ยุทธศาสตร์จังหวัดสระแก้วกับการขับเคลื่อน EEC

ยุทธศาสตร์จังหวัดสระแก้วกับการขับเคลื่อน EEC

สระแก้วเป็นจังหวัดในกลุ่มตะวันออก 2 ที่มีการค้าชายแดนมากที่สุดเนื่องจากเป็นประตูการค้าไปสู่กัมพูชา ลาว และเวียดนาม การพัฒนาจังหวัดสระแก้วอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้เป็นจังหวัดที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระดับสูง และมีส่วนช่วยสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่เหมาะสม โดยผมได้นำเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดสระแก้วไว้หลายด้านในการบรรยายในหลักสูตรนักบริหารระดับสูง เพื่อการสร้างชาติภาคตะวันออก EEC (นสช. EEC) ของสถาบันการสร้างชาติ ดังนี้

1. ขยาย EEC เป็น “EEC Plus”โดยสระแก้วเป็นส่วนหนึ่งของ EEC Plus

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นยุทธศาสตร์เรือธงในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยโดยงบลงทุนของภาครัฐกว่าร้อยละ 80 ถูกนำไปลงทุนในเขตพื้นที่ EEC แต่สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ด้วยเหตุนี้ผมจึงเสนอว่าประเทศไทยควรยกระดับ EEC ให้เกิดผลลัพธ์ที่กว้างขวางขึ้น ซึ่งอาจทำได้หลายแนวทาง

แนวทางหนึ่งที่ผมและสถาบันการสร้างชาติได้นำเสนอคือ การขยาย EEC เป็น EEC Plus โดยให้ EEC 3 จังหวัด (ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา) เป็นพื้นที่ไข่แดง และอีก 5 จังหวัดในภาคตะวันออกเป็นไข่ขาว (ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด สระแก้ว นครนายก) ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลและนักลงทุนเห็นความสำคัญของจังหวัดรอบข้าง รวมถึงจังหวัดสระแก้วมากขึ้น

EEC Plus จะช่วยกระตุ้นให้ภาครัฐจัดสรรงบประมาณลงไปในพื้นที่สระแก้วมากขึ้น และมีการวางแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรือการลงทุนอื่น ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงEEC กับจังหวัดสระแก้วมากขึ้น ด้วยยุทธศาสตร์นี้ การพัฒนาจะเกิดการกระจายออกจาก EEC 3 จังหวัดไปยังจังหวัดรอบข้าง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวมด้วย 

2.พัฒนาสระแก้วเป็นศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ของภูมิภาค

จังหวัดสระแก้วมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ของภูมิภาคอินโดจีน เพราะสระแก้วมีมูลค่าการค้าชายแดนมากที่สุดในภาคตะวันออก โดยเป็นที่ตั้งของตลาดโรงเกลือ ซึ่งเป็นตลาดค้าสินค้ามือสองและสินค้าส่งออก-นำเข้าขนาดใหญ่ระหว่างไทยกับกัมพูชา สระแก้วยังมีเส้นทางรถไฟจากฉะเชิงเทราไปถึงชายแดนกัมพูชา รวมทั้งมีโครงการพัฒนารถไฟทางคู่จากชุมทางคลองสิบเก้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ไปยังอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว บนเส้นทางรถไฟเดิม รวมถึงโครงการมอเตอร์เวย์สาย M71 ช่วงกรุงเทพฯ – สระแก้ว

ปัจจุบัน สระแก้วนอกจากจะเป็นช่องทางการค้าชายแดนแล้ว ยังเป็นช่องทางการเดินทางไปท่องเที่ยวยังประเทศกัมพูชา โดยมีจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่สำคัญคือ นครวัด และ กาสิโนในเมืองปอยเปต ถึงกระนั้น สระแก้วดูเหมือนเป็นเพียงทางผ่านของนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ไม่ค่อยได้ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวภายในจังหวัดมากนัก รวมทั้งยังมีข้อจำกัดในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวภายในจังหวัด และข้อจำกัดในการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในจังหวัดโดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชนที่ยังไปไม่ทั่วถึงแหล่งท่องเที่ยว

ด้วยศักยภาพและโอกาสที่มีอยู่ในจังหวัดสระแก้วภาครัฐ จึงควรใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาสระแก้วให้เป็น “ศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ของภูมิภาค” เพื่อสนับสนุนการค้า การขนส่ง และการท่องเที่ยว โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการค้า การขนส่ง โลจิสติกส์ และการท่องเที่ยว เชื่อมระหว่าง EEC ไปยังจังหวัดอื่น ๆ เช่น การพัฒนาเส้นทางรถไฟเพื่อการท่องเที่ยว การพัฒนาตลาดค้าส่ง-ปลีกระดับภูมิภาคที่สะอาดและทันสมัยการยกมาตรฐานบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณจุดผ่านแดน เพื่อให้กระบวนการผ่านแดนรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวและพัฒนาโปรแกรมการท่องเที่ยวจาก EEC ไปยังจังหวัดอื่น ๆ เช่น เส้นทางการท่องเที่ยวอารยธรรมขอม เป็นต้น

3.สร้างฉลักษณ์[1]ประจำแต่ละท้องถิ่น

ฉลักษณ์ คือ สายธารที่สะท้อนตัวตนจากภายในสู่ภายนอกซึ่งครอบคลุมลักษณะ 6 ด้าน รวมถึงเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ของแต่ละบุคคลและแต่ละท้องถิ่นด้วย ฉลักษณ์ที่ชัดเจนจะเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาสระแก้วให้ไม่เหมือนที่อื่น ช่วยเพิ่มความน่าสนใจ และความเป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยว โดยที่ผ่านมานักท่องเที่ยวในสระแก้วส่วนใหญ่เป็นคนไทยมากกว่าต่างชาติ และมักจะเป็นคนไทยเฉพาะกลุ่มที่สนใจศิลปวัฒนธรรมขอมเสียเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวค่อนข้างน้อย

ดังนั้นสระแก้วจึงควรสร้างเอกลักษณ์อัตลักษณ์ประจำแต่ละท้องถิ่น เพื่อสร้างความแตกต่างด้านการพัฒนา เช่นการใช้สิ่งที่โดดเด่นในท้องถิ่นเป็นจุดขาย ทั้งอาหาร ผลไม้ต้นไม้ ดอกไม้ สัตว์ ระบบนิเวศน์ศิลปะ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรมวิถีชีวิต ภูมิปัญญาประเพณี เทศกาลแลนมาร์คหรือสร้างเรื่องราวของการท่องเที่ยว (Content) โดยนำเรื่องราวมาเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวให้น่าสนใจมากขึ้น อย่างเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม โดยเฉพาะประวัติศาสตร์การตั้งรกรากและเหตุการณ์สำคัญ ๆ เช่น ประวัติศาสตร์อาณาจักรขอมในจังหวัดสระแก้วความเชื่อ ตำนาน เรื่องเล่า นิทานพื้นบ้าน บทประพันธ์รวมทั้งการสร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวที่หลากหลายขึ้น เช่น การเดินป่าปีนเขา ส่องสัตว์ ล่องแพ ขี่ช้าง การแข่งขันกีฬา วิ่งมาราธอน ขี่จักรยาน ไตรกีฬาสิ่งสำคัญคือการพัฒนาประสบการณ์การท่องเที่ยวที่แปลกใหม่ โดยบูรณาการกิจกรรมอื่นกับการท่องเที่ยวเช่น ท่องเที่ยวเชิงเกษตรท่องเที่ยวเชิงอาชีพที่เฉพาะเจาะจง เช่น หาของป่า ทำอาหารเป็นต้น

นอกจากนี้ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเอาจริงเอาจังในการสื่อสารการตลาด ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว โดยการสื่อสารทั้งทางออนไลน์ออฟไลน์ และใช้อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) มาช่วยในการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวตลอดจนจูงใจให้คนแบ่งบันประสบการณ์ท่องเที่ยวในโลกออนไลน์ (Reviews) โดยสื่อสารเจาะจงไปยังนักเดินทางกลุ่มเป้าหมาย

4.ส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมจัดการท่องเที่ยว

จังหวัดสระแก้วมีสัดส่วนคนยากจนค่อนข้างสูงถึงร้อยละ 19 เนื่องจากสระแก้วยังพึ่งพาภาคการเกษตรค่อนข้างสูง ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงยังกระจุกตัวในบางพื้นที่ ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวไม่กระจายไปยังพื้นที่อื่นในจังหวัดดังนั้นแนวทางหนึ่งในการยกระดับรายได้ของคนสระแก้ว คือ การกระจายผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวโดยส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมจัดการท่องเที่ยวและการพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ภาครัฐอาจเริ่มจากการส่งเสริมให้ชุมชนร่วมมือกันจัดการท่องเที่ยวโดยการค้นหาniche ของชุมชนต่าง ๆ ที่ไม่ซ้ำกันการพัฒนาความรู้และฝึกอบรมคนในชุมชนด้านการจัดการและให้บริการการท่องเที่ยวระบบจัดการการท่องเที่ยวการจัดเก็บและจัดสรรรายได้จากการท่องเที่ยวและการทำตลาดของการท่องเที่ยวชุมชนรวมทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบโฮมเสตย์ เช่น การพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยว ที่สัมผัสกับความเป็นท้องถิ่นเฉพาะของแต่ละชุมชน นักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้วิถีชีวิต การประกอบอาชีพ และประวัติศาสตร์พื้นถิ่นและใช้วัตถุดิบหรือสินค้าในท้องถิ่นให้บริการแก่นักท่องเที่ยวเป็นต้น

5.สร้างความร่วมมือ 3 ภาคกิจในการอนุรักษ์ทรัพยากรการท่องเที่ยว

ความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก หากไม่มีการจัดการที่ดีดังนั้นมาตรการในการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยว และป้องกันไม่ให้ประชาชนบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อประกอบอาชีพเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งควรมีการวางแผนเตรียมการตั้งแต่ต้น

ด้วยเหตุนี้ ภาครัฐจำเป็นต้องกำหนดขีดความสามารถรองรับนักท่องเที่ยว (Tourism Carrying Capacity) เช่น การกำหนดฤดูกาลการท่องเที่ยว การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในพื้นที่อ่อนไหวและการส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยสร้างกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวทำกิจกรรมฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว

แนวทางดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากความร่วมมือ 3 ภาคกิจในการร่วมกันสอดส่อง ฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวประชาชนต้องเป็นหูเป็นตาไม่ให้ผู้ประกอบการบุกรุกป่า และทิ้งขยะหรือน้ำเสียลงแหล่งน้ำสาธารณะ ภาคธุรกิจต้องมีบทบาทในการช่วยประชาชนให้มีช่องทางประกอบอาชีพ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

ผมมีความคิดว่าจังหวัดสระแก้วไม่ใช่เพียงเมืองทางผ่าน แต่เป็นจังหวัดที่มีเอกลักษณ์ มีการค้าชายแดน ตลาดโรงเกลือ วัฒนธรรมขอมและมีที่ตั้งอยู่ใน EEC Plus ใกล้กรุงเทพฯมีรถไฟผ่านหากมีการดำเนินนโยบายอย่างมียุทธศาสตร์ย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จผม และสถาบันการสร้างชาติซึ่งประกอบไปด้วยบุคลากรในทุกภาคกิจ จึงปรารถนาที่จะร่วมมือทุกฝ่ายในจังหวัดสระแก้วในการพัฒนาพื้นที่ไปด้วยกันครับ

 


[1]อ่านเพิ่มเติม ใน เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2564). ศาสนธรรมสร้างชาติ: พลังพันธมิตรเพื่อชาติอารยะ บูรณาการมิตรแห่งธรรม บริบูรณ์ธรรมแห่งไทย. กรุงเทพฯ: ซัคเซส พับลิชชิ่ง.

สระแก้วเป็นจังหวัดในกลุ่มตะวันออก 2 ที่มีการค้าชายแดนมากที่สุดเนื่องจากเป็นประตูการค้าไปสู่กัมพูชา ลาว และเวียดนาม การพัฒนาจังหวัดสระแก้วอย่างเต็มศักยภาพ