ปรัชญา พิณทอง

ปรัชญา พิณทอง

หลังจากเดินทางไปศึกษาต่อด้านศิลปะที่ประเทศเยอรมนี ในฐานะศิลปินชาวไทย เขาค่อยๆ มีผลงานจัดแสดงจนเป็นที่รู้จักของผู้คนในแถบยุโรป ความน่าสนใจที่มองจากผลงานล้วนผ่านวิธีการสั่งสมความคิดภายใต้สภาพแวดล้อมอันหลากหลายที่ได้เอาตัวเองไปสัมผัส และเขาคนนี้คือคนที่คุณอุดมศักดิ์ กฤษณมิษ พาให้เราได้มารู้จัก 

รู้จักกับคุณอุดมศักดิ์ กฤษณมิษ ได้อย่างไร

รู้จักเพราะได้ทำงานร่วมกัน ตอนนั้นผมทำพื้นที่แสดงผลงานศิลปะ ซึ่งมีพี่ฤกธ์ฤทธิ์ ตีระวนิช เป็นเจ้าของ ก็ได้ชวนพี่ตั๋ง อุดมศักดิ์ มาร่วมแสดงงาน เพราะมีชื่อเสียงในระดับอินเตอร์ แต่บ้านเรากลับรู้จักน้อย ความพิเศษเลยมีสองด้าน คือเป็นคนที่คนรู้จักเยอะและรู้จักน้อยไปในตัว

คุณเองก็เป็นแบบนั้นหรือเปล่า

เป็นธรรมชาติของแวดวงศิลปะ คนทำงานศิลปะก็เหมือนโยนหินลงน้ำแล้วมันค่อยๆ กระเพื่อมเป็นวงกว้างออกไป อยู่ที่ว่าเราถูกมองในจุดไหน

ทำไมถึงเลือกไปศึกษาต่อด้านศิลปะที่เยอรมนี 

ตอนนั้นชอบวรรณกรรมเยอรมัน แล้วอยากเดินทางค้นหาอะไรใหม่ๆ ด้วย เลยไปอยู่สถาบันชื่อว่า Städelschule ที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต 4 ปี ได้ทำงานศิลปะ และได้แสดงผลงานเป็นระยะ

4 ปีที่เยอรมนีแตกต่างจากที่คิดหรือไม่ 

ตอนแรกพูดภาษาไม่ได้ก็กลัวฝรั่ง จนรู้สึกถ้าเป็นแบบนี้เราจะมาทำไม เลยพยายามปรับตัวให้เข้ากับเขา อยู่ไปเรื่อยๆ ก็เริ่มมีเพื่อน ได้อะไรจากเพื่อนหลายเชื้อชาติเยอะ สถาบันเหมือนรวมคนเหล่านี้ไว้ อยู่ที่นั่นเหมือนเดินเหยียบขี้แต่ว่าหอม เพราะสภาพแวดล้อมหลายอย่างมันขัดแย้งในตัวมันเองมาก แต่อยู่ด้วยกันได้

อะไรคือสิ่งที่น่าสนใจสำหรับคุณในตอนนั้น

ผมสนใจความสัมพันธ์ของชีวิตในแต่ละอย่าง ทั้งคนทั้งสิ่งของที่มันเชื่อมโยงกัน งานผมมันเลยออกมาแบบนี้ ซึ่งเปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะวิธีคิด เรื่องทักษะเราถูกฝึกฝนมาตั้งแต่เรียนจิตรกรรมที่ศิลปากร แต่ความคิดมันถูกฝึกฝนเพียงระดับหนึ่ง ที่นั่นจะฝึกให้นำเสนอในสิ่งที่เราคิดให้กว้างขึ้น แลกเปลี่ยนได้มากขึ้น

งาน Installation Art ที่คุณทำส่วนใหญ่มีความน่าสนใจอย่างไร

มันก็เป็นวิธีการทางศิลปะอย่างหนึ่งเพื่อจะเล่าเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ในพื้นที่หนึ่ง ผมไม่ได้สนใจว่างานแบบนี้มันดีอย่างไร แต่สนใจว่าสิ่งที่วางมันคืออะไร มีงานชิ้นหนึ่งผมเขียนจดหมายส่งถึงกูเกิ้ลบอกว่าให้ลบชื่อตัวเองออกจากกูเกิ้ล 

ผมก็เสนอไอเดียนี้กับมิวเซียมแห่งหนึ่ง ถ้าสนใจผมจะเขียนจดหมายข้อความเดิมส่งไปหากูเกิ้ลที่แคลิฟอร์เนีย ตัวก็อปปี้ก็ส่งให้มิวเซียมจัดแสดง มันน่าสนใจว่าเราเป็นเจ้าของชื่อ แต่ทำไมลบออกไม่ได้ ทั้งที่มันเป็นการมองเห็นจากคนอื่น ท้ายสุดอยู่ที่การมองเห็นโลกและสิ่งต่างๆ ผ่านวิธีการแบบไหน ศิลปะแค่มาช่วยย่อขยายภาพให้ชัด ทำสิ่งที่มองไม่เห็นให้เห็น ผมสนใจว่าเราไม่สามารถออกไปจากสังคมนี้ได้ ที่บอกว่าเป็นสัตว์สังคมคงเป็นแบบนี้หรือเปล่า

การเดินทางกลับบ้านของคุณหลังเรียนจบเห็นว่าใช้เวลาเดินทางนานถึง 3 เดือน

ผมเดินทางคนเดียวจากแฟรงก์เฟิร์ตมาเมืองไทยโดยทางบก ค่อยๆ ไป ไม่ได้เดินทางเพื่อหาวัตถุดิบมาทำงาน เดินทางเพื่อที่จะกลับบ้านแบบช้าๆ เพราะรู้สึกว่าตอนนั้นทุกอย่างเร็วไปหมด ทำให้รู้ว่าผู้คนแต่ละประเทศที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ได้เจอผู้คน ความโกลาหลต่างๆ หรืออะไรที่คาดไม่ถึงบนรถไฟสายทรานส์ไซบีเรียน ก็ได้ทำความเข้าใจชีวิตจากสิ่งที่เราเห็น 

คุณถ่ายทอดการเรียนรู้ชีวิตในช่วงเวลานั้นไว้อย่างไรบ้าง

การเดินทางกลับครั้งนั้นทำให้ผมมีงานแสดงชื่อว่า Missing Objects ที่เก็บเอาสิ่งของระหว่างการเดินทาง ซึ่งเหมือนคนที่ไม่รู้จักผ่านเข้ามาแล้วก็หายไป จากนั้นแกลอรี่ในปารีสก็ชวนให้แสดงงานเดี่ยว ผมเสนอว่าจะเดินทางไปอีกมุมหนึ่งของโลกซึ่งตรงข้ามกับปารีส นั่นคือ Chamtam Islands ที่ประเทศนิวซีแลนด์ ไอเดียคือจะเดินทางไปถ่ายรูปพระจันทร์เต็มดวงหนึ่งเฟรมด้วยกล้องฟิล์ม แล้วเลื่อนฟิล์มหนึ่งครั้งซึ่งเปรียบว่าโลกหมุน พร้อมกับเดินทางกลับมาให้ทันในรอบโคจรเพื่อมาถ่ายพระจันทร์เต็มดวงที่ปารีสอีกหนึ่งเฟรม ผมแสดงงานโดยเจาะผนังแล้วมีฟิล์มอยู่ตรงกลาง ถ้าดูจะเห็นแค่แสงไฟพุ่งออกมาจากรูสีขาว คือพระจันทร์ 

ฟิล์มชิ้นนั้นมีคนซื้อไป ผมได้เงินมา 5 พันยูโร ทางแกลอรี่ก็ชวนทำโปรเจ็กต์อีก ผมก็เลือกต่อยอดจากเงินก้อนนั้น ดูว่าสกุลเงินชาติไหนมูลค่าต่ำสุด ก็แลกเงินซิมบับเว เพื่อมาสร้างงานประติมากรรม เงินตรงนั้นทยอยส่งมาจากพ่อค้าแลกเงินในอีเบย์ ก็ค่อยๆ วางกองแต่มันไม่เสร็จ เพราะพ่อค้าคนนั้นหยุดส่งเงินที่เหลือมา แต่ชอบที่มันไม่เสร็จ มันสะท้อนให้เห็นถึงซากปรักหักพังของประเทศหนึ่ง มันแทบไม่มีค่าแม้แต่ตัวมันเอง มันเลยมาเป็นศิลปะ ที่ทำให้มันมีค่าอีกครั้งเมื่อผ่านการกระบวนคิด ... 

ศิลปะแค่มาช่วย ย่อขยายภาพให้ชัด ทำสิ่งที่มองไม่เห็นให้เห็น