North Sentinel Island
นับตั้งแต่มนุษย์มีวิวัฒนาการและเทคโนโลยีที่พัฒนา สิ่งที่ชนมนุษย์เราได้กระทำก็คือการสำรวจสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่บนโลกใบนี้ ทั้งสถานที่และสิ่งมีชีวิต แต่การสำรวจนับตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ก็ยังคงทำการสำรวจได้ไม่ทั่วถึง ยังมีอีกหลากหลายที่ที่มนุษย์เรายังไม่สามารถเข้าไปทำการสำรวจได้ทั่ว สถานที่แห่งนี้มีชื่อว่า “หมู่เกาะเซนติเนล เหนือ”ตั้งอยู่บริเวณหมู่เกาะอันดามัน และ นิโคบาร์ ของประเทศอินเดียหรืออีกชื่อที่คนไทยเรียกว่า เกาะ “นาควารี” นั่นเอง
เมื่อช่วงปลายปีที่แล้วครับ เกาะเซนติเนล เหนือ มีชื่อปรากฏขึ้นอีกครั้งในหน้าฟีดข่าวต่าง ๆ ด้วย นายจอห์น อัลเลน เชา ชายชาวอเมริกันวัย 27 ปี ได้เดินทางไปที่หมู่เกาะแห่งนี้ จะด้วยความต้องการจะนำอาหารไปให้ หรือเข้าไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับคนพื้นเมืองเพื่อทำการสำรวจก็ตาม แต่เรื่องกลับไม่เป็นไปตามสิ่งที่เขาคาดหวังเขาไม่ได้รับการต้อนรับที่ดีจากชนพื้นเมืองที่นั่น และสิ่งที่เขาต้องชดใช้ในการเข้าไปในเกาะนี้คือชีวิตของเขาเอง จากปากคำบอกเล่าของชาวประมงที่ได้พานายหนุ่มมะกันรายนี้เข้าไปในเกาะ เล่าว่านาย ทันทีที่นายจอห์น ย่างเท้าเข้าสู่พื้นเกาะ เขาก็ถูกชนพื้นเมืองยิงด้วยธนูจนเสียชีวิต จากนั้นจึงถูกนำร่างออกมาวางไว้บนชายหาด
เหตุการณ์ที่ชนพื้นเมืองทำร้ายผู้ที่ย่างเท้าเข้าไปในเกาะนั้นไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรกครับ ย้อนหลังไปเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2517 ทีมงาน National Geographic ผู้ผลิตรายการสารคดีชื่อดัง ก็ได้เคยเดินทางเข้าไปยังเกาะแห่งนี้ เพื่อที่จะถ่ายทำสารคดี แต่เมื่อทีมงานทั้งหมดกำลังจะลงจากเรือ ก็ถูกเจ้าถิ่นระดมยิงธนูใส่ จนทีมงานคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ และแผนงานการถ่ายทำสารคดีเป็นอันต้องยกเลิกไปเพราะเข้าไปในเกาะไม่ได้
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นคือเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2549 ได้มีชาวประมง 2 คนขึ้นเรือหาปลา และได้สูญหายไปในบริเวณใกล้ ๆ เกาะเซนติเนลตอนเหนือ ทางการของอินเดียได้ออกค้นหาและพบว่าเรือของชาวประมงจอดอยู่ที่บริเวณชายฝั่งของเกาะ และมีกองดินสองกองอยู่ไม่ไกลจากเรือ ซึ่งแน่นอนครับมันคือหลุมฝังศพ ทางการอินเดียต้องใช้วิธีการขับเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์หลอกล่อ เพื่อจะเข้าไปทำการขโมยศพชาวประมงกลับมาให้กับทางญาติของผู้เสียชีวิตแต่ก็นำพากลับมาได้เพียงแค่ร่างเดียว เพราะชาวเซนติเนลล่วงรู้ถึงแผนการครั้งนี้
เรื่องราวของชนพื้นเมืองและเกาะเซนติเนล เป็นเรื่องที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ แต่ชนพื้นเมืองบนเกาะเซนติเนล กลับยึดมั่นกับจุดยืนในเรื่องสังคมปิด ไม่ติดต่อกับโลกภายนอกถือเป็นอีกหนึ่งชนพื้นเมืองไม่กี่แห่งในโลกที่ยังคงปิดตัวเองจากโลกภายนอกมาจนถึงปัจจุบัน ชนพื้นเมืองที่คาดว่ามีจำนวนประมาณไม่เกิน 150 คน อาศัยอยู่บนเกาะขนาด 20 ตารางไมล์ (ประมาณ 32,000 ไร่) อย่างสงบสุขและเชื่อว่าพวกเขารักษาวิถีชีวิตแบบนี้มายาวนานกว่า 30,000 ปี บางแหล่งเชื่อว่าอาจมากกว่า 50,000 ปี
นักวิชาการบางรายคาดคะเนว่าชาวเซนติเนลบนเกาะ มีแนวโน้มเป็นกลุ่มคนที่เดินทางออกจากแอฟริกาเป็นกลุ่มแรก ๆ คาดการณ์ว่าเส้นทางเดินทางคือเข้ามาผ่านทางตะวันออกกลาง พม่า และอินเดีย สุดท้ายก็มาถึงแถบเกาะอันดามัน บางกลุ่มอาศัยอยู่บนเกาะเซนติเนล ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ ซึ่งเชื่อว่าพื้นที่สมบูรณ์ถึงขั้นที่ชนพื้นเมืองไม่จำเป็นต้องเพาะปลูกบนเกาะ ฝ่ายชายอาศัยการล่าเต่า และหมูป่าด้วยหอก ธนู และสร้างกับดัก ส่วนฝ่ายหญิงเก็บพืชผลและจับปลาด้วยตาข่ายที่ผลิตเอง ขณะที่บางกลุ่มออกเดินทางต่อไปอาศัยอยู่ที่แห่งอื่น การแต่งกายของชนพื้นเมืองบนเกาะส่วนใหญ่แล้วจะเปลือยกาย มีแค่บางรายที่ใช้ใบไม้ทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม หรือมีเครื่องประดับ บางชนพื้นเมืองกลุ่มนี้มีกิจกรรมทางเพศบนชายหาดอย่างเปิดเผย และพวกเขาปฏิเสธการต้อนรับแขกแทบทั้งหมด และมักขับไล่ทุกคนที่รุกรานเข้ามาด้วยลูกธนู หรืออาวุธมีดขนาดใหญ่
กล่าวกันว่าชนพื้นเมืองกลุ่มนี้ ยังคงลักษณะการใช้ชีวิตแบบคนป่ามาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบันนี้ บันทึกของมาร์โค โปโล นักเดินทางชาวอิตาลีที่มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 13 – 14 ที่ได้เคยเดินทางผ่านฝั่งอันดามันก็มีข้อความระบุถึงชนพื้นเมืองบนเกาะที่เขาพบว่า “พวกเขาเป็นกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงและโหดที่สุด กินทุกอย่างที่จับได้”
ประเทศไทยและคนไทยตั้งแต่สมัยอยุธยานั้น เคยแล่นเรือผ่านอยู่บ่อย ๆ ขอขยายความเล่าให้ฟังดังนี้ครับ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวถึงหมู่เกาะเซนติเนลไว้อย่างละเอียดว่า
“อันที่จริงแล้ว เกาะเซนติเนลเหนือถูกบันทึกอยู่ในตำนาน วรรณคดีไทย และสมุดภาพไตรภูมิอยู่เล็กน้อย แม้แต่สุนทรภู่ก็เคยเขียนถึงเกาะแห่งนี้ในเรื่องพระอภัยมณีด้วยซ้ำ โดยสุนทรภู่เรียกเกาะเซนติเนลเหนือว่า เกาะนาควารินทร์ ซึ่งแปลว่า ถิ่นของคนเปลือย” “คำว่า นาค ของคนไทย มักจะนำมาแปลความว่า งู หรือพญานาค แต่คำว่า นาค ในที่นี้มาจาก นัคคะ ที่แปลว่า คนเปลือย แต่พอคนไทยฟังมาเรื่อย ๆ จึงเพี้ยนเป็นคำว่า นาค โดยสุนทรภู่เอง ก็ได้นำคำว่า นาค มาแปลว่า คนที่มาจากงูเช่นกัน”
อีกทั้ง อาจารย์ ธรณ์ ได้หยิบยกบทกลอนของสุนทรภู่บางช่วงบางตอน ที่พรรณนาถึงเกาะดังกล่าวให้เราฟังว่า “ถึงเจ็ดวันเจ็ดคืนเป็นคลื่นคลั่ง เรือที่นั่งซัดไปไกลนักหนา จนพ้นแดนแผ่นดินสิ้นสายตา ไม่รู้ว่าจะไปหนตำบลใด...ทะเลนี้มิใช่แคว้นแดนมนุษย์ ปรอทแร่แม่เหล็กก็มีมาก ชื่อว่านาควารินทร์ สินธุ์สมุทร...ถ้ายั้งหยุดอยู่ที่นี่จะมีภัย”
สำหรัลสมุดภาพไตรภูมินี้ อาจารย์ได้อธิบายว่า สมุดภาพได้ถูกทำขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และยุคต้นรัตนโกสินทร์ ได้มีการเขียนแผนที่โบราณระบุถึงเมืองลังกาอยู่เสมอ และจะต้องมีชื่อและภาพนาควารีเกาะคนเปลือยอยู่ทุกฉบับ ซึ่งเกาะนี้เป็นที่รู้จักกว้างขวางในหมู่นักเดินเรือสมัยนั้น ส่วนสาเหตุของการมีและจัดทำแผนที่ดังกล่าว มีสาเหตุมาจากอาณาจักรสยามได้มีการส่งคณะสงฆ์ไปยังลังกาบ่อยครั้ง ด้วยสาเหตุของการศึกษาในเรื่องพระพุทธศาสนารวมไปถึงการไปสักการะพระพุทธบาท โบราณที่ลังกาอีกด้วย สมัยอยุธยาได้มีบันทึกถึงชนเผ่าในเกาะนาควารีไว้ว่า
“ในเกาะนั้นมีคนอยู่เป็นอันมาก แต่ว่าหามีข้าวกิน หามีผ้านุ่งห่มไม่ ผู้หญิงนั้นนุ่งเปลือกไม้ แต่พอปิดที่อายหน่อยหนึ่ง ผู้ชายนั้นเอาเชือกคาดเอวแล้วเอาผ้าเตี่ยวเท่าฝ่ามือห่อที่ความอายไว้”
เมื่อเข้าสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ได้มีการส่งพระสงฆ์ไปลังกาอีกครั้ง (ปี พ.ศ.2357) และได้มีบันทึกของพระสงฆ์จากการเดินทางครั้งนั้นไว้ถึงเกาะนาควารีไว้ว่า “แลเกาะเล็กน้อยมีอยู่ใกล้เคียงเกาะนาควารีย์ที่แลไปเห็นนั้น จะนับประมาณมิได้...คนในเกาะนั้นกินคน ถ้าแลเรือซัดเข้าไปเถิงที่นั้นแล้ว มันช่วยกันไล่ยิงด้วยหน้าไม้ จับตัวได้เชือดเนื้อกินเป็นอาหาร อันนี้เป็นคำบอกเล่าหลายปากแล้ว ก็เห็นจะมีจริง แต่มิได้เห็นด้วยจักษุ”
เรียกได้ว่าชนเผ่านาควารี หรือชนเผ่าเซนติเนลนั้น ยังคงลักษณะของสังคมปิดมาแต่เดิมจนถึงปัจจุบัน แต่ใช่ว่า ที่ผ่านมานั้น จะไม่มีใครสามารถเข้าไปติดต่อกับชนเผ่าดังกล่าวได้เลย เพราะมีข้อยกเว้นให้กับชายคนหนึ่งครับ ชายคนนี้มีชื่อว่า (T.N. Pandit) นักมานุษยวิทยาชาวแคชเมียร์วัย 84 ปี ซึ่งดำรงตำแหน่งระดับสูงของกระทรวงที่รับผิดชอบดูแลกลุ่มคนพื้นเมืองของอินเดีย โดยนักมานุษยวิทยาท่านนี้ เป็นนักวิชาการคนเดียว ที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับเกาะเซนติเนลเหนือ ซึ่งข้อมูลทุกอย่างนั้นมาจากการคาดการณ์จากภาพที่เขาเคยเห็นทั้งสิ้นและเขาเข้าไปติดต่อกับคนในเกาะมาแล้วอีกด้วย
คำถามคือเขาทำได้อย่างไร ในเมื่อชนพื้นเมืองของเกาะเซนติเนลพร้อมที่จะฆ่าผู้รุกรานทุกคนที่เข้าไปยังเกาะแห่งนี้ คำตอบที่ได้คือ นายที เอ็น พันดิท คนนี้และทีมงานไม่ได้เหยียบย่างขึ้นไปบนแผ่นดิน แต่ยืนแช่น้ำทะเลสูงระดับคอ พร้อมกับยื่นสิ่งของต่าง ๆ แลกเปลี่ยนให้กับชาวเซนติเนล ในขณะเดียวกัน ก็ถูกชาวเซนติเนลที่อยู่บริเวณชายฝั่งคอยเฝ้าสังเกตการณ์และเล็งธนูเข้าใส่อยู่ในสถานะพร้อมยิงอยู่ตลอดเวลา แต่การติดต่อของนาย ที เอ็น พันดิท กับชนพื้นเมืองเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ครั้ง และใม่เกิดขึ้นอีก เพราะว่าเกาะชนพื้นเมืองแห่งนี้ ผ่านพ้นช่วงเวลามาอย่างยาวนาน ปกป้องตนเอง รอดพ้นจากหลายๆอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นยุคของการล่าอาณานิคม หรือภัยธรรมชาติต่าง ๆ สิ่งแรกคือปกป้องชีวิตของผู้ที่เข้าไปในเกาะไม่ถูกชนพื้นเมืองทำร้าย
แต่อีกเหตุผลหนึ่งคือ ชาวเซนติเนลใช้ชีวิตแบบวิถีดั้งเดิมมาแต่โบราณ ไม่เคยหาหมอหรือรับวัคซีนป้องกันโรค คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ไข้หวัด หรือ โปลิโอ มาแต่ใด ๆ ดังนั้นร่างกายชนพื้นเมืองแข็งแรงก็จริง แต่ก็ปราศจากภูมิคุ้มกันโรค เพียงแค่ติดไข้หวัดธรรมดา ๆ ก็สามารถคร่าชีวิตของชนพื้นเมืองได้แล้ว และแน่นอนครับ สุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของชนพื้นเมืองที่เกาะแห่งนี้ นี่จึงน่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลอินเดีย ได้กำหนดให้เกาะเซนติเนลเหนือเป็นพื้นที่หวงห้าม ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอก หรือแม้แต่กองทัพเรือของอินเดียเอง เข้าใกล้เกาะในรัศมี 5 กิโลเมตร เพื่อปกป้องที่อยู่อาศัยของชนเผ่าเซนติเนลที่ตัดขาดจากโลกภายนอกมาตลอด ผู้ใดที่เข้าไปถือว่ากระทำผิดกฎหมาย มีโทษนั่นเอง