The Driving Force of Change สี่เสาหลัก รากฐานสังคมไทยที่ยั่งยืน ดร.ฐิติ ชัยนาม

The Driving Force of Change สี่เสาหลัก รากฐานสังคมไทยที่ยั่งยืน ดร.ฐิติ ชัยนาม

ดร.ฐิติ ชัยนาม ท่านเป็นนักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์การปกครอง นอกจากนี้ยังเป็นประธานโครงการสี่เสาหลัก ด้วยการเป็นจิตอาสาที่มีวิสัยทัศน์มุ่งมั่น เปลี่ยนแปลงสังคมเชิงบวกให้กับประเทศไทย ท่านอุทิศตนเพื่อการพัฒนามาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี เพื่อที่จะสร้างสังคมไทยให้ยั่งยืน ด้วยการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้พร้อมรับมือกับความท้าทายกับสิ่งต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งโครงการต่าง ๆ ที่ดร.ฐิติ ชัยนาม ได้เข้าร่วมพัฒนานั้นล้วนแล้วแต่สร้างประโยชน์ให้สังคมและประเทศชาติมาโดยตลอด

ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน 

“คนส่วนใหญ่รู้จักผมจากการเป็นประธานโครงการสี่เสาหลัก สำหรับเรื่องโครงการนี้ มีแรงบันดาลใจมาจากประมาณ 18 ปีที่แล้ว ผมไปเรียนต่างประเทศ พอถึงวันหยุดผมเห็นพลเมืองของประเทศเขาทุกวัย ออกมาทำความดีในวันหยุด เป็นโครงการเกี่ยวกับสาธารณะเรื่องแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม รณรงค์การประหยัดพลังงาน ทุกคนจะถูกสร้าง Mindset ใหม่ให้กับสังคม รู้จักการเสียสละ รู้จักการสร้างความดีตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ เยาวชนจนไปถึงคนสูงอายุ 

“ก่อนอื่นผมขออธิบายเรื่องนี้ให้ทุกคนเข้าใจว่าโครงการสี่เสาหลัก ประกอบไปด้วย 1.ชาติ  2. ศาสนา 3. สถาบันพระมหากษัตริย์ 4. ประชาชน 

“เสาร์ที่ 1 ความเป็นชาติเอกภาพของคำว่าชาติ ถ้าไม่มีชาติเราจะไม่มีที่มานะครับ ไม่มีความเป็นมาของชีวิตเรา ดังนั้นการทำลายศิลปวัฒนธรรมประเพณี หรือแม้กระทั่งวัฒนธรรมต่าง ๆ คือการทำลายชาติ ตอนที่ผมไปอยู่ต่างประเทศ เห็นผู้ลี้ภัยจำนวนมากหรือบางประเทศที่เขาไม่มีชาติ เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ถ้าสิ้นชาติจบเลย คุณไม่มีความเป็นมาไม่มีวัฒนธรรมประเพณีในทางสังคม เพราะฉะนั้นหน้าที่ของผมจึงต้องรักษาคำว่าชาติไว้

“เสาที่ 2 คือศาสนา ศาสนาคือแก่นแท้จริยธรรมคุณธรรม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่มนุษย์เริ่มอ่อนแอลงเพราะว่าขาดคุณธรรมจริยธรรม ดังนั้นศาสนาจึงเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่กลั่นกรองทำให้มนุษยชาติรู้จักการเสียสละ รู้จักการแบ่งปันและมีคุณธรรมในการที่จะรักษาไว้ ซึ่งคำว่าจริยธรรมคุณธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะทำให้สังคมในอนาคตเป็นสังคมที่ขาวสะอาด

“เสาที่ 3 คือสถาบันพระมหากษัตริย์ หลายท่านที่เรียนหนังสือจบเมืองนอก ครอบครัววงศ์ตระกูลร่ำรวย อยู่ดีมีสุขมาถึงวันนี้ เป็นเพราะการรักษาแผ่นดินจากบรรพบุรุษ ตลอดจนเหล่าทหารกล้าพร้อมทั้งประชาชนที่ยอมเสียสละเลือดเนื้อ เพื่อปกป้องพื้นแผ่นดินไทย จนกระทั่งพวกเรามีแผ่นดินอยู่ไม่เป็นเมืองขึ้นของใคร ดังนั้นสิ่งสำคัญก็คือความกตัญญู การมีจิตสำนึกถึงคุณงามความดีต่าง ๆ 

“เสาที่ 4 คือคำว่าประชาชน เป็นสิ่งสำคัญมาก เป็นฐานล่างที่จะก้าวขึ้นไปทุกระดับของประเทศ ดังนั้นการให้ความสำคัญของประชาชนจึงเป็นสิ่งสำคัญ มีสิทธิมีเสรีแต่ต้องไม่ไปรบกวนคนอื่น ดังนั้นผมจึงให้ความสำคัญประชาชนมาก เพราะประชาชนนั้น เป็นคนขับเคลื่อนวิวัฒนาการของความเป็นชาติด้วย” 

 

เดินตามรอยพระบิดาแห่งจิตอาสา

“หลังจากที่ผมเรียนจบต่างประเทศแล้วกลับเมืองไทย เวลาได้ดูทีวีเห็นพระเจ้าอยู่หัวในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านทรงงาน ทุกคนจะน้ำตาไหลแล้วก็ก้มกราบ ผมเองในช่วงวัยขนาดนั้นก็ถือว่ายังเป็นคนรุ่นใหม่ เวลาต่อมาเราได้ศึกษาเรื่องราวจริงจัง จึงได้ค้นพบว่าพระบิดาแห่งจิตอาสาคือในหลวงรัชกาลที่ 9 และในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชกรณียกิจของท่านมีมากกว่า 4,000 กว่าโครงการ มันไม่ใช่มรดกของประเทศไทยอย่างเดียวนะครับ แต่กลายเป็นมรดกของโลกด้วย

“ตอนแรกผมเคยมีความคิดที่ว่า เราไปเรียนหนังสือจากต่างประเทศ กลับมาจะทำเพื่อตัวเองและครอบครัว มองถึงความสำเร็จ มีตำแหน่งงานสูง สร้างความร่ำรวย แต่ในสังคมที่เจริญแล้วเขาจะมองจากด้านนอกเข้ามาด้านใน เรามองถึงการอยู่ร่วมกันของชีวิต การเสียสละแบ่งปัน เมื่อผมได้เห็นตัวอย่างของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นพระบิดาแห่งจิตอาสา จึงเป็นที่มาของโครงการสี่เสาหลัก เดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทแห่งจิตอาสา สืบสานพระราชปณิธานต่อยอดจากรัชกาลที่ 9 ซึ่งปัจจุบันมาสู่ในหลวงรัชกาลที่ 10 

“ผมในวัยที่ถือว่าอายุมากขึ้น ผ่านอะไรมาเยอะ ความคิดเราปรับมุมจากความคิดเดิม ที่เคยคิดว่าการเป็น CEO บริษัทเราจะต้องมีความสุข แต่ถามว่าวันนี้ถ้าสังคมป่วยประเทศหัวโตตัวรีบ แล้วเราปล่อยให้ประเทศเป็นอย่างนี้แล้วเราไม่สร้างใหม่ วันข้างหน้าลูกหลานเราจะอยู่อย่างไร ดังนั้นวันนี้การทำงานเรื่องจิตอาสาเดินตามรอยเบื้องลึกเป็นการทำงานที่ปิดทองหลังพระนะครับ โดยที่เราไม่ได้ต้องการผลตอบแทนอะไร ก็อยากจะเชิญชวนทุกคนมาร่วมกันสร้างความดี ไม่ได้ทำเพื่อตัวเองนะครับ แต่ทำเพื่อสังคมส่วนรวม 

“ปัจจุบันพระราชบิดาแห่งจิตอาสาก็คือในหลวงรัชกาลที่ 10 พระองค์ท่านทรงตั้งโครงการจิตอาสาสำหรับข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ฯลฯ และวันนี้ครบ 15 ปี ในการเริ่มต้นโครงการทั้งหมด อีกมุมหนึ่งตอนผมเริ่มทำจิตอาสาด้วยตัวเอง ไม่มีผู้สนับสนุนเลยนะครับ แม้กระทั่งญาติผมเองก็ไม่เข้าใจ คนใกล้ชิดก็ไม่เข้าใจว่าทำแล้วได้อะไร มีผลตอบแทนอะไร แต่สิ่งที่เราได้ตอบแทนก็คือการสร้างมรดกให้กับสังคมครับ การสร้างวัฒนธรรมที่เมื่อเราจากไปแล้ว ถึงกาลเวลาเปลี่ยนผ่านแต่โลกยังจดจำ ประวัติศาสตร์จะไม่ลืมเลือนในสิ่งที่เราสร้างไว้ ดังนั้นสิ่งที่เราสร้างวันนี้ไม่ใช่ตัวเอง แต่เราทำเพื่ออนาคตของประเทศ เพื่อสังคมที่ก้าวหน้าอย่างแท้จริง ผมจึงได้เดินเส้นทางนี้มาตลอด ทำเพื่อสังคมโดยที่เราไม่ต้องการอะไรตอบแทนในชีวิต เพราะจิตอาสาแท้ ๆ จะเป็นการให้โดยไม่หวังผลตอบแทนครับ”

 

ชีวิตและอุดมการณ์

“ผมเป็นมนุษย์คนหนึ่งไม่ได้เป็นผู้วิเศษ มีความโลภ โกรธ หลง ในช่วงวัยเด็กผมมีความรู้สึกว่าเราจะมุ่งสู่การศึกษา อยากจะมีหน้าที่การงานได้เป็นผู้นำทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม อยากจะมีเงิน ทุกคนจะถูกสอนให้ทำเพื่อความสำเร็จ เพื่อตัวเองและครอบครัว โดยมีบรรพบุรุษเป็นต้นแบบ โดยเฉพาะคุณลุง คือศาสตราจารย์ ดิเรก ชัยนาม ท่านเป็นต้นแบบของผมคนหนึ่งของสายตระกูล ต้องขออนุญาตเอ่ยนามท่านนะครับ เพราะท่านเป็นคนที่เสียสละด้านการศึกษา คือก่อตั้งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมก็มีความหวังที่จะก้าวขึ้นไปทำงาน ให้ประสบความสำเร็จบ้าง แต่ว่าไม่เคยคิดถึงเรื่องสี่เสาหลัก เพราะในช่วงวัยนั้นเราก็มองความสำเร็จที่ตัวเรามากกว่า ไม่ได้มองเรื่องการให้สังคม 

“ผมเติบโตจากในวัยเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา เรียนจบออกมาไฟแรงอยากทำงาน แต่ยังไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องรักษาชาติไว้ ทำไมดำรงไว้ซึ่งคำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำไมต้องมีเรื่องของศาสนา เพราะผมก็ติดกับดักทางความคิดแต่ในโลกของความเป็นจริง พอไปถึงจุดนั้นราถึงได้รู้ว่าได้ค้นพบสัจธรรมด้วยตัวเอง

“จนมีโอกาสมาทำจิตอาสา แต่ความผิดพลาดคือทำแบบสุดขั้ว ขายทุกอย่างเพื่อมาเป็นจิตอาสาตอบสนองอุดมการณ์จนไม่มีเงินเหลือ  เพราะไม่มีใครช่วยสนับสนุนครับ มีอยู่วันหนึ่งผมไปซื้อข้าวเหนียวสังขยาแล้วเงินขาด ผมน้ำตาไหลเลยเพราะแม่ค้าก็ไม่ได้ลดให้ คือผมไม่มีเงินเนื่องจากทำจิตอาสาอย่างสุดขั้ว แต่ในที่สุดผมก็พบเรื่องทางสายกลางปรับความสมดุลให้กับชีวิตตัวเอง มาค้นพบเอาเมื่อกลางชีวิตว่า เป้าหมายชีวิตที่แท้จริงไม่ใช่ทำเพื่อตัวเอง แต่เป็นการทำงานเพื่อสาธารณชนอย่างแท้จริง แล้วก็ไม่ใช่มุ่งที่จะสร้างตัวเอง แต่ว่าเป็นการสร้างสังคมใหม่จึงจะถูกต้องครับ

“ลองคิดดูนะครับวันนี้ถ้าผมไม่สร้างสังคมรุ่นใหม่อีก 20 ปีประเทศจะเป็นยังไง เขาจะรู้จักชาติไหม ศาสนาคืออะไร เขาจะไม่เข้าใจว่าทำไมเราจะต้องมีวัฒนธรรมประเพณี เมื่อไหร่ถ้าคุณไม่มีแผ่นดิน ไม่มีชาติ คุณจะร้องไห้เพราะคุณจะไม่มีความภาคภูมิใจเลย หากคุณทำลายชาติ วัฒนธรรม ประเพณีหมด” 

 

จิตอาสาเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ

“บางคนอาจคิดการเป็นนักการเมือง น่าจะเปลี่ยนแปลงประเทศได้ง่ายกว่า แต่ผมมองว่าเป็นเรื่องของสังคมเก่า ที่การเปลี่ยนแปลงประเทศจะต้องทำความดีโดยมีตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง ดังนั้นการสร้างคุณงามความดี มันเป็นตำนาน แล้วการสร้างตำนานก็ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องเดินตามคนอื่น เราจะเป็นกลุ่มบุคคลที่สร้างความดี เราต้องทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำ แต่ไม่ใช่ทำในสิ่งที่เป็นลบต่อสังคม ต้องสร้างสังคมที่เป็นบวก แล้วไม่จำเป็นจะต้องมียศถาบรรดาศักดิ์ วันนี้การที่เราจะได้รับการสำเร็จในชีวิต มหาชนต้องเป็นคนพูดถึงเรานะครับ ไม่ใช่ว่าเรามาโปรโมทตัวเองว่าเราเป็นผู้นำมหาชน 

“ดังนั้นผมเชื่อในทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงประเทศ คือ Soft Power เป็นการทำงานสร้างความดีที่หาแนวร่วม หาพันธมิตร แล้วไม่จำเป็นจะต้องมีอำนาจในรัฐสภา ไม่จำเป็นจะต้องเป็นรัฐมนตรี จากที่ผมเคยขวนขวายเข้าสู่การเมือง แล้วผมก็ไม่ได้ตอบโจทย์ว่าฉันจะเปลี่ยนแปลงประเทศ ฉันจะต้องไปเป็นนายก แต่ผมมองเรื่อง Civil Society มอง

เรื่องของภาคประชาชนว่า เราอยากจะมีตัวตนในนามของคำว่าประชาชนคนหนึ่ง แล้วก็ทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน แล้วก็เปลี่ยนแปลงประเทศโดย Soft Power โดยใช้คำว่าจิตอาสาเปลี่ยนแปลงประเทศ 

“จิตอาสามันต้องมาจากจิตใต้สำนึก อุดมการณ์ก็ต้องมาจากความเชื่อภายในนะครับ แต่ถ้าเกิดว่าเราทำความดีแล้วเราไปมุ่งหวังว่าจะสร้างภาพเจ๊งครับ ประเทศก็เจ๊งด้วย เพราะมันจะเป็นนักบุญปลอม ๆ เราจะเห็นพวกค้ายาเสพติดพวกฟอกเงินไปทำบุญไปร้อย ๆ พันล้านบาท เพราะสุดท้ายความจริงปรากฏก็คือเงินนั้นมาจากไหน แล้วสุดท้ายพอถูกจับก็กลายเป็นเสียหายหมดนะครับ คือจะให้ผมไปสร้างภาพ ผมคงไม่ทำนะครับ

“แต่ว่าเราจะทำของเราไปเรื่อย ๆ ทำไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ครับ แล้วเราก็แสวงหาแนวร่วมครับ การทำความดีโดยไม่มีสเตตัสทางสังคม ไปที่ไหนประชาชนก็รัก แต่ถ้าเราเป็นนักการเมือง เราไปไหนก็ต้องเลี้ยงข้าวเขาหมดเลย แต่ถ้าภาพลักษณ์ของคนเรียนจิตอาสาแท้ ๆ ไปไหน ผู้ใหญ่ก็ให้ความเมตตาครับ เพราะเขาจะมองเรื่องของความดีงามกับจิตใต้สำนึกของเรา ผมไปเจอคำตอบว่าการสร้างความดีโดยที่ไม่หวังผลตอบแทน จะได้การตอบรับของมหาชนมากกว่า ถึงแม้ว่าวันหนึ่งชีวิตผมจะไม่ได้อะไรเลย แค่อยากบอกให้โลกรับรู้แค่นี้ผมมีความสุขแล้วครับ”

 

ศิลปวัฒนธรรม หนึ่งในรากฐานสังคมไทย

 “ผมเองได้ซึมซับวัฒนธรรมไทยมาโดยตลอด เมื่อมีโอกาสมาทำงานที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม เราไม่ต้องการอะไรตอบแทนเลย เพราะเราถือว่าทำเพื่อชาติ แต่ต้องบอกตรง ๆ ว่าบางทีภาครัฐไม่ได้เห็นความสำคัญว่าศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วันนี้ผมก็อยากจะขอเรียกร้องภาครัฐว่าควรให้ความสำคัญอย่างมาก ๆ และควรให้การสนับสนุนนะครับเพราะเป็น Soft Power อย่างแท้จริง ว่าวันนี้ศิลปวัฒนธรรมประเพณีมันมีคุณค่า 

“ปัจจุบันผมยังฟังเพลงลูกทุ่งอยู่ครับ แม้ว่าผมจะเคยไปอยู่เมืองนอก แต่ผมก็ยังฟังเพลงไทยเก่า ๆ แม้กระทั่งเรื่องของศิลปวัฒนธรรมการแสดงก็ตาม ผมจึงอยากจะทำเรื่องลูกทุ่งไทยหัวใจ 4 ภาค เป็นความฝันที่สุดในชีวิต ใครจะว่าผมเชยฟังเพลงลูกทุ่ง แต่ผมถือว่าลูกทุ่งไทยคือจิตวิญญาณของสังคมไทย ผมอยากจะเห็นออแกไนซ์หรือว่าบริษัทที่ไหนสักที่หนึ่งทำลูกทุ่งไทยหัวใจ 4 ภาค เพราะลูกทุ่งคือเอกลักษณ์ ผมเชื่อว่ามันเป็นจิตวิญญาณของคนไทยครับ 

            “ในต่างประเทศอย่างอเมริกาก็มีเพลงคันทรี่ ในขณะเดียวกันนักเรียนที่ไปเรียนอเมริกาก็ฟังเพลงแนวนี้ มันคือเพลงบ้าน ๆ ของฝรั่งนั่นแหละแต่ได้รับความนิยม แล้วเพลงลูกทุ่งเป็นเพลงที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ไทยทั้งหมดเลยเพราะฉะนั้นความฝันของคือผมอยากเห็นลูกทุ่งไทยหัวใจ 4 ภาค อยากเห็นศิลปินพวกนี้ขึ้นมาสู่ความเป็นชาติ ทุกวันนี้ผมเปิดทุกวันฟังใครจะว่าผมเป็นเชยอะไรอย่างนี้ผมก็ไม่ได้ซีเรียส เพราะผมถือว่าผมเป็นคนไทยผมมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทยของผมนะครับเอกลักษณ์ไทย” 

ทิศทางสังคมไทยในอนาคต

“สังคมวันนี้ ตอบได้เต็มปากเลยนะครับประเทศไทยควรเป็นอัตลักษณ์ตัวตนของเราเอง เพราะว่าสังคมโลกเราพึ่งพาแทบไม่ได้ ประเทศอเมริกาก็เริ่มถอยหลัง ประเทศจีนก็ประสบปัญหา มีของสงครามในตะวันออกกลาง ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ประเทศไทย ต้องยืนอยู่บนขาของตัวเอง แต่ก็เป็นมิตรให้กับทุกฝ่าย ภายในประเทศเราควรจะอยู่ด้วยอัตลักษณ์ของตัวตนเรา ควรจะ Process เรื่องของจริยธรรมคุณธรรม 

“สิ่งดี ๆ ของประเทศไทยมีเยอะ เช่นเป็นครัวโลก วันนี้ถนนทุกสายมุ่งมาสู่ Wellness ในประเทศไทย ศูนย์สุขภาพทางเลือก เพราะว่าชาวตะวันออกกลางเข้าโรงพยาบาลที่บ้านเขาแต่ละครั้งหมดเป็นแสนเป็นล้านบาท แต่ว่ามาที่ เมืองไทยเรื่อง Wellness มีแพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือกนะครับ เรามีภูมิปัญญาไทยที่มีค่ามหาศาล เรามีอาหารทะเลที่ถูกที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เรามีวัฒนธรรมประเพณี ที่สำคัญพิกัดที่ตั้งในละติจูดของประเทศไทยอยู่ในเขตอบอุ่น

“เพราะฉะนั้นในโลกนี้ไม่มีใครที่อยากไปอยู่เมืองนอก แม้กระทั่งคนบางคนมีเงินล้นฟ้ายังต้องกลับเมืองไทย ทำไมเราต้องยอมกลับเมืองไทย เพราะว่าถ้าอยู่เมืองไทยมีทรัพยากรไทยมากมาย วันนี้ต่างชาติต้องการเข้ามาที่ประเทศไทยแผ่นดินไทยในวันข้างหน้า ภาคอีสาน ภาคใต้ ภาคเหนือ ยังมีพื้นที่ว่างเปล่าเต็มหมด 

“แล้วธุรกิจในประเทศไทยที่น่าจะได้รับความนิยมคือ เรื่องของ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความงาม และพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานสะอาดจะมาแน่นอนนะครับ จากที่ผมไปต่างประเทศมาบอกได้เลยว่า ไม่มีที่ไหนที่อบอุ่นเท่าประเทศไทยครับ”

 

ดร.ฐิติ ชัยนาม ท่านเป็นนักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์การปกครอง นอกจากนี้ยังเป็นประธานโครงการสี่เสาหลัก