บ้านต่อแพ

บ้านต่อแพ

ถนนสายนั้นยังคงทอดเนื่องคดโค้งไปในขุนเขา ...

มันพาเราออกจากแม่ลาน้อย ลัดเลาะผ่านคดโค้งสู่เมืองไกลอย่างขุนยวม อำเภอเล็กๆ บนเส้นทางแห่งนี้เชื่อมโยงภูเขาและที่ราบเข้าด้วยกันอย่างอบอุ่นละมุนละไม เชื้อเชิญให้คนที่ผ่านทางก้าวเท้าลงจากรถ ย่ำเดินสัมผัสภาพจริงแท้อย่างที่มันควรจะเป็น

บ้านไม้เรียงรายกันอยู่ใจกลางทางหลวงหมายเลข 108 ที่ตัดผ่านลาดเนินใจกลางขุนยวมฉายชัดภาพอำเภอแสนสงบเงียบกลางอากาศฉ่ำเย็น ของกินในตลาดเล็กๆ สะท้อนถึงชีวิตและความเป็นผู้คนของที่นี่ ทว่ายามที่เรามาถึง ทุกอย่างกลับเงียบเชียบ ทุกอย่างหลากไหลไปตามครรลองของมันตั้งแต่เช้ามืด 

แดดสายจางๆ ไม่อาจละลายหมอกฝนของหมู่บ้านไทใหญ่เล็กๆ กลางหุบเขาที่มีสายน้ำยวมไหลเอื่อยอิ่มเคียงคู่ เราจ่อมจมตัวเองกันในบ้านต่อแพ คุ้มบ้านเรียงรายไปตามซอกซอยท่ามกลางถนนที่สะอาดสะอ้าน มันบริสุทธิ์งดงามเช่นเดียวกับวิถีชีวิตอันแสนเก่าแก่ที่ตกทอดของพวกเขา

เราพักทำความรู้จักกับอีกหลายชีวิตที่นี่ ในบ้านไม้โฮมเสตย์แสนน่าอยู่ ทว่ามันกินความถึงรายละเอียดยิบย่อยนานาอันประกอบขึ้นเป็นพวกเขาระหว่างที่เราเพียรพาตัวเองมารู้จัก

มื้อเที่ยงเรียบง่ายของเราเรียงรายด้วยผัดกระเจี๊ยบ แกงบอน น้ำพริกถั่วเน่า รวมไปถึงขนมเส้นไทใหญ่ มันคือรสชาติอันน่าทำความรู้จัก และทำให้เรารู้ว่าคนไทยใหญ่ไม่นิยมกินสัตว์ใหญ่อย่าง ‘เนื้อวัว’ หลังจบอาหารคาวเราได้รับเชิญให้ร่วมลิ้มรสขนมฮะละหว่า หรือ ขนมข่างปองเต็กเบิ้งที่เป็นมะละกอดิบปรุงรสแล้วทอด (เบิ้ง คือกระทะแบนๆ) 

บ้านเรือนที่กระจายกันตามหมู่เล็กๆ ที่คนท้องถิ่นเรียกกันว่า “ป๊อก” นั้นซุกซ่อนอยู่ด้วยมิติทางความเป็นอยู่อันน่าหลงใหล เราเลี้ยวซ้ายตรงทางเข้าวัดต่อแพ สังเกตได้ว่าคนไทใหญ่นิยมสวมกุ๊บ (หมวกสาน) กันทั้งหญิงและชาย มันเป็นภาพงดงามยามที่ใครสักคนเดินสวมมันผ่านสายฝนหรือแดดจัด เช่นเดียวกับที่เราได้ลัดเลาะมาถึงบ้านหลังหนึ่งใกล้ลำน้ำยวม ไร่อ้อยเหยียดขยายเคียงข้างนาข้าว พร้อมเสียงเอี๊ยดอ๊าดเป็นจังหวะ มัดกล้ามของชายกลางคนสะท้อนเงาแสงเป็นมันวาว

ต่อหน้าเครื่องอีดอ้อยโบราณอันใหญ่โตที่หลงเหลือเพียงเครื่องเดียวในบ้านต่อแพ เรานั่งลงมองภูมิปัญญาทางการเกษตรของชาวไทใหญ่ มันสอดประสานระหว่างคนหมุนคานอันเหยียดยาวหนักหน่วง และคนที่คอยสอดแท่งอ้อยเข้าไปในเฟืองไม้ รอจนน้ำอ้อยหวานหอมค่อยไหลไปลงรางพร้อมเสียงเอี๊ยดอ๊าดที่ค่อยๆ เบาคลายจากแรงกายของใครคนหนึ่ง

ระหว่างสิ่งเล็กๆ ที่สะท้อนความเป็นอยู่ในงานกสิกรรมอันสั่งสมในบ้านต่อแพ ชีวิตกลางไร่นาอันแสนเก่าแก่นั้นผูกพันกับพระพุทธศาสนามาพอๆ กับการตั้งบ้านเรือน เราลองขึ้นไปบนดอยเวียง ทางชันนั้นผ่านไร่สวนและผู้คนที่เฝ้าประคบประหงมมันในฤดูฝน

บนยอดดอยเวียงปรากฏเป็นโบราณสถานในความรกเรื้อของแมกไม้ ส่วนปล้องไฉนตกหล่นอยู่เคียงข้างฐานอิฐที่ก่อขึ้นเป็นเจดีย์ล้านนาอันเก่าแก่กว่า 1,900 ปี ราวพุทธศตวรรษที่ 19-24 สะท้อนความเป็นเมืองโบราณของบ้านต่อแพ และมันไม่จางคลายความสำคัญอันยึดเหนี่ยวพวกเขาไว้แม้จะผ่านพ้นกาลเวลา ซึ่งชาวบ้านยังคงประกอบพิธีการสักการะศาล (ต่างซอมต่อ) ในทุกวันพระและวันสำคัญทางศาสนาเสมอมา

บนดอยลูกเล็กๆ อันสั่งสมเรื่องราวของผู้คนและวันเวลา แม้ว่าบางอย่างจะเก่ากร่อนพังทลาย แต่หากเป็นสิ่งที่วิ่งเต้นหล่อหลอมอยู่ข้างใน ดูเหมือนว่ามันจะไม่เคยขาดห้วง

ยามบ่ายที่สายน้ำยวมไหลรี่ มักดึงให้ใครสักคนมานั่งมอง ชาวบ้านสวมกุ๊บกลับจากเก็บผักชีที่ปลูกแซมไว้ในนาข้าว พวกเขานั่งล้างมันตรงสันเขื่อน สายน้ำสายนี้นี่เองที่เป็นต้นกำเนิดของชื่อหมู่บ้าน ที่แต่เดิมผู้คนมักเริ่มต่อแพกันที่นี่ ขนข้าวและของป่าล่องลงไปยังแม่สะเรียง ก่อนจะต่างวัวเดินเท้าไปยังเมืองเชียงใหม่

วัดเก่าแก่เสียดยอดแหลมของจอง หรือวิหารตามแบบฉบับสถาปัตยกรรมไทใหญ่ หน้าจั่วยกคอสองชั้นนั้นแสนงดงาม ตามเชิงชายสลักเป็นรูปใบไม้และเครือวัลย์ละเอียดลออ

ทุกเช้าหลังจากแสงตะวันแตะสันดอยเวียง ไม่เพียงเราที่มานั่งมองชีวิตอันเกี่ยวเนื่องกับศาสนาอย่างแยกกันไม่ออกของพวกเขา ทว่าแม่เฒ่ารวมไปถึงหญิงกลางคนนับสิบต่างทยอยกันเดินตัดคันนา ในมือถือปิ่นโตที่เต็มไปด้วยอาหารคาวหวาน หลังพวกเธอวางกุ๊บลงที่หน้าวิหาร เสียงให้พรจากพระคุณเจ้าด้านบนก็ล่องลอยขับกล่อมให้ภาพสงบงามผ่านพ้นไปอีกวัน

วัดต่อแพเต็มไปด้วยความเรียบง่ายอันแสนเก่าแก่ ตั้งแต่ผ้าม่านประดับมุกลูกปัดและทับทิมที่ใช้กั้นในงานบุญที่ตั้งอยู่ด้านในวิหาร มันเล่าเรื่องตอนสำคัญในทศชาดก ตอนพระเวสสันดรเสด็จประพาสอุทยาน ผ่านงานปักผ้าอันละเอียดวิจิตร ว่ากันว่าเก่าแก่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2460 และมันยังสำคัญยิ่งในงานบุญต่างๆ ของคนบ้านต่อแพ อย่างงานปอยส่างลองในเดือนมีนาคม หรืองานปฏิสันถารพระเถระชั้นผู้ใหญ่

สถาปัตยกรรมไทใหญ่อันละเอียดอ่อนตกทอดอยู่ทั้งส่วนวิหาร ไล่เลยไปถึงศาลาสรงน้ำที่พวกเขาเรียกกันว่า “จองซอน” หรือแม้แต่เว็จกุฏิ หรือส้วมของพระสงฆ์ก็ล้วนน่าสนใจด้วยหลังคาทรงปั้นหยายกคอซ้อนสองชั้น ประณีตงดงามด้วยงานไม้ผนังที่สร้างตีแผ่นไม้เป็นเส้นแนวทแยงสลับมุม

แม้ระหว่างเดือนที่เรามาถึงคือช่วงไม่ค่อยมีพิธีสำคัญทางศาสนา อันเนื่องจากเป็นช่วงทำนา มีเพียงแม่เฒ่าพ่อเฒ่าที่มาถือศีลนอนค้างที่วัดด้วยแรงศรัทธาอันยิ่งยวด ที่พวกเขาเรียกว่าประเพณี “ปอยจ่าก๊ะ” ทว่าภายในวัดก็เต็มไปด้วยความเป็นศูนย์รวมของผู้คนในทุกเช้า

ศาลาไม้โย้เย้ที่หันหน้าเข้าหากันตรงข้างวัดนั้นเปิดวิวเพลินตาให้เห็นนาขั้นบันไดสีเขียวสดที่เบื้องหลังเป็นดอยเวียงห่มหมอก มันบอกเล่าถึงความเชื่อมโยงอันร้อยรัดผู้คนแห่งหมู่บ้านเล็กๆ ตีนดอยเวียงแห่งนี้ไว้อย่างเหนียวแน่น เป็นความเชื่อมโยงระหว่างขุนเขา การใช้ชีวิตเชื้อชาติภาษา รวมไปถึงสิ่งนึกคิดที่สะท้อนออกมาในนามของคำว่าความอบอุ่นร่มเย็น

เราอยู่กันไม่ไกลจากวัดต่อแพ ใน “เฮินไต” หรือบ้านเรือนไทใหญ่หลังเก่าแก่ที่ยังหลงเหลืออยู่ในบ้านต่อแพบ้านไม้ไทยใหญ่อายุกว่า 100 ปีหลังนี้เก่าแก่มาตั้งแต่ยุคพ่อเฒ่าน้อยยูง ชัยณรงค์ ที่เป็นผู้สร้าง คติการตั้งบ้านเรือนไทใหญ่ชัดเจนทั้งส่วนของห้องนอนหลัก ห้องนอนลูกหลาน    ส่วนของ “เติ๋น” หรือพื้นที่ใช้สอยที่ไว้รับแขก ขณะที่ครัวที่เรียกกันว่า “แม่เตาไฟ” นั้นไม่เคยจางหายควันไฟในเส้าฟืนและที่น่าสนใจคือบ้านไทใหญ่จะไม่สร้างห้องน้ำไว้กับเรือน จะแยกไว้อยู่หลังบ้านเท่านั้น 

หลังกราบไหว้หิ้งพระเจ้า หรือหิ้งพระที่แยกส่วนให้พ้นออกจากตัวบ้าน อันเป็นการสะท้อนความเชื่อเรื่องสิ่งเคารพกับคนธรรมดาสามัญนั้นต้องแยกจากกัน เราออกมายืนเฝ้ามองบ้านหลังโบราณของแม่ทุนกันนอกบ้าน ขณะรายรอบล้วนทึมเทาด้วยหยาดฝนและอากาศเยียบเย็น และมันเป็นเช่นนี้ในทุกเช้าที่เราอยู่กัน ณ บ้านต่อแพ เฮินไตโบราณไม่เคยห่างหายผู้คนมาไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบ และวัดต่อแพก็ยังเต็มไปด้วยผู้คนสวบกุ๊บใบเก่าคร่ำ หอบหิ้วอาหารคาวหวานไปใส่บาตรพระในทุกเช้า

เป็นความเคลื่อนไหวเช่นเดียวกับทุกที่ที่คำว่าศรัทธาและชีวิตเรียบง่ายยังคงวิ่งเต้นและดำเนินตัวตน 

How to Go?

การเดินทาง

จากจังหวัดเชียงใหม่ ใช้ทางหลวงหมายเลข 108 ผ่านอำเภอหางดง อำเภอสันป่าตอง อำเภอจอมทอง อำเภอฮอด เข้าสู่อำเภอแม่สะเรียง ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอนจากแม่สะเรียง มุ่งหน้าอำเภอแม่ลาน้อยและอำเภอขุนยวม เมื่อถึงขุนยวม แยกซ้ายไปบ้านต่อแพอีกราว 5 กิโลเมตร

ที่พัก

ที่บ้านต่อแพ มีรูปแบบการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ รวมที่พัก อาหารไทใหญ่ การเที่ยวชมหมู่บ้านและการแสดงทางวัฒนธรรม

สอบถามเพิ่มเติม

โฮมสเตย์ชุมชนบ้านต่อแพ โทร. 08-1980-7743, 08-4803-2561 และ 08-6994-5015

 

ชีวิตจริงแท้ที่ขุนยวม