แม่เมาะ
เบื้องล่างลึกลงไปกว่า 200 เมตร เก่าแก่กว่า 50 ปี ท่ามกลางชั้นถ่านหินลิกไนต์ในหุบเขาที่อนุญาตให้เรายืนอยู่ ชีวิตการงานข้างล่างนั้นไม่เคยหลับ มากไปกว่านั้น ยังหล่อหลอมให้ความงดงามข้างบน ต่อยอดถึงหลายชีวิตรอบหุบเขา กลายเป็นบ้านอันอบอุ่น สว่างไสว และเต็มอยู่ด้วยความรื่นรมย์
แดดสายค่อยๆ จรรโลงวิวเบื้องหน้าของแอ่งกระทะสีน้ำตาลแดง ภายในเหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง อาคารพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เห็นเป็นหลังลิบๆ อยู่ปลายตา บรรยากาศครอบครัวในเต็นท์เริ่มเคลื่อนไหว อารมณ์แค้มป์ปิ้งอุ่นๆ อยู่ด้วยเตาขนาดเล็ก กาแฟร้อน ท่ามกลางไอหมอกที่ยังคงความหนาวเย็นไม่จางคลาย
ข้างล่าง ถ่านหินยังหลับใหลในชั้นภูเขา รอให้เครื่องจักร แรงงานคน ขับเคลื่อนชีวิตไปกับมัน ท่ามกลางระแสไฟฟ้าที่กินใช้ในทุกวัน หลายคนไม่เคยรับรู้ บางคนไม่แม้กระทั่งเคยได้ยินว่าพวกอยู่กันอย่างไร
ที่แม่เมาะ ก่อนจะลึกลงไปยังเหมืองเปิดอันเก่าแก่ หลายสิ่งเกิดขึ้นและเชื่อมโยงให้ “คนข้างบน” กับ “คนข้างล่าง” เหมืองได้ทำความรู้จัก คล้ายร่วมเดินไปด้วยกันผ่านวันเวลา
เป็นต้นว่า...
กลุ่มเด็กๆ เกือบ 20 คนตื่นตาไม่แพ้กับผม เมื่อเราต่างเดินเข้าสู่อาคารพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (เหมืองแม่เมาะ) โลกพิพิธภัณฑ์ยุคใหม่ไม่ใช่เรื่องแห้งแล้งไร้ชีวิตชีวาเหมือนแต่ก่อน แต่เต็มไปด้วยรายละเอียดและ “ลูกเล่น” ที่อธิบายเรื่องราวทางธรณีวิทยา ความซับซ้อนของระบบเหมือง ขั้นตอนการนำมาใช้ประโยชน์ผลิตกระแสไฟฟ้า ได้อย่างน่าสนใจ
แสง สี ระบบมัลติวิชัน การออกแบบรูปทรง ล้วนเล่าเรื่องประวัติความเป็นมาขององค์ถ่านหินและพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่7 ที่ทรงสงวนแหล่งถ่านหินแม่เมาะไว้จากระบบสัมปทาน ทั้งหมดออกมาอย่างไม่น่าเบื่อ
โลกของคนข้างบนตื่นตาเมื่อห้องกระจกค่อยๆ เลื่อนม่านไฮดรอลิกขึ้น และเหมืองกว้างไกลก็กระจ่างตาอยู่ข้างหน้า ทางเดินยื่นออกไปเหนือแลนด์สเคปสวยๆ ลมหนาวพัดพลิ้วคล้ายจะบอกเราว่า แม้แต่ในด้านหลบเร้นของบางสิ่งบางอย่าง ก็มีสายสัมพันธ์อันอ่อนหวานคอยเชื่อมโยง
ถนนรายรอบที่เวียนแวะไปรอบๆ เหมืองพาเราไปรู้จักหลายสิ่งหลายอย่าง กว่าจะเป็นความงดงามน่ารื่นรมย์ทางภูมิทัศน์ เต็มไปด้วยความสะดวกสบาย คลับเฮาส์ สนามกอล์ฟ บ้านพักบรรยากาศดีกลางทะเลสาบ แม่เมาะล้วนผ่านการเติบโตมาอย่างชายฉกรรจ์กรำงานหนัก
อดีตซุกซ่อนอยู่ตามอาคารไม้เก่าทรงคลาสสิคที่เคยเป็นโรงเรือน ครัชเชอร์-เครื่องย่อยถ่านหินคร่ำสนิม รถบรรทุกและรถขุดในยุคแรก ต่างถูกนำมาจัดวางเป็นอดีตกลางแจ้งให้คนที่ใช้ไฟฟ้าในรุ่นหลังได้เดินตามมาหยิบส่วนเสี้ยวของอดีตขึ้นมานั่งมอง
เนินเขาที่สลับขึ้นลงเหมือนลูกเล่นของเหมืองล้วนเกิดจากการถมดินที่เหลือจากการขุดลิกไนต์มายาวนาน ไม่เพียงแต่สร้างภูเขาขึ้นมาหลายลูก แต่คนข้างบนยังได้จุดชมวิวชั้นดี เนินเขาเหล่านี้กลายเป็นแหล่งหย่อนใจของหนุ่มสาว เสียงหัวเราะของครอบครัวหรือสนามจักรยานเสือภูเขาของคนรักการออกกำลังกาย
ทุกวันนี้ ภูเขาดินที่ชาวเหมืองสร้างขึ้นได้ถูกปรับปรุงฟื้นฟูสภาพ ให้กลายเป็นจุดท่องเที่ยวชมทิวทัศน์ของบ่อเหมืองและทุ่งบัวตองกว้างไกล กลายเป็นแหล่งพักผ่อนสำหรับคนไฟฟ้าเอง รวมทั้งชาวลำปางที่มีรสนิยมในการใช้ชีวิตกลางแจ้ง ซึ่งมักนิยมมากางเต็นท์ปิคนิคกันทุกสุดสัปดาห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูดอกบัวตอง
ว่ากันว่ายามลมหนาวแรกมาเยือน ดอกบัวตองบานสะพรั่งเหลืองอร่ามเต็มทั้งขุนเขา ในแดดจัดฟ้าสดที่นี่งามยิ่งนัก
เช่นนี้เอง หลายคนอยากเร่งวันเร่งคืนให้ถึง “เทศกาลบัวตองบานที่แม่เมาะ” ไม่เพียงเด็กๆ ที่จะสนุกสนานกับการแข่งขันสไลเดอร์ลาดลงเนินหญ้า แต่โลกกลางแจ้งตามเส้นทางรอบเหมืองก็ดึงดูดให้กลุ่มเสือภูเขารายรอบเข้ามาใช้เหมืองแม่เมาะในมิติใหม่พิพิธภัณฑ์ยิ่งคึกคักเมื่อเด็กๆ กลายเป็นงานประจำปีที่คนทั้งในและนอกเหมืองต่างเฝ้ารอ
เฝ้ารอที่จะบอกว่า บ้านของเขาอยู่โอบล้อมอยู่ด้วยแหล่งพลังงาน วัฒนธรรมชีวิต และอดีตอันเติบโตมาควบคู่ขุนเขา