บ้านสิงห์ท่า

บ้านสิงห์ท่า

หากไม่ลงไปหาหมอที่กรุงเทพฯ ทุกเช้ามืด ยายนิ่มนวล แซ่เจียต้องออกมานั่งอยู่หน้าห้องแถวไม้แสนสวยหน้าวัดสิงห์ท่า ข้าวเหนียวสุกหอมอบู่ในกระติ๊บใบเก่าผ่านการใช้งานนานปี จะว่าไป แม้เช้านี้ฝนจะพรำบางๆ ต่อเนื่อง ไร้วี่แววของแดดอุ่น ทว่าพระสงฆ์และชาวบ้านที่นี่ไม่เคยปราศจากการอยู่ร่วม กับคนเมืองเช่นผมที่นับวันจะเดินห่าง “วัด” การได้มาเห็นภาพเช่นนี้ไม่เพียงงดงามในความรู้สึก แต่มันคล้ายบอกว่าโลกใบเล็กอันแสนสุขเช่นนี้ยังมีอยู่จริง โลกที่ศรัทธาสำคัญไม่

 

“วัดกับคนคุ้มบ้านท่าไม่เคยห่างหรอก” ยายเรียกบ้านสิงห์ท่าว่าอย่างนั้น ซึ่งก็เหมือนกับทุกคนที่นี่ หลังจากพระขบวนแรกผ่านไปหน้าบ้านคือที่พักสายตาพบปะเพื่อนบ้านที่เริ่มออกไปตลาดที่ “เมืองใหม่” ซึ่งหนาแน่นอยู่อีกฟากของถนนแจ้งสนิท ยายนิ่มนวลว่าต่อ “แต่ก่อนบ้านท่าเจริญสุดแล้ว ตลาดอยู่ที่นี่ เรือสินค้าแน่นท่าน้ำ”

 

“เตี่ยฉันก็มาจากอุบลฯ มากับเรือกลไฟขายสินค้า” ภาพเหล่านี้ราว 80 ปีมาแล้ว และบางทีอาจเก่าแก่มากไปกว่านั้น “ตอนนั้นช่วงสงครามอินโดจีน อพยพเพราะเตี่ยเป็นจีนแต้จิ๋ว ทางการเขาไล่คนต่างด้าว” คนจีนมักมาคู่กับการดิ้นรน อดทน และอาชีพค้าขาย เยี่ยงนี้ในย่านตลาดจึงเปี่ยมไปด้วยภาพผสมผสาน “มากัน พ.ศ. 2491 นั่นล่ะ ฉันยังเป็นเด็กน้อยน่ะ”

 

แม่น้ำชีไม่เพียงเอื้อเฟื้อความสมบูรณ์ให้คนยโสธร ร้อยเอ็ด หรือพื้นที่ในทุ่งกุลาอันเป็นแหล่งข้าวหอมมะลิที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองไทย แต่ยังเป็นเส้นทางค้าขายขึ้นล่องสู่เมืองใหญ่อย่างอุบลราชธานี ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเป็นอยู่อันพัฒนานั้นส่งผ่านแม่น้ำมูน ต่อมาสู่น้ำชี และก่อร่างขึ้นที่บ้านสิงห์ท่า ตึกโคโลเนียลเก่าแก่อันงดงามล้วนมาจากอิทธิพลการปกครองของฝรั่งเศสในเวียดนามอันส่งผลต่อเนื่องทั่วผืนแผ่นดินอินโดจีน

 

“ช่างญวนส่วนใหญ่ผ่านลาว ข้ามโขงมาหากิน ใครร่ำรวยก็พาช่างพาข้าวของมาได้มาก อย่างกลุ่มนั้นของขุนเอกอาสา” ยายชี้ไปที่กลุ่มตึกเฟรนช์โคโลเนียลแสนสวยสีหมากสุก สลักคำว่า “สมกอสถาน” บอกชื่อเจ้าของไว้ที่ผนังชั้นสอง บ้านหน้าต่างไม้ โค้งอาร์ค ลายฉลุยังงดงาม มันผ่านพ้นกาลเวลามาร้อยกว่าปี แต่เสน่ห์ไม่เคยตกหล่น

 

เรานั่งผ่านยามเช้ากันในตึกไม้หัวมุมที่ถนนอุทัยรามฤทธิ์เชื่อมต่อกับถนนศรีสุนทร กลุ่มอาคารทั้งปูนหรือเรือนแถวไม้หนาแน่นบางหลังปรับเปลี่ยนใช้วัสดุพื้นถิ่นอย่างไม้ประกอบเข้าไป สะท้อนถึงการปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์ของศิลปะโคโลเนียล

 

หลายห้องหับบานประตูเงียบเชียบ หากแต่ไม่ได้ปราศจากชีวิตด้านใน พวกเขาอยู่กันเงียบๆ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นคุณตาคุณยายลูกหลานล้วนออกไปหาวิถีทางของตนในเมืองใหญ่ “ดีแล้ว ไว้งานบุญค่อยกลับมา งานบุญอีสานมาก คนยโสฯ กินเหล้าเก่งสนุกสนาน เมากันทั้งวัน ลูกหลานให้มันไปอยู่ไกลๆ ก็ดี” คุณป้าอีกคนพูดอมยิ้ม

 

กับประโยคเมื่อครู่ ด้วยแววตาห่วงหา ผมเชื่อว่าแกไม่ได้หมายความอย่างนั้น

 

ฟ้าเพิ่มความสว่างขึ้นอีกนิด แต่ถนนเล็กๆ สายสั้นอย่างศรีสุนทรก็ยังคงเงียบเชียบ ผมเดินดูลายประดับอันละเอียดอ่อนตามแนวตึก ก่อนมานั่งอยู่ในบ้านเลขที่ 17-21 ที่ชื่อ “สุรเวช” ลมพัดผ่านจากแม่น้ำชีด้านล่างขึ้นมาทำให้ข้างในตึกโปร่งสบายรื่นเย็น

 

“คนไทยคนจีนที่บ้านสิงห์ท่าน่ะ ไม่เคยแยกกันหรอก โตมาด้วยกัน” อย่างน้อยภาพที่ยายสมจิต รักษ์อำนวยจิตพูดก็ขับเคลื่อนแบบนี้มาตั้งแต่รุ่นพ่อ บ้านสุรเวชที่ยายโตมานอกจากจะเป็นร้านขายใบยาสูบอย่างในปัจจุบัน ส่งต่อสู่รุ่นลูกสาว แต่เดิมคึกคักด้วยพ่อของยายเป็นหมอ อาคารปูนสีขาวนวล 3 ห้องนี้เนืองแน่นไม่แตกต่างจากตลาดและย่านเก่าที่โอบล้อม

 

“คนต่างอำเภอลงเรือมาที่นี่ หาซื้อข้าวของ หยูกยา ที่บ้านนี้นะ ตอนพ่อยังอยู่คนมาหากันล้นหลาม” แม้ตอนนี้ภาพเหล่านั้นจางคลายไปแล้ว แต่เมื่อพูดถึงคืนวันเก่าก่อน ใบหน้าของหญิงชราก็ยิ่งดูอิ่มสุข แกปอกมะม่วงจากสวนที่พนมไพรส่งให้ผมสามสี่ลูก“เผื่อไปกินตอนเดินเล่น” สำหรับชีวิตตัวคนเดียวในเมือง นานๆ ทีถ้อยคำง่ายๆ เช่นนี้ก็ทำให้ผมรู้สึกราวได้กลับบ้าน

 

เราคุยกันต่อยืดยาว เรื่องราววนเวียนอยู่กับคืนวันที่พ้นผ่าน ยายว่าบ้านสิงห์ท่าไม่ได้เติบโตได้เฉพาะจากทางน้ำชี “สินค้าบางอย่างก็มาจากโคราชโน่น เทียมเกวียนข้ามดงพญาไฟกันไปเป็นเดือน” พ่อของยายเป็น “นายฮ้อย” นำขบวนการค้าแบบกองเกวียนเคลื่อนผ่านทุ่งกุลา ผ่านป่าดงพญาไฟ รอนแรมไปซื้อขายสินค้าถึงหัวเมืองโคราช

 

“แต่ก่อนรถไฟมันมาได้แค่นั้น คิดดู เทียมเกวียนไปกันทีเกือบ 20 เล่ม ค้างแรมต้องจุดไฟ หันเกวียนล้อมเข้าหากัน ผู้หญิงเด็กๆ อยู่ด้านใน มีคนอยู่ยามกันขโมย” เราออกมายืนถ่ายรูปกันที่หน้าบ้าน เด็กๆ มามุงดูคึกคัก ยายยิ้มอารมณ์ดี

 

ผ่านช่วงก่อร่าง ทุกข์ยากต่อสู้ จนถึงวันสบาย “อะไรๆ” ที่ผ่านพ้นก็ทำให้หญิงชราบางคนโลกปัจจุบันอีกแบบ

 

“ชีวิตทุกวันมันก็แค่นี้ ตามฟ้าตามฝน” ยายพูดเรียบๆ อาจด้วยมันผ่านพ้นมาตลอดห้วงชีวิต

 

แต่กว่าใครสักคนรู้จัก อาจต้องรอนแรมค้นหาหนทางนอกบ้านแสนเนิ่นนาน ค้นหาเพื่อที่จะพบว่า ถนนกลับบ้านนั้นน่ารื่นรมย์กว่าเส้นทางใด

 

ท่ามกลางถนนเล็กๆ ไม่กี่สายที่ล้อมกรอบคุ้มบ้านสามสี่คุ้มให้กลายเป็นย่านเก่า เมื่อมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่หลายวัน กับเรื่องเล่าหลากหลาย กับความงดงามเรียบง่ายของศิลปกรรมอีสานในหลายวัด ผมยิ่งรู้สึกว่าแต่ละวันช่างยืดยาว

 

เลยเที่ยงเราเดินเข้าสู่ความเงียบเชียบของวัดมหาธาตุไปยืนนิ่งหน้าองค์พระธาตุยโสธรหรือพระธาตุอานนท์ที่โดดเด่นในด้านศิลปะลาวในยุคเดียวกับปลายกรุงศรีอยุธยา แม้จะไร้เงาแดด แต่ผมก็มองยอดธาตุที่มีปลีเล็กแซมอยู่ทั้ง 4 ด้านเบื้องบนได้ไม่รู้เบื่อ

 

ย้อนกลับกันมาสู่ถนนศรีสุนทร เราเข้าไปหาความร่มครึ้มของวัดสิงห์ท่า วัดดั้งเดิมแห่งแรกของย่านเก่าแห่งนี้ รอบด้านครอบคลุมด้วยไม้ใหญ่ พระพุทธรูปโบราณหลายยุคสมัย ทั้งศิลปะลาว ศิลปะสุโขทัย

 

ออกจากวัดสิงห์ท่า เลาะไปทางขวา ตามคำแนะนำของผู้เฒ่าผู้แก่ธาตุเก่าวัดสิงห์ท่าก็สงบนิ่งเก่าแก่อยู่คู่ชุมชนมาจากยุคก่อตั้ง ว่ากันว่าเจดีย์ศิลปะลาวโบราณองค์นี้เป็นที่บรรจุอัฐิธาตุของเจ้าคำสู เจ้าบ้านสิงห์ท่าท่านแรก

 

ปฏิเสธได้ยากว่าเมื่ออยู่ในวัดที่มีบรรยากาศ “ท้องถิ่น” เช่นนี้ เรามักรู้สึกถึงปฏิสัมพันธ์ของคนกับคน ไม่ใช่คนกับระบบ ในหัวใจเต็มด้วยพื้นที่ของความสงบร่มเย็น

 

เช้าและสายบ้านสิงห์ท่าเคลื่อนไหวด้วยผู้คนอยู่พอประมาณ เมื่อล่วงเข้าปลายบ่าย หนุ่มสาวยังไม่กลับจากการงาน ความเงียบก็คลี่คลุมแต่ละบ้านให้เป็นตัวของตัวเอง

 

ทุกวันเราไม่เคยพลาดที่จะไปหย่อนใจในร้านซิงล่งเส็ง นอกจากบะหมี่ที่ตีเส้นอย่างนุ่มอร่อย กาแฟโบราณ ทุกครั้งที่มานั่งอยู่ในตึกไม้ที่ถึงแม้ไม่เก่าแก่เท่าอาคารโคโลเนียลอันเรียงรายอยู่ใกล้ๆ แต่ผมก็ไม่เคยเบื่อ ไม่เพียงเครื่องประป๋อง โกโก้ ชุดเก้าอี้ไม้มันเลื่อมสะท้อนการใช้งาน แต่แหล่งหย่อนใจเล็กๆ อันแสนเก่าแก่ของบ้านสิงห์ท่าแห่งนี้ก็ดึงให้ลุงๆ อาๆ มาใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงร่วมกันได้มานานปี

 

เป็นไม่กี่ชั่วโมงที่หลอมรวมคืนวันทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตไว้ด้วยกันอย่างรื่นรมย์

 

“โต๊ะนี้มาทุกวันล่ะ ฉันเห็นมาตั้งแต่ฉันยังเด็ก พวกเขายังไม่แก่กันเลย” จินตนา ศศิกรกุล ต่ออายุร้านแห่งนี้มายาวนาน หลังจากก๋งและเตี่ยของเธอพาซิงล่งเส็งผ่านการก่อร่างมาคู่บ้านสิงห์ท่า

 

“ที่นี่ไม่มีแบ่งแยก คนไทย จีน พ่อค้า หรือตระกูลเก่าแก่อย่าง ขัตติยะ จิตตะยโสธร อย่างว่า เรามันเมืองเล็ก ใครอยากไถ่ถามสุขทุกข์กันก็ต้องหาที่พบปะ” เธอยกถุงโอเลี้ยงขึ้นจากหม้อน้ำร้อน มวลน้ำสีดำเข้มโชยควันฉุย เสียงเฮฮาที่โต๊ะประจำหน้าร้านไม่มีทีท่าจางคลาย

 

ผมจมอยู่ในร้านเนิ่นนาน จะลุกออกมาก็เพลินกับ “บรรยากาศ” เช่นนั้นอย่างไม่อยากถอนตัว

 

มันไม่ได้ฟูมฟายตีโพยตีพายกับความเปลี่ยนแปลงภายนอก พร้อมจะอยู่ร่วมกันไปในห้องแถวเคยคุ้น ใครสุขใครเศร้าก็แบ่งปันปลอบโยน

 

บางคนเรียกความสัมพันธ์เหล่านี้ว่า “เพื่อนบ้านญาติมิตร”

 

ปลายบ่ายผ่านตัวเองสู่ยามเย็นผมถึงออกเดินกลับไปตามถนนสู่ชุมชนบ้านสิงห์ท่า จะว่าไปหากไม่ต้องมีแผนที่ ถนนเล็กๆ สามสี่เส้นและตึกเก่าที่เรียงรายก็พาเราไปพบความรื่นรมย์ได้อย่างไม่โดดเดี่ยว

 

ผ่านมาถึงแยกที่ถนนศรีสุนทรตัดกับถนนวิทยะธำรงค์ เลี้ยวขวามุ่งลงน้ำชีเรียงรายด้วยบ้านไม้ที่แต่เดิมถือว่าอยู่นอกตลาด หากเลี้ยวซ้ายก็จะพาไปพบอาคารไม้แบบชั้นเดียวที่เก่าคร่ำ ก่อด้วยปูนโบราณ เด็กๆ เล่นสนุกในสามล้อที่จอดอยู่หน้าโรงหนังยโสธรภาพยนตร์ แดดบ่ายฉาบตึกสูงสีซีดจางให้ดูมีเรื่องราว

 

“แต่เดิมตรงนี้ไม่มีว่าง สายหนังมาไม่หยุด ตรงข้ามกันก็มีโรงละครร้องจากกรุงเทพฯ เทียวมาเล่น ยิ่งร้านนี้นะ ใครๆ ก็ต้องแวะถ้ามาตลาด” ลูกสาวคนเล็กที่วันนี้กลับบ้านมารับกิจการของยโสธรพาณิชเล่า หลังผมด้อมๆ มองๆ ร้านแสนคลาสสิกของเธออยู่นาน

 

คนเก่าคนแก่ของบ้านสิงห์ท่าเรียกเรือนแถวไม้ประตูบานเฟี้ยมเหยียดยาวห้องนี้ว่า “ร้านเจ๊กน้อย” ร้อยกว่าปีที่หม่าเซี๊ยะ ก๋งของเธอสร้างร้านยาแผนโบราณมาสู่วิจิตร เชื้อวัฒนากุล ผู้เป็นพ่อ ที่เติมต่อให้เป็นร้านขายของจิปาถะราวซูเปอร์มาร์เก็ต จนวันนี้ที่เธอกลับมาบ้าน ภาพต่างๆ คล้ายไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปสักเท่าไหร่

 

ผมนั่งมองสินค้าในแสงทึมๆ ด้วยทึ่งในความหลากหลาย ตะปู โคมไฟ ลวด เลื่อย น้ำมันหอมสารพันกลิ่น ฯลฯ ไล่เรียงไปถึงตัวยาสมุนไพรในตู้ที่ปะป้ายชื่อนับร้อย เฒ่าชรามาสั่งซื้อและไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบกับเจ้าของร้านเนิ่นนาน

 

“ลูกค้าจากรุ่นเตี่ยน่ะ เห็นเรามาตั้งแต่เด็ก บางคนจำได้แม่นกว่าเราอีก” เธอรวบยาใส่กล่อง ยิ้มขำๆ สักพักชาวบ้านจากพนมไพรก็มาเร่งของที่สั่งไว้ กลัวตกรถเที่ยวท้ายๆ วัน

 

หันออกมาด้านหน้า อาจด้วยเป็นยามใกล้เย็น ความเคลื่อนไหวมีชีวิตชีวากลับมาสู่บ้านสิงห์ท่าอย่างทุกเมื่อเชื่อวัน เพิงขายแกงพื้นบ้านเปิดหม้อหอมๆ น้ำพริกผักต้ม ปลานึ่งวางเรียง ไม่นับข้าวจี่ก้อนกลมๆ ที่ปิ้งสุก ยังมีร้านข้าวเปียกที่ใครต่อใครต่างก็ไม่พลาดที่จะออกมาผสมผสานมิตรภาพในชุมชนไว้ในวัฒนธรรมการกินอันตกทอดสั่งสม

 

ตึกโคโลเนียลที่คร่ำคร่าผ่านวันเวลายามนี้ไม่ว่างไร้ ผู้เฒ่าลูกหลานออกมาพบปะ หัวเราะทักทาย สามล้อพาเด็กกลับจากโรงเรียนไม่เว้นแม้แต่ประมงชราที่ข้ามลำน้ำชีไปหาปลา ปลูกพริกที่ฝั่งอำเภอพนมไพร นาทีนี้ต่างก็กลับมาดำเนินร่วมกันอยู่ในแดดเย็นอันงามอุ่น

 

โมงยามนั้นผมชัดเจนยิ่งกับนิยามที่ว่า ความเป็นตัวของบ้านเมืองแห่งหนึ่งนั้น อาจไม่ได้ผูกติดอยู่แค่วันเวลา หลักฐานประวัติศาสตร์ หรือแม้กระทั่งตึกรามเก่าแก่แสดงควาฟู่ฟ่าโอ่อ่า

 

เช่นบ้านสิงห์ท่า ย่านเก่าเงียบงามริมลำน้ำชี หากไมได้หล่อหลอมมาด้วยรอยยิ้ม ความอุ่นเอื้ออาทรของคนรุ่นต่อรุ่น อันมีอยู่จริงและเปี่ยมค่ายิ่งกับพวกเขาเอง

 

ที่นี่ก็อาจเป็นแค่เมืองเก่าที่มีแต่ตึกฝรั่งทรุดโทรม ผู้คนไร้ราก และลมหายใจแห้งๆ ที่ไหลเอื่อยไปตามกาลเวลา

ชุมชนแรกเริ่มอันแสนเก่าแก่เป็นร้อยปีของยโสธร