Spice Girls พายุที่เขย่าวงการดนตรีและสังคม

Spice Girls พายุที่เขย่าวงการดนตรีและสังคม

ผมมักจะพูดอยู่เสมอว่า ซีรี่ส์สารคดีของ Devid Beckham ที่ฉายอยู่ใน Netflix ตอนนี้นั้น เป็นซีรี่ย์ที่ดีดูเพลิน ไม่ยาวยืดไปไม่สั้นไป ดูแล้วเข้าใจง่ายน่าติดตาม แม้ว่าจะไม่ใช่แฟนทีมฟุตบอล Manchester United หรือแฟนบอลของ Devid Beckham คุณก็จะรู้สึกชื่นชอบกับหนังซีรี่ส์สารคดีเรื่องนี้ได้เป็นแน่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณเป็นผู้ที่ผ่านช่วงเวลายุค 90s มาแล้วนั้น ซีรี่ส์จะพาคุณย้อนเวลาไปในช่วงปีดังกล่าวให้เห็นบรรยากาศหลาย ๆ อย่างที่เป็นบริบทโดยรอบแม้จะอิงไปกับทาง Beckham มากหน่อยก็ตาม แต่ก็เชื่อได้ว่าจะสามารถทำให้คุณคิดถึงบรรยากาศเก่า ๆ ได้เป็นแน่

ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่รู้สึกชื่นชอบกับซีรี่ส์เรื่องนี้ครับ ไม่ใช่เพราะผมเป็นแฟน Beckham หรือเป็นแฟน Manchester United แท้จริงแล้วผมเป็นแฟนบอล Liverpool แต่ที่ติดตามดูเรื่องนี้เป็นเพราะผมเป็นแฟนเพลงของ Spice Girls โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมนหลักในดวงใจของผมคือ  Victoria Adams (นามสกุลเดิมในขณะนั้น) เจ้าของสมญา Posh Spice ซึ่งผมขอบอกเลยว่า Spice Girls ของชีวิตวัยรุ่นในช่วงนั้น ไม่ใช่เฉพาะแฟนเพลงผู้ชาย ผู้หญิงเองก็ชื่นชอบเช่นกัน ในยุคที่สื่อออนไลน์ยังไม่กว้าง จอทีวีไม่มีช่องดิจิตอล มีเพียงแต่ช่องเคเบิ้ล แต่ชื่อเสียงของ Spice Girls ก็สะเทือนไปทั่วโลก เส้นทางของพวกเธอเป็นอย่างไรลองติดตามกันครับ  

ย้อนกลับไปช่วงปี 90s ในช่วงเวลานั้นค่านิยมทางความคิด ยังคงมีความเชื่อในเรื่องของชายเป็นใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬา นักเต้น นักร้อง หรือพ่อครัว ผู้ชายต่างก็ได้รับการยกย่อง ‘ผู้หญิง’ ในยุคนั้น ยังคงต้องพยายามพิสูจน์ตัวเองตาม ‘มาตรฐาน’ ที่สังคมตั้งไว้มาโดยตลอด ศิลปินหญิงในยุคนั้นเองก็เช่นกัน ต่างก็ต้องฟันฝ่ากับการเลือกปฏิบัตินานาชนิด จนนำมาสู่การปฏิวัติในเรื่องเพศ และการยอมรับในเรื่องความหลากหลายทางรสนิยม ซึ่งเราสามารถถือได้ว่าศิลปินหญิงเหล่านี้ต่างมีส่วนช่วยผลักดันให้สังคมยอมรับในความหลากหลายมากยิ่งขึ้น

 

Spice Girls ก็เช่นกันครับ มีส่วนช่วยในการผลักดันและสนับสนุนความหลากหลายเป็นอย่างมาก อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าในช่วงปี 90s วงดนตรีหรือเกิร์ลกรุปหญิงล้วนเป็นอะไรที่ค่อนข้างมีน้อย และยากต่อการต่อสู้กับวงบอยแบนด์หรือชิงพื้นที่ความนิยมจากแฟน ๆ Spice Girls เองก็เช่นกันซึ่งวงก็ถือกำเนิดขึ้นด้วยไอเดียง่าย ๆ ที่ว่า ในตอนนั้น วงการดนตรีแทบไม่มีพื้นที่ให้ ‘ผู้หญิง’ เลย และต้องการสร้างวงหญิงล้วนที่มีชื่อเสียงที่สามารถเขย่าโลก โดยคนที่รวบรวมสมาชิกวงให้เกิดขึ้นคือ Bob และ Chris Herbert สองพ่อลูกนักปั้นศิลปินแห่งHeart Management นั่นเอง

เริ่มต้นพวกเขาได้ลงประกาศรับสมัครศิลปินในหนังสือพิมพ์ The Stage เดือนมีนาคม 1994 ซึ่งก็มีผู้เข้าร่วมคัดเลือกกว่า 600 คน จนได้สมาชิกครบถ้วนประกอบไปด้วย Melanie Brown aka Scary Spice, Melanie Chisholm aka Sporty Spice , Emma Button aka Baby Spice , Geri Hallowell aka Ginger Spice และ Victoria Adams aka Posh Spice ซึ่งในการรวมตัวก่อตั้งครั้งแรกนั้น มีหลายคนที่ไม่ผ่านการคัดเลือกด้วยในเรื่องความสามารถ บางคนก็ถอนตัวออกไปด้วยเหตุผลต่าง ๆ

แต่ท้ายที่สุดก็กลับมารวมตัวก่อตั้งวงได้ในที่สุด แต่ละคนนั้นไม่มีใครสมบูรณ์แบบ บ้างอ่อนในเรื่องการร้อง บ้างไม่มั่นใจในเรื่องของรูปลักษณ์ แต่ความต่างกลับสามารถรวมตัวอยู่กันได้อย่างลงตัว และที่สำคัญนั้นคือความแตกต่างของแต่ละคนนั้นเป็นความแตกต่างที่สามารถ Mass ได้นั่นเอง ซึ่งในการรวมตัวกันครั้งนั้นจึงได้ตั้งชื่อวงว่า Touch

แต่หนทางในการออกอัลบั้มนั้นกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด ไม่มีค่ายไหนเลยที่ร่วมวงเซ็นสัญญาทำเพลงกับพวกเธอเลย ซึ่งหากเป็นอย่างนี้ต่อไปไม่ดีแน่ สุดท้ายพวกเธอเลยตัดสินใจทิ้งพ่อลูก Herbert และออกหาโปรดิวเซอร์เพื่อที่จะทำเพลงออกมาเอง ซึ่งพวกเธอไล่โทรหาโปรดิวเซอร์ที่มีชื่อเสียงไล่เรียงไปทีละคนจนในที่สุดก็ได้โปรดิวเซอร์อย่าง Elliot Kennedy มาทำดนตรีให้ ส่วนเนื้อเพลงพวกเธอทั้ง 5 คน เป็นผู้ร่วมกันเขียนเนื้อเพลงเหล่านี้ขึ้น จนในที่สุดเพลง Wannabe ซิงเกิ้ลเพลงแรกของพวกเธอก็ได้คลอดออกมา และเดโมเพลงนี้ก็ได้ไปตกอยู่ที่ Simon Fuller นักปั้นศิลปินมือทอง (ต่อมาเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์รายการ The Idol และ Got Talent) ช่วยในการพัดกระแสให้พวกเธอเป็นที่ต้องการของตลาด และในที่สุดเดือน กรกฎาคม 1996 พวกเธอก็ได้เซ็นสัญญากับ Virgin Records ออกซิงเกิ้ลแรก Wannabe และเปลี่ยนชื่อเป็น Spice Girls ในที่สุด

เพลง Wannabe เปิดตัวครั้งแรกได้ที่ 3 บนชาร์ตเกาะอังกฤษ แต่ในเวลาต่อมามันก็ไต่ไปครองอันดับ 1 ได้ถึง 7 สัปดาห์ ก่อนข้ามมาคว้าอันดับ 1 ในชาร์ต Billboard Hot 100 ของอเมริกาได้นานถึง 4 สัปดาห์ และกระจายขึ้นอันดับ 1 ในอีก 35 ประเทศทั่วโลก, คว้ารางวัล BRIT Awards สาขาซิงเกิลแห่งปี 1997 และที่สำคัญหลังจากนั้น Single ต่อมาของพวกเธอหลังจากนั้นไม่ว่า Say You’ll Be There, 2 Become 1 ,Mama ต่อท้ายด้วย Who Do You Think You Are ก็ขึ้นอันดับ 1 ในอังกฤษและอีกกว่า 50 ประเทศทั่วโลกได้แบบไม่มีพลาด ทำยอดขายอัลบั้มรวมทั่วโลกไปกว่า 23 ล้านก๊อปปี้ทั่วโลก แถมยังรั้งครองตำแหน่งซิงเกิลและอัลบั้มของวงหญิงล้วนที่ ‘ขายดีที่สุดในโลก’ มาจนถึงปัจจุบัน

สิ่งที่ทำให้พวกเธอได้รับความนิยมอย่างมากนั้น ไม่ใช่เพียงเพราะการโปรโมต หรือการนำเสนอเพลง โชว์ หรือ แฟชั่น เท่านั้น สิ่งที่พวกเธอนำเสนอคือ ปรัชญา Girl Power หรือความเชื่อมั่นใน ‘พลังหญิง’ ซึ่งในตอนแรกนั้นพวกเธอไม่ได้ตั้งใจที่จำสร้างกระแสนี้ออกมา แต่ที่ผ่าน ๆ มานั้นพวกเธอนั้นเคยโดนปฏิเสธมาหลายครั้งจากค่ายต่าง ๆ และที่ผ่านมานั้นพวกเธอถูกตอกหน้าด้วยเหตุผลที่ว่าผู้หญิงนั้นไร้จุดขาย

การที่พวกเธอมายืนตรงจุดนี้ได้พวกเธอฟันฝ่าอะไรมาด้วยกันมากพอสมควร พวกเธอจึงต้องการขับเคลื่อน “พลังหญิง” ว่าผู้หญิงเองนั้นก็มีความสามารถและทำอะไรได้หลาย ๆอย่างประสบความสำเร็จไม่แพ้ผู้ชาย ซึ่งมันไม่ใช่กระแสชั่วครั้งชั่วคราวสิ่งที่พวกเธอสร้างกลับกลายเป็นสิ่งขับเคลื่อนกระแสสังคม และเป็นการกรุยทางให้กับวงหญิงล้วนน้องใหม่ สามารถมีที่ยืนในวงการมากยิ่งขึ้นอีกด้วย Spice Girls ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก มากเสียจนเปิดทีวีเวลาไหนก็เจอพวกเธอ เพลงของเธออยู่ในทุกรายการเพลงต่างประเทศ ทุก ๆ ชั่วโมงต้องมีเพลงของพวกเธอวนมาอย่างน้อย 1 ครั้ง พวกเธอไม่ใช่เพียงวงดนตรีหญิงล้วนอีกแล้ว พวกเธอคือพายุที่ขับเคลื่อนสังคมให้เกิดความเปลี่ยนแปลงนั่นเอง

กาลเวลาผ่านไปสมาชิกเริ่มออกไปมีครอบครัว บ้างไปทำอัลบั้มเดี่ยวของตน ต่างคนต่างทั้งประสบความสำเร็จ และผิดหวังในชีวิตกันไป แต่เป็นเรื่องที่ชีวิตชนปกติล้วนต้องเจอและประสบ แต่ยามใดที่พวกเธอทั้ง 5 คนกลับมายืนพร้อมกันในเวที เมื่อนั้นโลกทั้งโลกจะหยุดนิ่งและหันมาดูพวกเธออย่างไม่วางตา ผ่านวันเวลามากว่า 27 ปีแล้ว และไม่รู้ว่า จะมีโอกาสใดที่พวกเธอจะมารวมตัวกันในสักคอนเสิร์ตหรือไม่ แต่ภารกิจ Girl Power ที่เปลี่ยนพัดแนวความคิดของสังคมนั้นได้ลุล่วงและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี พวกเธอคือพลังหญิงที่กระทำภารกิจสำเร็จ และทั่วโลกยังรักและคิดถึงพวกเธอ  Always

ผมมักจะพูดอยู่เสมอว่า ซีรี่ส์สารคดีของ Devid Beckham ที่ฉายอยู่ใน Netflix ตอนนี้นั้น เป็นซีรี่ย์ที่ดีดูเพลิน