เกษียณอายุ ...

เกษียณอายุ ...

คุณรู้จัก YOYO ไหมครับ ผมไม่ได้หมายถึง YOYO ที่เป็นลูกข่างของเล่นเด็กนะครับ 

แต่มันเป็นคำย่อของคำเตือนของคนสมัยนี้ครับ YOYO = You’re on Your Own มันเป็นแนวคิดระบบเศรษฐกิจที่รัฐบาลหลายๆ ประเทศพยายามผลักภาระสวัสดิการไปให้ประชาชนรับผิดชอบเอง และแนวคิดแบบนี้กำลังกระจายไปทั่วโลก เพราะระบบรัฐสวัสดิการ มันได้ถูกพิสูจน์แล้วว่าไปไม่รอด 

ในอเมริกากองทุนสวัสดิการหลายๆ อย่างถูกปรับลดลง ในญี่ปุ่นกองทุนประกันสังคมที่เป็นกองทุนที่ใหญ่มากๆ กำลังจะมีเงินไม่เพียงพอ ต้องปรับวิธีการลงทุนใหม่ ในอังกฤษ เมื่อ 4 ปีก่อน มีคนที่ทำงานราชการลูกจ้างรัฐบาลออกมาประท้วงตามท้องถนนกว่า 2.5 ล้านคนเพราะรัฐบาลประกาศเลื่อนอายุวันเกษียณ และปรับลดเงินบำนาญ ประเทศไทยมีข่าวว่าในอนาคตกองทุนประกันสังคมจะมีเงินไม่พอจ่าย

แนวคิดแบบนี้กำลังลามเข้าไปในระบบเอกชน หลายๆ บริษัทไม่จ้างพนักงานประจำ แต่ใช้ Out Source ในงานไม่สำคัญเพื่อตัดภาระเรื่องสวัสดิการ และค่าใช้จ่าย

ผมถามจริงๆ เถอะครับ คุณมั่นใจไหมว่างานประจำที่คุณทำอยู่ จะให้คุณทำไปจนถึงวันเกษียณ

ในเมื่องานหลายๆ อย่างถูกทดแทนโดยเทคโนโลยี งานหลายๆ อย่างจ้างเด็กๆ มาทำ บริษัทจ่ายเงินเดือนน้อยกว่า ความคิดสดกว่า ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วเราควรเตรียมตัวรับมือกันอย่างไร

และจากข้อมูลรายงานเรื่องการเกษียณอายุหลายๆ ประเทศในโลกชี้ไปแนวเดียวกัน เช่น ผลงานวิจัยจาก The Prudential Class of 2014 Retirement Study เปิดเผยว่า คนอังกฤษที่กำลังจะเกษียณในปีนี้กว่า 18% จะประสบปัญหาทางการเงินในวัยเกษียณ นั่นก็คือ จะมีรายได้ต่ำกว่า 8,600 ปอนด์ต่อปี ซึ่งเป็นค่าต่ำสุดของมาตรฐาน (standard of living) ประเทศสหรัฐอเมริกา ผลงานวิจัยของ Boston College Center for Retirement Research เปิดเผยว่า “กว่าครึ่งหนึ่งของประชาชนในอเมริกา รวมทั้งกว่า 60% ของผู้มีรายได้ต่ำ มีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถรักษาสถานะความเป็นอยู่ให้คงเดิมได้ (standard of living) เมื่อถึงวัยเกษียณ”

เกษียณอายุ
เกษียณอายุ

ถ้าแนวโน้มสถานการณ์ในอนาคตเป็นแบบนี้ เราก็คงต้องเตรียมตัวเพื่อช่วยเหลือตัวเองกันมากขึ้น และถ้าคุณต้องการที่จะเกษียณได้อย่างมีความสุข ผมมีคำเตือน10 ข้อผิดพลาดที่พบได้บ่อยในการวางแผนเกษียณมาให้คุณระมัดระวังกัน

•    รีบเกษียณเร็วไปจนไม่ได้ใช้ประโยชน์สูงสุดจากระบบสนับสนุนการออมที่มีมากพอ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ RMF LTF กรมธรรม์บำนาญ

•    กลัวการลงทุน เกษียณเป็นการออมระยะยาวหากคุณลงทุนแต่ตราสารหนี้หรือเงินฝาก เพราะไม่กล้าเสี่ยง ก็ทำให้คุณขาดโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดี และความเสี่ยงที่ต่ำจากการลงทุนระยะยาว

•    ไม่ได้ปรับแผนการเกษียณให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สถานการณ์เปลี่ยนเช่นผลตอบแทนไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง หากไม่ปรับแผนลงทุนเงินเกษียณก็อาจไม่พอ หรืออีกทางตรงกันข้าม หากได้เงินที่เพียงพอจะเกษียณอยู่แล้วแต่ก็ไม่ปรับลดความเสี่ยง จึงลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงต่อไป ก็มีความเสี่ยงที่สูงที่แผนลงทุนนั้นอาจเสียหาย จนทำให้ไม่มีเงินพอจะเกษียณ

•    ไม่ได้เตรียมรายจ่ายฉุกเฉินให้เพียงพอ หรือเตรียมน้อยไป เช่น ค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณ ค่าเบี้ยประกันสุขภาพที่ขึ้นสูงมากๆ ค่าซ่อมแซมบ้าน รถยนต์ที่ต้องเปลี่ยน เพราะคันเดิมเก่า

•    เอาเงินเกษียณไปเป็นค่าเล่าเรียนลูก วันเกษียณกับวันเข้าเรียนปริญญาตรี โท ของลูกมักเป็นเวลาใกล้กัน อย่าลืมนะครับว่าทุนสำหรับการศึกษาลูก มีวิธีจัดหามากมาย แต่ทุนเกษียณของคุณ คุณต้องจัดหาเองเท่านั้น

•    ประเมินช่วงการมีชีวิตสั้นเกินไป วางแผนเกษียณต้องเผื่ออายุยืน เหลือดีกว่าขาด เตือนตัวเองนะครับว่า “น่าเสียดาย ตายแล้ว เงินใช้ไม่หมด น่าสลดเงินหมด แล้วยังไม่ตาย”

•    มาคิดวางแผนเกษียณช้าเกินไป ใช้ประโยชน์จากการให้เงินช่วยทำงานน้อยเกินไป จะเก็บเงินเยอะ ก็ไม่ไหว จะกล้าเสี่ยงหน่อย ก็ไม่กล้าเพราะใกล้เกษียณแล้ว เงินเกษียณก็เลยไม่มีทางพอ

•    คุมตัวเองให้ทำตามแผนไม่ได้ ระหว่างทางก่อนเกษียณมีเรื่องยั่วยวนให้ใช้เงินตลอดเวลา หรือบางทีคุณก็ลืมที่จะเก็บ จำนวนเงินที่คุณต้องมีเพื่อเกษียณเลยมีไม่ถึงเสียที

•    เอาเงินหลังเกษียณไปลงทุนผิดพลาด บางคนไม่อยากอยู่เฉยๆ หลังเกษียณเอาเงินที่เก็บไปลงทุน เช่น ไปเปิดร้านอาหาร ร้านกาแฟ ฯลฯ แล้วเจ๊ง เงินเกษียณเก็บมาตั้งนานเลยหมด จนอดเกษียณ

•    ใจดีเกินเอาเงินเกษียณไปให้คนอื่นยืม แล้วไม่ได้คืน โดยเฉพาะคนใกล้ตัว เช่น ลูกหรือคนในครอบครัว 

คำแนะนำ คือ จงรักตัวเองให้มากกว่านี้ คนอื่นยังมีโอกาสพลาดแล้วแก้ตัวใหม่แต่เรื่องเกษียณหากคุณพลาดแล้วแก้ตัวไม่ได้ครับ 

เตรียมตัวก่อนเกษียณ

“น่ากังวลมากๆ สำหรับเรื่องการเตรียมตัวเกษียณของคนไทย จากข้อมูลที่มีพบว่า เมื่อถึงวันเกษียณอายุจะมีคนที่มีเงินเพียงพอที่จะมีชีวิตอย่างสบายหลังเกษียณเพียง 10-15% เท่านั้น อายุเฉลี่ยที่คนไทยจะเริ่มเก็บเงินเพื่อเกษียณคืออายุ 42 ทั้งๆ ที่ในบางประเทศ แผนการเงินที่เด็กจบใหม่เริ่มต้นทำงานให้ความสนใจคือแผนเกษียณอายุ แต่เด็กจบใหม่บ้านเรากลับสนใจเป็นเรื่องของการจับจ่ายใช้สอยราคาแพงแทนระบบการเก็บออมภาคบังคับเราแทบจะไม่มี ที่มีก็ให้เงินยามเกษียณที่น้อยมากๆ เช่น กองทุนประกันสังคม หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับพนักงานบางบริษัทเท่านั้น เห็นอย่างนี้ถ้าเราไม่ช่วยตัวเอง ถึงวันเกษียณก็จะไม่มีใครช่วยเราได้นะครับ

เกษียณอายุ
เกษียณอายุ

Know Him

มงคล ลุสัมฤทธิ์ (หมง) เจ้าของหนังสือ Best Seller “อยากรวย ผมช่วยคุณได้” ผู้มีประสบการณ์ ในการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล มากว่า 20 ปี และเป็นเจ้าของบริษัท wealth design consultingFacebook FANPAGE : Financial Times by Mongkol

เรื่องที่คุณห้ามพลาด