อรรถพล ณ บางช้าง
ในโลกยุคดิจิตอลที่ผู้คนต่างจับตามองถึงคุณภาพของเนื้อหารายการโทรทัศน์ มีบุคคลหนึ่งที่ทำงานและคลุกคลีในแวดวงสื่อมานานกว่า 20 ปี เขาคือผู้ที่ให้ความสำคัญกับการเฟ้นหารายการคุณภาพ จนสามารถผลักดันให้ Pay TV. กลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางการรับชมรายการโทรทัศน์ของคนไทย ซึ่งนอกจากทำให้เกิดความนิยมแล้ว แม้เวลาผ่านไปเขาก็ยังสามารถกุมบังเหียนพาทรูวิชั่นส์อยู่ในตำแหน่งที่เรียกว่าผู้นำได้อย่างสง่างามเสมอมา ... อรรถพล ณ บางช้าง รองประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร สายรายการ บริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด
ค้นหาตัวตน
การเดินทางของทุกคนย่อมมีองค์ประกอบที่แตกต่าง และแม้ว่าก้าวแรกของคุณบอย อรรถพล ณ บางช้าง อาจไม่ได้เป็นไปตามที่ใจปรารถนา ถึงอย่างนั้นก็ช่วยให้เขาได้เรียนรู้อะไรจากโลกใบนี้พอสมควร ทำให้ก้าวต่อๆ ไปในการเดินทางอันแสนยาวไกลของชายคนนี้ได้เห็นสิ่งที่เรียกว่า ‘จุดหมายของชีวิต’ ชัดเจนยิ่งขึ้น
“คุณพ่อของผมเป็นข้าราชการ ท่านก็เลยอยากให้ผมทำงานแบบเดียวกัน ซึ่งงานราชการนี้ก็ต้องมีระบบการเขียนหนังสือที่ดี เพราะต้องโต้ตอบกันผ่านการเขียนเป็น
ลายลักษณ์อักษรด้วยภาษาทางการ เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน ท่านจึงฝากให้ผมไปฝึกงานในกรม แผนกงานสารบัญ ตอนนั้นผมรู้สึกว่าการอ่าน การเขียนเป็นเรื่องสำคัญแต่ตัวเราเองไม่ชอบ และบุคลิกก็ไม่เหมาะกับงานราชการ
“จากนั้นผมก็มาทำงาน Trading ทำเกี่ยวกับการค้า ระหว่างนั้นก็มีโอกาสได้ไปทำงานหนังสือพิมพ์ฝ่ายข่าวต่างประเทศ ก็เริ่มรู้สึกสนุก เพราะได้ใช้ภาษา ได้คลุกคลีกับคนทำงานสื่อ และเป็นการทำงานที่มีเสรีภาพ ซึ่งมันก็เข้ากับผม เพราะเป็นคนไม่ชอบอะไรที่เป็นกรอบมากๆ โดยการทำงานในตอนนั้นสิ่งที่ผมได้รับการปลูกฝังมาจากคนรุ่นเก่าๆ ก็คือ ความแม่นยำและความถูกต้อง มันเป็นเรื่องสำคัญ อย่างชื่อตำแหน่งที่แปลมาจากต่างประเทศ ก็ต้องเช็คให้ถูกต้อง บางครั้งต้องโทรศัพท์ไปถามที่สถานทูตว่าชื่อแหล่งข่าวคนนี้สะกดอย่างไร เขียนอย่างไร อ่านออกเสียงอย่างไรจึงจะถูกต้อง
อรรถพล ณ บางช้าง
“หลังจากที่ทำงานหนังสือพิมพ์มาได้สักระยะ ผมก็หันมาทำงานที่สถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ซึ่งก็ได้เปรียบตรงที่เคยทำงานในข่าวต่างประเทศ ได้เรื่องภาษา พอมีโทรทัศน์แบบ
บอกรับเป็นสมาชิกหรือเพย์ทีวีเกิดขึ้น ผมก็ได้เข้ามาทำและรับผิดชอบเรื่องข่าวและรายการต่างประเทศ ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีช่องจำพวก ESPN หรือช่อง HBO เกิดขึ้น ดังนั้นหน้าที่ของผมก็คือ ต้องเดินทางไปต่างประเทศเพื่อติดต่อขอซื้อรายการต่างๆ ทั้งจากค่าย Warner Bros., Paramount, Walt Disney, Universal Studios ฯลฯ เพื่อมาเรียงร้อยรายการเป็นช่องขึ้นมาเอง โดยการเอาเนื้อหารายการแต่ละอย่างมาผสมๆ กัน
“สำหรับผมการทำกลยุทธ์ของเพย์ทีวีก็คือ ต้องคิดว่าควรจะทำอะไรให้มันแตกต่างจากฟรีทีวี ซึ่งการที่จะทำให้คนยอมจ่ายเงินให้เพย์ทีวีได้นั้น เนื้อหารายการจะต้องมีอะไรบางอย่างที่ฟรีทีวีไม่มีหรือให้ไม่ได้ ภาษาการตลาดเรียกว่า Niche มีความเฉพาะเจาะจงมากๆ อย่างกีฬารักบี้ก็มีความเป็น Niche อย่างหนึ่ง ซึ่งบางคนมองว่ารายการอย่างนี้
จะมีใครดู แต่ผมก็คุยกับทีมงานว่า เราสามารถดึงกลุ่มลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติเข้ามาได้ นี่คือสิ่งที่ไม่เหมือนฟรีทีวีแน่ๆ ผมและทีมงานจึงพยายามไปหาซื้อรายการพวกนี้เพื่อเป็นทางเลือกให้คนที่อยากดู”
“การที่จะทำให้คนยอมจ่ายเงินให้เพย์ทีวีได้นั้น เนื้อหารายการจะต้องมีอะไรบางอย่าง ที่ฟรีทีวีไม่มีหรือให้ไม่ได้”
ผู้นำด้าน Content
ปฏิเสธไม่ได้ว่าบุคคลผู้อยู่เบื้องหลัง ซึ่งมีมุมมองความคิด ที่หลักแหลมอย่างชายคนนี้เป็นกลไกชิ้นสำคัญ ที่ทำให้ทรูวิชั่นส์มีเนื้อหารายการที่อัดแน่นไปด้วยคุณภาพ จนวันนี้ทรูฯ ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสถานีโทรทัศน์ ระบบบอกรับเป็นสมาชิกรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
“ช่วงแรกที่ผมไปซื้อรายการที่ต่างประเทศแล้วเขารู้ว่าผมมาจากเมืองไทย เขาถึงกับบอกว่าไม่ขายให้ เพราะประเทศไทยมีการขโมยลิขสิทธิ์เยอะ ชาวต่างชาติกลัวว่าผมจะซื้อหนังแล้วเอากลับไปขายเป็นวีดิโอเถื่อน แต่ตอนนี้โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ถึงพวกเขาจะไม่ขายผมก็โดนลอกเลียนลิขสิทธิ์อยู่ดี
“ปัจจุบันผมมองว่าตลาดของ Content รายการคือตลาดของผู้ขาย ไม่ใช่ตลาดของผู้ซื้ออีกต่อไป เมื่อก่อนถ้ามีเงิน ก็สามารเลือกซื้อรายการที่ถูกใจได้ เพราะผู้ขายตั้งใจที่จะขาย แต่ระยะหลังมานี้ตลาด Content มีเนื้อหาและคุณภาพที่ดี ผู้ขายจึงมีสิทธิ์เลือกได้ว่าจะขายให้ใคร ซึ่งอาจจะไม่ขายคุณ ทั้งๆ ที่คุณมีเงินก็ได้
อรรถพล ณ บางช้าง
“ในช่วง 4 - 5 ปีที่ผ่านมา Content ที่ฮิตคือ แนวเกาหลี ซึ่งทรูวิชั่นส์เองก็มีการนำเข้ามาฉายเหมือนกัน พอฉายไปเรื่อยๆ เราก็จะเห็นวิวัฒนาการของประเทศเกาหลีอย่างชัดเจน ซึ่งรัฐบาลของเขามีการผลักดัน และสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อนานมาแล้วผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ เขานัดทานข้าวกับผมแล้วคุยถึงวงการบันเทิงเกาหลี พร้อมทั้งให้สารคดีต่างๆ มาฉาย เช่น วิธีการทำกิมจิ ซึ่งผมมองว่าเกาหลีทำสำเร็จ มาวันนี้เขาสามารถส่งออกวัฒนธรรมไปอเมริกาใต้ได้แล้ว
“และถ้าพูดถึงตลาดเรื่องกีฬา ผมว่าคนไทยเก่งขึ้น สามารถไปอยู่ในตลาดการแข่งขันนานาชาติและตลาดกีฬาโลกได้ อย่างน้องเมย์ รัชนก อินทนนท์ นักกีฬาแบดมินตัน หรือทีมวอลเล่ย์บอลหญิงของไทย ทรูวิชั่นส์ก็ตามไปถ่ายทอดสดตลอด เพราะเรามองเห็นพัฒนาการของนักกีฬาไทย ยิ่งมีนักกีฬาไทยเข้าไปแข่งขันด้วยแล้วคนไทยก็ยิ่งอยากดู
“ส่วนการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกเขามาฉาย ต้องพูดว่าเป็นอีกหนึ่งนโยบายของบริษัทและคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริหารทรู คอร์ปอเรชั่น ท่านมองว่าฟุตบอลไทยเป็นกีฬาที่น่าจะส่งเสริม เราจึงยินดีที่จะลงทุนตรงนี้ สิ่งที่ผมและคุณศุภชัยเน้นอยู่เสมอคือโปรดักชั่นต้องดี ไม่อย่างนั้นคงไม่มีใครอยากดู เราจึงใช้จำนวนกล้อง 8 - 10 ตัว ต่อการถ่ายทอดฟุตบอลแต่ละครั้ง ถ้าเทียบกับเมืองนอกยังถือว่าน้อย เพราะเวลาถ่ายทำจริง ภาพที่ออกมาต้องมีทั้งภาพมุมกว้าง ภาพ Close up เวลายิงฟุตบอลเข้าประตูก็ต้องเห็นอารมณ์นักฟุตบอลและผู้รักษาประตู ซึ่งเรื่องพวกนี้มันละเลยไม่ได้”
บทบาทหัวหน้าทีม
ในการแข่งกีฬา โค้ชจะเป็นผู้ที่คอยกำหนดยุทธศาสตร์ และวิธีการแข่งให้กับนักกีฬาของตน ถ้าหากปราศจากบุคคลคนนี้แล้ว โอกาสที่นักกีฬาจะคว้าชัยมาได้ก็เลือนรางเต็มที ซึ่ง ณ วันนี้ คุณบอย อรรถพล ณ บางช้าง ได้ทำให้ทุกคนเห็นแล้วว่าคำสอนของผู้เป็นหัวหน้าทีมสำคัญเพียงใด
“การดูแลลูกน้องสำหรับผม ก็หลักเหมือนการบริหารงานทั่วไป ผมชอบจะเป็นโค้ชมากกว่าผู้เล่น พอทำงานไปเรื่อยๆ ผมก็มักจะถ่ายทอดวัฒนธรรมหลายๆ อย่าง
ให้พวกเขา เช่น ถ้าไปประชุมก็ต้องเตรียมทำการบ้านให้ดี หรือนอกเหนือจากเวลาทำงานก็ต้องรู้จักเข้าสังคมบ้าง ไปดินเนอร์กับลูกค้า รู้จักพูดคุยกับเขา ทำให้เขารู้สึกว่าเราคือเพื่อนของเขาอีกคนหนึ่ง อย่างผมแทบจะไม่เคยกินข้าวคนเดียวเลย มีแต่คนอยากมากินข้าวกับผมด้วยทุกวัน ถ้าถามผมว่าเหนื่อยไหม ก็เหนื่อยนะ แต่ก็การเข้าสังคมมันก็เหมือนเป็นอีกหน้าที่หนึ่งที่ต้องทำ
“นอกจากนี้ทีมงานผมจะได้รับการถ่ายทอดมาว่า ในการเลือกซื้อรายการจะต้องดูคุณภาพของเนื้อหา และโปรดักชั่นเป็นหลัก เหนือสิ่งอื่นใดยังต้องดูเรื่องสัญญาให้ดีด้วย อันนี้สำคัญมาก เพราะถ้าไม่อ่านสัญญาให้ดีคุณก็จะเสียเปรียบ ถ้าไม่มีเรื่องผิดพลาดเกิดขึ้นมันก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเมื่อไหร่มีปัญหาคุณก็เป็นฝ่ายที่ต้องมานั่งเสียใจเอง ยิ่งทำสัญญากับบริษัทต่างประเทศ เขายิ่งยึดลายลักษณ์อักษรเป็นสำคัญ ดังนั้นทีมงานผมต้องผ่านการเทรนนิ่ง เรื่องการตกลงทำข้อสัญญามาเป็นอย่างดี
อรรถพล ณ บางช้าง
“อีกสิ่งหนึ่งที่ผมบอกลูกน้องเสมอคือ การทำงานเป็นทีม พวกเราอยู่ทีมเดียวกันบางเรื่องที่สำคัญก็ไม่ควรตัดสินใจคนเดียว เช่น การจะซื้อรายการเด็กสักหนึ่งรายการก็ไม่ได้
มีแค่ฝ่ายซื้อที่มีอำนาจตัดสินใจฝ่ายเดียว แต่ยังต้องให้ทีมงานของรายการเด็กเข้ามานั่งพิจารณาเนื้อหา แล้วมาถกเถียง หาข้อสรุปกันว่าถ้าซื้อมาแล้วดีหรือไม่ดีอย่างไร นี่แหละคือทำงานเป็นทีม
“ในขณะที่ทุกวันนี้มีคู่แข่งในตลาดเยอะขึ้น ผมก็มักจะบอกทีมงานว่าเราต้องก้าวไปก่อนคนอื่นเสมอ อย่างการมีทีวีดิจิตอลเกิดขึ้น นั่นหมายความว่าจะมีฟรีทีวีมากขึ้นด้วย
ทุกสื่อจึงต้องมีการปรับตัว เหมือนการแข่งฟุตบอลแต่ละแมตช์ ที่ต้องเจอทีมคู่แข่งต่างกัน แต่ละทีมก็ต้องปรับวิธีการเล่น ผมเองก็ต้องมีการปรับทีม ปรับแผนด้วยเหมือนกัน ต้องไปหาวิธีการว่าทำไมลูกค้าถึงจะซื้อช่องของเราถ้าในเมื่อมีของฟรีให้ดูเยอะอยู่แล้ว จะต้องหาสิ่งที่ทำให้เขาพึงพอใจ
“เราต้องสวมวิญญาณของคนดูรายการ เพราะคนดูเป็นกุญแจสำคัญ เราต้องเข้าใจลูกค้า ที่สำคัญคือต้องทำงานให้หนักขึ้น ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนขายรายการ
ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ มันก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของทีมงานในการวางกลยุทธ์แต่ละจังหวะของการทำธุรกิจ ผมทำงานมานาน ผ่านศึกอะไรมาเยอะ เพราะอย่างนั้นจะดูออกว่า
คู่แข่งกำลังเดินเกมไปในทิศทางไหน ถ้าคนมันตั้งใจทำงานจริงๆ มันก็จะประสบความสำเร็จ”
“ทำงานหนักมาเรื่อยๆจนช่วงอายุ 30 - 40 ปี ผมจำไม่ได้เลยว่า
ทำอะไรไปบ้าง จำได้แต่เรื่องงานอย่างเดียว”
ศิลปะถ่ายทอดตัวตน
ด้วยการแต่งกายสุดเนี้ยบ บุคลิกที่ดูสมาร์ทอันสะท้อนถึงความน่าเชื่อถือในมาดของนักบริหารและนักธุรกิจ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ใครจะเชื่อว่า ‘ศิลปะ’ ซึ่งไม่มีกรอบตายตัว
นี่แหละคือสิ่งที่อธิบายตัวตนของเขาได้เป็นอย่างดี
“ผมจะเป็นคนชอบศิลปะ ผมชอบเขียนภาพ ชอบเล่นดนตรี ซึ่งบุคลิกจะขัดแย้งกับสิ่งที่คุณพ่ออยากจะให้เป็น นั่นก็คือข้าราชการ แต่คุณแม่ด้วยความที่รักลูก ถ้าผมไม่อยากทำอะไรท่านก็ไม่ได้บังคับ สมัยก่อนผมชอบทำอาหารนะ เวลาไปต่างประเทศก็มักซื้อวัตถุดิบกลับมาปรุงเอง เพราะผมคิดว่าการทำอาหารมันก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง
สมมติถ้าอยากรู้ว่าไข่ตุ๋นญี่ปุ่นทำอย่างไร ก็จะต้องลองทำไปเรื่อยๆ แต่เดี๋ยวนี้ผมไม่ค่อยได้ทำแล้ว ส่วนใหญ่เวลาว่าง ผมก็จะใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน ฟังเพลง เล่นดนตรี ไม่ค่อยดูทีวี เพราะเราทำงานเกี่ยวกับทีวีอยู่แล้วมันก็เครียด อีกอย่างกลัวว่าถ้าดูแล้วก็อดไม่ได้ที่จะมาคอมเม้นท์ลูกน้อง (หัวเราะ)
“สำหรับผมการแบ่งพาร์ทชีวิตส่วนตัว กับการทำงานมันยากนะ เพราะผมกลับจากออฟฟิศดึกมาก จนแทบจะเรียกได้ว่าออฟฟิศกลายเป็นบ้านหลังที่สองไปแล้ว ในช่วงอายุของแต่ละคนโดยเฉพาะผู้ชายวัยต้นๆ ก็มักจะสนุกกับการทำงาน พอช่วงอายุ 30 ก็เริ่มมองเรื่องการสร้างครอบครัว ผมเองก็เป็นอย่างนั้น ทำงานหนักมาเรื่อยๆ จนช่วงอายุ 30 - 40 ปี ผมจำไม่ได้เลยว่าทำอะไรไปบ้าง จำได้แต่เรื่องงานอย่างเดียว
อรรถพล ณ บางช้าง
“ถึงอย่างนั้นเวลาทำงานผมก็จะปรับตัวเองให้มีความสุขไปด้วย พยายามหาวิธีผ่อนคลาย เช่น เดินทางไปติดต่อซื้อรายการ ผมก็จะเจอผู้ขายที่เป็นเพื่อนกัน เมื่อจบงานก็ไปกินข้าว พูดคุยกัน พยายามทำให้งานมันสนุกไปด้วย บางคนมองว่างานแบบนี้ได้เดินทางบ่อย คงสนุกน่าดู แต่เชื่อไหมว่าคนที่มาทำงานแบบนี้แล้วลาออกไปก็มีเยอะ เพราะความจริงแล้วเราไปทำงานไม่ได้ไปเที่ยว หรือเขาอาจจะไม่ชินกับการทำงานที่ต้องอยู่ดึกๆ ต้องอ่านสัญญา
“ถ้าถามผมว่า ณ วันนี้พอใจกับสิ่งที่มีและเป็นอยู่หรือยัง ผมบอกได้แค่ว่าผมก็เป็นคนทำงานในระดับ Professional คนหนึ่ง ทำงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เปรียบเหมือนคนที่ออกรบตลอด บางครั้งกลับมาก็อยากจะพักผ่อน แต่ยังไม่ทันไรก็ต้องออกไปรบอีกแล้ว เรียกได้ว่า พยายามทำทุกอย่างให้กับบริษัท ทำทุกอย่างเต็มที่ที่สุดเท่าที่เราทำได้
“จากการที่ผมเดินทางมาแล้วหลายประเทศ เห็นทั้งวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศ บอกได้เลยว่าประเทศไทยมีความเป็นศิลปะและมีวัฒนธรรมที่ดี ทั้งในเรื่องของสถานที่ท่องเที่ยว วัด และอาหารการกิน เมืองไทยเคยได้ที่หนึ่งในการจัดอันดับหลายๆ เรื่องมาตลอด แต่เราไม่รู้จักปกป้อง รักษาสิ่งเหล่าไว้ ถ้าวันหนึ่งคนไทย
หันมารักกันให้มากขึ้น ดูแลประเทศไทยของเราให้มากขึ้น ผมเชื่อว่าเมืองไทยก็ไม่แพ้ชาติใด นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะฝากไว้”