คือทะเลที่หล่อหลอม... ขนอม – สิชล

คือทะเลที่หล่อหลอม... ขนอม – สิชล

 

แดดสายฉายภาพกระจ่างตา เราทิ้งอำเภอดอนสักในเขต จังหวัดสุราษฎร์ธานีไว้เมื่อปลายสาย เมื่อเริ่มเข้าเขตนครศรีธรรมราช แม้จะเป็นผืนทะเลเดียวกัน แต่ก็ปลุกให้เพื่อนร่วมทางฟื้นจากการหลับใหล เมื่อรู้ว่าจุดหมายที่เราต่างตั้งมั่นเริ่มดำเนินเรื่องราว

จากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 401 ซึ่งทอดตัวตนมุ่งลงใต้ เราเลือกเลาะซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 4142 ถนนสายเล็กผ่านพาตัวตนเลียบเลาะสวนมะพร้าว และ
สวนปาล์ม วิวสวนมะพร้าวและทะเลยามสายวิบวับ 

เราบ่ายหัวรถ มุ่งผ่านแนวป่าชายเลนที่ครึ้มแน่น ความสมบูรณ์ชัดเจนของทะเลขนอมเด่นชัด เมื่อถนนเล็กๆไปสุดทางที่อ่าวเตล็ด เรือประมงเล็กก่ายเกยอยู่ในหาดเลน โอบล้อมด้วยขุนเขารอบด้าน ยามใกล้เที่ยงไร้นักท่องเที่ยว เหลือเพียงเวลาน้ำขึ้น ที่จะซัดพาชีวิตประมงตรงหน้าออกสู่ทะเลในโมงยามถัดไป

พื้นที่อ่าวเล็กๆ เหนือสุดของทะเลขนอมแห่งนี้ เคยเป็นที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จมานมัสการพระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช จากที่แต่เดิมเรียกกันว่า ‘อ่าวเสด็จ’ ผ่านคืนวันและการเปลี่ยนผ่าน กลายเป็นชื่อ ‘อ่าวเตล็ด’ เช่นทุกวันนี้

ทางเล็กๆ ในโอบอ้อมขุนเขา ยังคงพาเราไปรู้จักแง่งามของทะเลขนอม ไม่ไกลจากอ่าวเตล็ด เมื่อลัดเลาะมาสุดทาง แหลมพับผ้าปรากฏแนวผาหินสูงใหญ่ ยื่นลงไปจรดผืนทะเล แนวหินสะท้อนพื้นผิวเป็นชั้นๆ คล้ายผืนผ้าพับทบทับซ้อน รอบด้านครึ้มร่มด้วยแมกไม้ ใครบางคนจ้องมองแล้วนึกถึงภาพวาดสีน้ำชั้นดี เรายังแทรกตัวเองไปในความสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าชายเลน และผืนทะเลขนอมในตอนต้น

อ่าวท้องเนียนซ่อนแนวหาดกว้างใหญ่ ไว้ในระดับน้ำทะเลที่ขึ้นสูง ว่ากันว่า ยามน้ำลดจะแผ่ผืนกว้างใหญ่ ไม่แตกต่างจากหาดท้องทราย ที่วางตัวใกล้กันอยู่ทางทิศเหนือ แนวโค้งของมันแสนสงบ ประดับด้วยทิวมะพร้าวและโขดหินหลายรูปทรง เป็นฉากหลังความเงียบสงบของถนนสายเลียบหาดขนอม เต็มไปด้วยบรรยากาศของเรือกสวนและผืนทะเล เพื่อนร่วมทางเปรยว่า คล้ายเราอยู่บนเกาะสักแห่งที่ไม่ใช่ฝั่งแผ่นดิน ภาพเช่นนั้นชัดเจนจนมาถึงหาดท้องโหนด หลังเสียบหัวรถไว้ตรงปลายถนน ตรงหัวอ่าวปรากฏแนวหินเสียดตั้งพร้อมผ้าแพรสักการะ โลกตรงหน้าเงียบรื่น ผืนทะเลเป็นที่หย่อนใจของพรานเบ็ดสามสี่คน

ซึ่งเมื่อเราไต่ลัดเนินเขาเตี้ยๆ ขึ้นไปอีกราว 100 เมตร อ่าวดินสอ ฉายภาพของหาดชุมชนอันเด่นชัด ฤดูมรสุมเช่นนี้ เรือประมงเล็กมักซอนซบอยู่ตามชายหาด และการตกปลาดูเหมือนจะเป็นทิศทางเลี้ยงชีพ สำหรับคนทะเลที่ถูกจองจำอยู่แต่บนฝั่ง หากไม่นับการเติบโตด้วยการเป็นอ่าวประมงแต่ดั้งเดิมของทะเลขนอม หลายคนว่ามันดำเนินไปด้วยกระแสแห่งการท่องเที่ยว สิบกว่าปีที่ผ่านมา ทะเลขนอมเปิดตัวเองออกสู่การรับรู้ของคนภายนอก ทั้งความงดงามของผืนทะเล รูปแบบชีวิตสงบง่าย หรือแม้กระทั่งทรัพยากรสัตว์น้ำ อันน่าทึ่งก็ต่างมีส่วนดึงดูดให้ขนอม กลายเป็นที่รู้จักและเป็นจุดหมายของผู้คนหลากหลาย

หาดแขวงเภา ทอดตัวเป็นสันโค้งเหยียดยาว และไม่เคยร้างไร้ผู้คน เมื่อเราไปถึงร้านอาหารทะเลเรียบง่ายที่เป็นเพิงชั้นเดียวคลาคล่ำนักท่องเที่ยวพื้นถิ่น สะพานปลา
ตรงปลายทางซีเมนต์คือต้นทางแรกแห่งวัตถุดิบสดใหม่ เรามองภาพตรงหน้าผ่านอากาศสด และลมทะเลแกว่งไกว ฝรั่งสามสี่คนพามอเตอร์ไซค์คันเล็กแวะมาเยี่ยมเยือน 
ที่นี่อาจเป็นหาดเริ่มต้น ที่ฉายภาพการท่องเที่ยวของทะเลขนอมอันแจ่มชัด ทางดินตรงต้นอ่าวแขวงเภา พาเราไต่สวนความสูงและทางสอบแคบ เราผ่านหาดท้องชิงและมองมันจากมุมสูง เหนือแนวสวนมะพร้าวเหยียดขยาย คือภาพทะเลสีเทอร์คอยซ์ที่เจิดจรัสแดดบ่าย ลัดเลาะไปจนสุดเขตเขา ไล่เรียงมองแนวหาดท้องกรวด ซึ่งปรากฏเป็นภาพทางตาอันงดงาม ทะเลมีตัวตนเด่นชัดและยิ่งใหญ่ เมื่อเราเลือกมองมันอยู่อย่างเคารพ

ต่อไป สู่หาดหน้าด่านที่ทอดยาวเหยียดไกล ถัดลึกลงไปในทะเล คือจุดดำน้ำลึกชั้นดีที่เต็มไปด้วยมวลปะการัง และสัตว์ทะเลนานาชนิด อย่างกองหินร้านเป็ดร้านไก่ 
เกาะวังใน และมีจุดดำสนอร์คเกิลอย่างเกาะวังนอก และเกาะราบ เช่นนั้นเองทุกรีสอร์ท ต่างก็มีธรรมชาติของทะเลขนอมเป็นจุดดึงดูดผู้คนให้เข้ามาเยี่ยมเยือน

ลัดเลาะผ่านหาดหน้าด่าน ไล่เลยไปตามถนนสายเล็กที่เต็มไปด้วยรีสอร์ท ร้านกาแฟ และบาร์ริมทะเลสู่หาดในเพลา ทะเลเบื้องซ้ายอิ่มแดดบ่าย จนต้องหยุดรถลงไปเดินเล่นเป็นระยะ บางช่วงถนนยกตัวขึ้นไปบนเขาสูง รีสอร์ทหรูที่หัวเขาอย่างราชาคีรี รีสอร์ท แอนด์ สปา ซ่อนมุมหาดในเพลาอันกระจ่างตาไว้ในนั้น ผ่านพ้นรายล้อมแห่งที่พักหลากสไตล์ เราสวนความชันขึ้นมาสู่อ่าวท้ายสุดในเขตทะเลขนอม ดิ่งตรงลงสู่ความเงียบสงบอันจริงแท้ของอ่าวท้องหยี รีสอร์ทเรียบง่ายของชาวบ้าน เต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งพี่น้อง ทางดินตรงโค้งทางลงอ่าวท้องหยีเกรด ไถไว้อย่างพอให้รถจี๊ปคันเล็กสวนขึ้นไปได้ และเมื่อใช้โฟร์โลว์ขึ้นไปถึง เราเองก็ได้พบว่า บรรยากาศร้างไร้ ที่ที่ทำการร้างของอุทยานฯ หาดขนอมฯ เหนืออ่าวท้องชิงในยามสายนั้น มีที่มาอยู่ตรงท้ายสุดของโขดเขาแห่งทะเลขนอมตรงหน้า

วิวกระจ่างตาของอ่าวท้องหยี ต่อเนื่องถึงหาด ในเพลาตรงจุดชมวิว คือความงดงามที่ไม่เพียงแต่คนนอกเท่านั้นที่มองเห็น แต่สำหรับคนที่ทำหน้าที่ดูแลอนุรักษ์ เขาเองก็คงอยากเห็นภาพเช่นนี้ เคียงคู่ทะเลขนอมไปเนิ่นนาน

ฟ้ายามเย็นส่งต่อสีส้มแดงเหนือทิวมะพร้าว เรากลับมาผ่านค่ำคืนที่หาดหน้าด่าน ลมทะเลกวัดไกว บางนาที ผมนึกถึงฉากผ่านแห่งทะเลขนอมที่สัมผัสมาเกือบทั้งวัน
ทะเลสีฟ้าสด หาดทรายนวลละมุน หรือรอยยิ้ม ของผู้อยู่กับมัน

สิ่งใดกันแน่ ขับเคลื่อนให้มันดำรงคงอยู่ หากไม่ใช่ตัวตนและหัวใจของคนที่นี่ ... คนที่มีทะเลเป็นเบ้าหลอมอันแกร่งทน ขุนเขาที่วางตัวกั้นขวางบีบบังคับ ให้เราต้องย้อนเข้าสู่ตัวเมืองขนอม ผ่านพ้นอีกกว่า 30 กิโลเมตร เพื่อที่จะเข้าสู่อำเภอสิชล ว่ากันว่ามีทางป่าระดับยาก ที่ต้องเป็นผู้เจนทางเท่านั้นจึงจะควบโฟร์วีลลัดเลาะมาได้รอบด้าน เรียงรายด้วยสวนมะพร้าว และแนวเขาราวภาพเหมือนระหว่างสองอำเภอแห่งนี้ เมื่อตัดสินใจเลือกใช้หนทางสายเล็กเช่นเดิม

มันเป็นยามบ่ายที่กระจ่างตา ขณะเรามุ่งหน้าสู่เขาพลายดำ จุดชมวิวมุมสูงกว่าทุกหาดที่เคยผ่านมา ทะเลในเขต อำเภอสิชลเบื้องหน้า คือภาพทางตาที่น่าจดจำ ถนนดำเล็กๆ สายนี้พาเราดิ่งลงไปสิ้นสุดที่เขาพลายดำซึ่งด้านบน คือโลกของการเรียนรู้ ด้านความหลากหลายของพรรณพืชบน และสัตว์ป่าบนภูเขา เป็นที่ตั้งของสถานีอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าเขาพลายดำ ไม่ไกลกันมีค่ายลูกเสือที่รายล้อมไปด้วยบรรยากาศของผืนป่า และท้องทะเลวางตัวอยู่อย่างกลมกลืน

เราลงมาสัมผัส หาดกว้างไกลของอ่าวท้องยางร่วมกับนักท่องเที่ยวเจ้าถิ่น ภูมิทัศน์ที่ปรับแต่งอย่างงดงาม อาคารที่พักและร้านอาหารเนืองแน่นผู้คน ไม่แตกต่างไปจากท้องทะเล ที่ทอดยาวรองรับการหย่อนใจ เรานั่งมองคู่แต่งงานที่ใช้ทะเลเป็นฉากถ่ายรูป แว่วเสียงเริงร่าของเด็กๆ ขณะที่รอยยิ้มของผู้ใหญ่ด้านบนนั้นแสนงดงาม ข้ามย้อนแนวเขาสูงมุ่งเข้าตัวเมืองสิชล ระหว่างทางที่หินงามรางทัด เพื่อนร่วมทางสงสัยในชื่อ และชวนลงเพื่อไปเห็นหมู่หินเรียงซ้อนอยู่ริมทะเล กางกั้นจนเกิดเวิ้งอ่าวเล็กๆ ที่เรียงรายไปด้วยเรือประมงหลังกลับจากการหากินชายฝั่ง 

มันก่อเกิดแพกุ้ง และหมึกขนาดเล็ก เบื้องหลังแนวหินกองโต คุณป้าเจ้าของเชื้อเชิญให้นั่งดูพวกเขาขึ้นอวนด้วยไมตรี เรือเล็กหลายเฉดสีรอคิวเพื่อจะรุนลำเรือขึ้นก่าย
เชิงชายหาด ขณะแม่ค้าสักคน ต่างจับจองและเฝ้ารอความสดในลำเรือกันอย่างสนุกสนาน ถ้อยคำไถ่ถามทุกข์สุข วิพากษ์การเมืองที่เมืองกรุง ล้วนล่องลอยในสายลมบ่าย
จากริมทะเลเราเข้าสู่เมืองสิชล ถนนเลียบเลาะข้ามฝั่งแม่น้ำสิชล ไปสู่ความร่มรื่นของทิวมะพร้าวและสวนปาล์ม บ้านทุ่งใสวางตัวเองอยู่อีกฟากฝั่งตรงข้ามเมือง หมู่บ้านชาวประมงแสนเก่าแก่แห่งนี้เงียบเชียบ ยามมรสุมเริ่มตั้งฤดู งานซ่อมลอบ อวน ชัดเจนอยู่ตามลานดินหน้าบ้าน 

ขณะที่ในทะเล เหลือเพียงความงดงามของเกลียวคลื่นสีสดใสของท้องฟ้า แม่น้ำสิชลพาตัวเองมาบรรจบกับผืนทะเลกว้าง เรือประมงใหญ่เล็กเรียงรายที่ปากน้ำ อนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ตระหง่านตั้งเป็นที่เคารพของคนเรือ การพบกันของทะเล ผืนฝั่ง และคนในภูเขา ชัดเจนอยู่แถบตลาดและย่านเก่า ที่ถูกระบายด้วยแสงบ่ายเป็นภาพงดงาม เลาะลึกลงไปในตัวเมือง เลียบแม่น้ำ ที่บ้านสะพานน้ำแดง หมู่บ้านประมงดั้งเดิมของสิชลแน่นขนัด ด้วยคานเรือและเหล่าชายกำยำผิวแดงด้วยแดดลม หลังการรอนแรม ยามบ่ายคือห้วงยามแห่งการผ่อนพัก ตามบ้านไม้ ชั้นเก่าแก่สีน้ำตาลขรึมที่ประกอบกันขึ้นเป็นหมู่บ้านประมงแห่งนี้
เต็มไปด้วยภาพการพักผ่อน ชายหนุ่มประคบประหงมนกกรงหัวจุกที่หน้าบ้าน ขณะเด็กๆ วิ่งไล่ไปตามถนนเล็กๆ ที่ทอดลงสู่ริมแม่น้ำในคานเรือ เรือประมงลำใหญ่ขึ้นคานนิ่งสนิท รอการตอกหมันยาชัน เตรียมสู่ฤดูกาลหาปลาที่จะมาถึง

เราใช้ยามบ่ายใกล้เย็น ไปกับหาดสิชลที่ทอดยาวลิ่วลงทางใต้ เลาะผ่านความสวยงามของหาดปิติ ขณะที่บางนาที ย่านประมงพื้นบ้านที่หาดปลายทอนก็เต็มไปด้วยชีวิตชีวา เสียงพูดคุยผ่อนคลายหลังจากกลับจากทะเล 

เมื่อยามเช้าทำให้ชีวิตประมงนั้นเปี่ยมสีสัน จากทะเลสวยสงบในอำเภอขนอม ลากผ่านโลกแห่งการประมงโบราณที่สิชล ระยะทางนั้นอาจแสนสั้น ใครสักคนเลือกผ่านมันไปด้วยความเร็วและเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง หากทว่ายังมีความงามบางชนิด ห้วงยามอีกบางนาที หรือแง่มุมชีวิต อันเปี่ยมด้วยเสน่ห์อันแสนจริงแท้ ที่เรียงรายโอบคลุมอยู่อย่างไร้การฟูมฟายร้องเรียก เป็นตัวตนอันชัดเจนงดงาม ที่ไม่เคยตกหล่นไปกับความเร็วและวันเวลา

 

How to Go?

จาก จ.สุราษฎร์ธานี ใช้ทางหลวงหมายเลข 401 ผ่านอำเภอดอนสัก จากนั้นแยกซ้าย เข้าทางหลวงหมายเลข 4142 วิ่งไปจนสุดผ่านท่าเรือเฟอร์รี่ แยกขวาเลาะตามเส้นทางไปจนเข้าเขตอำเภอขนอม (สายใน) แวะเที่ยวอ่าวเตล็ด หินพับผ้า หาดท้องทราย อ่าวท้องเนียน หาดแขวงเภา หาดท้องชิง หาดท้องกรวด จนมาถึงตัวอำเภอขนอม ผ่านวงเวียนปลาโลมา แยกซ้ายเข้าไปเที่ยวหาดคอเขา หาดหน้าด่าน หาดในเพลา ยาวไปจนสุดทะเลขนอมที่หาดท้องหยี จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 4014 ย้อนกลับมา เชื่อมทางหลวงหมายเลข 401 มุ่งหน้าไปเที่ยวอำเภอสิชล โดยแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4232 แล้วแยกซ้ายอีกครั้ง กลับไปเยือนหินงามรางทัด เขาพลายดำ และหาดท้องยางจากเขาพลายดำ เลียบเลาะชายหาดบ้านทุ่งใส ผ่านตัวเมืองสิชล ปากน้ำสิชล สู่หาดหินงาม หาดปิติ หาดปลายทอน ไปสิ้นสุดทะเลสิชล ที่หาดเสาเภา

 

 

 

 

 

ความสงบของถนนสายเลียบหาดขนอมเต็มไปด้วยบรรยากาศของเรือกสวนและผืนทะเล