ยืนยง โอภากุล

ยืนยง โอภากุล

หลายครั้งเราจะรับรู้ความเป็นตัวตนของใครสักคนหนึ่งผ่านการสื่อสารที่มีอยู่หลากวิธี และหลายครั้งที่เรามองเห็นความเป็นใครสักคน ผ่านหน้าจอทีวีเพียงเท่านั้น ถ้อยคำที่ถูกนิยามมักถูกกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่า แน่นอนว่าเราจะไม่มีทางรู้เลยว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นจริงหรือไม่ ถ้าไม่ได้มาสัมผัสด้วยตัวเอง อย่างที่เราได้มีโอกาสพูดคุยและสัมผัสได้ในบางมุมที่เปลี่ยนไปของผู้ชายคนนี้ แอ๊ด คาราบาว หรือ ยืนยง โอภากุลศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงดนตรี

“หลังจากถูกประกาศให้ได้รับรางวัลพระราชทานศิลปินแห่งชาติ ก็รู้สึกดีใจนะ เพราะเท่าที่ทราบก็ได้มีการเสนอชื่อมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วล่ะ เคยถามผู้ที่เป็นกรรมการนะว่าทำไมถึงยังไม่ได้ เขาก็บอกว่าเพราะอายุยังไม่ถึง (หัวเราะ)”

น้าแอ๊ดพูดถึงอีกหนึ่งรางวัลสำคัญของชีวิตศิลปิน หลังจากที่เราได้ทักทายกันอย่างคนคุ้นเคยทั้งๆ นี่เป็นครั้งแรก ที่ได้พบและมีโอกาสได้พูดคุยกัน ไม่รู้ว่าด้วยบรรยากาศสบายๆ ที่บ้านพักส่วนตัวของเขา หรือเพราะเราพบกันในวันที่เปลี่ยนไป ... ผู้ชายที่อยู่ข้างหน้าตรงนี้ จึงเปี่ยมไปด้วยความใจเย็น สงบ และอ่อนโยน 

มุมมองผ่านการเมือง

ภาพจำที่หลายคนติดดูเหมือนจะเด่นชัดกันในเรื่องของแนวเพลงและเนื้อหาอันเป็นเอกลักษณ์ ‘คาราบาว’ มักจะหยิบยกเรื่องราวที่เกิดขึ้นและเป็นไปในสังคม มาร้อยเรียงเป็นบทเพลงที่เต็มไปด้วยกระจกเงาสะท้อนความเป็นจริง แต่สิ่งที่หลายคนอาจคาดหวังให้ ‘คาราบาว’ แสดงออก นั่นก็คือเรื่องราวของการเมือง

“เรื่องเพลงกับการเมือง ผมเลือกที่จะเขียนกลางๆ นะ เพราะผมมองไม่เหมือนกับทั้งสองฝ่ายที่กำลังมีประเด็นกันอยู่ตอนนี้หรอก ผมมองว่าเราควรมองกันแบบผู้ใหญ่ ปัญหาทุกอย่างมันเป็นปัญหาของคน เราแก้ได้ อยู่ที่ว่าเราจะคุยกันได้หรือเปล่าแค่นั้น อย่าเอาชนะกันโดยการใช้กำลังดีกว่า มันจะกลายเป็นสงคราม เป็นการทำลาย ...

“เมื่อก่อนหลายคนจะมองว่าผมเข้มข้นมากในเรื่องของการเมือง ชัดเจนชี้ดำชี้ขาว แต่ทุกวันนี้ก็เบาลงไปเยอะ เพราะเราได้สั่งสมประสบการณ์ จากการที่ตัวเองได้เข้าไปวิ่งวุ่นอยู่แวดวงตรงนั้น แล้วสุดท้ายก็ได้เห็นว่าที่แท้มันก็เป็นเรื่องของวัฐจักรการเมือง ที่จะต้องแย่งชิงอำนาจกัน เพราะอำนาจนั้นมันสามารถให้ได้มาซึ่งทุกสิ่งอย่าง เรารู้แล้ว เข้าใจแล้ว ก็อยู่ห่างๆ ดีกว่า 

“ตอนแรกยังไม่เห็น เราก็กระโจนเข้าใส่ วัยนั้นผมก็ยังไม่คิดอะไร มีความเหิมเกริมตามธรรมชาติ แต่พออายุมากขึ้นมีครอบครัว มันก็ได้ศึกษามากขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น ได้เห็นว่าอะไรเป็นอะไร ก็จะนิ่งขึ้นจนกลายเป็นการตกผลึกทางความคิดอย่างเช่นที่ผมได้มายืนอยู่ ณ จุดนี้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าผมจะไม่คิดอะไร ผมก็คิด ก็มีวิธีของผม แต่มันอาจยังไม่สามารถเข้าถึงใครๆ เพราะเสียงผมมันไม่ดังพอ ผมก็เลยต้องอยู่เงียบๆ ซึ่งผมคิดว่าหลายคนก็เป็นเหมือนผม

ยืนยง โอภากุล
ยืนยง โอภากุล

“ผมมองว่าการปกครองที่ดี คือ ‘การไม่ปกครอง’ ตำราจีนเขาเขียนไว้อย่างนั้น แต่มนุษย์จะอยู่ได้อย่างไรโดยไม่ปกครอง ก็มนุษย์เรามีกิเลศหนา มีความอยากอะไรอยู่เยอะ เพราะงั้นเมื่อเป็นเช่นนี้ มันเลยต้องมีระบอบการปกครองเพื่อมาลดทอนความโลภของคน 

“อย่างเรื่องราวที่เกิดขึ้นอยู่ในบ้านเราขณะนี้ คงต้องมองทั้งสองฟากไปที่อำนาจรัฐเก่า กับอำนาจรัฐใหม่ ซึ่งประกอบด้วยทุนรุ่นเก่า กับทุนรุ่นใหม่ อันนี้ผมก็ว่าไปตามที่คุณเสกสรร ประเสริฐกุล เคยว่าไว้ในวาระ 14 ตุลา และแม้จะเป็นกันอย่างที่เห็นๆ กันอยู่ ผมก็ยังคิดว่าเราคงต้องอยู่กับระบอบประชาธิปไตย เพราะเราเลือกไม่ได้ จะให้ไปเป็นคอมมิวนิสต์ก็ไม่ได้เหมือนกัน

“ทุกวันนี้สังคมนิยมเราก็เห็นว่าเขาเอง ก็ต้องการพยายามดึงประชาธิปไตยเข้าไปร่วมด้วย เพราะโลกเราต้องการเสียงส่วนใหญ่ แต่ว่าการปกครองระบบอบประชาธิปไตยมันก็ไม่ใช่แบบที่บ้านเราเป็น เพราะมันทำให้เกิดกลุ่มทุนรุ่นใหม่เข้าไปหาประโยชน์ จึงขัดแย้งกันระหว่างทุนใหม่กับทุนเก่า เกิดการแย่งอำนาจกัน เพราะงั้นเมื่อทุกอย่างมันไม่เป็นไปตามกติกาอย่างที่สากลเขาเป็นกัน มันก็เลยจบไม่ได้ แล้วในที่สุดประเทศก็ย่อยยับ เพราะความโลภ ความต้องการของคน นี่แหละคือสิ่งที่น่ากลัว จริงๆ มันน่าเสียดายประชาธิปไตยไม่ได้เกิดที่การแก้ไขกฎหมาย แต่มันเกิดขึ้นภายในใจมนุษย์ เพราะงั้นสิ่งที่ควรแก้คือสิ่งที่อยู่ภายในใจประชาชน”

เพลงเพื่อชีวิต ... ใคร

ว่ากันว่าคาราบาวคือตำนานแห่งเพลงเพื่อชีวิต แต่หลายกระแสมักถาโถมให้เกิดความคลุมเครือในตัวตน จนในบางครั้งถูกมองไปว่า เพลงเพื่อชีวิตที่เกิดขึ้นมาในแต่ละเพลงนั้น มันเป็นเพลงพื่อชีวิตของใคร ... กันแน่

“ถ้าตีกรอบเพียงแค่ว่าเพื่อชีวิตใคร ถือว่าเป็นการตีกรอบที่ครอบคลุมประเด็นเพื่อชีวิตไม่ได้ เพราะมันกว้างไปอย่างเราถามว่า ชาวนาปลูกข้าวเพื่อใคร ก็ต้องบอกว่าเขาปลูกข้าวเพื่อตัวเอง เพราะเขาก็ต้องดูแลตัวเอง อย่างโครงการจำนำข้าว ชาวนาก็วิ่งเข้าใส่กันทั้งนั้นเงินตั้ง 15,000 บาท ใครจะไม่เอา แต่ทุกวันนี้มีปัญหาก็เพราะเงินยังไม่ไปถึงชาวนา ชาวนาก็เดือดร้อนเพราะไม่มีเงิน ก็จะเห็นได้ว่าในที่สุดแล้ว ใครก็ต้องดูแลตัวเองกันทั้งนั้น ทำเพื่อตัวเองกันทั้งนั้น

“ทุกคนมีพลังขับให้ตัวเองไปถึงจุดที่ใฝ่ฝัน ใครก็อยากเป็นหนึ่งในเส้นทางของตัวเอง เพียงแต่เราก็ต้องดูด้วยว่า สิ่งที่เราทำนั้นมันตอบโจทย์ให้ประโยชน์แห่งสังคมหรือเปล่า ต้องดูที่เนื้อหาของมัน อย่าไปติดอยู่ที่คำศัพท์คำเดียว คำว่า Song for Life มันเป็นคำที่ถูกบัญญัติขึ้นมาเองทั้งนั้น สากลเขาก็ไม่รู้จักหรอก เขาก็จะรู้จักแต่ Protest Song ซึ่งมันเกิดมาจากสภาพสังคมของประเทศเขา ในยุคที่บ้านเมืองมันยังมีการเข่นฆ่าคนดำ เขาก็มีการลุกขึ้นมาเขียนเพลง เพื่อพวกนี้ มันคือเพลงต่อต้าน Ballad Song มันคือเพลงเล่าเรื่องอะไรแบบนี้

“เพลงเพื่อชีวิตบ้านเราจริงๆ มันเกิดมาก่อนหน้านั้น แต่ยังมีไม่ค่อยมาก ตั้งแต่ยุคคุณแสงนภา บุญราศรี เสน่ห์ โกมารชุน ฯลฯ รวมไปถึงในเพลงลูกทุ่งต่างๆ อย่างเพลงค่าน้ำนม หรือ กลิ่นโคลนสาปควาย เพลงเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นเพลงเพื่อชีวิต แต่มันเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อครั้งเหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยที่ธรรมศาสตร์ เมื่อ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 โดยคาราวาน ซึ่งเป็นการ เริ่มต้นจากวงสองวงคือบังคลาเทศแบนด์ กับ ท.เสน สัญจรจากจุดเล็กๆ แค่นั้นกลายเป็นออกดอกออกผล เพราะที่แห่งนั้นต้องการศิลปะ 

ยืนยง โอภากุล
ยืนยง โอภากุล

“นั่นเลยเป็นครั้งแรกของโลกก็ว่าได้ ที่มีเพลงเพื่อชีวิตเกิดขึ้นก่อนที่จะมีคาราบาว และเมื่อมีคาราบาว ยุคของการต่อสู้นั้นมันเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อปีพ.ศ. 2524 มันเป็นช่วงที่พี่ๆ ของเราได้ออกจากป่ากันแล้ว เพราะงั้นต้องลองไปดูเพลงที่เป็นรอยต่อระหว่างคาราบาวกับคาราวาน มันจะคนละเรื่องกันเลย คาราบาวจะเปิดตัวด้วยลุงขี้เมา กัญชา ซึ่งเป็นเรื่องที่ปัจเจกมากๆ เป็นเรื่องของชีวิต เป็นเรื่อง Ballad ไม่ใช่เพื่อชีวิตที่เข้มข้นเหมือนอย่างคาราวานเขา จากนั้นมันก็จะมีวิวัฒนาการเพลงเพื่อชีวิตของอีกหลายวงตามมาเช่น ปู พงษ์สิทธิ์ น้าหมู พงษ์เทพ มาลีฮวนน่า ฯลฯ มันก็แตกออกไปเรื่อยๆ ที่เล่าเรื่องราวที่หลากหลาย แต่ก็ถูกเรียกรวมๆ กันว่า ‘เพลงเพื่อชีวิต’ เพราะงั้นกับคำว่า ‘เพื่อชีวิตใคร’ มันก็ไม่มีสาระอะไรที่เราต้องตอบ เพียงถ้าเราเข้าใจถึงที่มาที่ไปของมัน

“เพลงเพื่อชีวิต มันได้รับการยอมรับโดยมหาชน มันเกิดของมันเอง และเป็นไปของมันเอง นี่แหละครับมันคือศิลปะที่เกิดขึ้น มันคือวิถีแห่งอิสระชน ซึ่งเกิดขึ้นในยุคบุปผาชนของทางฝั่งอเมริกา แต่ในวันนี้เรื่องราวของเพลงเพื่อชีวิตมันก็แตกต่างกันกับเมื่อก่อน เพลงเพื่อชีวิตเดี๋ยวนี้ ก็ไม่ได้ต้องพูดถึงคอมมิวนิสต์ แบกปืนเข้าป่า อะไรแบบนั้นแล้ว ตอนนี้ทั้งหมดที่กำลังสู้กันอยู่บนเวทีการเมือง ก็มีทั้งคอมมิวนิสต์กอดคอกับนายทุนสู้กับคอมมิวนิสต์ด้วยกันเอง ในอีกข้างซึ่งมีทั้งคอมมิวนิสต์และนายทุนปนกันไปหมด”

ความสุขที่ยืนยง

เขาบอกว่าความสุขของทุกวันนี้ มันอยู่ในจุดที่ลงตัวแล้ว แค่ได้อยู่บ้าน ทำเพลง อ่านหนังสือ ได้เรียนรู้ในสิ่งที่เขาเคยสงสัย ได้ใช้เวลาไปกับการศึกษาในธรรมะ พระพุทธศาสนา และทำความรู้จักกับศาสนาอื่นๆ ทั้งหมดไม่ได้เพื่อบรรลุ แต่เพื่อตอบคำถามในชีวิตของตนเองให้ได้เท่านั้น

“หนังสือนี่ก็แล้วแต่ช่วงไหนสนใจเรื่องอะไรก็จะอ่านเรื่องนั้นๆ อย่างตอนนี้จะสนใจอ่านหนังสือเกี่ยวกับธรรมะ พระพุทธศาสนาคืออะไร ก็เพิ่งอ่านจบไป ทีนี้ก็เลยได้แต่งเพลงเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาขึ้นมา 1 เพลง ตอนนี้ก็เริ่มหาเรื่องใหม่ๆอ่าน

“การที่มาสนใจเรื่องธรรมะก็เมื่ออายุได้ 50 ต้นๆ เริ่มรู้จักเต๋า รู้จักเซน ฯลฯ คืออ่านเพื่อค้นหาความหมายให้เข้าใจ พอเรารู้เราก็ไม่โง่ การที่เรารู้ความจริงแท้ของศาสนามันก็เหมือนเราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ เมื่อมีปัญหาเราก็จะวิเคราะห์อิงกับความรู้เหล่านี้ เพื่อนำมาใช้ทั้งเตือนตัวเราเอง หรือสอนคนอื่นได้ คือถ้าเราไม่รู้จักหรือเข้าใจในศาสนามันก็จะทำให้วันหนึ่งเราอาจมายืนอยู่ปากหลุมศพตัวเองโดยที่ไม่รู้ตัวเลยก็ได้

“ช่วงนี้ก็ได้แต่เขียนเพลง มีเพลงมาให้เขียนตลอด เช่น คุณจิระนันท์ พิตรปรีชา ก็มาให้ช่วยเขียนเพลงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย - ลาว เพราะเขาจะมีการเปิดสะพาน แล้วก็จะมีเพลงปากแม่น้ำดาหลา ที่ทางคุณยิ่งลักษณ์ เขาจะไปสร้างท่าเรือน้ำลึก ซึ่งจะเป็นโครงการที่ซ้ำซ้อนกับท่าเรือน้ำลึกที่ทวาย ซึ่งโปรเจ็กต์อย่างนี้ถ้าทำไปมันทำลายสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของชาวบ้าน ถึงแม้ผมจะเห็นด้วยกับการพัฒนา แต่การพัฒนามันก็ต้องดูด้วย อย่าเหมารวม ต้องดูเป็นจุดๆ ไป บางอย่างก็ควรต้องฟังประชาชนด้วย

“ทุกวันนี้ใช้เวลาเขียนเพลงปกตินะ เพราะอย่างถ้าเขียนเพลงที่ใช้ในการโฆษณาหรืออะไรที่ไม่ใช่การออกอัลบั้มเนี่ยะ ผมจะเขียนเร็ว วันเดียวก็เสร็จหมดทุกอย่าง แต่อย่างเพลงที่เกี่ยวกับการเมือง อันนี้จะเขียนนานเพราะเราต้องดูให้ดีๆ บางทีเขียนเสร็จแล้วก็ทิ้งเอาไว้ก่อนค่อยมาดูอีกที อย่างตอนนี้ผมก็กำลังทำอยู่อีกเพลงชื่อเพลงว่า ‘อยากได้ยิน’ ทำร่วมกับนักดนตรีวงออเคสตร้าที่ชื่อทฤษฎี ณ พัทลุง จะเป็นโปรเจ็กต์พิเศษ มันก็มาจากแนวคิดผมที่ว่าถ้าเราได้ยินใจใคร แล้วเขาเองก็ได้ยินใจเรา ปัญหาทุกอย่างมันก็น่าจะจบ”

ตัวเป็นของเราใจของใคร

อีกหนึ่งข้อที่มีความเคลือบแคลง เกี่ยวกับภาพลักษณ์การเป็นผู้มีหัวอนุรักษ์ แต่กลับมีบางความเห็นกล่าวว่า นั่นเป็นพียงเปลือกที่อยู่ภายนอกเท่านั้น หลายข่าวที่ปรากฏออกมาอย่างต่อเนื่อง ในวันที่ศิลปินมีชื่อเสียง แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา น้าแอ๊ดกลับเลือกที่จะปล่อยให้คำพูดเหล่านั้นผ่านมาแล้วก็ผ่านไป

“แต่ถ้าพูดถึงออกไปล่าสัตว์ผมขอเถียง ชีวิตผมมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ได้ออกไปพักผ่อน ได้เดินป่าอย่างที่กาญจนบุรี แล้วก็ไม่ได้ไปอีกแล้วนะ มันเป็นช่วงระยะสั้นๆ ซึ่งแน่นอนผมเอาปืนไปด้วย เพื่อเอาไปยิง Falling Plates ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้ยิงสัตว์ป่า ผมไม่ยิงแน่นอน เพราะมันเป็นชื่อเสียงของผม ผมก็ชัดเจนในเรื่องอนุรักษ์ และด้วยจิตใจผมด้วยที่ไม่เคยคิดที่จะยิง

“วันนี้เองก็ไม่จำเป็นต้องบอกอะไรกับใคร เพราะทุกวันนี้คนอยู่กับความเชื่อมากกว่าอยู่กับความจริง คุณเปิดดูสื่ออะไรก็ได้แล้วคุณก็เชื่อกันไปตามนั้น แล้วเราจะไปตามแก้มันทำไม คนบ้านเราชอบที่จะเชื่อมากว่าชอบที่จะศึกษา ถ้าเป็นฝรั่งเขาเห็นว่าวงนี้น่าสนใจ เขาจะศึกษาเกี่ยวกับมันทันที เพราะระบบการศึกษาของเขา เป็นระบบที่สอนให้คิด ให้จำ แต่บ้านเรานอกจากไม่จำแล้วมันยังดูกันผ่านๆอีก 

ยืนยง โอภากุล
ยืนยง โอภากุล

“ตอนนี้เด็กๆ รู้จักผม เขาไม่ได้เรียกผมว่า ‘แอ๊ด คาราบาว’ นะ เขาเรียกผมว่า ‘แอ๊ด คาราบาวแดง’ เพราะว่าภาพของผมที่ออกไปในโฆษณาทางทีวีของคาราบาวแดงมันเยอะกว่าคาราบาวแล้ว

“อย่างเด็กสมัยนี้เขาฟังเพลงส่วนใหญ่ก็จะฟังผ่านๆ ไม่รู้ตื้นลึกหนาบาง ยากมากนะที่จะทำเพลงใหม่ๆ ที่มีสาระดีๆ แล้วจะให้พวกเขาเก็ตกับมัน น้อยมาก แค่หนึ่งถึงสองเปอร์เซ็นเท่านั้น การศึกษาบ้านเรามันแย่ลง คนไม่คิด ไม่ศึกษา ไม่ค้นคว้า จะเล่นอย่างเดียว อย่างไปเล่นคอนเสิร์ตเปิดเพลงแรกมาก็จะตะโกนกันมาแล้วว่าบัวลอยๆ แหมมันก็รู้ว่าบัวลอยแล้วจะตะโกนกันทำไม (หัวเราะ)”

แม้วันวานจะผ่านเลยความเป็นศิลปินชื่อดังกับความเป็นส่วนตัวสำหรับคนอย่างน้าแอ๊ด แน่นอนว่ามันย่อมมีปัญหา ในบางครั้งด้วยความเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เขาก็ย่อมที่จะอยากใช้ชีวิตเฉกเช่นคนธรรมดาทั่วไป

“อย่างตอนเย็นๆ ผมไปวิ่งเนี่ยะ เดี๋ยวก็มีมาแล้ว “พี่ครับ ขอถ่ายรูปหน่อย” ผมก็บอกว่า “ไม่ใช่ นี่ตัวปลอม ตัวจริงจะมาวิ่งอะไรอยู่ข้างถนน” แล้วเด็กมันก็ไปแอบเถียงกันแล้วว่า “เฮ้ยกูว่าจริงว่ะ ... ไม่จริงมั๊ง เอ้างั้นดูรอยสักสิๆ” นึกไปมันก็ตลกดี นอกจากวิ่งแล้วก็ฝึกกีต้าร์ทุกวัน หาคอร์ทใหม่ๆ ให้ทันเด็กๆ รุ่นใหม่เขา“เวลาคุยกับใคร ผมก็จะศึกษาเรื่องราวต่างๆ ที่เขาเล่าให้เราฟังไปด้วย อย่างเวลาไปพบผู้ใหญ่ ผมก็ชอบที่จะนั่งใกล้ๆ เพื่อฟังในสิ่งที่เขาพูดมันได้ความรู้ พอกลับบ้านผมก็จะมาจด จากสิ่งที่จำมาแล้วก็เก็บไว้ส่วนตัว ว่างๆ ก็เอามานั่งอ่านทบทวนดู ต้องรู้จักคิดตลอด ไม่งั้นสมองเราจะเสื่อม

“อย่างปีนี้ผมจะเข้าไปสอนที่ม.รามฯ สาขาวิชา ดนตรีเพื่อชีวิตและการประพันธ์ ซึ่งได้มีการออกแบบหลักสูตรกันไว้เรียบร้อยแล้ว น่าจะเปิดได้ในปีนี้ ผมจะเน้นให้นักเรียนมีความรู้พื้นฐานได้มากที่สุด สำหรับเด็กรุ่นใหม่ ชีวิตมันไม่ง่าย เราต้องเริ่มจากตัวเราเป็นหลัก แล้วออกไปไขว่คว้าความฝันนั้นไว้ให้ได้ แต่การจะไปให้ไกลเราต้องมีความรู้”

ศิลปะของศิลปิน

ในความหมายของศิลปะมักแตกต่างกันไป ตามทางของความเข้าใจและถูกถ่ายทอด เช่นกันสำหรับเจ้าของตำนานเขาควายเพื่อชีวิตคนนี้ ที่มองว่าศิลปะคือผลงานของมนุษย์ที่สร้างขึ้นมาจากความรู้ และความชำนาญเพื่อให้โลกใบนี้น่าอยู่

“กว่าที่จะมีวันนี้ได้ผมต้องขยัน มีวินัย คือขยัน และเสียสละให้มากกว่าทุกคน ต้องอยู่กับคนแล้วก็ต้องอยู่กับปัญหาให้ได้ ผมชอบดนตรีตั้งแต่อายุ 15 หลังจากกลับมาจากฟิลิปปินส์ เราก็ยังเป็นวงที่เล่นดนตรีสากลตามไนท์คลับกันเท่านั้น 

“ระหว่างการเดินทางตามความฝันมีเจออุปสรรคบ้าง แต่ก็ไม่เคยคิดจะหยุด เพราะผมรักในดนตรี มีวันนี้ได้เพราะผมมีดนตรี และผมก็จะมีตลอดไปทั้งชีวิต“ตอนที่จะไปฟิลิปปินส์ผมจะเอากีตาร์ไป พ่อบอกไม่ต้อง แล้วก็เอาแรกเก็ตให้ผม เพื่อจะได้เอาไว้ตีที่โน่น แต่ผมก็กลับเอาไม้แรกเก็ตนี้ไปขาย แล้วก็เอาเงินไปซื้อกีตาร์ จนตอนนี้ก็เล่นเทนนิสไม่เป็น

“ทุกวันนี้ผมมองหาศิลปินแม่แบบ มองหาวิลลี่ เนลสัน มองหาบีบี คิงส์ เขาอายุ 82 ยังสามารถทัวร์คอนเสิร์ตได้ปีละ 200 งาน เขาทำได้ยังไง เขาทำได้เพราะเขารักในดนตรี ผมก็เหมือนกันแน่นอนว่าผมไม่มีวันเกษียณผมเกิดมาจากตรงนี้ เรื่องอะไรที่ผมจะต้องทิ้งมันไป ถ้าวันหนึ่งผมเล่นไม่ได้ แต่ผมก็ยังแต่งเพลงได้ 

“ส่วนเรื่องเอกลักษณ์ที่ผมเป็นอย่างทุกวันนี้ ผมก็แต่งตัวแบบนี้อยู่แล้ว เล็กเขาก็แต่งแบบนี้คือ ทุกคนก็แต่งตัวอย่างที่เห็นนั่นแหละ เพียงแต่ว่า เทียรี่ เขามาแต่งตามผมเอง (หัวเราะ)” 

ในวันที่แตกต่าง