ที่มาของตำรวจไทย
ตำรวจ เป็นอาชีพต้องคำสาป หนึ่งในสายอาชีพราชการที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด และเป็นที่เกลียดชังมากที่สุด แต่ก็เป็นอาชีพที่เทียบตามอัตราส่วนการสอบเข้าในสายราชการแล้ว กลับมีคนมาสมัครสอบคัดเลือกมากที่สุด ย้อนแย้งกับความเกลียดชังที่ได้รับนัก
ตำรวจก็เหมือนคนทั่วไปมีทั้งดีและไม่ดี และต่อให้คนเกลียดอย่างไรสุดท้ายก็หนีไม่พ้นต้องพึ่งพาตำรวจ ผัวเมียตีกัน ทะเลาะวิวาท โจรขึ้นบ้าน คนบ้าเมายาอาละวาด โดนบุกรุก ก็ไม่พ้นต้องเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจมาช่วยสะสางอยู่เรื่อยไป
ตำรวจนั้นมีมานานหลายร้อย ๆ ปีแล้วครับ แต่มีการตั้งหน่วยก่อตั้งเป็นจริงเป็นจังในสมัยของรัชกาลที่ 4 สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เรื่องแปลกครับ ตำรวจไทยยุคแรก ๆ นั้นกลับไม่ใช่คนไทยเสียนี่ และโดนประชาชนรังแกแกล้งเล่นเอาเสียด้วย เป็นอย่างไรลองติดตามดูครับ
ในประเทศไทย กิจการตำรวจไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าก่อตั้งเมื่อใดสมัยใด แต่มีผู้สันนิษฐานว่า มีตั้งแต่ปลายสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ราว พ.ศ. 1890 เพราะมีกฎหมายลักษณะโจร เมื่อมีโจรก็ต้องมีตำรวจถูกไหมครับ เราจึงตั้งสมมุติฐานไว้ก่อนว่า ตำรวจในประเทศไทยน่าจะเริ่มต้นมีมาตั้งแต่สมัยนั้น ส่วนใครจะเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ค่อยมาว่ากันอีกทีหากมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เพิ่ม แต่กิจการของตำรวจมาเด่นชัดขึ้นในสมัย อยุธยา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ.1918 ท่านทรงปกครองบ้านเมืองแบบจตุสดมภ์ คือเวียง วัง คลัง นา กิจการตำรวจจึงแบ่งออกเป็นตำรวจพระนครบาลและตำรวจภูธรโดยขึ้นอยู่กับเวียง แต่ตำรวจหลวงขึ้นอยู่กับวังผู้เป็นตำรวจก็ต้องได้รับคัดเลือกจากผู้สืบเชื้อสายจากตระกูลที่ประกอบความดีมาก่อนจึงได้รับไว้วางพระราชหฤทัย การบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ และปฏิบัติหน้าที่ในวงจำกัด
มาในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้จัดตั้งกองตำรวจสำหรับรักษาความสงบเรียบร้อยในพระนคร ตามแบบตะวันตกเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2403 เพื่อทำหน้าที่ระงับเหตุจากโจรผู้ร้ายที่ก่อความเดือดร้อนให้กับประชาชน รวมไปถึงระงับเหตุซึ่งหน้าต่าง ๆ ซึ่งแต่เดิมก่อนที่จะมีการจัดตั้งกองตำรวจนั้น มีหน่วยที่เรียกว่า “ข้าหลวงกองจับ” หรือที่เรียกอีกอย่างว่า “ตำรวจหวาย” ซึ่งทำหน้าที่คล้ายตำรวจ คอยช่วยเหลือตุลาการในการพิพากษาคดี และมีหน้าที่ลงโทษโบยหวายลงหลัง แต่ข้าหลวงกองจับมีหน้าที่เฉพาะด้านไม่สามารถไประงับเหตุต่าง ๆ จึงต้องจัดตั้งกองตำรวจขึ้นมา
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงจ้างกัปตัน เอส. เจ. เบิด เอมส์ (Capt. Samuel Joseph Bird Ames) ชาวอังกฤษมาวางโครงการจัดตั้งกองตำรวจ โดยตั้งเป็นกองโปลิศคอนสเตเบิลหรือกองตำรวจรักษาความสงบเรียบร้อยในพระนคร มีกัปตันเอมส์เป็นผู้บังคับกองนั่นเอง ซึ่งกล่าวได้ว่ากัปตันเอมส์ รายนี้เป็นเป็นตำรวจคนแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่มีหลักฐานและมีตัวตนอย่างชัดเจน
ตัวของกัปตันเอมส์ มาจากประเทศอังกฤษครับ เกิดเมื่อราว ปี ค.ศ. 1832 หรือปี พ.ศ. 2375 อาชีพเดิมคือกัปตันเรือ จนมาค้าขายปักหลักในประเทศไทยช่วงนั้น การควบคุมเรือและการฝึกระเบียบการเดินเรือในสมัยก่อนนั้นมีกฎระเบียบเข้มงวดมาก มีลำดับชั้นในการปกครองไม่ต่างจากทหาร ตำรวจ ตั้งแต่กัปตันเรือ รองกัปตันเรือ ลูกเรือ อาจจะเป็นสารตั้งต้นที่ทำให้ปฏิบัติหน้าที่ตำรวจได้ดีก็เป็นได้
นอกจากหัวหน้าตำรวจคนแรกของประเทศไทยเป็นคนอังกฤษแล้ว ตำรวจชุดแรกที่ลงทำงานปฏิบัติหน้าที่ก็ไม่ใช่คนไทยครับ ซึ่งเมื่อกัปตันเอมส์ รับสนองพระบรมราชโองการตั้งกองตำรวจ ก็ได้ว่าจ้างแขกมลายูและแขกอินเดียซึ่งเคยเป็นลูกน้องเก่าของกัปตันเอมส์ และพวกที่เคยเป็นทหาร ตำรวจ ที่สิงคโปร์มาเป็นพลตำรวจอีกด้วย ซึ่งก็ได้ตั้งกองแห่งแรกที่ย่านสำเพ็งซึ่งเป็นย่านค้าขายที่มีผู้คนหนาแน่น
เสือข้ามแดนหรือจะสู้หนอนเจ้าถิ่น เป็นชาวต่างชาติทั้งดุ้นมาเป็นตำรวจในประเทศอื่นมันไม่ใช่เรื่องง่าย เจ้าถิ่นคนไทยที่ไหนจะกลัว แถมพูดอะไรคนไทยฟังก็ฟังไม่รู้เรื่อง ชาวบ้านแทบไม่เห็นหัวไม่เกรงขามความเป็นตำรวจเลยครับ ชาวบ้านต่างล้อเลียนแถมแกล้งซ้ำเสียอีก แต่กองตำรวจที่นำโดย กัปตันเอมส์ก็อดทนปฏิบัติหน้าที่โดยเคร่งครัด แม้มีอุปสรรคเรื่องภาษาสื่อสาร แต่กองตำรวจก็ได้ปราบมิจฉาชีพให้ลดน้อยลงมาก จนเป็นที่ชื่นชม
ต่อมากองตำรวจก็ได้ย้ายไปตั้งอยู่ที่ตรงสามแยกต้นประดู่ใช้ชื่อเรียกว่า โรงพักโปลิสสามแยก หรือสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย ในปัจจุบัน ซึ่งในปี 2412 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ขยายกิจการตำรวจให้เป็น “กองโปลิส” ซึ่งกองโปลิสดังกล่าวก็ได้ออกปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขัน ปราบปรามกลุ่มชาวจีนที่มาตั้งเป็นอั้งยี่ซ่องโจร รวมไปถึงการเข้าระงับเหตุวิวาทจลาจลของกลุ่มขาใหญ่ในพื้นที่มากมาย และป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีก นับเป็นผลงานการปราบปรามชิ้นใหญ่ที่สำคัญมากในสมัยนั้น
กิจการตำรวจขยายขึ้นอย่างต่อเนื่องครับ กัปตันเอมส์ก็มีส่วนในการวางรากฐานตำรวจอยู่มาก และมีส่วนในการตรากฎหมายตำรวจที่สำคัญอยู่หลายข้อ แต่เหตุร้ายก็ไม่ได้มีแค่ในพระนคร ในต่างจังหวัดก็มีเหตุอาชญากรรมรวมถึงเหตุความวุ่นวายเกิดขึ้นด้วยเช่นกันไม่ต่างจากในพระนคร กัปตันเอมส์ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบกองตำรวจในเวลานั้นจึงได้ส่งตำรวจไปประจำตามต่างจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งต่อมาก็ได้จัดตั้งเป็นตำรวจภูธรนั่นเอง
กิจการตำรวจขยายตัวขึ้น กำลังพลจึงเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ จึงได้มีการเปิดรับสมัครบุคคลภายนอกเพื่อมาเป็นตำรวจ ซึ่งก็ได้มีคนไทยมาสมัครเข้ารับราชการมากมาย กัปตันเอมส์จึงได้ริเริ่มเครื่องแบบของตำรวจขึ้นตามแบบอังกฤษ สวมเสื้อสีน้ำเงิน อีกทั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ยกฐานะตำรวจไทยให้มีฐานะเหมือนข้าราชการของกรมพระนครบาลสังกัดอื่น ๆ อีกด้วย พร้อมทั้งให้ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ พระอนุชา มาดำรงตำแหน่งเสนาบดีกรมพระนครบาลรับผิดชอบกิจการตำรวจ ซึ่งกองตำรวจได้ขยายกิจการมาเรื่อย ๆ ผ่านช่วงเวลามาอย่างยาวนาน เปลี่ยนชื่อเรียกตามยุคสมัย มีโรงเรียนเฉพาะทางศึกษางานตำรวจเฉพาะทางของตนเอง ก่อตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจห้วยจรเข้ และย้ายมาเป็นโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพรานในปัจจุบัน รวมไปถึงก่อตั้งโรงเรียนพลตำรวจในแต่ละภูธรอีกด้วย ซึ่งกองตำรวจขยายใหญ่ขึ้น ตามอัตรากำลังพล และการขยายตัวของเมืองตามลำดับ จนมาเป็นกองบัญชาการตำรวจแห่งชาติในปัจจุบันนั่นเองครับ
ส่วนตัวกัปตันเอมส์นั้นดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจมาจนถึงพ.ศ. 2414 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงรัฐยาธิบาลบัญชา ถือศักดินา 600 ไร่ และรับราชการต่อถึง พ.ศ. 2435 จึงปลดเกษียณ และถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2444 สิริรวมอายุ 69 ปีนับเป็นตำรวจคนแรกของประเทศไทยที่มีบทบาทสำคัญต่อวงการตำรวจตราบมาจนถึงปัจจุบัน