ลือ จันทร
ดูเหมือนผลงานประติมากรรมที่ทำขึ้นจากกระดาษของผู้ชายคนนี้ จะเป็นที่รู้จักมากกว่าชื่อของตัวเขาเองด้วยซ้ำ โดยเฉพาะผลงาน Masterpiece ในชุดที่ชื่อว่า กามาสุตรา (Kama Sutha) ซึ่งถูกนำไปใช้ตกแต่งภายในโรงแรมหรูแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอนมาแล้ว นั่นก็รวมถึงผลงานในชุดอื่นๆ ที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่ถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งของโรงแรมชั้นนำในกรุงเทพฯ หรือแม้แต่ออฟฟิศ และบ้านของผู้ที่ชื่นชอบในงานศิลปะประเภทนี้
ลือ จันทร
เรานั่งพูดคุยกับ ‘ลือ จันทร’ ภายในโชว์รูมแสดงผลงานของเขา ที่รายล้อมด้วยผลงานหลากรูปแบบ ในกรอบติดไว้ข้างผนัง ท่วงทำนองอันนุ่มนวลในแต่ละผลงาน รายละเอียดอันงดงามทั้งหลาย ดูน่าสนใจมากไปกว่าแค่ความสวยที่ได้สัมผัสด้วยสายตาเท่านั้น
“เหตุผลที่ทำให้ผมหลงเสน่ห์และหลงรักมันก็คือ การจะเอาชนะกระดาษเรียบๆ ได้อย่างไร”
ด้วยความที่ผู้ชายคนนี้ชอบความท้าทาย ผลงานหลายชิ้นที่เห็นส่วนหนึ่งก็เกิดจากความต้องการของผู้ที่ชื่นชอบในงานสร้างสรรค์จากกระดาษ โจทย์ที่ดูจะเป็นไปได้ยาก ยิ่งกระตุ้นให้เขาพยายามเอาชนะมันให้ได้ เหมือนที่เขาบอกไว้ตอนหนึ่งว่าอยากทำงานที่ใหม่ตลอด เพราะเบื่อต้องทำอะไรเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก
ในส่วนของขั้นตอนการทำงานที่เขาบอกว่า ‘ใช้เวลามากที่สุด ขณะเดียวกันก็มีความสำคัญมากที่สุด’ เห็นจะหนีไม่พ้นขั้นตอนการสเก็ตซ์ดีไซน์ ที่หมายรวมถึงการทำแพทเทิร์นและม็อค อัพขนาดจำลองขึ้นมาก่อน เพื่อดูว่าทิศทางของผลงานจะออกมาอย่างไร ซึ่งเขาบอกว่าถ้าไม่มีม็อคอัพและร่างสเก็ตซ์แล้วล่ะก็ ไม่สามารถสร้างงานต่อไปได้
ลือ จันทร
“งานบางชิ้นมี 2 เลเยอร์ แต่ทำอย่างไรให้ดูมี 4 - 5 เลเยอร์ มันเลยต้องมีการวางแผน อยู่ดีๆ จะหยิบกระดาษขึ้นมาแล้วคว้าคัตเตอร์ลงมือเลยก็ดูจะใจถึงไปหน่อย เพราะถ้าพังคือพัง”
เมื่อแบบจำลองนั้นลงตัวเรียบร้อยดีแล้ว เขาจะไม่เพิ่มเติมไอเดียที่เกิดขึ้นขณะลงมือทำเข้าไปอีก แต่ทว่าบางครั้งเมื่อเกิดไอเดียสนุก เห็นว่ามีช่องทางต่อยอดจากสเก็ตซ์เดิม เขาจะลงมือทำ และเก็บงานชิ้นนั้นเป็นคอลเล็กชั่นส่วนตัวทันที จากนั้นจึงค่อยกลับมาสร้างผลงานตามสเก็ตซ์เดิมที่วางไว้
ลือ จันทร
ขณะที่คอนเส็ปต์ไอเดียของผลงานมาสเตอร์พีซอย่าง ‘กามาสุตรา’ นั้น มันเกิดจากความเชื่อของเขาที่รู้สึกว่าเรื่องนี้มันอยู่ภายในตัวทุกคนที่อยากแสดงออก เพียงแต่มีกรอบของจารีตบังคับเอาไว้ ทำให้เราขาดความกล้าที่จะเปิดเผยตัวตน หากเขากล้าที่จะบอกกับทุกคนว่า ‘เราไม่สามารถหนีมันพ้น’
“ผมขยายความงามในแบบที่ผมเชื่อ ลดทอนความอนาจาร ทำให้ดูไม่หยาบคาย เชื่อมโยงกับคนที่ดูงานให้เขารู้สึกว่ามันเป็นศิลปะ ... ตรงนั้นเป็นอะไรที่ยากมากจริงๆ”