คุยกับเสถียรในมุมมองของคนข่าว "เสถียร วิริยะพรรณพงศา"

คุยกับเสถียรในมุมมองของคนข่าว "เสถียร วิริยะพรรณพงศา"

   ในอดีตการรายงานข่าวทางหน้าจอทีวี มีการทดลองและเปลี่ยนแปลงในหลายรูปแบบ เพื่อให้เกิดความน่าสนใจมาโดยตลอด จนกระทั่งปัจจุบันการเล่าข่าวได้รับความนิยมจากผู้ชมเป็นจํานวนมาก จากตัวผู้ประกาศข่าวเอง ที่ใช้ทักษะเทคนิคการพูดรวมถึงการแสดงความคิดเห็นเข้ามาประกอบ ทําให้สถานีโทรทัศน์หลายช่องใช้วิธีเดียวกันนี้ จึงเกิดการแข่งขันที่สูงเพื่อดึงดูดผู้ชม

   โดยหนึ่งในนักเล่าข่าวผู้มากประสบการณ์มือดีของประเทศไทยก็คือ คุณเสถียร วิริยะพรรณพงศา ผู้ช่วยกรรมการผู้อํานวยการใหญ่ฝ่ายข่าว PPTV เขาเป็นผู้ประกาศข่าวที่เล่าข่าวจนมีผู้ติดตาม มากพอสมควร และปัจจุบันกลายเป็นสัญลักษณ์คนข่าวของ PPTV ไปแล้ว

กองบรรณาธิการส่วนสําคัญของสํานักข่าว

   หลังจากปีใหม่ที่ผ่านมาทางสํานักข่าว PPTV ได้มีปรับผังรายการข่าวใหม่ เราจึงไม่ได้เห็นคุณ เสถียร ผ่านทางหน้าจอทีวีเหมือนเช่นเคย แต่ยังสามารถพบเขาได้ในรายการ “เรื่องใหญ่ by เสถียร” ออกอากาศทาง facebook และ YouTube ในวันอังคารและวันศุกร์ เวลา 14:00 น.

   “เราพยายามทําให้ผังรายการมันมีความ Active มีชีวิตชีวามากขึ้น PPTV ก็ได้คุณสุทธิชัย หยุ่นมาเป็นที่ปรึกษากองบรรณาธิการ คงไม่ต้องบรรยายสรรพคุณมาก เรามีคุณกรุณา บัวคําศรี ซึ่งก็คร่ำหวอดอยู่ในวงการข่าวต่างประเทศ และเรามีกองบรรณาธิการที่เป็นบุคลากรที่มีประสบการณ์สูง เพราะฉะนั้นข่าวของ PPV ก็ชัดเจนนะครับว่า เราต้องการทําข่าวที่มีคุณภาพ มีมาตรฐานระดับสากล เราวางเครือข่ายนักข่าวไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่เราวางเครือข่ายนักข่าวไว้ทั่วโลก และเรามีนักข่าวอาสาเปิดโอกาสให้ประชาชนคนทั่วไป ซึ่งอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ได้มีโอกาสรายงานข่าวเข้ามาอย่างในต่างประเทศก็มีเช่น เยอรมัน อเมริกา ไต้หวัน ฯลฯ ทําให้ PPTV กลายเป็นสถานีข่าวที่มีฐานกว้างขวาง

   “หลายปีที่ผ่านมาเราพยายามสะสมประสบการณ์ เพื่อวางรากฐานปีนี้ราจึงแข็งแรง PPTV มีกองบรรณาธิการเกือบร้อยชีวิต เราให้ความสําคัญมากกับกองบรรณาธิการ เพราะว่าทุกวันนี้มันไม่ใช่ยุคที่เราขาดข้อมูลข่าวสาร แต่เป็นยุคที่ข้อมูลข่าวสารมันหลั่งไหลเข้ามาทุกทิศทุกทาง ปัญหาในสังคมของคนวันนี้คือข่าวไหนจริง ข่าวไหนมั่วข่าวไหนที่สร้างขึ้นมาเพื่อปั่นกระแส ข่าวไหนที่สร้างขึ้นมาเพื่อสร้างความตระหนกเพื่อเรียกยอดวิว ตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่เพราะฉะนั้น เราให้ความสําคัญกับการสร้างกองบรรณาธิการที่เข้มแข็งมันเหมือนกับการเป็นปราการกําแพงหลาย ๆ ด่าน PPTV เรามีกระบวนการในการคัดกรอง มีวิธีในการตรวจสอบตรวจเช็ค เรามีหน่วยที่ตั้งขึ้นมาเฉพาะเพื่อเช็คข่าว และเรามีคอลัมน์ “ชัดก่อนแชร์" ก็คือคอลัมน์ที่ บอกว่าข่าวนี้มันไม่ใช่ข่าวจริง

   “หน่วยนี้จะเป็นหน่วยที่เจาะเข้าไปหาคําตอบมาอธิบายให้เราฟัง เพราะฉะนั้นเราให้ความสําคัญกับกรรมวิธีในการทํา Content ที่ถูกต้องแม่นยําเพราะเราเชื่อว่าการทําข่าวทุกวันนี้มันไม่ใช่เรื่องยากที่จะหาข่าว ความยากไม่ใช่เรื่องการหาข่าว แต่ทํายังไงข่าวนั้นที่จะถูกพัฒนาและถูกตรวจสอบ ถูกกลั่นกรองจนมันเป็นข้อเท็จจริง ผมคิดว่าปีนี้อยากให้สังคมหรือประชาชนได้มองเราอย่างเข้าใจว่า สถานีข่าวที่เรากําลังเดินอาจจะไม่ใช่สถานีข่าวที่มีข่าวหรือหวามาก ๆ แต่มันมีความแม่นยํา มันมีความถูกต้องผ่านกรรมวิธีการต่าง ๆ และเป็นข่าวที่รับผิดชอบ ต่อสังคม

   “ในช่วงหลังการแข่งขันในวงการข่าวมันสูงมาก แต่ละสถานีวิ่งกันแบบโอ้โห !! หน้ามืดตามัว หูดับ ตับไหม้ ด้วยธุรกิจที่มันกดดัน ด้วยเดิมพันในทางอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้น PPTV ก็พยายามวางนโยบายที่ต้องบอกว่าเป็นนโยบายที่ต้องชัดมาก ๆ ว่าเราแข่งขันในแง่ความเร็ว เราต้องเป็นที่ 1 ในแง่ของความเร็ว และต้องมาพร้อมความถูกต้อง แต่ต้องมาพร้อมความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่ว่าเราทําข่าวแล้วเป็นการไปทําลายครอบครัว ไปทําลายชีวิตเด็กคนหนึ่ง หลาย ๆ ข่าวที่เป็นข่าวครอบครัว มันเป็นความรับผิดชอบเพราะว่า การที่เราเสนอข่าวไปแต่ละชิ้น มันอาจมีผลกระทบ บางคนชีวิตเขาเหมือนถูกตราบาป บางข่าวมันยังไม่ได้พิสูจน์ชัดเจน แต่เรื่องราวของเขานอกจากออกทีวี มันยังถูก Records อยู่ในโลกออนไลน์ เขา search ชื่อตัวเองใน Google เด็กตัวน้อย ๆ ชื่อเขาจะอยู่ในระบบอินเทอร์เน็ตตลอดชีวิต แล้วมันแก้ไขไม่ได้

   “เพราะฉะนั้นเราจะระวังมาก ถ้าข่าวเราที่ออกอากาศไปและลงในออนไลน์ของเรา ผมจะพยายามไม่ให้มันผิดพลาด โดยเฉพาะเรื่องเด็ก เรื่องครอบครัว เราจะซีเรียสมากเพราะว่าข่าวมันเยอะ แต่ข่าวไหนที่มีความสําคัญเสนอไปแล้วมันเกิดคุณูปการ เกิดเป็นบทเรียนเป็นอุทาหรณ์ ทําให้คนระวังตัว ไม่ได้เป็นข่าวที่เสนอไปแล้วมันไปทําลายชีวิตของคน ทําลายครอบครัว อันนี้เป็นสิ่งที่เราอยากจะบอกกับสังคมว่า PPTV ต้องการจะสร้างมาตรฐานในการทําข่าวที่มีคุณภาพและมีความรับผิดชอบด้วย”

   “เราสร้างกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุล ว่าตกลงข่าวชิ้นนี้องค์ประกอบของข่าวที่จะออกอากาศมันมีครบทุกมุม และถ้อยคําในการเขียนไม่ใช่เขียนถึงฝ่ายนี้ดี แต่พอเขียนอีกฝ่ายแย่ถ้าเราจะเอาจริง ๆ PPTV ซีเรียสมากกับความเป็นกลาง และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายยิ่งเราตัดคําว่าอคติส่วนตัวออกไปได้มากที่สุด สถานีจะได้รับความน่าเชื่อถือสูงสุด เพราะด้วยความขัดแย้งทุกวันนี้ ผมคิดว่ามันไม่มีใครที่สามารถบอกได้ว่าใครถูกใครผิด ไม่อย่างนั้นคง ไม่ขัดแย้งมาอย่างยาวนานเป็น 10 ปีหรอก สังคมต้องการพื้นที่ที่แฟร์ พื้นที่ที่คนเขาจะมาพูดกับเรา PPTV จะต้องมั่นใจว่าเราไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง”

ชีวิตนี้มีแต่ข่าว

   เส้นทางการเป็นนักข่าวของคุณเสถียร กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ต้องย้อนกลับไปวัยเด็ก เขามาจากครอบครัวชนชั้นกลางที่ไม่ได้ร่ำารวยนัก คุณเสถียรแตกต่างจากเด็กวัยเดียวกันที่ชอบอ่านการ์ตูน แต่เขากลับชอบอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ แม้แต่การดูทีวีก็ชอบดูแต่ข่าวสารบ้านเมือง จนสามารถจําชื่อนักการเมืองในสมัยนั้นได้แทบทุกคน และหากมีการปราศรัยหาเสียงของนักการเมืองแถวบ้านก็ต้องแอบคุณแม่ออกไปฟัง เมื่อเริ่มเรียนในชั้นมัธยมก็เป็นนักกิจกรรมประธานสีประธานเชียร์ และเป็นกรรมการโรงเรียน จนกระทั่งได้เรียนต่อที่มหาวิทยาลัยรามคําแหง ในคณะรัฐศาสตร์ เป็นบรรณาธิการหนังสือรับน้องมหาวิทยาลัย และร่วมทํากิจกรรมมากมาย

   “ที่มหาวิทยาลัยรามคําแหงมันเป็นโลกของการเรียนและใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ตอนนั้นผมแทบหันหลังให้กับการเรียน ก็เข้าทํากิจกรรมพรรคการเมือง ไปเคลื่อนไหวออกค่ายปลูกป่า แล้วก็กลับมาสอบ ที่เลือกเรียนรัฐศาสตร์ เพราะ คิดว่าเป็นวิชาที่ไม่ต้องท่องอะไรมาก มันเป็นเหมือนใช้ประสบการณ์ และวิธีการบริหารการปกครอง ผมเรียนได้ดีมากด้วยนะ ทั้งที่ไม่เคยเข้าเรียนเลย เพราะข้อสอบส่วนใหญ่ใช้การเขียนบรรยายเป็นการตอบแบบวิเคราะห์ ตอนนั้นเอง ที่ผมเริ่มรู้แล้วว่าตัวเองเป็นนักสื่อมวลชน คือเขียนเก่งถ้าเป็นข้อสอบแบบวิเคราะห์นั้นมาเลยไม่เคยกลัวเลย ประสบการณ์ผมเยอะกว่านักศึกษาปี 1 ทั่วไป คือตอนนั้นมีการเรียกร้องรัฐธรรมนูญปี 40 ผมไปนอนสนามหลวงหลายเดือน จึงได้ซึมซับเรื่องการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมก็คิดว่าเด็กปี 1 ทั่วไปเขายังเรียนหนังสือ แต่ผมไปเจอประสบการณ์จริงแล้ว

   “หลังจากเรียนจบผมไปสมัครงานที่หนังสือพิมพ์แนวหน้า บก. เขาก็ถามว่า อยากทําข่าวอะไร ผมบอกว่าอยากทําข่าวการศึกษา เพราะผมชอบ เมื่อก่อนผมอ่านไทยรัฐ อ่านหน้าการศึกษามาตลอด การศึกษาเป็นข่าวสําคัญ และข่าวการศึกษามันเป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศ เขาบอกว่า OK อยากทํางานข่าวการศึกษาใช่ไหม พรุ่งนี้ไปทําเนียบ ผมก็อ้าว !! อยากทําข่าวการศึกษาก็ต้องไปกระทรวงศึกษาสิคือคิดในใจนะ เขาบอกพอดีทําเนียบขาดคน ผมก็ไปทําเนียบ

   “แต่การที่อยู่ทําเนียบมันก็ทําให้เราโตขึ้นไปอีก เพราะว่าที่นี่เป็นศูนย์กลางของอํานาจ มีแต่ผู้บริหารระดับสูงสุด แล้วผมเป็นเด็กจบใหม่อายุ 23 โอ้โห ! เรียนจบแบบหมาด ๆ เลย ไปอยู่ทําเนียบ เฮ้ย !! ตายละทํายังไง ไม่รู้จักใครเลย แล้วผู้ใหญ่เวลาเขาทําข่าวเขาไม่สนใจเด็ก ๆ ทําให้ผมตกข่าวทุกวัน คือก็ได้ข่าวแบบที่เขาให้สัมภาษณ์ปกติ แต่ในเชิงลึกสู้คนอื่นไม่ได้ แล้วทํายังไงมันก็ต้องพยายามคุยกับนักข่าวรุ่นพี่ว่าวันนี้พี่ไปไหน พาผมไปด้วยนะ เขาก็เห็นใจวันหลังก็ค่อย ๆ พาเราไป ผมรู้แล้วว่าข่าวมันอยู่ตรงนี้ เอกสารสําคัญอยู่ตรงนี้เว้ย มันมีเรื่องนี้ด้วย เพราะว่าทําเนียบมันคือศูนย์รวมของทุกอย่าง

   “ผมทํางานกับหนังสือพิมพ์แนวหน้าได้ปีเดียว ก็ย้ายไปที่สํานักข่าวเนชั่น คือที่นี่เป็นโลกของสื่อ แล้วเราเป็นคนบ้างานอยู่แล้วจากที่ทําหนังสือพิมพ์อย่างเดียวโอ้โห ! ไปเนชั่นเหมือนแต่ก่อนเราเล่นฟุตบอลโกหนู แล้วเราเข้าไปในสนามราชมังคลา มันเป็นสนามใหญ่ สมัยนั้นเนชั่นน่าจะเป็นสื่อแรกที่มีทั้ง TV ออนไลน์ วิทยุ และ หนังสือพิมพ์หลายฉบับ ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย ข่าวอาเซียน แล้ว บก. แต่ละคน ระดับปรมาจารย์ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นมันก็เหมือนกับเด็กคนหนึ่งที่วิ่งเข้าไปอยู่ในทุ่ง เป็นสนามที่เราวิ่งไปตรงไหนเราก็สนุก ที่นี่ผมบ้าเลย เขียนคอลัมน์ ทําทีวี ทําวิทยุ ออกไปทําข่าว คือแทบจะ 24 ชั่วโมง ไม่ได้พักผ่อน ก็อาจจะเป็นด้วยวัยที่เรารู้สึกว่าสนุกกับการทํางาน เป็นคนที่บ้าคลั่งในการทํางานมาก ๆ

   “ผมเป็นคนที่ชอบวิ่งเข้าหาโอกาส เมื่อเขาให้ทําทีวีก็ทํา เพราะผมก็เป็นคนที่ไม่คิดอะไรมาก คือถ้าคิดมากก็คงอาจจะไม่ทํา ผมก็ถามว่ามันยากไหมครับ เขาบอกว่าก็คือสิ่งที่คุณรู้อยู่แล้ว คุณมาทําข่าว ทุกวันก็เอาสิ่งที่คุณเขียน แล้วคุณก็ไปอ่านไปบอกกับคนในทีวี คือเนชั่นเป็นอะไรที่ดีนะ เขาไม่ได้คํานึงว่า เราหน้าตาดีหรือทักษะการวางตัวของเราได้ไหม เสียงเราจะชัดหรือเปล่า เขาบอกว่าถ้าคุณมีความรู้คุณมีข้อมูล คุณไม่ต้องห่วงหรอก อย่างเช่นคุณ คุณสุทธิชัย หยุ่นก็บอกว่า ไม่ต้องห่วงเลย คนดูข่าวเขาสนใจที่คุณมีข้อมูลที่ชัดเจน แม่นยํา ถูกต้อง เอาสิ่งที่คุณมีนั้นไปบอกเลย มันก็ทําให้ผมนั้นมั่นใจ ไอ้ความมั่นใจนั่นไม่ได้หมายถึงว่าจะทําได้ เอออย่างน้อยลองดูก็ได้ แต่ถ้าไปทําปุ๊บมันทําไม่ได้ขึ้นมา ก็กลับมาทําข่าวหนังสือพิมพ์ต่อไป

   “ความยากของการเป็นผู้ประกาศข่าว คือต้องคอนโทรลรายการ เพราะมันเป็นทักษะที่เราไม่ถนัด มันไม่ใช่แค่คุณรู้อะไรแล้วก็เล่าไป มันมีการเข้าภาพ มีจังหวะ มีเบรกโฆษณา มีมุมกล้องเพราะกล้องมัน 3-4 ตัว แล้วแสงมันสาดตลอด แล้วเราต้องมองกล้องไหน เวลากล้องนี้เข้าตรงนี้ เราต้องเริ่มพูดเมื่อไหร่ และข่าวเวลามันมีภาพนี้ขึ้นมาเราต้องพูดยังไง แล้วเวลาเราจะปล่อยเสียงแหล่งข่าวสัญญาณจะเป็นยังไง คือก็ดีที่เขาบอกไม่หมดว่าคุณต้องไปเจออะไรบ้างเวลาที่ไปทํา เพราะเขาบอกไม่หมดเราก็เลยเข้าไปทําแล้วเราก็ไปเจอเองย้อนกลับไปคําพูดของคุณสุทธิชัย ที่บอกว่าแค่ไปเล่าเรื่องที่เรารู้แค่นั้นเองนี้ ความจริงไม่ใช่มันมี เทคนิคอีกเยอะแยะเลย ที่เราต้องควบคุม

   “รายการมันจะล่มหรือมันจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับเรา เราต้องทําตลอดทั้งชั่วโมงต้องเอาคนดูให้อยู่ จากข่าวนี้ไปข่าวนี้ ข่าวนี้มีภาพนี้ หรือข่าวนี้มีเสียงนี้ เราต้องรู้ให้หมด ทํายังไงให้เขาไม่เบื่อ มันไม่ใช่ว่าคุณรู้อะไรคุณก็เล่าไป คือมันต้องทําให้คนเขาอยากรู้ แล้วถ้าคุณรู้เรื่องนี้แล้วคุณจะรู้เรื่องอะไรต่อ คุณรู้เรื่องนี้ต่อในระดับไหนเพราะเราเป็นนักข่าว สมมุติว่าเรารู้ 10 เราก็ไม่สามารถบอกที่รู้ทั้ง 10 เพราะบางทีมันมากไป ผู้ชมต้องการรู้แค่นี้ ok หมูมันแพงมันแพงเพราะอะไร บางทีเราไปหาข้อมูลมาเยอะแยะไปหมดเลย แต่ในทีวีสมมุติว่ามันมีแค่ 5 นาที ในเบรกนี้คุณก็ต้องขมวดทั้งหมดให้จบใน 3-4 นาที มันยากตรงนี้ไง”

ช่วงเวลาวัดใจ

   การทํางานด้านสื่อสารมวลชนของคุณเสถียรเรียกว่าทําด้วยใจอย่างแท้จริง ในบางครั้งอาจต้องแลกมาด้วยชีวิตเขาก็ทํามาแล้วไม่ว่าจะเป็นการทําข่าว ภาคสนามที่มีการประท้วงหรือแม้แต่การยอมเอาตัวเองเข้าไปหาพบแหล่งข่าว ของผู้ก่อความไม่สงบของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งกว่าจะได้เข้าพบเขาต้องส่งชื่อที่อยู่ของตัวเองและครอบครัวเพื่อเป็นหลักประกันในงานนี้

   “พวกเขาคือองค์กรลับไม่เปิดตัว แต่ผมติดตามข่าวภาคใต้มานานจนอยากคุยกับสมาชิกที่มีบทบาท เราต้องรู้ความจริงว่าทําไมต้องวางระเบิดและฆ่าคน ก็ให้คนที่มีคอนเน็คชันในพื้นที่นัดพบ ใจจริงก็คิดว่าจะเอายังไงเพราะไปในถิ่นเขา จะโดนจับรึเปล่า ก็ถามตัวเองว่าจะไปรึเปล่า ในใจก็คิดว่าถ้าไปแล้วไม่ได้กลับมาจะทํายังไง คือการทําข่าวทําไมต้องเสี่ยงขนาดนี้ ความจริงไม่ต้องไปก็ได้ ระหว่างที่ไปก็คิตตลอดทางว่าจะกลับหรือไม่กลับ คือผมไม่มีความมั่นใจเลยว่าจะได้กลับมา ผมก็คิดว่ามันก็แค่ 1 ข่าว ถ้าไม่ไปชีวิตก็ปกติไม่มีอะไร แต่เป็นสิ่งที่ผมอยากรู้และต่อสู้ในจิตใจ ว่าเราเป็นนักข่าวถ้าไปไม่ถึงแหล่งข่าว ก็เหมือนเป็นนักปืนเขาที่เข้าไม่ถึงยอดเอเวอเรสต์

   “ผมเดินทางเข้าไปในป่าที่ลึกมาก จนได้พูดคุยว่าเขาเจ็บซ้ําเรื่องประวัติศาสตร์ โดนรัฐไทยกดขี่เขาในอดีต มันก็เป็นเหตุผลที่พวกเขาต้องประกาศจุดยืน ซึ่งเขาเล่าให้ฟังหมดว่าเขาถูกรังแกอย่างไรบ้าง ตั้งแต่ถูกอุ้มถูกยิง พอเราได้ฟังแล้วถ้าเรามองเหตุการณ์ปัจจุบัน มันไม่สามารถสรุปได้ว่าถ้ามีเหตุการณ์ระเบิดเกิดขึ้นว่า ผู้ก่อการชั่วร้าย แต่แน่นอนว่ามันไม่ควรทํา คือทุกอย่างมีที่มาที่ไป มีแรงขับเคลื่อน ให้เขาต้องมาก่อเหตุแบบนี้ พอผมได้ฟังแล้วปัญหาภาคใต้มันเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ลึกซึ้ง แล้วคนที่มาแก้ปัญหาจะมาไล่จับเขาจึงไม่พอ ถ้าไม่สามารถไปแก้ปมในเรื่องความไม่เป็นธรรมได้ ซึ่งวันนั้นเป็นเหตุการณ์ทําข่าวที่กดดันและเสี่ยงชีวิตมาก แต่ก็ออกมาได้และเข้าใจปัญหาภาคใต้มากขึ้น แต่ก็ภูมิใจว่านี่เป็นชีวิตนักข่าวมันคือการอุทิศชีวิตให้กับอาชีพ

   “ผมคิดว่าชีวิตผมมันถูกกําหนดมาเป็นแบบนี้ ก็เลือกเส้นทางมาแบบนี้ จริง ๆ ผมเคยมีชีวิตที่แบบเฮฮามาก ๆ แต่ก็อยู่ได้ไม่นานนะ เราก็เริ่มมีความรู้สึกว่าในตอนวัยรุ่นนะ ทําไมชีวิตมันไร้สาระขนาดนั้น ด้วยความที่เราอาจจะโตและ อ่านหนังสือเยอะ และผมตั้งคําถามมากมายในชีวิตปรัชญาอะไรแบบนี้ มันก็ ทําให้เราครุ่นคิดเรื่องสังคม เรื่องการทํางาน แต่ก็ไม่ได้วางแผนว่าเป้าหมาย การทํางานอย่างไรเหมือนเป็นการทํางานวันต่อวัน คือลุยไปทีละก้าวทีละก้าวก็ไม่ได้เสียดาย ไม่ได้เสียดายชีวิตวัยรุ่นที่หายไป”

เติบโตในที่ใหม่

   “ผมทํางานกับสํานักข่าวเนชั่นมาเกือบ 10 ปีจนกระทั่ง ช่อง PPTV ต้องการคนเข้ามาช่วยเรื่องงานข่าวผมคิดว่าถึงเวลาที่เราแสวงหาความท้าทายใหม่ เพราะอยู่ที่เนชั่นผมไม่ต้องสร้างอะไรใหม่ทุกโครงสร้างมันมีครบหมดแล้ว เราก็เหมือนเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ไปขับเคลื่อนให้เขาเฉย ๆ แต่ว่าที่นี่มันต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ ถามว่ากังวลไหม มันก็มีความรู้สึกเหมือนกับตอนที่เราเป็นเด็ก วันที่เขาให้เราไปอยู่ทําเนียบโดยที่เราไม่รู้ว่าทําเนียบคืออะไร ให้ไปรอสัมภาษณ์ เหมือนที่ให้เรามาทําโดยที่เราไม่รู้อะไรเลย ผมจึงตัดสินใจเดินออกมาจากเนชั่น และมาทํางานที่ PPTV ก็มาเริ่มนับหนึ่งใหม่จากการเป็นนักข่าวคนเดียว และข่าวช่วงแรกใช้วิธีจ้างผลิต ไม่มีข่าวของตัวเอง ช่างภาพมี 1- 2 คน การเริ่มสร้างและเริ่มรับนักข่าวทีละคนสองคน เริ่มรับช่างภาพ เริ่มรับ Producer ก็ต้องสอนงานทุกคน

   “ผมคิดว่าสร้างสโมสรเองได้ แต่มันอาจจะไม่ได้ยิ่งใหญ่ เราเป็นคนในรุ่นที่จะสร้างเด็กเซตระบบ การทํางานให้กับคนรุ่นต่อไป ก็ค่อย ๆ ทําจนหลายครั้งก็คิดนะว่ามันไหวรึเปล่า เพราะมันเป็นภารกิจที่ใหญ่มาก แล้วตอนนั้นผมอายุ 30 นิด ๆ เองนะ พอผมอายุ 35 แต่ต้องมาเป็นผู้อํานวยการฝ่ายข่าว ต้องมาแบกภารกิจของการเป็นผู้นําองค์กร เป็นคนที่วางนโยบาย เป็นคนที่สอนงานคน และผลิตรายการคราวนี้ก็เริ่มผลิตรายการมาทีละรายการ จากจัดจ้างเขาผลิตก็เริ่มทําเอง เริ่มมีนักข่าว เริ่มมีโปรดิวเซอร์เอง ทําเองมาตลอด ก็ค่อย ๆ สร้างมาจนวันนี้ ปัจจุบันมีนักข่าวทั่วโลก ทั่วประเทศ เรามีกองบรรณาธิการเป็นร้อยคน ก็เป็นที่ยอมรับของสังคมว่า PPTV นั้นทําข่าวน่าเชื่อถือ เป็นกลาง ซึ่งมองกลับไปมันก็มาจากสิ่งเหล่านี้แหละ สิ่งที่ผมไม่คิดอะไรเยอะ ชีวิตเดินหน้าอย่างเดียว เดินหน้าแล้วก็ลุยทุกอย่างไม่ถอย มันก็เลยลุยมาจนถึงวันนี้

   “PPTV ทํางานด้วยความชัดเจนว่าเรารับผิดชอบต่อสังคม เราก็อยากจะมีข่าวตามอุดมคติของเรา มีข่าวที่มันมีคุณภาพ สร้างสรรค์ ดูได้ทั้งครอบครัว และไม่ทําร้ายคน เช่นอย่างผมมีลูก ผมก็อยากจะทําข่าวเด็กเขาดูแล้วเขาได้เห็นโลกกว้างเขาได้ ดูรอบโลก DAILY แล้วเขาเห็นโลกว่ามันมีนวัตกรรมแบบนี้ ประเทศนี้เขาคิดค้นยารักษา Covid-19 ได้แล้ว ประเทศนี้เขามียานอวกาศขึ้นไปตวงนั้นดวงนี้เด็กเขาก็จะมีแรงบันดาลใจ ผมคิดว่าสังคมถ้าอยากให้เด็กมีแรงบันดาลใจ เด็กมีศักยภาพ เราก็ต้องทําข่าวให้โลก เขากว้างที่สุดคือบางที่เราทําข่าวด้วยความเชื่อมั่นว่าเราอยากให้อะไรกับสังคมที่ดี ช่องอื่นเขาก็คงจะมีเป้าหมาย และเขาก็มีแนวทางของเขา แต่ของเราพยายามรักษาแนวทางให้คนดูของเรา คนที่ตัดสินใจเลือกดูข่าว PPTV เนี่ย เขาต้องได้อะไรบ้าง เหมือนกับเราเป็นตะเกียงจุดประกายอะไรให้เขา เราก็คาดหวังเท่านี้เองแหละ”

มุมมองทิศทางข่าวปี 2022

   “ผมคิดว่าปีนี้จะมีข่าวที่หลายเรื่องต้องมีทางออก เนื่องจากสังคมที่มันอึมครึมจากโควิด-19 เมื่อ ซัก 2-3 ปีที่ผ่านมาว่ามันจะออกทางไหน และมันเป็นข่าวที่ตอบสนองการรับรู้ของคน ในแง่ความผันผวน ในโลกปัจจุบันมันเหวียงแรงมาก ผมคิดว่าอย่าง PPTV ก็ต้องจับสัญญาณให้ออกว่าปีนี้มันเป็นปีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงเยอะ ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ ธุรกิจ การดิสรัปชันของโรคระบาด ของเทคโนโลยี มันเป็นรอยต่อทางประวัติศาสตร์ หรือทางการเมืองในเมืองไทย มันก็เป็นเดิมพันของทั้งนายก ของฝ่ายต่าง ๆ มันก็ใกล้สุดทาง

   “ฉะนั้นทุกฝ่ายการเมืองก็จะต้องเข้มข้นมาก การต่อสู้ทางการเมืองจะแรงมาก ฝ่ายที่มีอํานาจอยู่ก็พยายามที่จะรักษาอํานาจ ฝ่ายที่สูญเสียอํานาจไปยาวนานเกือบ 10 ปี ก็พยายามเข้าสู่อํานาจมันจะเป็นปีที่ผมคิดว่าข่าวจะเป็นปีที่เข้มข้นในทุก ๆ มิติ เศรษฐกิจก็ต้องเป็นเศรษฐกิจที่เดิมพันว่า โอไมครอน มันจะหนักหรือไม่หนัก ถ้ามันหนักรอบนี้ ซึ่งมันหนักมาแล้ว 2-3 ปี มันจะเกิดอะไร ผู้คน การท่องเที่ยว เศรษฐกิจรากหญ้า ผู้ประกอบการต่าง ๆ จะอยู่รอดได้อย่างไร เพราะฉะนั้นผมคิดว่าข่าวสารเรื่องโรคระบาด ข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจธุรกิจมันเป็นข่าวที่นักข่าวเองก็ต้องทําให้ถึงคือต้องมีคําตอบให้กับคน เพราะคนจะอยู่ในสภาพที่ต้องการข้อมูลว่าตกลงโรคระบาดจะ ไปอีกนานแค่ไหน มียารักษาไหม จบไม่จบเรื่องโควิด-19

   ถ้าจบแล้วเศรษฐกิจธุรกิจจะเป็นยังไง การท่องเที่ยว จะเป็นอย่างไร เศรษฐกิจภาพรวมจะเป็นอย่างไร การเมืองมีเลือกตั้งไหม ถ้าไม่มีเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร เพราะมันก็อยู่ในจุดที่ผมคิดว่าปีนี้ทุกอย่างมันเดินทาง มาจนถึงจุดเปลี่ยนในทุก ๆ มิติ ปีนี้ควรที่จะทําสื่อเอง ก็ต้องเข้าใจ ต้องจับสัญญาณเหล่านี้ให้ได้ เพื่อที่จะถ่ายทอดปรากฏการณ์ เหตุการณ์จุดเปลี่ยน ซึ่งมันอาจจะนํามาซึ่งความขัดแย้งครั้งใหญ่ ความโกลาหลครั้งใหญ่ สมมุติโรคระบาดไม่จบ ถ้าไม่จบคราวนี้ เราฟุบมา 2-3 ปี ถ้ามันฟุบมากไปกว่านี้ คนจะอยู่ยังไง อาชญากรรม การฆ่าตัวตาย โรคซึมเศร้า เศรษฐกิจ แม่ค้า พ่อค้า การเมือง ถ้าหาทางออกไม่ได้มีม็อบไหม ปฏิวัติไหม คือผมคิดว่าเป็นปีที่ทิศทางข่าวสามารถมองเห็นได้เลย

 

 

 

 

คุยกับเสถียรในมุมมองของคนข่าว "เสถียร วิริยะพรรณพงศา"