Twins & Partners พยากรณ์อากาศ ทำนายโลกอนาคต "สุนิดา - สุหัชชา สวัสดิพรพัลลภ"

Twins & Partners พยากรณ์อากาศ ทำนายโลกอนาคต "สุนิดา - สุหัชชา สวัสดิพรพัลลภ"

   ถ้าลองสังเกตสภาพอากาศในปัจจุบันของบ้านเรา เมื่อเปรียบเทียบกับอดีต มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เช่นเมื่อเข้าหน้าฝน ทุกปีจะเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่มีปริมาณน้ำฝนที่ตกมากผิดปกติ บางครั้งมีฝนตกขอกฤดู หรือแม้แต่ฤดูร้อนก็ร้อนจัดจนทำให้เกิดภัยแล้ง ซึ่งคนส่วนหนึ่งอาจไม่ได้สนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมากนัก แต่ผู้ที่คลุกคลีอยู่ในด้านนี้กลับมองเห็นอนาคตที่โลกต้องเผชิญ เรากำลังพูดถึงผู้ประกาศข่าวพยากรณ์อากาศอย่างคุณ สุนิดา (เตย) – สุหัชชา (แตง) สวัสดิพรพัลลภ โดยสามารถพบพวกเธอได้ที่ รายการ TNN EARTH ทาง TNN ช่อง16 ที่นอกจากจะพยากรณ์อากาศให้เราได้ชมในช่วงเช้าและช่วงค่ำแล้ว รายการของเธอสองคน ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้นบนโลกอีกด้วย เรื่องราวชีวิตของเธอทั้งสองคนเกิดและเติบโตในครอบครัวชนชั้นกลาง โดยมีพี่น้องอีก 2 คน คือพี่สาวและน้องชาย ทั้งคู่เริ่มเรียนที่โรงเรียนราชินี ซึ่งเป็นโรงเรียนหญิงล้วน เมื่อถึงช่วงเวลาที่ต้องเข้าเรียนมหาวิทยาลัย แม้ไม่ได้ตั้งใจจะสอบเข้าที่เดียวกัน แต่ด้วยความบังเอิญกลับสอบติดที่เดียวกัน จึงทำให้ได้เข้าเรียนพร้อมกันในคณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาและวรรณคดีอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้มีสังคมและเพื่อนกลุ่มเดียวกัน เมื่อมีกิจกรรมอะไรก็ต้องทำร่วมกัน รวมถึงแนวคิดทัศนคติก็ไปในทิศทางเดียวกันด้วย

เส้นทางการเข้ามาทำงานผู้ประกาศข่าวของพวกคุณมีความเป็นมาอย่างไร
คุณเตย : ในช่วงที่กำลังเรียนจบอยู่ปี 4 พวกเราเห็นช่อง ททบ. 5 ประกาศรับสมัครผู้ประกาศข่าว ก็คิดหางานเอาไว้ก่อน จึงยื่นใบสมัครไป มีการคัดเลือกผ่านเข้ารอบมาเรื่อย ๆ ก็คิดว่าถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่ช่วงที่เรียนจบพอดี ช่อง ททบ. 5 ก็ติดต่อมาว่าสนใจฝาแฝดอยากได้มาอ่านข่าวพยากรณ์คู่กัน พวกเราก็ดีใจมากจึงตอบรับงานนี้ไป
คุณแตง : ตอนนั้นผู้ใหญ่ทาง ททบ. 5 ให้ทำข่าวพยากรณ์อากาศ แม้เราไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องพยากรณ์อากาศ แต่ก็รับไว้ก่อน หลังจากนั้นค่อย ๆ เรียนรู้การทำงานจนสามารถทำได้ค่ะ


พวกคุณเป็นนักศึกษาจบใหม่ไม่มีประสบการณ์ แต่ทำไมถึงเลือกที่จะทำงานในสายพยากรณ์อากาศ
คุณแตง : ถ้าย้อนกลับไปในช่วงที่เราเริ่มทำงานกับช่อง ททบ.5 ราว 10 ปีก่อน ข่าวพยากรณ์อากาศมีการแข่งขันที่สูงมาก อย่างช่อง 3 ก็มีข่าว 360 องศา ช่อง 7 ก็มีคุณเปรมสุดา สันติวัฒนา ทางช่อง ททบ. 5 จึงอยากมีสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาบ้าง จึงเลือกเราสองคนมาพยากรณ์อากาศ อยากให้เป็นสไตล์พี่น้องฝาแฝดคุยกัน สบายๆ

 

หลังจากทำงานที่ช่อง ททบ.5 มาหลายปี การย้ายมาทำมาที่ TNN ช่อง 16 ต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง
คุณเตย : เยอะเลยค่ะ พอเรามาอยู่ที่ช่อง TNN ช่อง 16 บทบาทการทำงานเปลี่ยนมากขึ้น จากตอนที่อยู่ช่อง ททบ. 5 เป็นผู้ประกาศข่าวและช่วย Producer แต่ว่าพอเรามาอยู่ช่อง TNN ช่อง 16 พวกเรารับบททั้งผู้ประกาศข่าวและเป็น บก.รายการเต็มตัว ดูแล Content ทั้งหมด 
ต้องคิดวางแผนกลยุทธ์ ของรายการ เพราะว่ารายการ TNN EARTH มันไม่ใช่แค่รายการที่ออนแอร์อย่างเดียวนะคะ แต่ TNN EARTH มีหลายแพลตฟอร์มทั้ง YouTube, Facebook, Tiktok, LINE OA คือมันมีทุกช่องทาง พวกเราจึงต้องวางแผนและทำการบ้านกันตลอด
คุณแตง : เราจะดูในเรื่องเบื้องหลังว่าควรทําอย่างไรให้รายการของเราน่าสนใจ มีคนดูยอดวิวเพิ่มขึ้น อาจต้องใช้เทคนิคต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้ชมเข้ามาติดตาม

ปกติคุณสองคนทำงานด้วยกันมีความเห็นขัดแย้งกันบ้างไหม
คุณเตย : ไม่ค่ะ เรียกว่าแทบจะไม่มีเลยก็ได้
คุณแตง :  ปกติเราสามัคคีเป็นทีมเดียวกันไม่แข่งกัน จะช่วยเหลือกันมากกว่า 

ในความเป็นจริงคุณสองคนมีความเห็นไม่ตรงกันเรื่องอะไรมากที่สุด
คุณแตง :  ถ้าเรื่องความคิดไม่ค่อยมีอะไรที่ขัดแย้งกัน เรื่องศาสนา การเมือง การไปเที่ยว ฯลฯ ก็ชอบเหมือนกันหมด
คุณแตง :  สิ่งที่ไม่เหมือนกันมันเป็นเรื่องเล็กน้อยมากอย่างเรื่องการเลือกของกินหรือของใช้

การเป็นฝาแฝดที่ต้องอยู่ด้วยกันตลอดตั้งแต่ตอนเรียนและทำงาน มักมีการเปรียบเทียบตั้งแต่รูปร่างหน้าตารวมทั้งความสามารถ คุณสองคนรู้สึกอย่างไรบ้าง
คุณแตง : ไม่ได้รู้สึกอะไรค่ะ
คุณเตย : พวกเราเป็นคู่ฝาแฝดที่คล้าย ๆ กันมาก เรียนก็เรียนเหมือนกัน งานก็ทำเหมือนกัน คือไม่รู้จะเอาอะไรมาเปรียบเทียบแล้วค่ะ แต่ถ้าใครจะมาเปรียบเทียบเราก็เฉย ๆ นะ คือมันเป็นธรรมชาติ เราเป็นแค่คนคนหนึ่งก็โดนเปรียบเทียบอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติค่ะ

กลับมาเรื่องงานบ้าง ช่วยเล่าชีวิตนักข่าวของคุณสองคนให้เราฟังหน่อย
คุณเตย : เราตื่นกันตั้งแต่ตี 5 เช็คเรื่องอากาศเพื่อเตรียมข้อมูลก่อนเข้ารายการสดตอนเช้าเวลา 7:45 น.พอรายงานพยากรณ์อากาศเสร็จ เราก็กลับขึ้นมาที่ห้องทำงาน อัปเดทข่าวใน Facebook ใน TNN EARTH หลังจากนั้นก็ต้องเตรียมตัวสำหรับข่าวค่ำใน TNN EARTH ซึ่งไม่ได้มีแค่การพยากรณ์อากาศ แต่ยังมีประเด็นที่จะต้องวิเคราะห์เจาะลึก กับเรื่องของสิ่งแวดล้อม เรื่องโลกร้อน ต้องทำการบ้านกันเอง ก็ต้องรวบรวมข้อมูล ออกแบบกราฟิก แล้วไปให้พี่ที่ทำกราฟิกขึ้นจอ คือรวบรวมทุกอย่าง 

   ในส่วนของ LINE OA TNN EARTH ก็ต้องมีวางแผนกลยุทธ์ตลอดทุก ๆ ไตรมาส ว่าฤดูฝนหรือฤดูหนาวผู้ชมจะได้รับประโยชน์อย่างไร อย่าง LINE OA TNN EARTH ถ้าเป็นหน้าฝนเราจะมีปุ่มเช็คเรดาร์ฝน เราจะมีปุ่มแจ้งเตือนจุดน้ำท่วม ซึ่งถือว่าได้รับ Feedback ดีมาก พอหน้าหนาวเราก็เปลี่ยนมาเช็กฝุ่น PM 2.5 
คุณแตง : ส่วนการรายงานพยากรณ์อากาศทางหน้าจอ พวกเราจะสลับตำแหน่งหน้าที่กันตลอด คนหนึ่งทำหน้าที่พยากรณ์อากาศ อีกคนก็จะวิเคราะห์เจาะลึกเรื่องสภาพอากาศแทน โดยสามารถทำแทนกันได้หมดก็จะแบ่งหน้าที่สลับวันกันไป

การพยากรณ์อากาศในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับอดีต มีพัฒนาการที่แม่นยำมากน้อยแค่ไหน
คุณแตง : ทุกวันนี้กรมอุตุนิยมวิทยาของประเทศไทย ตามสถิติมีความแม่นยำเกิน 85% แต่ก็ต้องยอมรับว่า อุตุฯ ทั่วโลกทำงานกันยากขึ้นเพราะสภาพอากาศเปลี่ยนไป ถ้าพยากรณ์อากาศบอกว่าวันนี้ฝนตก บางคนจะแซวกันว่าล้างรถดีกว่า วันนี้ฝนไม่ตกแน่นอน อยากบอกว่าการพยากรณ์อากาศ อย่างน้อยสิ่งที่เราพยากรณ์ออกไปหรือสิ่งที่เราเตือนออกไป เราเอาข้อมูลมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ แล้วจุดประสงค์คือต้องการเตือนภัยให้คุณปลอดภัย 
   มีเรื่องเล่าของประเทศหนึ่งในยุโรปตะวันออก คือทางรัฐบาลกำลังจัดงานวันชาติ จึงได้ถามกรมอุตุวิทยาของประเทศเขาว่าวันนี้จะจุดพลุดีไหม กรมอุตุนิยมวิทยาบอกว่าวันนี้พายุจะเข้าจึงบอกกับรัฐบาลว่า ให้เลื่อนการจุดพลุออกไป พอถึงวัดชาติ ฝนไม่ตกพายุไม่เข้า บทสรุปคือรัฐบาลปลดหัวหน้าของอุตุนิยมวิทยาออกเลย
คุณเตย : ในมุมมองของนักพยากรณ์อากาศหลาย ๆ ประเทศแสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่าทำแบบนี้ไม่ถูก การพยากรณ์อากาศอาจจะเกิดข้อผิดพลาด ไม่เพอร์เฟค 100% เพราะมันคือการ “พยากรณ์” อาจจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ ปัจจุบันนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ทำงานยากขึ้น ที่ต้องแจ้งเตือนสภาพอากาศ แจ้งเตือนภัย ก็เป็นจุดประสงค์ของอุตุนิยมวิทยาทั่วโลกเพื่อให้ทุกคนปลอดภัย

การพยากรณ์อากาศนั้นสำคัญกับบางอาชีพ แต่บางอาชีพอาจไม่จำเป็นนัก ความจริงแล้วเรื่องของการพยากรณ์อากาศมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน
คุณแตง : เรื่องของพยากรณ์อากาศความจริงแล้วสำคัญกับทุกคน ให้เราได้รู้เรื่องของฤดูมรสุม หากเกิดภัยพิบัติจะสามารถแจ้งเตือนให้ประชาชนได้ระวัง แล้วสิ่งที่เรานำเสนอมาจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ คือกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งทางองค์กรเขามีเครื่องมือและเทคโนโลยียุคใหม่ที่แม่นยำ
คุณเตย : ข่าวพยากรณ์อากาศสำหรับคนทั่วไป บางท่านอาจเป็นข่าวที่ไม่ได้น่าสนใจมาก เพราะคิดว่าในทุก ๆ วันอากาศมันก็คล้ายกันหมด แต่ว่าจริง ๆ แล้วมันไม่ใช่ มันมี Detail แต่ในละฤดูแต่ละช่วงมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ประเทศไทยอาจไม่ได้อยู่ในจุดที่มีภัยพิบัติมากนัก แต่ถ้าเกิดมันกำลังจะมีภัยพิบัติ การพยากรณ์อากาศจะสำคัญมาก ๆ 


คุณสองคนกำลังจะบอกว่า การพยากรณ์อากาศเป็นการทำนายภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตบนโลกได้
คุณแตง : ใช่ค่ะ สภาพอากาศในแต่ละวันก็เป็นตัวชี้วัดถึงสภาพภูมิอากาศโลก
คุณเตย : รายการ TNN EARTH ถึงอยากเจาะประเด็นของสภาพอากาศทั่วโลกให้คนรู้ว่า มันมีที่มาที่ไปอย่างไร เกี่ยวข้องกับ Climate Change มากน้อยขนาดไหน แล้วมันจะส่งผลกระทบอย่างไรกับคนในอนาคต

 

ในมุมมองของคุณสองคน สถานการณ์ตอนนี้สภาพอากาศบนโลกของเราวิกฤตมากน้อยแค่ไหน
คุณแตง : จากที่มีการคำนวณว่าอีกประมาณ 100 ปีน้ำจะท่วมโลก หลายคนคิดว่ากว่าจะถึงวันนั้นก็ตายกันหมดแล้ว แต่จริง ๆ ไม่ใช่นะคะ ผลกระทบจากสภาพอากาศ บางทีมันเกิดขึ้นแล้วเพียงแต่ว่าเราปรับตัวได้โดยที่ไม่รู้ตัว อย่างถ้าอากาศร้อนจัด เราก็เข้าห้องแอร์อาบน้ำ หรือในเรื่องของสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แน่นอนว่ามีผลผลิตออกมาในจำนวนน้อยซึ่งจะแพงขึ้น แต่เราก็จ่ายเงินซื้อโดยที่ไม่รู้ว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ตรงนี้ยังไม่รวมพื้นที่อื่น ๆ บนโลกที่เกิดปัญหาอีกมากมาย
คุณเตย : ด้วยความที่ประเทศไทยนั้นโชคดี เป็นประเทศที่มีข้าวปลาอุดมสมบูรณ์มาก แต่ในอีกมุมหนึ่งของโลก เช่น ทวีปแอฟริกาบางประเทศ ตอนนี้เผชิญวิกฤตขาดแคลนอาหารประมาณ 18 ล้านคน แล้วเด็กอีกประมาณ 7 ล้านเป็นโรคขาดสารอาหาร สิ่งเหล่านี้เกี่ยวกับเรื่องของ Climate Change เป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก เพียงแต่ประเทศไทยยังไม่ได้ไปอยู่จุดนั้น 

แสดงว่าจากที่เราเห็นในข่าวอย่างเรื่องของน้ำท่วมหรือคลื่นความร้อนในหลายประเทศ มันส่งสัญญาณให้เห็นแล้วใช่ไหม
คุณเตย /คุณแตง ::ใช่ค่ะ
คุณแตง : สภาพอากาศแปรปรวนจริง ๆ จากการศึกษาพบว่าขณะนี้มี 4 อาชีพ ที่รู้ว่าตอนนี้โลกของเราไม่เหมือนเดิมแล้วคือ 1.นักอุตุนิยมวิทยา หรือว่านักวิทยาศาสตร์ พวกเขามีข้อมูลเชิงสถิติมากมายสามารถวัดผลได้ 2. เกษตรกร ในหลายประเทศเกิดภัยพิบัติมากมาย 3. นักดับเพลิง คือในต่างประเทศอาชีพนักดับเพลิงก็ทำงานหนักมาก เพราะมีไฟป่าบ่อยครั้ง 4. ผู้ประกาศข่าวพยากรณ์อากาศ จากที่เราทำงานมาประมาณ 10 ปี รู้เลยว่ามันไม่เหมือนเดิมแล้ว อย่างเดือนกันยายนที่ผ่านมาถ้าจำได้ กรุงเทพฯ ฝนตกหนักมาก คือเดือนกันยายนมี 30 วัน แล้วฝนตก 28 วัน มี 2 วันที่ไม่ตก และ 28 วันมีปริมาณฝนเท่ากับรอบปีของกรุงเทพฯ
คุณเตย : จริง ๆ แล้วทุกวันนี้รุนแรงแล้วนะคะ แต่ไปปรากฏบนพื้นที่อื่น ในอนาคตนักวิชาการก็เตือนเรื่องของความเสี่ยงที่น้ำจะท่วมโลก จากสภาวะโลกร้อนทำให้ธารน้ำแข็งของขั้วโลกละลาย น้ำในมหาสมุทรเพิ่มขึ้น แล้วอีกเรื่องหนึ่งคือเพราะโลกมันร้อน น้ำในมหาสมุทรเมื่อเจอกับความร้อน ปริมาตรของน้ำจะขยายตัว เพราะฉะนั้นน้ำจึงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างกรุงเทพฯ ก็เป็นอีกเมืองหนึ่งที่เขาประเมินว่าเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้

ความจริงเรารู้กันมานานเรื่องกิจกรรมที่ทำให้เกิดโลกร้อน อยากให้พวกคุณย้ำอีกครั้งหนึ่งว่ามันมีอะไรบ้าง
คุณเตย : ความจริงมีกิจกรรมบนโลกมากมายที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กลายเป็นภาวะเรือนกระจก ตั้งแต่ตัวของเราเองอย่างการใช้รถบนถนน ไปจนถึงโรงงานอุตสาหกรรม
คุณแตง : กิจกรรมของคนเรานี่แหละที่เป็นต้นเหตุ คือการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ส่งผลทำให้โลกของเราร้อนขึ้น แล้วยิ่งมีการตัดไม้ทำลายป่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกมันก็จะยิ่งเยอะ เพราะฉะนั้นจึงมีการรณรงค์ว่าตัดไปเท่าไหร่ก็ปลูกไปเท่านั้น

ถ้าพูดถึงความรับผิดชอบร่วมกันทั้งโลกประเทศเล็ก ๆ ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อย แต่กลับได้รับผลกระทบเท่ากับประเทศใหญ่ที่มีสร้างมลภาวะมาก ทั้งสองท่านมีความคิดเห็นอย่างไร
คุณเตย : ประเด็นนี้จริงๆถือเป็นวาระสำคัญของการประชุมคอป 27 [การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก สมัยที่ 27 (Conference of Parties – COP)] คือตัวแทนผู้เข้าประชุมจากทั่วโลกมาร่วมกันหารือความชัดเจนเลยว่า จะเอาอย่างไรกับเรื่องนี้ ซึ่งประเด็นนี้เรียกว่า Loss & Damage คือพูดถึงการเยียวยาประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งประเทศพวกเขาไม่ได้เป็นต้นเหตุของปัญหาภาวะเรือนกระจก

   ในขณะที่ประเทศยักษ์ใหญ่ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะ ๆ ก็อาจได้รับผลกระทบบ้างเพียงแต่เขามีเงินในการเยียวยาประชาชน เขามีทางเลือกในการรับมือ ซึ่งเรื่องนี้มันไม่แฟร์สำหรับกลุ่มที่กำลังพัฒนา เพราะว่าเขาไม่ได้ทำแต่เขาต้องมารับผลกระทบและเขาก็ไม่มีเงิน และนี่คือสิ่งที่คอป 27 ได้พูดถึง ส่วนประเทศไทยก็ได้รับการประเมินนะคะ ว่าเป็นอันดับ 9 ของโลก ที่เป็นประเทศเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

 


สุดท้ายแล้วถ้าโลกของเราเกิดวิกฤติขึ้นมาต้องแก้ไขปัญหาอย่างไร
คุณเตย : ถ้ามันเกิดวิกฤตจริง ๆ แทบจะไม่มีทางช่วยอะไรได้เลย สิ่งที่ทำได้คือต้องช่วยกันป้องกันในตอนนี้เลย คือทั่วโลกต้องร่วมมือกัน และหาแนวทางในการรับมือ ทำอย่างไรที่จะควบคุมให้อุณหภูมิโลกสูงไม่เกิน 1.5 องศา มันเป็นคีย์สำคัญ เพราะถ้าสูงเกินเมื่อไหร่ไม่ว่าหน่วยงานใดของโลกก็รับมือไม่ไหว
คุณแตง :  องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกก็อยากจะให้โลกถอดบทเรียนจากโควิด-19 ที่แต่ละประเทศร่วมมือร่วมใจกัน เขาบอกว่าแค่ทุกคนร่วมมือสามารถช่วยโลกได้ อย่างการให้แต่ละประเทศช่วยกันลดขยะพลาสติกละนิดละหน่อย มันก็เปลี่ยนแปลงได้

อยากให้ทั้งสองท่านช่วยแนะนำวิธีง่าย ๆ ที่ช่วยให้โลกของเราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นแม้จะเล็กน้อยก็ตาม
คุณเตย : นับหนึ่ง คือเริ่มต้นก็เหมือนกับการที่รณรงค์อยู่ทุกวันนี้ ลดการใช้ถุงพลาสติก ลดการปล่อยมลพิษ รถ 1 คัน นั่งกันหลายคน โดยสารรถสาธารณะ คือทำอะไรก็ได้ที่เป็นการลดการปล่อยมลพิษให้ได้มากที่สุด
คุณแตง : อาจจะเป็นรูปแบบของการใช้ชีวิตด้วย เสื้อผ้าแฟชั่นก็ถือว่าเป็นการทำให้โลกร้อน อาจจะใส่เสื้อผ้านานหน่อยไม่ต้องซื้อทุกสัปดาห์ หรือพวกเทคโนโลยีต่าง ๆ 4-5 ปีเปลี่ยนไหม คือบางคนเขาเปลี่ยนทุกปี ก็จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งเสริมให้โลกร้อนได้


ในฐานะที่ทั้งสองคนติดตามเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมมานาน อยากฝากบอกอะไรกับผู้ที่ติดตามบ้าง
คุณเตย : ในฐานะที่เป็นผู้ประกาศ TNN EARTH เรานำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ Climate Change ทุกวันอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หากจะทำให้ดีขึ้นมันไม่ได้ทำวันนี้แล้วจะเห็นผลในวันพรุ่งนี้ ต้องค่อย ๆ เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นทุกคนมีส่วนสำคัญทั้งหมดทั้งโลก ในการที่จะทำให้โลกของเราไปทิศไหน ต้องช่วยกันคนละนิดคนละหน่อย และพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองให้ได้ค่ะ 
คุณแตง : ลองปรับตัวเองนิดหน่อย ถ้าเราช่วยกันจะเกิดเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่ดีบนโลกได้ค่ะ

 

Twins & Partners พยากรณ์อากาศ ทำนายโลกอนาคต "สุนิดา - สุหัชชา สวัสดิพรพัลลภ"