ความจริงเพียงครึ่งเดียว
วิจารณ์กันมากเหลือเกินว่า ถ้าประเทศไทยไม่ได้สร้างรถไฟความเร็วสูงแล้วล่ะก็ เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทยจะแพ้หลายๆ ประเทศที่เรากำลังต้องการแข่งขันกันอยู่ ไทยเราจะล้าหลังสู้ใครๆ เขาไม่ได้ เข้าใจผิดกันแล้วนะครับ
ในโลกนี้มีอยู่สององค์กรที่ได้รับการยอมรับในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ คือ สถาบันการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development : IMD) และ World Economic Forum (WEF) ซึ่งตั้งอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ทั้งคู่ ทั้งสององค์กรมีหลักการในการจัดอันดับประเทศต่างๆ คล้ายๆ กันคือทั้งสององค์กรจะรวบรวมสถิติต่างๆ รวมทั้ง ทำการสำรวจ สัมภาษณ์เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม หลังจากนั้นก็จะเอาข้อมูลทั้งหมดมาคำนวณและจัดอันดับ WEF เขาทำการวัด 144 ประเทศ ขณะที่ IMD เขาจะเลือกจัดอันดับเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา ประเทศอุตสาหกรรม รวมแล้ว 60 ประเทศครับ
ผลการจัดอันดับของ IMD ในปี 2556 ไทยเรามีขีดความสามารถในการแข่งขันอยู่ที่อันดับที่ 27 จาก 60 ประเทศ ดีขึ้นจากปีที่แล้วที่อยู่อันดับที่ 30 ประเทศใน AEC ที่ทำได้ดีกว่าไทยเราคือ สิงคโปร์ ได้อันดับที่ 5 และมาเลเซีย ได้อันดับที่ 15 ในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันนั้น IMD เขาจะวัดจากปัจจัยหลัก 4 ด้านด้วยกันคือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านประสิทธิภาพของรัฐ ด้านประสิทธิภาพของภาคเอกชน และด้านความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งทั้ง 4 ด้านนี้ไทยเราได้อันดับที่ 9, 22, 18 และ 48 ตามลำดับ
ในการวัดปัจจัยหลักทั้ง 4 ด้านนั้นก็จะมีเกณฑ์ย่อยๆ ลงไปอีก 5 หมวด เช่น ในการวัดปัจจัยหลักความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานนั้น เขาจะวัดจาก 5 หมวดย่อยด้วยกันคือ (1) โครงสร้างพื้นฐานเบื้องต้น เช่น ถนนหนทาง รถไฟ สนามบิน ไทยได้ที่ 25 (2) โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี ไทยได้ที่ 47 (3) โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ ไทยได้ที่ 40 (4) โครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ไทยได้ที่ 55 และ (5) การศึกษา ไทยได้ที่ 51
เห็นไหมครับว่าเวลา IMD เขาบอกว่าโครงสร้างพื้นฐานของไทยยังไม่ดีนั้น เขาไม่ได้บอกว่าถนนหนทาง และรางรถไฟเราไม่ดี แต่เขากำลังบอกว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ สุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการศึกษาของไทยเราก็ไม่ดีครับ
แปลว่าการลงทุน 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลที่ตกลงไปแล้วนั้นเป็นเพียงการลงทุนเพื่อยกระดับโครงสร้าง พื้นฐานด้านถนนหนทาง และรางรถไฟ ที่เราได้อันดับที่ 25 ให้ดีขึ้นเท่านั้น แต่การลงทุนที่ต้องกู้กันมโหฬารครั้งนี้จะไม่สามารถยกระดับความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้ดีขึ้นจากอันดับที่ 48 ได้มากนักนะครับ เพราะเงิน 2 ล้านล้านบาทนี้ไม่ได้เป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาและปรับปรุงด้านอื่นๆ ที่เรามีความพร้อมเกือบบ๊วยใน 60 ประเทศ
สิงคโปร์ที่เขามีความสามารถในการแข่งขันดีเป็นอันดับที่ 5 ของโลกนั้น เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ด้านถนนหนทาง รางรถไฟนั้น เขามีอันดับดีกว่าไทยเราไม่มากนะครับ คือเขาได้ที่ 16 แต่ที่เขาชนะไทยเราขาดคือ ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี เขาได้ที่ 3 และความพร้อมด้านการศึกษาเขาได้ที่ 4 ครับ
การที่รัฐบาลบอกความจริงเพียงครึ่งเดียวกับพวกเราว่าไทยเราล้าหลังเรื่องถนนหนทางและรางรถไฟ แต่ไม่บอกว่าโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ของเราก็ยิ่งล้าหลังมากกว่าประเทศอื่นๆ นั้น เป็นเรื่องที่น่ากลุ้มใจมากเลยนะครับ เพราะไทยเรากำลังหลงทางและกำลังจะใช้เงินที่มีอยู่น้อยนิดไปผิดทาง ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยเราลดลง
รัฐบาลพยายามบอกพวกเราว่าการขนส่งด้วยรถไฟนั้นประหยัดพลังงานมากกว่าการขนส่งด้วยรถบรรทุกซึ่งก็เป็นความจริง แต่รัฐบาลไม่ได้บอกพวกเราด้วยความจริงอีกครึ่งหนึ่งว่า ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาได้ลงทุนสร้างทางหลวงเพื่อการขนส่งด้วยรถบรรทุกปีละเกือบๆ แสนล้านบาทนั้นมันเป็นการตัดสินใจแล้วว่าไทยเราเลือกแล้ว ที่จะทำให้ระบบทางหลวงเป็นหัวใจหลักในการเชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่ง เวลาที่เมืองนอกเขาวิเคราะห์ว่าไทยพร้อมจะเป็นจุดเชื่อมโยงให้กับประเทศเพื่อนบ้านนั้น เขาบอกว่า
เพราะเรามีถนนที่สร้างสมบูรณ์แล้วเชื่อมโยงจากเหนือจรดใต้จากตะวันออกจรดตะวันตกครับ
ความจริงที่รัฐบาลบอกเราไม่หมดก็คือรถไฟความเร็วสูงทั้ง 4 เส้นที่ลงทุนราวๆ 7 แสนล้านบาทนั้น เป็นรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งไปไม่สุดชายแดนเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านนะครับมีเฉพาะสายเหนือที่วิ่งไปสิ้นสุดที่เชียงใหม่ ซึ่งใกล้สุดกับประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น ที่เหลือสายอีสานจบแค่โคราช สายตะวันออกจบแค่ระยอง สายใต้จบแค่หัวหิน รัฐบาลไม่เคยบอกกับเราเลยว่าถ้าจะสร้างต่อเพื่อเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้านต้องใช้เงินทั้งหมดเท่าไหร่
ความจริงอีกครึ่งที่รัฐบาลไม่ได้บอกเราก็คือค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงนั้นแพงนะครับ ยกตัวอย่างเช่นค่าโดยสารจากกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ที่รัฐบาลแอบคำนวณไว้ว่าจะเก็บจากประชาชนก็คือ 1,862 บาทครับ ใครอยากจะนั่งรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ ที่ใช้เวลา 4 ชั่วโมงซึ่งนานและแพงกว่าโลว์คอสต์แอร์ไลน์บ้างครับ?
ที่สำคัญแม้ว่าจะเก็บค่าโดยสารแพงขนาดนั้นและต้องมีผู้โดยสาร 9 ล้านคนต่อปีมากกว่าจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางขึ้นลงเชียงใหม่ในตอนนี้เกือบๆ 2 เท่านั้นน่ะ ค่าโดยสารที่เก็บได้ทั้งหมดจะยังไม่ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ของค่าลงทุนก่อสร้างเลยนะครับ คือขาดทุนตั้งแต่เริ่มคิดแล้ว
รัฐบาลบอกว่าอย่าไปดูเฉพาะเรื่องค่าโดยสารแต่ขอให้ดูผลประโยชน์ทางอ้อม เช่น การประหยัดพลังงาน การลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน การขนผักสดขนไข่ขนโอท็อปจากต่างจังหวัดเข้ากรุงเทพฯ ซึ่งดูรวมๆ แล้วคุ้มที่จะสร้าง นั่นเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียวนะครับ เพราะเวลาที่จะลงทุนในโครงการอะไรก็ตามรัฐบาลควรจะคิดถึงผลทางบวกด้านอื่นๆ ที่มีต่อสังคม นอกเหนือไปจากผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นโดยตรง
แต่ความจริงอีกครึ่งหนึ่งที่รัฐบาลไม่ได้บอกพวกเราก็คือประเทศอื่นๆ เวลาเขาสร้างรถไฟจะความเร็วสูงหรือรถไฟธรรมดาก็ตาม รัฐบาลที่ดีนั้นเขาจะพยายามเก็บเอามูลค่าที่เพิ่มขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ ตามทางรถไฟและสถานีต่างๆ มาชดเชยผลขาดทุนการลงทุนในการสร้างรถไฟสายนั้นๆ ครับ
เคยได้ยินไหมครับว่ารัฐบาลได้เตรียมการทำเรื่องอะไรแบบนี้เพื่อลดการขาดทุนของโครงการบ้าง? ไม่เคยได้ยินใช่ไหมครับ เพราะเรื่องแบบนี้มันเงินทั้งนั้น!!!!
แต่ขอเน้นไว้ตรงนี้หน่อยนะครับว่าแม้การวางแผนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อเอากำไรมาชดเชยการขาดทุนจากการลงทุนสร้างรถไฟจะเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญแล้ว แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือประเทศที่เขาฉลาดๆ เขาจะคิดก่อนว่าเมืองจะพัฒนาอย่างไร แล้วค่อยเอารถไฟไปรองรับแผนการพัฒนาประเทศนั้นๆ ไม่มีใครเขาคิดสร้างรถไฟก่อนแล้วค่อยวางแผนพัฒนาเมืองตามทางรถไฟหรอกนะครับ
ตำแหน่งของประเทศบนแผนที่การแข่งขันโลกต่างหากครับที่ต้องเป็นตัวกำหนดเส้นทางรถไฟทั้งสำหรับขนคนและขนของ เพราะตำแหน่งของประเทศจะบอกว่าเราควรจะมีแผนพัฒนาเมืองแบบไหน เมืองไหนของประเทศ จะทำอะไรบ้าง รถไฟทั้งหลายจะมาเสริมแผนการพัฒนาเมืองอย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด
คำถามที่รัฐบาลต้องตอบให้ได้ก่อนคือตำแหน่งของประเทศไทยอยู่ตรงไหนครับ?!?!?