สู่สงขลา

สู่สงขลา

บนถนนสายเล็กที่เราผ่านพาตัวเองไปตามแรงลมด้วยรอบขาหมุนวน ใครสักคนที่ล่วงล้ำนำหน้ามักหันหลังมาบอกผมเสมอว่า การเดินทางด้วยตัวเองนั้นแสนมีความสุขภาพเช่นนี้ชัดเจนบนถนนเล็กๆ สายหนึ่งของภาคใต้ ระหว่างลมตะเภาพัดมาเยือนที่ราบลุ่มรายรอบทะเลสาบสงขลา ประมงหนุ่มพบตัวเองอยู่ในการงานและฤดูกาล และตึกแถวเก่าคร่ำงดงามด้วยแสงไล้ระบาย และขณะที่จักรยานสักคันค่อยๆ นำพาเราเข้าไปเป็นหนึ่งเดียวกับมัน

เพียงเพื่อที่จะรู้ว่ายามเช้าของเมืองเก่าสงขลานั้นสงบงามอยู่ริมทะเลอ่าวไทย เรารอนแรมดิ่งลงใต้มาราว 1,000 กิโลเมตร จากค่ำคืนแสนเหนื่อยอ่อนกับการขับรถทางไกล เมื่อถึงยามเช้าและได้เริ่มประกอบจักรยาน ติดกระเป๋าสัมภาระลงบนตะแกรงท้ายและหน้าแฮนด์ และออกไปพบกันถนนเล็กๆ ไม่กี่สายที่เบาบางรถรา การได้หลุดพ้นจากห้องสี่เหลี่ยมของรถยนต์และเปิดดวงตามองรายรอบอย่างค่อยเป็นค่อยไปนั้นอาจเรียกได้ว่าความรื่นรมย์

แดดเช้าทอดทาบตึกแถวชิโน - โปรตุกีส ถนนนครในคือถนนสายแรกของสงขลาฉายชัดวันเวลาอันผ่านพ้นทั้งความเป็นบ้านและย่านการค้าอันเคยเรืองรุ่งไว้ในกลุ่มอาคารที่ทอดยาวโอบล้อมถนนแคบๆ บ่อยครั้งเราแหงนมองบานประตูเหยียดยาวแบบเฟรนช์วินโดว์ หลาบหลังปิดเงียบ ทว่าด้านในล้วนมีคนอยู่ สะท้อนเอกลักษณ์หนึ่งของคนบนถนนครในที่ว่ากันว่ามักเป็นคนมีฐานะ และไม่ค่อยสุงสิงกับใคร

บ้านเรือนหลากหลายโอบขนาบเรียงราย ทั้งบ้านแบบจีนแท้ๆ ที่มีชั้นเดียว ไม่มีคาน ไม่มีเสา รับน้ำหนักด้วยกำแพง ที่งดงามคร่ำคร่าด้วยหลังคากระเบื้องดินเผา

แม้ความยาวของแต่ละถนนไม่มากนัก ทว่าล้วนบรรจุเต็มด้วยความงามสำหรับคนหลงใหลลวดลายและบ้านเรือน เมื่อลัดเลาะเข้าซอยที่เทียบเท่ากับความยาวของตึกโบราณเพียงหลังเดียว เราลัดสู่ถนนครนอก โรงสีหับ โห้ หิ้น โดดเด่นสีแดงทั้งรั้วสังกะสีและอาคารไม้สูงลิบจนต้องแหงนคอ ป้ายไม้ด้านหน้ากลายเป็นจุดแวะถ่ายรูปหลักของผู้มาเยือน มองลับเข้าไปด้านในคือผืนน้ำในทะเลสาบกว้างไกล เรือประมงเรียงราย โรงสีเก่าแก่แห่งนี้ที่คนสงขลาเคยคุ้นในชื่อโรงสีแดงเริ่มต้นจากขุนราชกิจการี ในปี พ.ศ. 2490 

จากที่เคยเรืองรุ่ง ซึ่งว่ากันว่า ข้าวจากระโนดนั้นเดินทางมาถึงที่นี่ด้วยเรือเอี้ยมจุ๊นลำโต ริมท่าเรือแห่งนี้คือปลายทางแห่งเส้นทางการเดินเรือจากที่ราบลุ่มเพื่อเพาะปลูกสู่ทะเลสาบสงขลา ก่อนที่การส่งออกไปยังแดนไกลทางทะเลใหญ่จะรองรับอยู่ด้านหน้า ณ วันที่รูปแบบการเพาะปลูกและขนส่งเปลี่ยนไป หับ โห้ หิ้น ทุกวันนี้กลายเป็นโรงน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่มีเรือประมงลำโตทยอยมารับน้ำแข็งเพื่อแช่ปลาก่อนออกทะเลกว้าง

แดดสายฉายชัด เราวนออกจากถนนนครนอก เลาะลัดกลับเข้าไปวันเวย์อีกรอบที่ถนนนครใน ยาวไปตามโอบล้อมของอาคารโคโลเนียลที่เริ่มแสดงการเคลื่อนไหว เมื่อไปสุดแล้วหักซ้ายเข้าถนนพัทลุง ที่ย่านบ้านบน หลังละหมาดแรกในยามเช้า ตามร้านอาหารดั้งเดิมอย่างก๊ะฟ๊ะห์หรือร้านน้ำชามากมาย เหล่าชายมุสลิมหลากหลายวัย ส่งเสียงพูดคุยยามเช้าไม่พ้นเรื่องการเมืองและชีวิตในแต่ละวัน

บ้านบนคือย่านมุสลิมอันแสนเก่าแก่เคียงคู่กับย่านคนจีนในเมืองเก่าสงขลา มิตรท้องถิ่นแนะนำให้ลองข้าวต้มมัดกล้วยนางยาตรงข้ามร้านก๊ะฟ๊ะห์ ก่อนที่เราจะมุ่งเข้าสู่ถนนนางงาม ถนนสายงดงามด้วยห้องแถวชิโน - โปรตุกีสอันเปี่ยมเต็มด้วยลมหายใจของคำว่าบ้านอันจริงแท้

ไม่เพียงความงดงามที่ผ่านตายามปั่นรถคันเล็กเข้าไปเป็นส่วนเดียวกับมัน แต่รอยยิ้มตามร้านรวงนั้นเปิดเต็มเกือบทุกห้อง เสน่ห์ของอาหารอันน่าทึ่งในความหลากหลายและเป็นเอกลักษณ์ปะปนอยู่ในภาพที่คล้ายจะดึงเรากลับสู่วันวาร ทว่าอันที่จริงคือปัจจุบันอันแสนคงทนท่ามกลางโลกที่หลากไหลไปก่อนหน้า

โลกแห่งร้านรวงเติมเต็มให้ถนนนางงามมีชีวิตใช่เพียงย่านโบราณที่หยุดตัวเองไว้กับคืนวันและสินค้าย้อนอดีตอันฉาบฉวย ขนมไทยร้านกุลประครองเริ่มมีคนแน่น ข้าวฟ่างกวนและสำปันนีดูจะเป็นพระเอก เราปั่นผ่านร้านฟุเจาอันเก่าแก่กว่า 40 ปีไปด้วยภาพโต๊ะกาแฟภายใต้แสงสลัวทึบทึมในตึกโบราณ ชายชราชาวแต้จิ๋วอย่างหลี ชังเหอ ยืนอยู่หน้าหม้อน้ำเดือดที่แวดล้อมด้วยเสียงพูดคุยอันเป็นเอกลักษณ์ของลูกค้าขาประจำ

ยามสายผ่านพ้น แต่ละคนแยกย้ายจากชีวิตจริงยามเช้าไปสู่หนทาง ถนนทั้ง 3 สาย ทั้งนครใน นครนอก และนางงาม เปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นปกติอันมีทั้งคึกคัก เงียบสงบ และนิ่งงัน อันผันเปลี่ยนเวียนวนไม่ซ้ำรูปแบบในแต่ละวันเวลา

จากครั้งที่พระยาสงขลา (เหยียง) ซึ่งเป็นต้นตระกูล ณ สงขลา ได้ย้ายเมืองสงขลาจากฝั่งแหลมสนมาอยู่ที่บ่อยาง อันเป็นที่ตั้งของถนนโบราณทั้ง 3 สาย จากปี พ.ศ. 2385 ก้าวล่วงผ่าน 177 ปี สู่นาทีปัจจุบัน หลายสิ่งตกทอดอยู่ในลมหายใจและบ้านเรือนของคนที่นี่

และเมื่อเราวนรอบขาพาจักรยานผ่านพ้นออกมา หันมองกลับไปในตึกเก่าและผู้คนที่มากความงดงาม ก็ดูเหมือนว่ามันไม่เคยขาดห้วง ราวเฒ่าชราเปี่ยมริ้วรอยชีวิตที่เฝ้ามองใครสักคนยามก้าวพ้นจากมา

หลังแดดเที่ยงร้อนร้าย บ่ายจัดลมทะเลพัดตึง เราเลียบเลาะถนนชลาทัศน์ หาดสมิหลาไม่เคยร้างราผู้มาเยือน ครอบครัวมุสลิมปะปนอยู่กับนักท่องเที่ยวต่างถิ่น ประติมากรรมร่วมสมัยตั้งเรียงรายเคียงข้างรูปปั้นนางเงือกในวรรณคดีเก่าแก่

ลดชิพเตอร์ใช้จานหน้าใบเล็กลงมาเพื่อทุ่นแรงขายามต้านลม ค่อยๆ เลาะริมทะเลจนไปถึงหาดเก้าเส้ง โลกแห่งการประมงเก่าแก่ของคนสงขลาชัดเจนอยู่ในหมู่บ้านมุสลิมที่เปี่ยมล้นไปด้วยความเรียบง่ายและแรงศรัทธาในพระเจ้าและท้องทะเลที่พวกเขาเคารพยึดเหนี่ยว

หาดทรายสีโอวัลตินชักนำให้เดินจูงจักรยานลงไปรู้จักชีวิตอันเกี่ยวพันกับท้องทะเลของพวกเขา กลางความเรียบง่ายของเพิงพักหลังคาจากที่เหยียดขยาย ชัดเจนไปด้วยพี่น้องมุสลิมหลากหลายวัยอันผูกโยงชีวิตอยู่ด้วยงานประมงเยี่ยงเดียวกับบรรพบุรุษ น่าเสียดายที่ช่วงลมมรสุมทำให้เราอดเห็นเรือกอและเรียงรายที่ปลายอ่าว แต่การได้ขึ้นไปยืนเหนือโขดหินมองชุมชนประมงแสนเก่าแก่ที่เป็นเพียงจุดเล็กๆ ปลายเมืองสงขลาก็นับว่าเป็นภาพที่น่าจดจำ มันผสานรวมทั้งไมตรีและรูปแบบการดำรงตนท่ามกลางโลกหมุนเวียนไปอย่างผสมผสาน

ปั่นผ่านถนนแหลมสนอ่อนไปยังสวนธารณะที่แหลมสน ทิวทัศน์งดงามเต็มไปด้วยมุมสวยๆ ให้หลายคนเลือกหย่อนใจและเฝ้ามองทะเลสาบสงขลา ขณะเราค่อยๆ แทรกตัวเองไปบนแพขนานยนต์ ลอยลำขึ้นไปที่เขาแดง ผืนแผ่นดินโบราณก่อนการย้ายเมืองไปที่สงขลาปัจจุบัน ถนนสายเล็กที่เวียนรอบเขาผลักพาให้คนอยากลองปั่นจักรยานระยะไกลพรึงเพริด ขณะที่ผู้คนร่วมแพล้วนเป็นชาวบ้านมุสลิมและผู้สัญจรไปมาระหว่างสงขลาและนครศรีธรรมราช

ขึ้นฝั่งได้เราเวียนขวาแวะไปที่ท่าเรือน้ำลึก เรือกอและเกยหัวอยู่ที่ริมหาดเล็กๆ อย่างลงตัว สีสันของมันใช่เพียงแค่ความงดงามสะท้อนเชิงศิลปะ หากแต่ยังแจ่มชัดอยู่ด้วยเหตุผลและความสัมผัสสัมพันธ์ของคนประมง กระแสน้ำและฤดูกาล

ถนนสายหลักบนเขาแดงลากผ่านเวียนเป็นวงกลม หลังจากผ่านพ้นการขึ้นลงลูกเนิน รอบด้านปกคลุมด้วยป่ายางพาราและเรือกสวนผสมผสาน ระว่างทางปรากฏป้อมปืนที่กลายเป็นโบราณสถานสะท้อนความเก่าแก่ของเมืองสงขลาตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 มันเก่าแก่คร่ำคร่าแทรกตัวเองอยู่ในครึ้มร่มของแมกไม้ การได้แอบจักรยานไว้ตามโคนไม้ใหญ่ และนั่งมองอดีตดูจะเป็นการพักเหนื่อยที่เปี่ยมบรรยากาศ

หมู่บ้านมุสลิมเล็กๆ ที่บ้านหัวเขาคือที่หยุดพักคลายร้อน หญิงชราไม่แตกต่างจากเด็กๆ และหญิงสาว คลี่คลุมฮิญาบมิดชิด ขณะตามเรือนไม้แสนเก่าแก่แขวนไว้ด้วยกรงนกกรงหัวจุกสะท้อนแดดบ่ายเป็นเงาทาบทาบานประตู

เราจมไปในถ้อยคำถามไถ่ถึงการมาเยือนที่แห่งนี้ด้วยจักรยาน น้ำท่าที่ได้รับหยิบยื่นชัดเจนความมีน้ำใจไมตรี ขณะที่เมื่อลัดลงผ่านพ้นควนเนินของหมู่บ้าน ป่าชายเลนที่ได้รับการปลูกเพิ่มบนเขาแดงก็แน่นครึ้ม ทางซีเมนต์เล็กๆ แยกย่อยออกไปสู่ความสมบูรณ์ชุ่ม ระหว่างลัดเลาะแทรกจักรยานเข้าไป เสียงกุ้งดีดขันดีดตัวเองเป๊าะๆ ขณะที่ปลายทาง มุมมองกว้างไกลมองเห็นตัวเมืองสงขลาก็งดงามเต็มสายตา

วงรอบเขาแดงผลักพาให้เราปั่นไปหายามเย็นที่ฝั่งเกาะยอ ความกังวลเรื่องการกลับฝั่งสงขลาในยามค่ำถูกทดแทนด้วยดุมปั่นไฟอันสว่างไสว เช่นนั้นเองที่มือใหม่อย่างเรามีโอกาสได้นั่งมองกระชังเลี้ยงปลาเรียงรายในแผ่นผืนทะเลสาบสงขลาอันไพศาล ยามโพล้เพล้ดูเหมือนจะเต็มไปด้วยชีวิตหลากหลายบนสะพาน

หลังกลับถึงฝั่งเมืองในยามค่ำ โต้รุ่งตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา คือปลายทางของมือใหม่ที่อาจหาญปั่นจักรยานทางไกล อาหารตามสั่งง่ายๆ กลับเอร็ดอร่อยท่ามกลางผู้คนหลากหลาย

ตกดึกเมืองเล็ก ๆ ก็เงียบงัน หน้าโรงแรมสุขสมบูรณ์ 2 นานๆ จะมีรถผ่านมาสักที นึกถึงสิ่งที่เรียกว่าระยะทาง สำหรับใครสักคนว่ามันสำคัญเพียงไร บางคนอาจหลงใหลความทอดเนื่องยาวไกลอันเรียงร้อยด้วยเรื่องราว ขณะบางคนก็อาจเฝ้ารอการร่นระยะ หดสั้น เพื่อเชื่อมต่อชีวิตต่อชีวิตเข้าด้วยกันชนิดที่หันหลังให้เข็มนาฬิกา

และเมื่อแอบจักรยานเข้าในความมืด ณ ที่พักเล็กๆ ผมเองกลับหลงลืมสิ่งที่เรียกว่าระยะทางเสียสิ้น เหลือเพียงคราบเหงื่อและร่องรอยของแดดร้อนร้ายบนใบหน้า รวมไปถึงภาพจำของแผ่นดินและผู้คนบนหนทางที่ผ่านมันมาด้วยพาหนะคันเล็กอันเปี่ยมเต็มด้วยแรงบันดาลใจ     

How to Go?

จากอำเภอเมืองฯ จังหวัดสงขลา แวะเที่ยวย่านเก่าที่ถนนนครนอก นครใน และถนนนางงาม หากหลงรักการท่องเที่ยวด้วยจักรยาน ถนนทั้ง 3 เส้นเป็นวันเวย์ ควรศึกษาเส้นทางให้ดี

ถนนนครในสวยงามด้วยตึกเก่าชิโน - โปรตุกีสเหยียดยาว

ถนนนครนอกน่าแวะไปเยือนโรงสีหับ โห้ หิ้น หรือโรงสีแดงอันแสนเก่าแก่ 

ถนนนางงามมากมายของอร่อย ทั้งข้าวสตูร้านเกียดฟั่ง ไอศกรีมยิว ร้านกาแฟฟุเจา ร้านแต้อาหารตามสั่ง ขนมหวานร้านกุลประครอง

ย่านบ้านบนคือถิ่นอาศัยของพี่น้องชาวไทยมุสลิม ไม่ควรพลาดอาหารมุสลิมร้านก๊ะฟ๊ะห์ เนื้อแดงผัดพริก ซุปเนื้อ แกงมัสมั่น แกงแพะ แสนอร่อย

สงขลาเป็นเมืองเล็กๆ มีเส้นทางปั่นจักรยานรอบเมือง หรือหากชอบระยะไกล ปั่นไปข้ามแพขนานยนต์ไปเที่ยวฝั่งเขาแดง เที่ยวชมป้อมปืนโบราณอันเป็นโบราณสถาน เที่ยวบ้านมุสลิมและป่าชายเลนแถบบ้านหัวเขา ปั่นต่อไปถึงเกาะยอได้ที่สะพานติณสูลานนท์ รวมระยะทางราว 30 กิโลเมตร

ผ่านดวงตาและรอยล้อจักรยาน