)
รสนิยมทางเพศที่ถูกดึงดูดจากลักษณะทางกาย สามารถเกิดกับเพศเดียวกัน ต่างเพศ ทุกเพศ หรือไม่เกิดกับเพศใดเลยก็ได้ โดยแยกออกจากแรงดึงดูดทางอารมณ์ (Emotionally Attracted to) อาทิ มีอารมณ์ทางเพศกับคนที่มีเพศแรกเกิดเป็นชายเท่านั้น แต่มีความรักได้กับทุกเพศ เป็นต้น
Beyond The Pride ไขความหมายทุกตัวอักษร
ในวิวัฒนาการกำเนิดมนุษย์ เรื่องของทางกายภาพเราจะถูกกำหนดด้วยรหัสพันธุกรรมที่มีความซับซ้อนสูง แต่ว่าเรื่องของจิตใจนั้นก็มีความซับซ้อนไม่แพ้กันเลย โดย Brendan P. Zietsch นักวิจัยปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ (The University Of Queensland) ได้ทำการศึกษาเรื่องของจิตวิทยาและพฤติกรรมวิวัฒนาการ ทำให้ค้นพบว่าความหลากหลายทางเพศอาจเกี่ยวข้องกับยีนบางกลุ่มที่แสดงออกมาแตกต่างกันในแต่ละบุคคลซึ่งไม่ใช่ความ “ผิดปกติ” แต่มันคือธรรมชาติอีกแบบหนึ่งที่ถูกซ่อนอยู่ภายใต้กรอบของคำว่า “ปกติ”
จากเดิมคนในกลุ่มหลากหลายทางเพศมักจะถูกมองว่ามีความผิดปกติทางจิต กระทั่งปี 1990 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ถอด “รักร่วมเพศ” ออกจากบัญชีจำแนกโรคทางจิตเวช (ICD) นั่นจึงนับเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้คนกลุ่มนี้เป็นที่ยอมรับในสังคมของแต่ละประเทศมากขึ้น
อย่างที่เราทราบกันดีว่าถ้าแยกสถานะตามเพศสภาพโดยกำเนิดและกฎหมาย มันจะเหลือเพียงแค่ชายกับหญิง ทว่าความหลากหลายทางเพศมีมากกว่านั้น โดยเฉพาะชื่อเรียกที่เราคุ้นเคยอย่าง LGBT ที่ปัจจุบันมีการเพิ่มเติมเป็น LGBTQIAN+ แล้ว ดังนั้นเราจึงอยากจะพาทุกคนมาถอดความหมายของแต่ละตัวอักษรกันว่ามันคืออะไรกันแน่
L = Lesbian คือบุคคลที่เป็นหญิงและมีใจรักหญิง
G = Gay คือบุคคลที่มีความรักต่อเพศเดียวกัน ส่วนมากมักใช้กับชายรักชาย
B = Bisexual คือบุคคลที่รักได้ทั้งเพศเดียวกันและเพศอื่น โดย Bi (ไบ) แปลว่าสอง
T = Transgender คือบุคคลข้ามเพศ แบ่งออกเป็นหญิงข้ามเพศ (Transwoman) และชายข้ามเพศ (Transmen)
Q = Queer คือบุคคลที่ไม่จำกัดตัวเองไว้กับเพศใดเพศหนึ่ง ซึ่งในอีกทางยังย่อมาจาก Question ที่สื่อถึงการค้นหาตัวตนด้วย
I = Intersex คือบุคคลที่มีลักษณะทางกายภาพหรือพันธุกรรมที่ไม่อาจระบุได้ว่าเพศอะไร
A = Asexual คือบุคคลที่ไม่ฝักใฝ่ทางเพศกับใคร อาจมีความรักได้แต่ไม่มีความรู้สึกดึงดูดทางกาย
N = Non-Binary คือบุคคลที่ไม่จำแนกตัวเองว่าเป็นเพศใด
ในเรื่องของการบัญญัติอัตลักษณ์ทางเพศ ยังมีศัพท์ใหม่เพิ่มเติมออกมาด้วย ได้แก่
P = Pansexual คือบุคคลที่ไม่ปิดกั้นว่าคนรักจะเป็นเพศอะไร
2S = Two-Spirit คือบุคคลผู้มีจิตวิญญาณทั้งชายและหญิงอยู่ในตัว
A = Allies คือบุคคลที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศแม้ไม่ได้มีอัตลักษณ์อยู่ในกลุ่ม LGBTQIANP2S+
สัญลักษณ์สำคัญของ LGBTQIAN+ ที่ยังใช้มาถึงทุกวันนี้คือธงสีรุ้ง (Rainbow Flag) ที่ถูกคิดค้นในปี 1978 โดย Gilbert Baker ศิลปินชาวอเมริกัน เขาได้รับคำแนะนำจาก Harvey Milk นักการเมืองคนแรกของแคลิฟอร์เนียผู้เปิดเผยว่าเป็นเกย์ให้สร้างสัญลักษณ์เพื่อสื่อถึงความหลากหลายและความภาคภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นชาวเกย์ ณ ช่วงเวลานั้น ซึ่งเขามองว่าธงสามารถสื่อสารออกมาได้ในระดับสากล ส่วนสีรุ้งนอกจากจะเป็นธรรมชาติที่สวยงามแล้ว มันยังคือการรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวของความหลากหลายได้ด้วย และปัจจุบันธงสีรุ้ง (Rainbow Flag) มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 6 สี แต่ละสีมีความหมาย ดังนี้
สีแดง หมายถึง ชีวิต
สีส้ม หมายถึง เยียวยา
สีเหลือง หมายถึง แสงอาทิตย์และความหวัง
สีเขียว หมายถึง ธรรมชาติ
สีฟ้า หมายถึง ศิลปะและความสงบ
สีม่วง หมายถึง จิตวิญญาณ
นอกจากนี้ยังมีธง Progress Pride Flag ที่นับรวมกลุ่มคนซึ่งไม่ถูกยอมรับในสังคมอีกมากมายด้วย ไม่ว่าจะคนผิวดำ คนผิวคล้ำ คนชายขอบ ฯลฯ โดยถือเป็นสัญลักษณ์ที่ครอบคลุมทุกตัวตนและยังเป็นธงที่ Bangkok Pride นำมาใช้ตลอด 3 ที่มีการเดินขบวน
LGBTQIAN+ ICONS FROM HISTORY
แซฟโฟ (Sappho): บทกวีรักระหว่างหญิงงาม ณ เลสบอส (Lesbos)
ย้อนกลับไปยุคกรีกโบราณ ความสัมพันธ์ของชายรักชาย (Pederasty) เป็นที่ยอมรับในสังคม ทว่าความสัมพันธ์ของหญิงรักหญิงถือเป็นสิ่งต้องห้ามเพราะพวกเธอมีหน้าที่ผลิตทายาทเท่านั้น แต่แล้วก็มีกวีหญิงแห่งเมืองเลสบอส (Lesbos) ผู้หนึ่งนามว่า ‘แซฟโฟ (Sappho)’ ได้เขียนกลอนสื่อถึงรักที่มีต่อสาวงามขึ้น ทั้งชื่อของเธอและชื่อของเมืองจึงกลายมาเป็นนิยามหญิงรักหญิงในปัจจุบันอย่าง ‘แซฟฟิก (Sapphic)’ และ ‘เลสเบี้ยน (Lesbian)’ นั่นเอง
ลิลี่ เอลบี (Lili Elbe): หญิงข้ามเพศคนแรกของโลก แรงบันดาลใจสู่หนังออสการ์
ชื่อเดิมของเธอคือ ‘ไอนาร์ เวเกเนอร์ (Einar Wegener)’ ศิลปินชายชาวเดนมาร์กผู้ยินยอมรับการผ่าตัดแปลงเพศซึ่งนับว่าเป็นเคสแรกของโลกในปี 1930 แต่น่าเศร้าที่ยุคนั้นการแพทย์ยังไม่พัฒนามากพอจะสานฝันให้เป็นจริง เธอจึงเสียชีวิตหลังจากผ่าตัดได้เพียง 3 เดือนภายใต้ตัวตนที่ชื่อว่า‘ลิลี่ เอลบี (Lili Elbe)’ และเมื่อปี 2015 เรื่องราวเหล่านี้ก็ถูกเล่าผ่านภาพยนตร์ระดับออสการ์อย่าง The Danish Girl
อลัน ทัวริง (Alan Turing): ฮีโร่ไขรหัสนาซี บิดาคอมพิวเตอร์ เกย์ผู้ถูกตราหน้า
สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นาซีเยอรมันคิดค้นรหัส ‘Enigma’ ขึ้นเพื่อสื่อสารภายในและกันการถูกถอดข้อความจากสัมพันธมิตร กระทั่ง ‘อลัน ทัวริง (Alan Turing)’ นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษพิชิตมันได้ด้วยทฤษฎีเครื่องจักรกล Bombe อันกลายเป็นจุดกำเนิดวิทยาการสร้างคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน แต่น่าเศร้าที่อัจฉริยะพลิกโลกคนนี้กลับถูกจับกุมด้วยข้อหารักร่วมเพศ (Homosexual) ก่อนจะกัดแอปเปิลที่ใส่สารไซยาไนด์เพื่อปลิดชีพตัวเอง ซึ่งต่อมาอลันได้รับการอภัยโทษจากควีนอลิซาเบธที่ 2 เมื่อปี 2013 และเมื่อปี 2021 เขายังได้อยู่บนหน้าพันธบัตร 50 ปอนด์ของอังกฤษด้วย
เอลตัน จอห์น (Elton John): ตำนานโลกดนตรีผู้เป็นที่รักของชาวสีรุ้ง
นักเปียโนและศิลปินอัจฉริยะชื่อเสียงระดับโลกผู้เปิดเผยว่าตนคือเกย์ทั้งยังสนับสนุนกลุ่ม LGBTQIAN+ เขาคือเจ้าของบทเพลงมากมายที่ฮิตติดชาร์ตตลอด 4 ทศวรรษ เขาคือผู้สร้างสรรค์ดนตรีประกอบภาพยนตร์ชื่อดังของดิสนีย์อย่าง The Lion King (1994) เขาคือผู้ขับร้อง Candle In The Wind เพื่อไว้อาลัยแก่การจากไปของเจ้าหญิงไดอาน่า และในปี 1998 เขายังคือผู้ที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งสหราชอาณาจักร พร้อมถูกประทานยศให้เป็น ‘เซอร์เอลตัน จอห์น (Sir Elton John)’ อีกด้วย
ฉีเจียเวย (Chi Chia-Wei): คลื่นแรกแห่งความกล้า สู่สมรสเท่าเทียมแรกในเอเชีย
ย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน สภาพสังคมของไต้หวันขณะนั้นต่อต้านรักร่วมเพศอย่างรุนแรง กระทั่งปี 1986 ได้มีชายคนแรกที่กล้าประกาศออกทางโทรทัศน์ว่าตนเป็นเกย์นั่นคือ ‘ฉีเจียเวย (Chi Chia - Wei)’ อีกทั้งยังพยายามยื่นคำร้องขออนุญาตให้มีการสมรสระหว่างเพศเดียวกันด้วยซึ่งแน่นอนว่าถูกปฏิเสธ แต่เวลาผ่านไปไต้หวันก็กลายเป็นประเทศแรกในเอเชียที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมสำเร็จเมื่อปี 2019 จึงอาจเรียกได้ว่าความกล้าหาญของฉีเจียเวยครั้งนั้นถือเป็นแรงกระเพื่อมแรกของการตื่นรู้ในไต้หวัน
Pink Economy เศรษฐกิจสีชมพูกับพลังแห่งการขับเคลื่อน
Pink Economy (เศรษฐกิจสีชมพู) คือเศรษฐกิจอันเกี่ยวข้องกับคอมมูนิตี้ LGBTQIAN+ ซึ่งเติบโตขึ้นอย่างมากในยุคที่มีการสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ ทั้งยังขยายตัวได้รวดเร็วที่สุดในโลกด้วยเวลาเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น จากกำลังซื้ออันแข็งแกร่งของกลุ่มผู้บริโภคชาวสีรุ้ง โดยปัจจุบันประเทศไทยเองถือเป็นศูนย์กลางของ Pink Economy ในภูมิภาคเลยก็ว่าได้เพราะสามารถสร้างมูลค่าจากนักท่องเที่ยว LGBTQIAN+ สูงเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย และภายหลังจากการที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมสำเร็จก็ยิ่งทำให้มีแนวโน้มว่ากลุ่มธุรกิจหลาย ๆ ด้านในไทยจะขยายตัวขึ้นไปมากกว่าเดิมอีก
สื่อบันเทิง
ประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ของเอเชียในการผลิตสื่อบันเทิงเกี่ยวกับ BL และ GL ออกมามากที่สุด โดยครองส่วนแบ่งในตลาดเกินกว่า 50% สร้างเม็ดเงินได้สูงเฉลี่ย 4 พันล้านบาทและเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปีนับตั้งแต่ยุคโควิด-19 ขณะเดียวกันนักแสดงของไทยก็โด่งดังเป็นพลุแตกและมีพื้นที่บนสื่อระดับโลกมากมาย ไม่นับรวมว่ายังมีธุรกิจต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จตามมาด้วยทั้งเพลง โฆษณา อีเวนต์ คอนเสิร์ต รวมถึงการท่องเที่ยว
การท่องเที่ยว
การท่องเที่ยวไทยนั้นติดอันดับโลกในทุก ๆ ปีอยู่แล้ว อีกทั้งการเปิดกว้างเรื่องของความหลากหลายทางเพศยังส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาว LGBTQIAN+ ต่างก็อยากมาเยือนไทยด้วย โดยเฉพาะเทศกาล Pride Month ในเดือนมิถุนายนที่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเม็ดเงินจะสะพัดกว่า 4 พันล้านบาทเลยทีเดียวภายหลังจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านเมื่อต้นปี 2025 ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนพร้อมวางเป้าหมายให้ไทยเป็น Pride Friendly Destination ของชาวสีรุ้งจากทั่วทุกมุมโลกด้วย
สุขภาพและสุขภาวะ
รู้หรือไม่ว่าการผ่าตัดแปลงเพศในไทยสร้างรายได้กว่าหมื่นล้านบาทต่อปี และมีชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการมากถึง 70% เนื่องจากประเทศไทยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล สามารถให้คำปรึกษาแนะนำดูแลหลังผ่าตัดทั้งทางกายและทางใจรวมถึงช่วยติดตามผลระยะยาวด้วย แถมยังมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการผ่าตัดแปลงเพศในประเทศอื่น ๆ
แฟชั่นและความงาม
ในปัจจุบันจะเห็นได้เลยว่าแทบทุกแบรนด์แฟชันและความงามมักมีการทำแคมเปญเกี่ยวกับชาวสีรุ้งในเดือน Pride Month แถมยังออกคอลเลกชันสินค้าที่มีความ Unisex มากขึ้นด้วยเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้ทุกเพศ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งภาคธุรกิจที่เติบโตอย่างมากและขยายตัวกันอย่างคึกคักในกลุ่ม LGBTQIAN+
องค์กรสำคัญที่ผลักดันสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ
การเกิดมาเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศที่ไม่ยอมรับตัวตนและความสามารถนับได้ว่าเป็นเรื่องที่โชคร้ายมาก เนื่องจากโอกาสในสังคมแบบนั้นจะถูกปิดกั้นการใช้ชีวิตจนย่อมเกิดความยากลำบากตามมา หรือแม้แต่ประเทศที่ให้สิทธิและเสรีภาพแล้วก็ยังคงมีปัญหาที่แก้ไม่ตกอยู่เช่นกัน ดังนั้นการรวมกลุ่มก่อตั้งองค์กรเพื่อช่วยเหลือคนเหล่านี้จึงเกิดขึ้นมากมาย เรามาดูกันดีกว่าว่าองค์กรใดบ้างที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือกลุ่ม LGBTQIAN+
Human Rights Campaign (HRC)
กลุ่มสนับสนุนสิทธิ LGBTQIAN+ ในสหรัฐอเมริกาและเป็นองค์กรล็อบบี้ทางการเมือง LGBTQIAN+ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีสำนักงานใหญ่อยู่ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. งานหลักขององค์กรนี้คือสนับสนุนการแต่งงานของเพศเดียวกัน สนับสนุนกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติ ต่อต้านอาชญากรรมจากความเกลียดชัง ฯลฯ แถมพวกเขายังไม่กลัวแม้แต่ประธานาธิบดี เพราะล่าสุดเพิ่งยื่นฟ้องศาลจากคำสั่งพิเศษของ Donald Trump ที่ห้ามไม่ให้คนข้ามเพศทำงานในกองทัพด้วย
ILGA World
ILGA (The International Lesbian, Gay, Bisexual, Trans and Intersex Association) องค์กรที่ทำงานด้านสิทธิให้กับกลุ่ม LGBTQIAN+ โดยบนเวทีสหประชาชาติ ILGA มีบทบาทสำคัญในหลายวาระ ตั้งแต่การรณรงค์และเผยแพร่ข้อมูลต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนเพื่อให้ประเด็นของกลุ่ม LGBTQIAN+ ได้รับความสนใจ รวมถึงทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกเพื่อช่วยให้รัฐบาลปรับปรุงกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล คนข้ามเพศ และอินเตอร์เซ็กส์ด้วย
OutRight Action International
องค์กรที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1990 โดย Julie Dorf จุดประสงค์ช่วงแรกคือต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกลุ่ม LGBTQIAN+ ในรัสเซีย แต่ปัจจุบันองค์กรได้ขยายไปสู่ระดับสากลแล้ว มีสาขาดำเนินการในหลายส่วนของโลกและสำนักงานใหญ่จะอยู่ที่เมืองนิวยอร์ก ซิตี้ สหรัฐอเมริกา ด้วยการขับเคลื่อนช่วยเหลือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไม่แบ่งแยกนี้เอง ทำให้องค์กรมีบทบาทสำคัญกับสหประชาชาติเป็นอย่างมากเลยทีเดียว
มนธ.เพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (for-sogi)
องค์กรที่ทำงานด้านสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศของไทย มีมิติการทำงานที่หลากหลายตั้งแต่ส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ แก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ เปิดช่องทางร้องทุกข์เกี่ยวกับการถูกคุกคามทางเพศ รวมทั้งยังส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในองค์กรอีกด้วย
สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย
องค์กรที่ทำงานช่วยเหลือสังคมในประเทศไทยมาอย่างยาวนานโดยเฉพาะกลุ่ม LGBTQIAN+ ซึ่งเรื่องที่สมาคมฟ้าสีรุ้งเน้นเป็นพิเศษจะเกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS พวกเขาทำงานร่วมกับศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย และศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ด้านสาธารณสุขในการสำรวจผู้ติดเชื้อ HIV นอกจากนี้ยังสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่ม LGBTQIAN+ อย่างมากผ่านแคมเปญอื่น ๆ ด้วย
องค์กรต่าง ๆ ที่ก่อตั้งขึ้นล้วนแล้วแต่มาจากปัญหาจริงที่ชาว LGBTQIAN+ ต้องเผชิญ ดังนั้นการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมและสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่พวกเขาควรจะได้รับอย่างไม่แบ่งแยกในฐานะมนุษย์คนหนึ่งบนโลกใบนี้
Gender Equality: ยุคแห่งความหวังที่ยังมาไม่ถึง
ปัจจุบันการตื่นรู้เรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศนับว่าดีขึ้นกว่าในอดีต แต่หากจะถามว่ายุคแห่งความเสมอภาคทางเพศ (Gender Equality) นั้นเกิดขึ้นจริงได้หรือยังในศตวรรษนี้… แน่นอนว่าคำตอบคือไม่
หลายประเทศมีกฎหมายลงโทษบุคคลรักร่วมเพศอย่างรุนแรงจนถึงขั้นประหารชีวิต อาทิ ซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน บรูไน ฯลฯ บางประเทศมีการแบนสื่อที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQIAN+ อาทิ จีน รัสเซีย เกาหลีเหนือ ฯลฯ และที่สำคัญประเทศที่มีกฎหมายสมรสรองรับคู่รักระหว่างเพศเดียวกัน ยังมีเพียงแค่ประมาณ 38 ประเทศจาก 195 ประเทศทั่วโลก (อัปเดตล่าสุดถึงปี 2025) เท่านั้นทั้งที่มันคือสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองเสียด้วยซ้ำ นี่ยังไม่นับรวมว่ามีการเหยียดเพศ การเลือกปฏิบัติ และปัญหายิบย่อยอีกมากมายซึ่งกลุ่ม LGBTQIAN+ ต้องเผชิญอยู่ตลอดจนสร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิต
ความไม่เสมอภาคกับรากที่หยั่งลึก
สังคมมนุษย์เราถูกปลูกฝังด้วยคำสอน ความเชื่อ และค่านิยมจนหล่อหลอมกลายเป็นความคิดที่ฝังรากลึก ทำให้แม้ว่าในปัจจุบันจะมีความพยายามมากมายเพื่อส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาคระหว่างเพศชายหญิงกับกลุ่ม LGBTQIAN+ แต่ความเหลื่อมล้ำก็ยังคงอยู่แถมมีผลกระทบต่อชีวิตในทุก ๆ มิติ ดังนั้นการทำความเข้าใจปัญหาเหล่านี้อย่างลึกซึ้งจึงถือเป็นก้าวแรกในการสร้างสังคมที่มีความเห็นอกเห็นใจและพร้อมขับเคลื่อนไปสู่ความเป็นธรรมสำหรับทุกคน ไม่ว่าเขาหรือเธอจะเป็นใครหรือรักใครก็ตาม
ทางออกของความไม่เท่าเทียมทางเพศต้องร่วมมือกันจากหลายภาคส่วน ทั้งการเปลี่ยนทัศนคติ สร้างความเคารพในความหลากหลาย รวมถึงจัดการกับโครงสร้างทางสังคมที่กดทับกลุ่ม LGBTQIAN+ อยู่อย่างการแก้ไขข้อกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งยังคงลดทอนสิทธิและเสรีภาพของพวกเขา เช่น สมรสเท่าเทียม คำนำหน้าชื่อ เป็นต้น
การศึกษา: กุญแจสำคัญสู่สังคมที่เท่าเทียม
อีกหนึ่งกุญแจสำคัญในการจะแก้ไขปัญหานี้ได้คือระบบการศึกษา เนื่องจากการสร้างความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศตั้งแต่วัยเยาว์จะช่วยป้องกันหรือลดการปลูกฝังอคติรวมถึงความคิดผิด ๆ เกี่ยวกับบทบาททางเพศแบบเก่าได้ เพราะสุดท้ายแล้วการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างก็ต้องเริ่มจากระดับปัจเจกกันทั้งนั้น
เมื่อเราตระหนักรู้กันได้มากขึ้น เมื่อเรามองความหลากหลายไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอีกต่อไป เราจะเห็นใจกันในฐานะเพื่อนมนุษย์จนสามารถนำมาซึ่งโลกใบใหม่ที่เต็มไปด้วยความเสมอภาคอย่างแท้จริงได้ (แม้จะต้องใช้เวลาอีกนาน)
สมรสเท่าเทียม (Marriage Equality)
ก้าวใหม่ของประวัติศาสตร์แห่งความเท่าเทียม
23 มกราคม 2568 นั้นเสมือนกับเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเลยทีเดียว เมื่อคู่รัก LGBTQIAN+ มากมายพากันยืนรออยู่หน้าสำนักงานเขตเพื่อจะจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สร้างความยินดีและตื่นเต้นให้กับพวกเขาเป็นอย่างมาก
วันนั้นมีจำนวนคู่รักที่จูงมือมาจดทะเบียนสมรสกันมากกว่าหนึ่งพันเกือบสองพันคู่ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศแรกในอาเซียนและเป็นดินแดนที่ 3 ในเอเชียต่อจากไต้หวันและเนปาลที่การแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันนั้นถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งนอกจากมันจะแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยเริ่มมีการยอมรับตัวตนของพวกเขามากขึ้นแล้ว ในเรื่องของสิทธิต่าง ๆ ขั้นต้นที่จะตามมาก็นับว่าสำคัญไม่ต่างจากคนทั่วไป
ในระดับสากลหลายประเทศเองก็ให้ความสำคัญกับกลุ่ม LGBTQIAN+ ไม่ต่างกัน แม้แต่ประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์อย่างกรีซยังผ่านกฎหมายการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันและให้สิทธิ์แก่คู่รัก LGBTQIAN+ ในการรับบุตรบุญธรรมด้วย หรืออย่างกฎหมายของโปรตุเกสก็มีการห้ามไม่ให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้ารับการบำบัดเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากว่ามันถือเป็นการเลือกปฎิบัติที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งยังบั่นทอนกายและใจของพวกเขาอย่างรุนแรง
แต่บางครั้งเรื่องของการให้อิสระทางสิทธิและเสรีภาพที่มากเกินไปก็อาจถูกมองว่าสร้างความวุ่นวายในสังคมได้เช่นกัน โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาที่ประธานาธิบดีอย่าง Donald Trump ได้ออกกฎหมายให้ทุกอย่างคืนกลับสู่เพศสภาพกำเนิดทางชีววิทยาและกำหนดให้หน่วยราชการรับรู้เพศแค่ชาย-หญิงเท่านั้น นับว่าสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มเสรีที่ต่อสู้กับความหลากหลายทางเพศเป็นอย่างมาก
ตัดภาพกลับมาที่ประเทศไทย แม้ว่าจะมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้วแต่ก็มีเรื่องอื่น ๆ อีกที่ชาว LGBTQIAN+ ยังคงต้องการเรียกร้อง อาทิ
คำนำหน้าชื่อ เป็นที่ทราบกันดีว่าบัตรประจำตัวประชาชนไทยจะใช้คำนำหน้าชื่อตามเพศสภาพโดยกำเนิด แต่บุคคลข้ามเพศ (Transgender) กลับประสบกับปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันตั้งแต่การทำธุรกรรมหรือการทำงานบริการต่าง ๆ ทำให้พวกเขาเริ่มมีแนวคิดการเปลี่ยนคำนำหน้าจาก “นาย” เป็น “นางสาว” ซึ่งยังเป็นข้อถกเถียงกันถึงเรื่องความโปร่งใส่ของการดำเนินชีวิตร่วมกับคนในสังคมอยู่พอสมควร
การมีบุตรของคู่รัก LGBTQIAN+ เมื่อมีการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมในประเทศไทยแล้ว ทำให้การรับบุตรบุญธรรมโดยคู่รักที่แต่งงานจดทะเบียนสมรสถือเป็นสิ่งถูกกฎหมาย ทว่าเรื่องของการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยให้มีบุตรนั้นยังคงไม่มีกรอบกฎหมายอย่างชัดเจนในปัจจุบัน
การขอสัญชาติกรณีแต่งงานกับคนต่างชาติ ยังคงเป็นปัญหาเรื่องความยากลำบากเมื่อเทียบกับการขอสัญชาติของชาย – หญิง ซึ่งประเด็นนี้ต้องต่อสู้กันต่อไปเพราะการขอสัญชาติไทยโดยปกติก็เป็นเรื่องยากอยู่แล้ว
สังคมไทยอยู่ในช่วงที่กำลังเปลี่ยนผ่าน การนำนโยบายมาผลักดันถือเป็นนิมิตรหมายสู่การปฎิบัติเพื่อความเท่าเทียมในอนาคต แม้กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเกิดขึ้นได้จริงแล้วแต่มันก็ยังไม่ใช่จุดสิ้นสุด ทว่าเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการปรับโครงสร้างให้สอดคล้องกับสมดุลและสภาพสังคมในยุคปัจจุบันเท่านั้น เพื่อที่ทุกฝ่ายจะสามารถใช้ชีวิตกันได้อย่างปกติสุขต่อไป
ความท้าทายต่อไปของ LGBTQIAN+
ถ้าย้อนมองกลับไปในหลายปีที่ผ่านมา โลกของเราก้าวหน้าไปมากโดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชนของผู้มีความหลากลายทางเพศหรือ LGBTQIAN+ เราจะเห็นว่าประเทศโลกตะวันตกนั้นมีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมทางเพศมาก่อนหน้าหลายปีแล้ว เพื่อให้พวกเขามีสิทธิทางกฎหมายในการรับรองบุตรบุญธรรม การรักพยาบาล รับราชการ ฯลฯ ส่วนประเทศไทยยังคงพยายามเรียกร้องเรื่องต่าง ๆ อีกหลายส่วนจากภาครัฐมานานแสนนาน ก่อนจะประสบความสำเร็จในเรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียม (Marriage Equality) ในปี 2025 ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีในการให้ความสำคัญของกลุ่ม LGBTQIAN+ มากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้คนในสังคมเริ่มมองเห็นและยอมรับสิ่งที่พวกเขาเป็นอีกด้วย
แต่การเรียกร้องสิทธิเหล่านี้ก็เหลืออีกมากที่ยังต้องรอการแก้ไขเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนคำนำหน้านามและการระบุเพศในเอกสารราชการ ซึ่งส่วนนี้ยังมีคนจำนวนมากคัดค้านและมองว่ามันคือการเรียกร้องที่เกินความจำเป็น แถมเริ่มจะก้าวข้ามไปทับสิทธิเสรีภาพของคนอื่นด้วย นอกจากนี้ก็ยังขาดกฎหมายที่คุ้มครองในมิติด้านอื่นของสังคมที่อาจโดนเลือกปฏิบัติจนทำให้ขาดโอกาสในชีวิต อาทิ การศึกษา การจ้างงาน การบริการสุขภาพ ฯลฯ แม้ว่าไทยจะมีพ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ 2558 แล้วก็ตาม
ประเทศไทยกับการยอมรับความหลากหลาย
การสร้างพื้นที่ให้กับกลุ่ม LGBTQIAN+ นอกจากเรื่องของกฎหมายแล้วสังคมเองก็ต้องเปิดกว้างในการยอมรับด้วย แน่นอนว่าประเทศไทยเป็นอันดับต้น ๆ ที่เปิดโอกาสให้กับชาว LGBTQIAN+ อย่างมาก (ในสายตาชาวโลก) ซึ่งส่วนหนึ่งอาจนับว่าเป็นอิทธิพลของสื่อบันเทิงที่ถูกรับชมโดยคนทั่วไป
ยุคแรกไทยเรานั้นมี “เกย์/กะเทย” ที่รับบทตลกเสียส่วนใหญ่ ก่อนจะพัฒนาให้มารับบทตัวเอกโดยไม่ต้องอาศัยความฮาอยู่หลายเรื่องจนได้รับความนิยมอย่างสูง ดังนั้นสื่อบันเทิงจึงกลายมาเป็นอีกพื้นที่หนึ่งสำหรับการแสดงออกถึงความปกติอย่างที่พวกเขาเป็นมากขึ้นในปัจจุบัน แถมยังโด่งดังไปทั่วโลกจนสามารถนำมาเป็น Soft Power ส่งออกในระดับสากลได้ด้วยซ้ำ
นอกจากนี้เราจะเห็นได้ว่าแทบทุกวงการในไทยมักมีชาว LGBTQIAN+ รวมอยู่ด้วยเสมอตั้งแต่นักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ นักแสดง ฯลฯ คนส่วนหนึ่งจึงมองว่าสังคมไทยไม่ได้ปิดกั้นอะไรเนื่องจากโอกาสในการถูกยอมรับมันมีทุกที่อยู่แล้ว ดังนั้นการเรียกร้องสิทธิที่มากเกินไปเลยกลายเป็นอะไรที่เกินความพอดีในความคิดของคนบางกลุ่ม
แต่ถ้าถามว่าปัจจุบันความเท่าเทียมทางเพศนั้นมีมากน้อยแค่ไหน อาจกล่าวได้ว่ามันดีขึ้นแล้วทว่ายังไม่ครอบคลุม 100% ซึ่งเรากำลังค่อย ๆ ดำเนินการต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติ และยังมีความท้าทายอีกมากที่ต้องรอการแก้ไขรวมถึงสนับสนุนในเรื่องกฎหมายและทัศนคติของคนในสังคมให้ดีขึ้นด้วย
แม้ว่าความจริงโลกจะบอกเราว่าไม่มีใครที่ได้ความเสมอภาคแบบครอบคลุมทุกมิติ แต่เชื่อเลยว่าในอนาคตประเทศไทยจะสามารถก้าวสู่ยุคแห่งความเท่าเทียมที่มากขึ้นได้แน่นอน อย่างน้อยแทบทุกคนก็ควรมีสิทธิขั้นพื้นฐานทางกฎหมาย เพื่อทำให้พื้นฐานของมนุษย์นั้นทัดเทียมกันและไม่แบ่งแยกอย่างทุกวันนี้