รักทรมาน
Venus in Furs เป็นนิยายโบร่ำโบราณ พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1870 แต่งโดยนักเขียนชาวออสเตรียนามเลโอโปลด์ ฟอน ซาเชอร์ - มาโซค ผู้เป็นต้นกำเนิดที่มาของคำศัพท์ ‘มาโซคิสม์ (Masochism)’ เนื้อเรื่องคร่าวๆ กล่าวถึงความรักความสัมพันธ์อันผิดประหลาด ระหว่างหนุ่มสาวคู่หนึ่ง ซึ่งฝ่ายชายมีความสุขพึงพอใจในการถูกคู่รักกระทำย่ำยีลงทัณฑ์ทรมานต่างๆ นานา
นิยายเรื่องนี้ กลายเป็นผลงานอื้อฉาว ได้รับการประเมินค่าก้ำกึ่งทั้งด้านบวกและลบมากพอๆ กัน บ้างโจมตีว่าเป็นเพียงเรื่องเซ็กซ์วิปริตวิตถาร
เป็นนิยาย ที่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องลามกอนาจาร เป็นผลงานจากความคิดอ่านอันป่วยไข้ ขณะที่มุมมองตรงข้าม ยกย่องว่าเป็นงานที่โดดเด่น ลุ่มลึก ในการเผยแสดงถึงสภาพจิตใจอันสลับซับซ้อนของตัวละคร เป็นงานอีโรติกชั้นดี มีแง่มุมให้วิเคราะห์ตีความไปได้สารพัดสารพัน
ในปี 2010 นิยายคลาสสิกอื้อฉาวเรื่องนี้ ก็ได้รับการนำมาดัดแปลงเป็นละครเวทีชื่อ Venus in Fur (ชื่อต่างจากเดิมตรงที่ไม่มีอักษร s ต่อท้าย) โดยนักเขียนบทละครชาวอเมริกันชื่อ เดวิด ไอเวส ความน่าสนใจเบื้องต้นของละครเรื่องนี้ อยู่ที่การใช้ผู้แสดงจำกัดแค่ 2 คน และใช้ฉากเพียงฉากเดียว มีลักษณะเป็นละครเวทีซ้อนละครเวที เรื่องคร่าวๆ กล่าวถึง ผู้กำกับ และ คนเขียนบทชื่อ โทมาส์ ซึ่งกำลังดัดแปลงนิยาย Venus in Furs มาเป็นละคร และทำการคัดเลือกทดสอบบทหาคนมาเล่นเป็น วองดา นางเอกของเรื่อง
เหตุการณ์ทั้งหมด คือ การซ้อมอ่านบทระหว่างผู้กำกับ และหญิงสาวลึกลับผู้หนึ่งที่มาสมัครทดสอบ ซึ่งนำพาเรื่องราวอันเรียบง่ายไปไกลและพิสดาร ข้ามเส้นแบ่งระหว่างความจริงกับจินตนาการ การสวมบทบาทเป็นตัวละคร กับชีวิตจริงเหลื่อมซ้อนปนเป จนไม่อาจแยกขาดออกจากกัน ละครประสบความสำเร็จด้วยดี ทั้งในด้านคำวิจารณ์และการเข้าชิงรางวัลจากสถาบันต่างๆ จนกระทั่งถึงปี 2013 ก็ได้รับการนำมาดัดแปลงเป็นหนังอีกทอดหนึ่ง โดยการเขียนบทร่วมกันระหว่าง เดวิด ไอเวส เจ้าของเรื่องเดิมและโรมัน โปลันสกี้ ซึ่งรับหน้าที่ผู้กำกับ Venus in Fur ฉบับหนังกับละครเวที ค่อนข้างใกล้เคียงจนแทบจะเรียกได้ว่า ถอดแบบกันมา จะแตกต่างอยู่บ้าง ตรงที่เล่าผ่านคนละสื่อ หนังมีการเคลื่อนกล้อง กำหนดมุมกล้อง จัดองค์ประกอบภาพ และการตัดต่อลำดับภาพ เข้ามามีบทบาท
หนังเรื่องนี้ นิยามตัวเองว่าอยู่ในแนวทาง อีโรติก - คอมิดี้ ส่วนของอารมณ์ขันนั้น มีลักษณะเย้ยหยันเสียดสีอยู่ลึกๆ ไม่ใช่มุขตลกที่เรียกเสียงหัวเราะอย่างชัดเจนตรงไปตรงมา ขณะที่กลิ่นรสอีโรติกนั้น อบอวลตลอดทั้งเรื่อง โดยที่ไม่มีฉากเลิฟซีน แทบไม่มีอะไรโป๊เปลือย (ฉากเปลือยกายมีปรากฏให้เห็นสั้นๆ ในตอนจบ และให้บรรยากาศหลอนน่าสะพรึงกลัว)ในความเป็นหนังอีโรติก กล่าวได้ว่า Venus in Fur เป็นผลงานที่เซ็กซี่เย้ายวนมาก ด้วยบทสนทนาระหว่างตัวละครที่ ‘ส่อ’ และ ‘สื่อ’ เป็นนัยๆ ถึงเรื่องเพศอยู่เกือบตลอดเวลา รวมถึงกระตุ้นเตือน ให้ผู้ชมเกิดจินตนาการเกินเลยภาพเหตุการณ์ ที่ปรากฏต่อสายตาไปไกลมาก
Venus in Fur เป็นหนังในแบบที่เลือกคนดูเฉพาะกลุ่มอยู่มากทีเดียว ไม่ใช่ความบันเทิงที่เหมาะสำหรับทุกคน มันสามารถเป็นได้ทั้งหนังที่แปลก สดใหม่ สร้างสรรค์ เนื้อหาเปิดประเด็นไว้กว้าง ให้ผู้ชมขบคิดตีความและสนุกเข้มข้นชวนติดตามเหลือเกิน เท่าๆ กับเป็นหนังที่น่าเบื่อ ชวนอึดอัด ไม่มีอะไรมากไปกว่าการพูดคุย ถกสนทนาเรื่องศิลปะวรรณกรรมอันยืดยาว และยากแก่การทำความเข้าใจ
ผมรู้สึกสนุกและบันเทิงมากในระหว่างดู แต่ก็ประสบปัญหาไม่เข้าใจ ตามไม่ทัน เนื้อหาสาระที่หนังต้องการสื่อสารปัญหา และอุปสรรคสำคัญสำหรับผู้ชมบ้านเราก็คือ ไม่เคยอ่านไม่รู้จักคุ้นเคยกับนิยายฉบับปี 1870 มาก่อน เมื่อมาประสบพบเจอกับ ‘การเล่าใหม่’ ในรูปแบบของละครเวทีและหนัง ซึ่งเป็นการ ‘ต่อยอด’ พยายามตีความเพิ่มเติมด้วยมุมมองใหม่ๆ มีการกล่าวอ้าง เท้าความ ถึงเหตุการณ์หลายช่วงหลายตอนในนิยาย ด้วยท่วงทีเงื่อนไขแบบรู้จักกันดีอยู่แล้วระหว่างคนทำหนังกับผู้ชม จึงกลายเป็นการตามไม่ทันความคิดที่หนังต้องการนำเสนอ พูดอีกแบบหนึ่งคือ อาจจะตามเรื่องได้ทัน แต่ขณะกำลังทำความเข้าใจ ก็มีแง่มุมใหม่ๆ จำนวนมากติดตามมา จนกระทั่งจดจำและเข้าใจได้ไม่หมดครบถ้วน ประกอบกับเรื่องที่ตัวละคร พูดคุยเป็นประเด็นค่อนข้างยาก และสลับซับซ้อนปัญหาทำนองนี้ สามารถแก้ไขได้ด้วยการดูซ้ำหลายๆ รอบนะครับ แต่ขณะเขียนต้นฉบับชิ้นนี้ ผมเพิ่งได้ดูแค่รอบเดียว ยังจับประเด็นต่างๆ ได้ไม่ชัดนัก
ผมพอจะสรุปกว้างๆ ได้ว่า แง่มุมที่ตัวละครถกสนทนากันถึงนิยาย Venus in Fur นั้น เกี่ยวโยงกับประเด็นว่าด้วยรสนิยมทางเพศอันผิดปกติ ความไม่เท่าเทียม เสมอภาคทางเพศ แง่มุมในทางจิตวิทยา การตั้งคำถามบางประการต่อข้อความในคัมภีร์ไบเบิล การสร้างความกำกวมคลุมเครือเพื่อให้เกิดชั้นเชิงทางศิลปะ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม มีเนื้อหาอีกส่วนซึ่งผู้ชมสามารถจับต้องเข้าใจได้ง่ายกว่า สามารถอ่านประเด็นได้ผ่านเนื้อเรื่องเหตุการณ์ นั่นคือ การเปลี่ยนสถานะระหว่างหญิงสาว ที่มาทดสอบบทกับผู้กำกับ เริ่มแรกฝ่ายชายดูมีอำนาจเหนือกว่า และเป็นฝ่ายออกคำสั่ง เขายืนกรานปฏิเสธ ไม่ยอมให้หญิงสาวทดลองอ่านบท แต่แล้วก็ใจอ่อนต่อการรบเร้าอย่างหนัก ยินยอมซ้อมอ่านบท 3 หน้าแรก
พลันเมื่อเริ่มทำการซ้อม หญิงสาวลึกลับก็สร้างความประหลาดใจให้แก่ โทมาส์ จากคนที่มีบุคลิกภายนอกไม่เฉียดคล้ายใกล้เคียงกับตัวละครเลยสักนิดยกเว้นชื่อ วองดา ที่ตรงกันโดยบังเอิญ (ช่วงแรกๆ ที่ปรากฏตัว หญิงสาวแลดูเหมือนโสเภณีข้างถนน) แต่เมื่อเอื้อนเอ่ยประโยคแรกจากบทละครออกมา น้ำเสียง ท่วงที บุคลิกรวมถึงความสามารถทางการแสดง ก็เปลี่ยนโฉมหญิงสาวให้กลายเป็นตัวละครอย่างสมบูรณ์แบบ การซ้อมสั้นๆ จบลง โทมาส์ โดนหญิงสาวสะกดตรึง จนกลายเป็นฝ่ายอ้อนวอนขอให้เธอซ้อมอ่านบทต่อไปอีก จากนั้นสถานะอำนาจการควบคุมของเขาก็ค่อยๆ ลดทอนลง ท้ายที่สุด วองดา กลับเป็นฝ่ายชักใยบงการทุกสิ่งทุกอย่าง
เหตุการณ์ซ้อมอ่านบท ค่อยๆ สวมรอยทาบลงเป็นเนื้อเดียวกับเรื่องราวในบทละคร ผู้กำกับถูกนักแสดงควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด รวมถึงการเผยแสดงให้เห็นถึงการที่ชายหนุ่มรู้สึกปิติสุข เมื่อตกเป็นฝ่ายโดนกระทำ
ท้ายที่สุด เรื่องราวในหนังส่วนที่ว่าด้วยชีวิตจริง ณ ปัจจุบัน สรุปลงเอยเช่นเดียวกับเนื้อเรื่องในบทละครย้อนยุค ความเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปของตัวละครทั้งสองนั้น เป็นความเรียบง่าย ที่ซ่อนความบันเทิงเข้มข้นไว้มากมาย เต็มไปด้วยการขับเคี่ยวชิงไหวชิงพริบ ความไม่น่าไว้วางใจ ความลุ้นระทึกแฝงซ่อนอยู่ลึกๆ
นี่เป็นทางเก่งทางถนัดของโรมัน โปลันสกี้เลยนะครับ ในการทำหนังเล่าเรื่องง่ายๆ แต่เจือด้วยบรรยากาศมาคุอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นหนังแนวทางใด (ตัวอย่างที่เด่นๆก็เช่น Knife in the Water, Rosemary’s Baby)ความยอดเยี่ยมอีกประการของหนังเรื่อง Venus in Fur ก็คือ ฝีมือการแสดงของ เอ็มมานูเอล เซนเยร์ (ภรรยาของโรมัน โปลันสกี้) ในบท วองดา และ มาธิเยอร์ อมาลลิค ในบท โทมาส์ ทั้งคู่ทำหน้าที่รับส่งบทบาทอารมณ์กันได้อย่างลื่นไหล ทำให้หนังที่ใช้นักแสดงจำกัด สถานที่จำกัด เกิดความเข้มข้นชวนติดตาม และแบกรับภาระตัวหนังทั้งเรื่องได้อย่างยอดเยี่ยม ที่น่าทึ่งกว่านั้นก็คือ บทบาทของนักแสดงทั้งสอง ต้องเริ่มต้นจากการเป็นคนหนึ่ง แล้วค่อยๆ เปลี่ยนแปลงเป็นคนอื่น (คือตัวละครในละครเวที) จากช่วงต้นๆ ที่แบ่งแยกแตกต่างกันเด่นชัด ค่อยๆ กลืนกลายผสมกัน จนถึงช่วงท้ายๆ ผู้ชมก็แยกไม่ออกว่า คนที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า คือ บุคคลในชีวิตจริงหรือการสวมบทบาทแสดงเป็นตัวละคร
ผมมานึกได้ หลังจากดูหนังจบอย่างหนึ่งคือ ขณะติดตามเรื่องราวทั้งหมด มันเต็มไปด้วยความลื่นไหลต่อเนื่อง ได้อรรถรสความรู้สึกเหมือนดูละครเวทีเห็นภาพสดๆ
จากเหตุการณ์จริงแบบรวดเดียวจบ แต่แท้ที่จริงแล้ว มันเป็นหนังที่เกิดจากการถ่ายทำเนิ่นนานหลายวัน เปลี่ยนย้ายมุมกล้องอยู่ตลอดเวลา ต้องแต่งหน้าทำผมใหม่ทุกครั้ง ทำทุกสิ่งทุกอย่างให้เหมือนเดิม (ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้แตกต่าง คล้อยตามความเปลี่ยนแปลงของตัวละครด้วย) รวมทั้งตารางการถ่ายทำ อาจไม่เรียงลำดับก่อนหลังตามเนื้อเรื่อง พูดง่ายๆ คือ สิ่งที่ปรากฏในหนัง ผู้ชมมองไม่เห็นรอยต่อจากกระบวนการขั้นตอนการถ่ายหนังเลยนะครับ เหมือนเป็นการบันทึกภาพเหตุการณ์จากละครเวที
มาโดยตรง ในแง่นี้ Venus in Fur เป็นหนังที่น่าอัศจรรย์มาก