นอแล ขอบด้ง ในม่านหมอก ณ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
เส้นทางที่ขีดวนเวียนตามสันเขานำพาเราขึ้นสู่พื้นที่สูงเหนือระดับน้ำทะเล 1,400 เมตรถึงจุดหมายปลายทาง ณ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ทางป่าเย็นรื่นกลบกลืนเรื่องราวเหนื่อยล้าของการเดินทาง เรามองทอดสายตาไปโดยรอบ ภาพทะเลภูเขาเริ่มปรากฎชัดยิ่งขึ้น เป็นภาพที่ทำให้เราได้ผ่อนคลายระหว่างการเดินทางจากที่ราบสู่พื้นที่สูง บ้างเป็นทางราบ สลับสูงชัน
รอบๆของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง คือพื้นที่ดำเนินงานในการวิจัยพืชเมืองหนาว ที่ส่งเสริมให้ราษฎรปลูกแทนฝิ่น มีแปลงสาธิตผลไม้เขตหนาว อย่างสาลี่ และลูกพีช ที่เราได้เรียนรู้ขั้นตอนและกระบวนการในการปรับปรุงสายพันธุ์ และเพาะเลี้ยง จากเจ้าหน้าที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
เรามุ่งหน้าผ่านพื้นผิวฉ่ำชื้นและเป็นหล่มโคลน ไปยังเขตหมู่บ้านนอแล มุ่งหน้าสู่โรงเรือนไม้ดอกเมืองหนาว ที่มีดอกกุหลาบสายพันธุ์ดี เรียนรู้ขั้นตอนการเพาะเลี้ยงในโรงเรือน ไปจนถึงการดูแลรักษา ที่นี่ยังส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะเห็ดพ็อตโตเบลโล่ มากสรรพคุณ สำหรับส่งออกไปจำหน่ายที่สิงคโปร์ เมื่อขึ้นไปถึงสันดอย คือภาพของเกษตรในพื้นที่ส่งเสริมของโครงการหลวงอ่างขาง พร้อมกับรอยยิ้ม เราเองก็ยิ้มรับไมตรีท่ามกลางขุนเขาไปอย่างชื่นมื่น จากนั้นจึงเยี่ยมชมแปลงบ่มเพาะผักอินทรีย์ อาทิ ผักกาดหางหงส์ กะหล่ำ คะน้าสลับสับเวียน ที่มีโรงเรือนสลับแทรกแซมอยู่ตามแอ่งตามดอย เป็นภาพของเกษตรกรสมัยใหม่ที่บัดนี้ได้เลิกปลูกฝิ่น หยุดการตัดต้นไม้ และการทำไร่เลื่อนลอยม่านหมอกเมฆลอยผ่านกระทบใบหน้า ช่างแตกต่างจากภาพด้านนอกราวกับอยู่ในโลกคนละใบ
หลังเข้าไปเยี่ยมชมโรงเรือนผักเมืองหนาวชั้นดีที่มีขนาดใหญ่ เรานั่งมองดูแปลงผักอินทรีย์ ช่างงดงามราวภาพเขียน หย่อมบ้านเรือน รวมไปถึงแปลงปลูกผักเมืองหนาว ถูกโอบล้อมด้วยผืนป่าและขุนเขาทึบแน่น ตรงนี้มีการใช้ชีวิตอีกรูปแบบที่แตกต่างจากคนข่างล่างที่เรียกตัวเองว่าความเจริญ
จากหุบเขาที่รายล้อมไปด้วยผืนป่าและชนเผ่าพื้นเมือง เรามุ่งหน้าสู่งานส่งเสริมชาอินทรีย์ (โรงชาอ่างขา) แวะพักสายตา ดื่มด่ำกับชาออแกนิคจากธรรมชาติ เป็นแหล่งบ่มเพาะชาชั้นเยี่ยมที่ส่งเสริมให้เกษตรปลูกทดแทนฝิ่น ชงด้วยผู้คนแห่งขุนเขานี้ ช่วยเติมเชื้อไฟระหว่างวันริบหรี่ ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง พร้อมทิวทัศน์ป่าเขาสลับทอดตัวยาวสุดลูกหูลูกตา
เส้นทางคดเคี้ยวนำพาเราเข้าไปถึงเขตบ้านขอบด้ง เขตของพี่น้องเผ่าลาหู่ เป็นหมู่บ้านแรกๆ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จเยี่ยม ผู้คนทุกรุ่นใส่ชุดประจำเผ่า เราเดินลัดเลาะขึ้นไปยังจุดชมวิว เป็นอีกหนึ่งจุดที่คึกคักเป็นพิเศษ ระหว่างผู้คนเริ่มจอแจ เราแยกตัวมายังเบื้องล่าง เขตของบ้านเรือนลาหู่ได้พบเจอและทักทายกับแม่อุ๊ย เพียงรอยยิ้มก็เป็นอันเข้าใจในความหมาย
ทางคอนกรีตนำพาเรากลับไปยังสโมสรอ่างขาง ตามแผนกำหนดการของวันนั้นที่เรายึดถือ ที่นี่สุขสงบและเต็มไปด้วยพืชนานาพรรณ ในสวน 80 ดอกไม้เมืองหนาวหลากหลายสายพันธุ์ผลิบานสลับลวดลายไปทั่วบริเวณ เป็นภาพจริงแท้ของความงดงาม เหนือขึ้นไปคือขั้นบันไดก้าวขึ้นสู่บ้านพักสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ที่จัดไว้สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงส่วนราชการ บ้างยังมีประเทศเพื่อนบ้านแวะเวียนเข้ามาศึกษาดูงานกัน
พื้นที่สถานีเกษตรดอยหลวงอ่างข่าง เป็นพื้นที่ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชประสงค์จัดตั้งขึ้นเพื่อประชาชน โดยได้สละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 1,500 บาท ซื้อที่ดินในบริเวณดอยอ่างขาง และใช้เป็นสถานีเกษตรวิจัย ทดลองปลูกพืชเมืองหนาวหลากหลายชนิด มุ่งหวังให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ ทดแทนการหันไปหาพืชทำเงินและทำลายป่าอย่างฝิ่นเช่นในอดีต
ค่ำคืนผ่านพ้นกลางสายฝนที่หนาวเย็น ไร้ซึ่งแสงตะวันแตะขอบฟ้า ห้วงยามก็ดำเนินไปเหมือนที่มันควรจะเป็น เราจัดแจงสัมภาระเติมพลังอีกครั้งด้วยอาหารเช้า จึงเดินทางต่อท่ามกลางเส้นทางคดเคี้ยวอันแสนยาวไกลและยากเย็นในยามฤดูฝน มุ่งหน้าสู่ความเจริญเบื้องล่าง เพื่อแวะทานอาหารกลางวัน ณ ครัวโครงการหลวง ในตัวเมืองเชียงใหม่ที่นำพืชผลจากโครงการหลวงมาปรุงแต่งได้สารพัดเมนู ก่อนจะออกเดินทาง มุ่งหน้าสู่จุดหมายปลายทางสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์
หากพืชผลเหล่านั้นคือภาพเชื่อมโยงระหว่างคนตัวเล็กๆในหุบเขา กับผืนแผ่นดินที่เขาอาศัยอยู่ มันคือภาพที่ทำให้เราได้มองเห็นอย่างชัดเจน ระหว่างผู้คนที่นั่นกับพื้นที่ของพวกเขา ที่บัดนี้สามารถยืนหยัดพึ่งพาตนเอง
How to Go?
เส้นทางแรก จากจังหวัดเชียงใหม่ ใช้ทางหลวงหมายเลข 107 (เชียงใหม่ - ฝาง)
จนถึงหลักกิโลเมตรที่ 137 ตรงวัดหาดสำราญ (แยกบ้านปางควาย) ให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1249
ต้องเดินทางด้วยความระมัดระวังเพราะเป็นหน้าฝน ทางค่อนข้างลาดชัน
เส้นทางที่สอง จากจังหวัดเชียงใหม่ ใช้ทางหลวงหมายเลข 107 (เชียงใหม่ - ฝาง)
ที่อ.เชียงดาว จนหลักกิโลเมตรที่ 79 เมื่อเจอแยกทางหลวงหมายเลข 1178 ผ่านบ้านอรุโณทัย เส้นแคบแต่ไม่ลาดชัน
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง หมู่ 5 ต.แม่งอน อ.ฝาง จ. เชียงใหม่