Wealthomics

Wealthomics

“เรื่องเงินเรื่องทอง ของมันต้องคุย” ก่อนอื่นเราต้องแยกแยะให้ชัดเจนว่า “คนมีเงิน” กับ “คนรวย” แตกต่างกัน มีเงินเหมือนกันแต่ 2 กลุ่มนี้มีวิธีการบริหารจัดการ “เงินที่มี” ไม่เหมือนกัน ภาพภายนอกแยกไม่ออกแต่ในระยะยาวคนรวย
จะยิ่งรวยเพิ่มขึ้น คนที่แค่มีเงินมักเหนื่อยเพิ่มขึ้นและเงินหมดไปในที่สุด

คนรวยมีเงิน คนมีเงินอาจไม่รวย

ที่ว่าต่าง มันต่างกันอย่างไร? “คนมีเงิน” คือผู้ที่มีรายได้นั่นเอง รายได้จากงานประจำ ค่าจ้าง ฯลฯ มีเงินมากแปลว่ารายได้สูง แต่เป็นรายได้ที่ต้องทำงานแลกมา (Active Income) ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องผิดหรือเรื่องแย่นะครับ ตราบใดที่เรายังทำงานได้อยู่ แต่ถ้าทำงานไม่ได้เมื่อไหร่เรื่องใหญ่ และเราเกือบทุกคนในโลกทุนนิยมเมื่อ “รายได้เพิ่มขึ้น” เราหาเรื่องสร้างรายจ่ายให้เพิ่มขึ้นตามเสมอ สุดท้ายเราก็ตกอยู่ในวงจรของการหามาเพื่อใช้ไป วิธีคิดแบบนี้คือหนึ่งในกับดักของชีวิต หยุดหาเมื่อไรกลายเป็นคนจนทันที

ฝั่งคนรวย มีเงินเหมือนกันแต่บริหารจัดการไม่เหมือนกัน และไม่ใช่ว่าพวกเขาบริหารดีกว่าเสมอไปนะครับ เขาเพียงบริหารจัดการเป็นเท่านั้นเอง มีรายได้เหมือนกัน แต่วัตถุประสงค์หลักของรายได้นั้นไม่ใช่เพื่อนำไปเป็นรายจ่าย แต่นำไปวางในสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ หรือลงทุนอีกทอด อารมณ์ “เงินต่อเงิน” นั่นเอง  

คิดให้ดีกับสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ เมื่อหยิบเฉพาะตัว “รายได้” มาใช้ ตัวสินทรัพย์ก็ไม่ลดลง และยิ่งศึกษาดีๆ อายุของสินทรัพย์ส่วนใหญ่มักจะอยู่ได้นานกว่าอายุงานเรา และแปลว่ามันสามารถเลี้ยงตัวเรา รุ่นลูก และรุ่นหลานได้เลยถ้าบริหารเป็น และสินทรัพย์ชั้นดีอย่างที่ดินแปลงสวยๆ หรือหุ้นพื้นฐานดีๆ ยิ่งถือนานมูลค่ายิ่งเพิ่ม ที่สำคัญกระแสเงินสด หรือ “รายได้” จากสินทรัพย์นั้นๆ ก็ยิ่งเพิ่มขึ้นอีกด้วย 

ผมสงสัยอยู่ตลอด ว่าคนระดับ “เศรษฐี” เขาจัดการเรื่องเงินกันอย่างไร เพราะมันไม่ใช่แค่ฝีมือหรือความสามารถในการหาเงินเท่านั้น มันต้องมีอะไรมากกว่านั้น ยิ่งได้ศึกษายิ่งได้คลุกคลีกับเศรษฐี นอกจากเขามี “ศาสตร์” ในการหาเงินหารายได้แล้ว เขามี “ศาสตร์” ในการจัดการกับเงินที่หามาได้ด้วย แน่นอนว่าส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ประหยัด แต่ทั้งหมดจะต้องเป็นคนใช้เงินเป็น ... 

ใช้เป็นในที่นี้ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องซื้อของดี ใช้ได้ทนได้นานกว่า ฯลฯ แบบนั้นนะครับ เหมือนข้ออ้างในการหาเรื่องซื้อของแพงมากกว่า เช่น ถ้าเป็นสินทรัพย์ที่เสื่อมมูลค่าหรือใช้แล้วหมดเลย เช่น รถ มือถือ กระเป๋าถือ หรือไปเที่ยว ฯลฯ ก็ซื้อใช้ได้ตราบใดที่อยู่ในขอบเขตของรายได้ที่เกิดขึ้นจากสินทรัพย์ลงทุน นั่นหมายความว่า “ใช้เงินไปแต่ไม่ทำให้จนลง” 

เราส่วนใหญ่เป็น “คนมีเงิน - มีรายได้” ซึ่งเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว ที่ควรเพิ่มคือการจัดสรรรายได้ส่วนหนึ่งลงในสินทรัพย์ที่จะไปสร้างรายได้ต่อยอดอีกทอด และเมื่อเกิดรายได้จากงานและรายได้จากสินทรัพย์ลงทุน ก็นำมาจัดสรรอีก ทบต้นไปเรื่อยๆ สินทรัพย์ก็โตขึ้นไปเรื่อยๆ รายได้ก็โตขึ้นไปอีก ส่วนหนี้สร้างเมื่อไหร่ก็ได้ตราบใดที่มีรายได้ แต่การลงทุนในสินทรัพย์ให้โตให้สร้างรายได้นั้นมันใช้เวลา ต้องลำดับความเฉพาะหน้าให้ถูก

คนมีเงินอยากได้รถสักคันก็ดูว่ามีเงินเหลือหรือต้องสร้างหนี้เท่าไหร่ คนรวยอยากได้รถสักคันจะมองว่ารายได้จากสินทรัพย์เพียงพอที่จะซื้อหรือไม่ บนฐานความคิดที่ว่าของฟุ่มเฟือยซื้อได้แต่ต้องไม่ทำให้มูลค่าสินทรัพย์ลงทุนลดลง ‘ได้รถเหมือนกัน แต่เหลือเงินไม่เท่ากัน’ และนี่คือตัวแปรสำคัญที่สร้างความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนมีเงิน นี่คือ “ศาสตร์ของเศรษฐี” 

Know Him

คุณธำรงชัย  เอกอมรวงศ์ (หยง)

เจ้าของหนังสือ “หยงเกิดมาเทรด”  Freedom Trader ที่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในศาสตร์ของเทคนิคอล และเป็นวิทยากรในคอร์ส  Technical analysis&Trading concept  และคอร์ส Professional TFEX Trading Strategies  ของ stock2morrow ติดตามได้ที่ Facebook Fanpage : www.facebook.com/freedomtrade

 

 

เศรษฐีศาสตร์