ในปี 2003 นักบินเฮลิคอปเตอร์ชาวอังกฤษ 2 คน ที่เกิดอุบัติเหตุตกบริเวณขั้วโลกไต้ ได้ทำการส่งสัญญาณจากนาฬิกาบนข้อมือ แล้วรอดชีวิตมาได้ ...
หิมะถล่ม ติดเกาะ หลงป่า ... ไม่ว่าใครก็คงไม่อยากนึกถึง หรือประสบเหตุการณ์คับขันเหล่านี้กับตัวเอง แต่อย่างที่รู้กันว่า อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดและเกิดขึ้นได้เสมอ
การเตรียมพร้อมทุกสถานการณ์ รวมไปถึงการเลือกใช้อุปกรณ์คู่กายที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ห้ามมองข้าม!
เราอาจเคยเห็นแต่นาฬิกาไฮเทคช่วยให้นอนหลับแบบแฮปปี้ นาฬิกาแสนรู้วัดสัญญาณชีพ เพื่อการออกกำลังกาย แต่ในอีกโลกหนึ่ง สำหรับคนที่ใช้ชีวิต หรือมีอาชีพที่ต้องเสี่ยงภัยเขาก็มีนาฬิกาที่สุดแสนจะไฮเทค ชนิดที่ว่าสามารถช่วยให้รอดชีวิตได้เลยทีเดียว
นาฬิกาที่สามารถช่วยชีวิต นักบินเฮลิคอปเตอร์ชาวอังกฤษสองคนที่พาดหัวไว้ตั้งแต่ต้น ใครจะไปเชื่อว่ามันคือนาฬิกา Breitling Emergency ที่เปิดตัวครั้งแรกเมื่อ 19 ปี
ที่แล้ว! ... มันคือนาฬิกาข้อมือเรือนแรกของโลก ที่ติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณฉุกเฉิน ด้วยคลื่นความถี่ 121.5 เมกะเฮิรตซ์ ออกไปในรัศมีที่ไกลถึง 90 ไมล์ทะเล (ประมาณ 167 กิโลเมตร) ได้นานถึง 48 ชั่วโมง เพื่อขอความช่วยเหลือทางอากาศสากล ซึ่งสัญญาณนี้สามารถตรวจจับได้โดยเรดาร์ของเครื่องบิน บนระดับความสูง 20,000 ฟุต (6,000 เมตร) นอกจากนี้ ยังมีความสามารถในการระบุตำแหน่ง ของผู้ขอความช่วยเหลือได้อย่างแม่นยำอีกด้วย
ถึงปัจจุบัน นาฬิการุ่นนี้ถูกขายไปแล้วกว่า 40,000 เรือน และได้ช่วยชีวิตผู้คนทั่วโลกมาแล้วจำนวนไม่น้อย ล่าสุดได้มีการเปิดตัวเวอร์ชั่นที่สองของนาฬิการุ่นนี้ ในชื่อ“Emergency II” ซึ่งแน่นอนว่า มันได้รับการอัพเกรดเพิ่มความสามารถพิเศษใหม่ นั่นก็คือ
คือ การส่งสัญญาณระบุตำแหน่ง และพิกัดความถี่สูงแบบคู่ (PLB-Personal Locator Beacon)
ส่งผลให้ Emergency II กลายเป็นนาฬิกาข้อมือเรือนแรกของโลก ที่มีคุณสมบัติทั้งการเป็นตัวส่ง และรับสัญญาณการค้นหาคลื่นความถี่สูงจากระบบเตือนของดาวเทียมนานาชาติ Cospas-Sarsat (GeoSAR) และเครือข่ายดาวเทียม ที่โคจรรอบโลกในระดับความสูงต่ำ (LeoSAR) ผ่านระบบเสาอากาศอัจฉริยะ ที่ซ่อนอยู่ในตัวเรือน วินาทีที่ระบบฉุกเฉินทำงาน นาฬิกาจะส่งสองสัญญาณคลื่นความถี่ แยกออกจากกันได้นานเกิน 24 ชั่วโมง ภายใต้สภาพแวดล้อมที่วิกฤติที่สุด เช่น อุณหภูมิติดลบ 20 องศาเซลเซียส โดยจะส่งสัญญาณดิจิตอลแรก ด้วยคลื่นความถี่ 406 เมกะเฮิรตซ์ ไปยังดาวเทียมเป็นเวลานาน 0.44 วินาทีในทุกๆ 50 วินาที ขณะที่สัญญาณอนาล็อกที่สอง จะมีคลื่นความถี่ 121.5 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อส่งสัญญาณระบุตำแหน่ง และเป็นคลื่นความถี่ขอความช่วยเหลือเป็นเวลานาน 0.75 วินาที ในทุกๆ 2.25 วินาที
สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ แบตเตอรี่ในตัวเรือนที่สามารถชาร์จพลังงานใหม่ได้ โดยจะมาพร้อมอุปกรณ์สำหรับรีชาร์จ ที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบสภาวะการทำงานของตัวส่งสัญญาณได้อัตโนมัติในตัว แน่นอนว่าฟังก์ชั่นการแสดงเวลา ระบบจับเวลา โครโนกราฟ ยังคงเชื่อถือได้ ระดับโครโนมิเตอร์ตามสไตล์ของ Breitling เขา ด้วยกลไกที่ขึ้นชื่ออย่าง Breitling Calibre 76 และ SuperQuartz พร้อมด้วยฟังก์ชั่นจำเป็นอื่นๆ เช่น นาฬิกาปลุก อุปกรณ์จับเวลา การแสดงเวลาโซนที่สอง ปฏิทินหลายภาษา และระบุวันหมดอายุของแบตเตอรี่
ทั้งหมดถูกบรรจุในตัวเรือนไทเทเนียม ขนาด 51.0 มิลลิเมตร สนนราคาเรือนละ 16,000 เหรียญสหรัฐหรือประมาณครึ่งล้านบาท!!!
เพื่อแลกกับความสามารถในการช่วยชีวิต คุ้มหรือไม่อยู่ที่คุณและเงินในกระเป๋าคุณแล้วล่ะครับ ...