อาจินต์ ปัญจพรรค์

อาจินต์ ปัญจพรรค์

ท่ามกลางอากาศที่อบอ้าวร้อนระอุของต้นเดือนเมษายน เราได้มีโอกาสพูดคุยกับนักเขียนในตำนาน และในหัวใจของใครหลายๆ คน ที่แม้เพียงได้ยินชื่อหรือเอ่ยถึง ต่างก็ต้องหาโอกาสที่จะได้พบเพื่อพูดคุยและแลกเปลี่ยนทัศนะระหว่างกันเป็นแน่แท้ เรานั่งคุยกันแบบสบายๆ พร้อมกับบรรยากาศที่ราวกับว่าบรมครูท่านนี้กำลังสอนให้เราเรียนรู้อะไรจากความทรงจำอันแสนมีค่าของท่าน ... อาจินต์ ปัญจพรรค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์

ถอดความทรงจำชายวัย 88

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาโอกาสสัมภาษณ์กับบุคคลที่ทรงคุณค่าแห่งวงการน้ำหมึกไทยอย่างคุณอาจินต์ เพราะด้วยวัยที่มากขึ้น อีกทั้งท่านยังได้ใช้เวลาส่วนหนึ่งในการพักผ่อนที่จังหวัดกาญจนบุรี แต่ในครั้งนี้ท่านได้เปิดโอกาสให้ MiX MAGAZINE ได้สัมผัสกับความเป็นตัวตน และ ความทรงจำอันทรงคุณค่าด้วยความยินดี

“ผมยินดีเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มาพูดคุยกัน เราได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันถือเป็นเรื่องดี ผมมันคนรุ่นเก่าแล้ว เรื่องราวที่เคยผ่านพบมันก็เป็นเรื่องที่นานมามากแล้ว หลงลืมไปบ้างก็คงจะเป็นเรื่องธรรมดานะ (หัวเราะ) ก็อาศัยคนแวะเวียนมาหามาพูดคุยกันอย่างนี้แหละดี

“อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ ราช เลอสรวง ก็มาเยี่ยม เราเคยทำงานด้วยกันเมื่อตอนที่ผมทำฟ้าเมืองไทย ผมได้บทละครเรื่อง แม่นาคพระนคร มาจากพระองค์ชายเล็กแล้ว ราช เลอสรวง เขาก็มาเขียนการ์ตูนประกอบ พิมพ์เป็นเล่ม 16 หน้ายก แจกพร้อมกับฟ้าเมืองไทยเล่มแรก เราสนิทกันพอสมควร เพราะได้ทำงานด้วยกันและรู้ใจกันดี 

อาจินต์ ปัญจพรรค์
อาจินต์ ปัญจพรรค์

“คนที่มันชอบอ่าน ยังไงวันหนึ่งมันก็ต้องอยากเขียนว่าไหม อย่างผมนี้รู้ตัวว่าชอบงานเขียนก็เมื่อเขียนเป็น แต่จุดเริ่มต้นนั้นเป็นเพราะผมชอบอ่านมาก่อน เมื่ออ่านออกเขียนได้แล้ว ผมก็รักที่จะอ่านหนังสือมาโดยตลอด อ่านทุกเรื่องที่คุณพ่อผมซื้อ สมัยนั้นคุณพ่อเป็นนายอำเภอที่จังหวัดนครปฐม (ขุนปัญจพรรคพิบูลย์) ผมมีพี่น้องสี่คน พวกเราชอบอ่านหนังสือกันทุกคน ผมอ่านเจอเรื่องสนุก เช่น เรื่องคำให้การของแบติยอง เฆร่า เป็นเรื่องราวของตำรวจนักสืบชาวฝรั่งเศสผมชอบมาก ก็เริ่มคิดว่าเราต้องทำอย่างไรจึงจะเขียนได้เช่นนี้บ้าง 

“ได้แต่คิดว่าเรานี้ก็ไม่ได้มีประสบการณ์เช่นเขาแล้วเราจะทำอย่างไร จะเอาเนื้อหาเรื่องราวไหนมาเขียนดี ซึ่งผมก็ต้องค่อยๆ ฝึกฝนไปเรื่อย หยิบยกเรื่องราวใกล้ตัวเอามาเขียนไป จนมีงานเขียนออกมาชิ้นแรก ซึ่งคนแรกที่ซื้องานเขียนของผมนั้นก็คือนายรำคาญ (ประหยัด ศ. นาคะนาท นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ที่มีชื่อเสียง และอดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์) เขามาที่บ้านขณะที่ผมไปอยู่เหมืองแร่ พี่สาวผมก็ลองเอาเรื่องที่ผมเขียนทิ้งไว้ให้เขาไป นายรำคาญก็เอาไปส่งต่อ แล้วผมก็เขียนเรื่องต่อมาคือเรื่อง ‘สัญญาต่อหน้าเหล้า’ แล้วก็เอาลงสยามรัฐรายสัปดาห์ฉบับปฐมฤกษ์เลย หน้าปกเป็นพระเจ้าอยู่หัวกับพระบรมวงศานุวงศ์ 

“ผมเขียนหนังสือตั้งแต่อายุ 14 ซึ่งตอนนั้นผมอยู่ม.6 ก็ถูกทิ้งลงตะกร้าเรื่อยมา แต่ผมก็ไม่เคยกลัว ก็คิดแค่ว่าไม่บก.ตาย ก็ผมตายกันไปข้างนึง มันต้องได้ลงสักวัน (หัวเราะ) ถึงคิดอย่างนั้นแต่ผมก็ลงทุนพิมพ์เองเลย เรื่องนั้นคือ “โอเลี้ยง 5 แก้ว” พิมพ์ได้ถึง 100 เล่ม ซึ่งทำให้ผมสามารถซื้อบ้านได้ ในสมัยนั้นก็จะมีนักเขียนที่ตีพิมพ์เองขายเองอย่างคุณเหม เวชกร, พ.เนตรรังสี (พัฒน์ เนตรรังสี) ฯลฯ”

มิตรรักที่ผ่านพบ

แม้เรื่องราวต่างๆ ในความทรงจำจะมีบ้างที่สีซีดจางไปตามกาลเวลา แต่บุคคลแต่ละท่านที่ได้เข้ามาผูกพันในชีวิตของคุณอาจินต์นั้น ล้วนแต่เป็นความทรงจำที่ทรงคุณค่าและมีความหมาย แต่ละเส้นทางก้าวเดินของชีวิต แม้จะก้าวไปด้วยกำลังของสองขาที่กล้าแกร่งของตัวเอง แต่การมีมิตรที่ดีก็เป็นอีกหนึ่งแรงอุปถัมภ์ให้คุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ มีวันนี้ 

“นอกจากเพื่อนๆ แล้วยังมีคุณจำนง รังสิกุล เป็นอีกคนหนึ่งที่มีความสำคัญกับผมมาก ท่านเป็นหัวหน้าฝ่ายจัดรายการทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม ท่านอ่านเรื่องที่ผมเขียนในสยามรัฐ เลยให้โอกาสเมตตาเอาผมไปทำงานด้านสัมภาษณ์ข่าวต่างประเทศ ตอนนั้นผมแปลไม่ออกทุกตัวก็คิดว่าจะลาออกแล้ว คงไม่ไหวเลยจะมามุ่งในงานเขียนหนังสือต่อ ทีนี้ท่านก็บอกผมว่างั้นไม่ต้องแปลแล้ว ให้มาทำหน้าที่เป็นผู้เขียนบทประจำสถานีเพื่อส่งผู้กำกับ ในสมัยนั้นผมเขียนบทให้ทุกอย่างทั้งละคร รายการ หรือแม้แต่รายการเทศน์ธรรมะก็มี แรกๆ นั้นผมก็ยังไม่เป็นงาน แต่คุณจำนง ท่านเป็นคนที่สอนงานผมด้วยตัวเอง

“จะว่าไปการที่ผมได้ไปใช้ชีวิตในเหมืองแร่ ถือได้ว่ามันเป็นชีวิตที่ไปตกระกำลำบาก แต่ก็ได้วัตถุดิบมาเขียนงานถือว่าเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ได้อะไรมาเยอะมาก ผมเขียนหนังสือออกมาขายได้ เป็นที่นิยมคนอ่าน คนชอบ ได้ทำเป็นภาพยนตร์ แต่ผมก็ไม่เคยทะนงตัว เพราะผมยังมีงานเขียนอีกหลายชิ้น จะมัวไปชื่นชมผลงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งมันไม่ได้หรอกเดี๋ยวมันจะย่ำอยู่กับที่ 

อาจินต์ ปัญจพรรค์
อาจินต์ ปัญจพรรค์

“ทุกวันนี้ผมก็อ่านงานเขียนของคนรุ่นใหม่ๆ นะ อย่างที่สนใจอ่านก็จะมีงานของคุณวินทร์ เลียววาริณ ผมชอบงานเขียนของเขาทุกเรื่อง เช่น บางกะโพ้ง, เชงเม้ง ฯลฯใครได้อ่านก็ต้องชอบ ผมชอบที่เขาเขียนเรื่องใหม่ๆ ชอบชีวิตและมุมมองของเขา เส้นทางชีวิตของเขาก็น่าสนใจนะ คนที่ผมชื่นชมก็มีด้วยกัน 5 คน วินทร์ เลียววาริณ,เสถียร จันทิมาทร, ขรรค์ชัย บุนปาน, สุจิตต์ วงษ์เทศ 

“ส่วนรงค์ วงษ์สวรรค์ ผมว่าในร้อยปีมีเขาแค่คนเดียวนี่แหละ เหมือนที่เราเคยมีสุนทรภู่ และศรีปราชญ์มาแล้ว รงค์เคยบอกกับผมว่า เขาเป็น ‘ศิลปิน’ ซึ่งตอนนั้นผมเองยังไม่เข้าใจถึงคำว่าศิลปินนัก และเมื่อวันหนึ่งได้เข้าใจในความหมาย ก็เห็นว่าเขานี่แหละศิลปินจริงๆ แต่ถ้าเรื่องโคลงกลอนนี่ก็ต้องเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นะต้องยกให้เขา

“พอนึกไปถึงเพื่อนฝูง ก็พาลให้นึกถึงบรรยากาศเก่าๆ บางทีมันก็ลืมๆ ไปบ้างแล้ว เมื่อสมัยก่อนผมเองก็เป็นนักดื่มอยู่เหมือนกัน เมื่อได้เจอเพื่อนฝูงร้านไม่ปิดก็ไม่กลับกัน ดื่มทีก็ต้องดื่มเพียวๆ เพราะงั้นมันถึงได้ทำร้ายผมจนต้องผ่าตัดลำไส้ มาเลิกดื่มเอาก็เมื่อตอนที่ต้องรักษาตัวกันนั่นแหละ”

ทัศนะวรรณกรรม

ในทุกวันนี้ ชายวัย 88 ปี ท่านนี้หาได้หยุดเวลาตัวเองเพื่อหมุนทวนโลกไม่ ท่านยังคงเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ให้กับตัวเองอยู่เสมอ โดยในทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมาท่านจะต้องถ่ายทอดเรื่องราวความทรงจำต่างๆ รวมไปถึงแง่คิดความรู้เล็กๆ น้อยๆ ลงไปในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คอย่างเฟซบุ๊ก เพื่อแบ่งปันและได้พูดคุยกับมิตรรักงานเขียนอยู่ไม่ขาดหาย

“ทุกวันนี้ผมตื่นนอนมาก็จะมานั่งถ่ายทอดเรื่องราวเก่าๆ ในความทรงจำของผมลงในเฟซบุ๊ก เพราะเรื่องเทคโนโลยีนี่ผมศึกษาหมด เราต้องทันมัน และรู้จักใช้มันก็จะมีประโยชน์นะ ถึงผมจะไม่ได้ไปไหน แต่จินตนาการมันจะพาผมไป การเดินทางคือสมองของนักเขียน เพราะเราได้ไปเห็นแล้วก็ไปจำมาเขียนอันนี้สำคัญ 

“งานนักเขียนเป็นงานที่หนัก การเขียนยาก เขียนไม่ออกนั้นเป็นเรื่องที่ต้องเจอกันทุกคน อย่างที่เขาว่านักเขียนไส้แห้งนั้นมันก็มีอยู่จริง แต่ผมเองก็ไม่อยากเป็นหรอก (หัวเราะ) ขึ้นอยู่กับความขยัน ความทุ่มเท บางคนขายยังไงก็ขายไม่ออก บางคนเขียนจนกระทั่งซื้อตึกแถวบ้างก็มี แต่คนที่ไม่มีวันหมดไฟในการเขียนก็คือ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ กับ รงค์ วงษ์สวรรค์ และที่นับถืออีกคนก็คือ ศ. ศิวรักษ์ ผมเคารพเขามาก เขาเก่งจริงๆ 

 “ในการเขียนนั้นเราต้องรู้ความหมายของคำที่จะใช้ ที่จะสื่อความหมาย ดังนั้นเราจะหาความรู้เหล่านั้นได้จากพจนานุกรม ก็จะได้สำนวน ภาษา คารม แล้วเราก็จะรู้ว่าการเขียนคืออะไร ส่วนเรื่องที่ดีประกอบไปด้วยการที่เรื่องนั้นไม่ได้ไปลอกใครมา และเป็นเรื่องที่หาทางออกให้แก่ชีวิต สุดท้ายเขียนเรื่องแล้วคนอ่านสามารถจำได้ถึง 20 ปีขึ้นไป เช่นผมจำเรื่องมุมมืดของยาขอบได้จนถึงทุกวันนี้ กระดาษที่ผมเคยเขียน เคยทิ้งลงตะกร้า มาวันหนึ่งก็มีแผ่นที่มีค่าเพราะผมพยายาม ไม่ท้อ สู้ที่จะเขียนต่อไป ผมจึงมีวันนี้ ครั้งแรกที่ได้ลงในสยามรัฐ มันก็ดีใจ ซื้อแจกเพื่อนกันเลย (หัวเราะ)

อาจินต์ ปัญจพรรค์
อาจินต์ ปัญจพรรค์

“ตัวผมเองผ่านการเขียนงานแล้วทุกรูปแบบ ก็ต้องขอบคุณคนที่มีบุญคุณมากที่สุดอย่างคุณจำนง รังสิกุล ท่านเป็นเจ้านายผมในสมัยนั้น ท่านเคยบอกให้ผมเขียนลำนำของดวงดาว แม้ผมจะทำงานอื่นไปด้วยท่านก็ยังให้ผมพิมพ์ดีดใส่กระดาษแล้วให้โฆษกไปอ่านทุกวันติดต่อกันนานหลายปี แม้แต่ตอนนั้นผมได้ทำงานเกี่ยวกับงานเขียนมากมาย คิดคำโฆษณานี้ก็มากอยู่ เรียกได้ว่ารายได้จากงานนั้นมากจริงๆ 

“แต่การบันเทิงทุกวงมหรสพสมัยนั้นมีการควบคุมจากทางการเมืองอย่างหนักหน่วง (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) อย่างครั้งหนึ่งที่ผมทำละครทีวี ผมทำเรื่องตาหวังหลังโก่ง พอเล่นไปสักพักหนึ่ง ก็มีโทรศัพท์จากทางการเข้ามา บอกให้หยุดเล่นซะ ผมก็ต้องหยุด เพราะกลัวว่าทหารที่จะไปรบที่เกาหลีได้ดูละครเรื่องนี้แล้วจะไม่อยากไป นั่นก็เป็นครั้งแรกที่ผมเจอเรื่องแบบนี้ แต่ก็ไม่มีอีกเลย 

“สมัยนั้นตัวหนังสือ ทำให้ดีมันก็เป็นเงินเป็นทองได้หมดนะ อย่างบางคนตั้งชื่อหนังก็ได้เงินแล้ว อย่างผมตั้งชื่อนักเลงหนังเหนียว เป็นชื่อที่ผมตั้งไว้ก่อน แล้วเขาก็มาซื้อไปทำหนัง สมัยนั้นเขาจะเอาชื่อก่อน แล้วก็ไปคิดเนื้อเรื่องต่อ ที่เขาซื้อเพราะมันมีค่าไม่เพียงแค่กระดาษธรรมดา กระดาษนั้นมันมีค่าเพราะตัวหนังสือ

“ถ้าพูดถึงงานที่ยากที่สุดของผม ที่ผ่านมานั้นยังไม่มี เพราะงานยากที่สุดสำหรับผมคืองานที่ยังไม่ได้เขียน คนเรามีโอกาสได้อ่านไม่เท่ากัน ไอ้เรื่องชาวนานั้น มีคนเอามาเขียน แต่คนอ่านกลับเป็นเสมียนนั่งออฟฟิศกันทั้งนั้น ส่วนเรื่องคนทำงานออฟฟิศ หรือธนาคาร ชาวนาเขาก็อยากรู้เหมือนกันแต่เขาไม่ได้มีเวลาและโอกาสได้อ่าน

“และการที่วันหนึ่งผมได้รับเกียรติถึงขั้นเป็นศิลปินแห่งชาตินั้น ต้องขอบคุณคุณชวน หลีกภัย กับ ศ.ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง ที่ได้คิดตั้งศิลปินแห่งชาติขึ้นมา เพราะมันคือการเห็นคุณค่าในงานที่เราทำมาทั้งชีวิตจริงๆ ... ในมุมมืดยังมีความดี ธรรมเนียมของนักเขียนก็คือ ความเป็นเพื่อนกัน ผมไม่ใช่นักปราชญ์ ผมเป็นแค่นักเขียนสามัญชนเท่านั้น” 

มิตรรักความทรงจำ