William Bratton
เป็นความโชคดีอย่างหนึ่งที่ผมได้มีโอกาสเข้ารับฟังการบรรยายพิเศษเรื่องงานสืบสวนคดีอาญา โดยได้รับเกียรติฟังการบรรยายจาก พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผู้บัญชาการสอบสวนกลางในขณะนั้น ซึ่งเนื้อหาในการบรรยายนั้นมีคุณค่ามากทำให้ผมได้เปิดมุมมองใหม่ๆ ทั้งในเรื่องประสบการณ์การทำงานของท่านและในเรื่อง ทฤษฎีการทำงานที่จำเป็นต่องานสืบสวนจับกุม และในการบรรยายนี้ ทำให้ผมได้ทราบถึงเรื่องราวของชายผู้หนึ่งที่มีชื่อว่า William Bratton ชื่อนี้หลายท่านอาจจะฟังดูแล้วธรรมดาและไม่คุ้นหูนัก แต่หากบอกว่าเขาเป็นตำนานที่ยังมีชีวิต เป็นตำรวจที่ดีที่สุดของโลกในรอบร้อยปี ผมเชื่อได้ว่าคงจะดึงดูดความสนใจของท่านได้ไม่มากก็น้อย ...
William Joseph “Bill” Bratton เกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 1947 เขาเป็นอดีตอธิบดีกรมตำรวจแห่ง New York Police Department (NYPD) Boston Police Department(BPD) Los Angeles Police Department (LAPD) William Bratton เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านข้อกฎหมาย และเป็นนักต่อสู้อาชญากรรมทุกประเภท สิ่งที่เขาทำนั้นปฏิวัติการทำหน้าที่ของตำรวจไปยังอีกมุมมองหนึ่งซึ่งแตกต่างจากเดิม จนเป็นมาตรฐานไปทั่วโลก
William Bratton
สิ่งที่ทำให้ William ได้รับการขนานนามว่าเป็นตำรวจที่ดีที่สุดในรอบร้อยปีนั้น ไม่ใช่เป็นเพราะเขาทำการสืบสวนจับกุมผู้ร้ายมาดำเนินคดีได้เก่งแต่เพียงอย่างเดียว แต่เขาทำให้อาชญากรรมที่มีเกิดขึ้นอย่างหนักในแต่ละวันให้ลดลงได้อย่างน่าชื่นชม โดยย้อนเรื่องราวเหตุการณ์ไปเมื่อก่อนปี ค.ศ. 1990 กรุง New York นั้นเป็นเมืองที่ประกอบไปด้วยคนหลายเชื้อชาติ คนผิวขาว คนผิวดำ คนเอเชียเชื้อสายอินเดีย และเชื้อสายอาหรับ อาศัยปะปนอยู่กันเต็มเมือง ด้วยประชากรที่หนาแน่นไปทั่วทุกมุมเมือง ทำให้ New York กลายเป็นเมืองที่สกปรก สถานที่สาธารณะ เช่น รถไฟใต้ดิน สวนสาธารณะ ถูกพ่นสีอยู่เต็มไปหมด ทั้งเมืองเต็มไปด้วยคนเร่ร่อน ขอทาน หลบอยู่ตามสถานที่ต่างๆ บ้างครั้งก็มาใช้พื้นที่สาธารณะเป็นที่อาศัยหลับนอน ตำรวจในเวลานั้นไม่ได้มองและสนใจในปัญหานี้ ตำรวจต่างพุ่งเป้าการทำหน้าที่ไปที่การจับกุมอาชญากรรมร้ายแรง และคดียาเสพติด
แต่ William ได้มองในมุมที่ต่างกัน การพุ่งเป้าจับกุมผู้กระทำผิดอาชญากรรมนั้นไม่ได้ทำให้อาชญากรรมที่เกิดขึ้นลดน้อยถอยลงเลย ตาเขามองว่าความไม่เป็นระเบียบต่างๆ ในสังคมและคุณภาพของเมืองที่ย่ำแย่ในตอนนั้น ทั้งในพื้นที่และบริการสาธารณะ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาชญากรรม และทำให้การเฝ้าระวังป้องกันอาชญากรรมนั้นหมดสภาพลงไปทีละน้อย สุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นคือการก่ออาชญากรรมที่ไม่มีสิ้นสุด
William ได้หยิบยกเอาทฤษฎี “หน้าต่างแตก”(Broken Window) ของ James Q. Wilson และ George L. Kelling เข้ามาใช้ในการวางแผนการทำงานของตำรวจ NYPD และจัดการปัญหาอาชญากรรมดังกล่าว โดยทฤษฎี “หน้าต่างแตก” นี้ ว่าด้วยเรื่องจุดบกพร่อง ความไม่ดี และความไร้ระเบียบเพียงเล็กน้อย ก็สามารถสื่อความหมายได้ว่า ไม่มีคนดูแลใส่ใจ เป็นเหตุให้เกิดความหายนะที่ใหญ่โตมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งเพิ่มความกลัว ความหวาดระแวง ทำให้ชุมชนอ่อนแอลง และเพิ่มแนวโน้มพฤติกรรมการก่ออาชญากรรม ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขให้เรียบร้อยตั้งแต่มันยังเป็นปัญหาเล็กๆ อยู่ ต่อมาอีกหน่อยจะกลายเป็นปัญหาร้ายแรงตามมาในภายหลัง
William Bratton
แน่นอนครับเมื่อเมื่อมีการวางแผนงานอย่างนี้เกิดขึ้นมา ย่อมมีนายตำรวจใต้บังคับบัญชาที่ไม่เห็นด้วย และสิ่งที่ William ได้ทำในขั้นตอนแรกก็คือ การไล่เจ้าหน้าที่ทำงานชุดเดิมออกทั้งหมด พร้อมกับเปิดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดใหม่ที่มีแนวคิดสร้างสรรค์ที่ตรงกันและพร้อมจะพัฒนาท้องที่ให้ดีขึ้นเข้ามาทำหน้าที่แทน
ขั้นตอนที่สอง William ได้ประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานราชการและหน่วยงานเอกชนต่างๆ ให้มาร่วมมือช่วยกันแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิต โดยมุ่งเน้นไปที่การลดและจัดการกับการพ่นสีกำแพงในพื้นที่สาธารณะ การแก้ปัญหา
คนเร่ร่อน ขอทาน ที่แฝงตัวในทุกท้องที่ รวมไปถึงการจัดทำโครงการทำความสะอาดรถไฟ การตั้งหน่วยงานขึ้นเฉพาะเพื่อดูแลคนเร่ร่อน
ซึ่งไม่กี่เดือนหลังจากแคมเปญของ William ได้ถูก Kick off ไป ยอดตัวเลขของการจับกุมในคดีอาชญากรรมใหญ่ๆ ลดลง แต่ยอดผลการจับกุมในคดีเล็กน้อยเพิ่มสูงขึ้นอย่างฉับพลัน ซึ่งในขณะเดียวกันนั้นการร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจก็ลดลงอย่างมากเหตุที่ยอดการจับกุมเป็นเช่นนี้เป็นเพราะผู้กระทำผิดส่วนมากมักจะเคยกระทำผิดซ้ำๆ มาก่อนหน้า ทั้งในคดีใหม่และคดีค้างเก่า บางครั้งก็พบว่ามีผู้ต้องหาหลายรายเคยก่อเหตุคดีอาชญากรรมใหญ่ๆ มาแล้วด้วย จึงถือได้ว่าเป็นการล้างบางไปในทีเดียว และเมื่อหากมองในตัวเลขสถิติแล้วจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าสิ่งที่ William ทำนั้นส่งผลให้อาชญากรรมร้ายแรง เช่น ฆาตกรรมลดลงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ทำร้ายร่างกายสาหัสลดลง 37.15 เปอร์เซ็นต์, คดีข่มขืนโดยใช้กำลังลดลง 35.9 เปอร์เซ็นต์, ปล้นทรัพย์ลดลง 62.49 เปอร์เซ็นต์ และลักทรัพย์ในเคหสถานลดลง 62.16 เปอร์เซ็นต์
จากความสำเร็จดังกล่าวทำให้ William ได้เรียนรู้หลักสำคัญ 2 ประการ คือ “การฟื้นฟูและรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคมสามารถลดอาชญากรรมได้” และ “การฟื้นฟูความเป็นระเบียบทำให้ตำรวจมีโอกาสพบคนที่ทำผิดมากยิ่งขึ้น”
William Bratton
แนวความคิดในการจัดการลดปัญหาอาชญากรรมดังกล่าวนี้ของ William Bratton ได้กระจายไปสู่มลรัฐต่างๆในสหรัฐ และได้กระจายไปเป็นแบบแผนให้ตำรวจในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในการพัฒนาเมืองและลดปัญหาอาชญากรรมเชิงก้าวหน้า ความสามารถและชื่อเสียงของ William นั้นขจรขจายไปทั่ว สิ่งซึ่งยืนยันความเป็นสุดยอดของเขาก็คือ เมื่อปี 2011 สหราชอาณาจักรประเทศอังกฤษ นำโดยนาย David Cameron นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้เชิญ William Bratton พร้อมเสนอค่าตอบแทนจำนวนมหาศาล ให้มาดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการตำรวจของประเทศอังกฤษ แต่ติดตรงที่ตามกฎหมายของประเทศได้กำหนดไว้ว่า ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจของอังกฤษนั้น ต้องมีสัญชาติอังกฤษ และมีประสบการณ์หรือศึกษาในเรื่องของกฎหมายประเทศอังกฤษมาก่อน โดยในปัจจุบัน William Bratton ได้มาพำนักอาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษกับภรรยา และรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐบาลและกองบัญชาการตำรวจของประเทศอังกฤษ จนได้เกียรติรับรางวัล Commander of the Most Excellent Order of the British Empire
ซึ่งเชื่อว่าอีกหน่อยเมื่อ William ได้สัญชาติอังกฤษเมื่อใด เราอาจจะได้เห็นเขาทำหน้าที่ผู้บัญชาการตำรวจของประเทศอังกฤษอีกบทบาทหนึ่งก็เป็นได้