วังน้ำมอก

วังน้ำมอก

พื้นที่ที่สร้างบุคคลที่เหมาะสมกับมันขึ้นมา เติบโต เรียนรู้ และพร้อมจะใช้ชีวิตอยู่กับมันอย่างถึงที่สุด

 

ณ อำเภอชายแดนไทย-ลาวอย่างศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย หมู่บ้านเล็กๆ ชื่อ วังน้ำมอก มากมายไปด้วยถ้อยคำบอกเล่า ทั้งจากป่าเขาและผู้ที่ปักหลักหายใจอยู่ในวงล้อมและบรรยากาศเหล่านั้น

 

คล้ายบทเพลงนิรนามจากแดนไกล มากมายไปด้วยท่วงทำนองและจังหวะแห่งชีวิต มีคุณค่าอันรื่นรมย์เสมอยามใครสักคนใช้หัวใจใฝ่ฟัง

.................................................................

 

1. ไก่ขันแว่วตั้งแต่ยังไม่เช้ามืด เสียงห้วยน้ำทอนหน้าบ้านไหลไม่ขาดห้วง จากที่ชัดเจนเป็นเสียงเดียวยามคืนดาวเด่น มันเพลาทำนองลงบ้างก็ต่อเมื่อความเคลื่อนไหวอันเรียบง่ายของรุ่งเช้ามาย่างเยือน ลำน้ำสายหลักของบ้านวังน้ำมอกไหลเรื่อยจากยอดเขา หล่อเลี้ยงกลางหมู่บ้าน และออกสู่ที่ราบด้านนอก ยาวไกลไปหลอมรวมกับแม่น้ำโขงที่ชายแดน

 

ผู้ใหญ่บ้านผ่านข่าวคราวความเคลื่อนไหวทางโทรโข่งกระจายเสียง สารทุกข์สุกดิบ ข่าวคราวน้ำท่วม หรือการจากไปของผู้เฒ่าแม่เฒ่าบางคนของหมู่บ้านชัดเจนตั้งแต่เช้า ปนไปด้วยอารมณ์ถ้อยทีถ้อยอาศัย ห่วงใย และเป็นมิตร ข่าวคราวการพัฒนาจากหน่วยงานด้านนอกดูจะเป็นเรื่องด้อยไปกว่าความเป็นไป ‘รายวัน’ ของพี่น้องในหมู่บ้าน

 

จากเมื่อวานที่ใช้ทางหลวงหมายเลข 211 เลาะแม่น้ำโขงมาจากหนองคาย เมื่อตัดขาดตัวเองจากถนนสายใหญ่เข้ามาอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ผมใช้ยามเช้านั่งทบทวนเปรียบเทียบอะไรบางอย่างอยู่ที่ศาลาหลังใหญ่ของที่ทำการโฮมสเตย์ป่าพื้นบ้าน อาหารชุมชน (วังน้ำมอก) พระสงฆ์จากวัดเทสรังสี-วัดป่าสายปฏิบัติอันแสนเคร่งครัดประจำหมู่บ้านทั้ง 8 รูปเดินบิณฑบาตรสุขสงบ แม่เฒ่าบ้านตรงข้ามนบมือไหว้ ภาพภาพตรงหน้าแช่มช้า เรียบเย็น

 

“ชื่อนี้เหมาะกับเราครับ มันเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ผมเด็กๆ” ติณณภพ สุพันธะ หรือน้าหน่อยของเด็กๆ พูดเนิบๆ เมื่อบ้านไม้เก่าแก่จากรุ่นพ่อของเขาเปิดบานประตูกว้าง ลมทุ่งพัดผ่านเข้ามาถึงภายใน “เราอยู่กับป่าเขามาเนิ่นนาน ทุกอย่างมีในนั้นหมด ตั้งแต่อาหาร บ้าน หรือกระทั่งการสั่งสอนลูกหลาน” ฟังดูคล้ายโลกอุดมคติ แต่หนุ่มที่หันหน้าจากเมืองหลวงย้อนกลับสู่บ้านเกิดที่วังน้ำมอกบอกให้เรารู้ว่ามันเป็นเช่นนี้จริงๆ

 

ผมเองเห็นภาพที่เขาบอกชัดขึ้น ก็ต่อเมื่อค่อยๆ ผ่านพาตัวเองเข้าไปในเรื่องเล่าตามซอกมุมของหมู่บ้าน ทางเดินบนภูเขา และตามรอยยิ้มของผู้คน

 

นับแต่ปี พ.ศ.2501 พื้นที่ห่างไกลแถบชายแดนแห่งนี้ถูกล้อมรอบด้วยความสมบูรณ์แน่นทึบของป่าเขา ว่ากันว่าภูผีปอบ-ยอดภูที่เป็นเหมือนสิ่งโอบอุ้มคนบ้านวังน้ำมอกนั้นคือแหล่งอาหารชั้นดี มากมายไปถึงคำว่าอาชีพ การงาน และความอยู่รอด

 

ผู้คนจากเขตอำเภอท่าบ่อ ศรีเชียงใหม่ อุดรธานี ยาวไกลไปถึงพี่น้องจากฝั่งนอกกำแพงนครเวียงจันทน์ หรือแม้แต่ชาวไทยพวนบางกลุ่ม จึงหันหน้าเดินผ่านทางภูเขาเข้ามา ‘ทำกิน’ ยังดินแดนแห่งนี้ “ที่นี่มีคนหลากหลาย แรกๆ มาทำไม้กันครับ เตาถ่านโบราณยังเห็นได้ที่ตีนภู” ติณณภพชี้ให้เราดู ‘เรือนเหย้า’ จำลองหลังย่อมที่เขาเพียรสร้างขึ้นมาตามคำบอกเล่าของพ่อแม่ ว่าแต่ก่อนคนที่มาอยู่วังน้ำมอกใหม่ๆ นั้น นอกจากทำนาทำไร่ มักใช้ไม้จากภูผีปอบสร้างเป็นเรือนเหย้าเพื่อขาย บ้านเรือนในยุคแรกๆ เริ่มต้นอย่างนั้น เป็นเรือนไม้คร่าวๆ มีฝา พื้น หลังคา แล้วค่อยขยับขยายกลายเป็นบ้านที่ถาวร มั่นคง คลุมแดดฝน

 

“เขาว่ามันสมบูรณ์ ฉันก็ตามพ่อแม่มา แต่ก่อนถนนยังไม่มี ทางดินหล่มโคลนนี่จากรถสิบล้อที่เข้ามาขนซุงไม้ทั้งนั้น เป็นวันๆ กว่าจะกลับออกไปได้” ป้าสมบัติ นามเคน นึกย้อนไปถึง 50 กว่าปีก่อนที่หมู่บ้านกลางหุบเขาแห่งนี้เป็นจุดหมายใหม่อย่างที่หลายคนเลือกมาที่นี่ “แต่ก่อนนะ หนาวๆ หมอกจัดหลาย เจ็ดโมงเช้ายังมองไม่เห็นลายนิ้วมือเลยล่ะ” ที่มาของวังน้ำมอกผันมาจากหมอก ตัวแทนแห่งความหนาวเย็นอันเป็นเสน่ห์ของที่นี่ หากใครเลือกมาเยือนวังน้ำมอกในหน้าหนาว ทั้งหมู่บ้านจะห่มคลุมอยู่ด้วยหมอกหนา ในไร่นา ธารน้ำ หรือบนขุนเขา

 

ป้าสมบัตินั่งเล่าเพลินอยู่หน้ากี่ทอผ้าโบราณ ลวดลายดอกแก้วน้อยบนผ้าผืนของป้าตกทอดมาเนิ่นนานตามแบบฉบับของคนอีสาน ถึงวันที่เลือกเข้าโครงการและเดินร่วมไปกับทิศทางใหม่แบบโฮมสเตย์ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทางศูนย์เลือกคิดเลือกทำ ล้วนมีที่มาจากผ้าทอของป้าและอีกหลายคนในหมู่บ้าน พวกเขาค่อยๆ คิดแต่ง ปรับปรุงงานเก่าเข้ากับงานใหม่ เห็นได้ชัดคือ ‘โคมไฟพาแลง’ ที่แขวนห้อยอยู่ทั่วศูนย์ ส่งสีสันหลายหลากสวยพราวยามส่องสว่างค่ำมืด “รุ่นใหม่ๆ เขาเก่ง ทำเป็นผ้าเช็ดมือ เสื่อ เสื้อผ้า โอ๊ย มากหลาย” ป้าว่าถึงผ้าทอเป็นผืนๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นผลิตภัณฑ์แล้วน่าชื่นใจ บางอย่างไม่หายสูญ บางสิ่งได้แตกหน่อ

 

ตามบ้านเรือนทั่วทั้งคุ้มบ้านโนน คุ้มน้ำตก และคุ้มในบ้าน ทั่วทั้งวังน้ำมอกมากไปด้วยรอยยิ้มและความเป็นตัวของตัวเองแทบทั้งวัน พวกเขาชัดเจนในเรื่องความคิดความเชื่ออันพร้อมจะส่งทอดถึงลูกหลาน วันที่ผมได้ร่วมกินเข้าเซาเฮือนกับคุณบรรดาลุงป้า ‘ซุมข้าวพาแลง’ นั้นน่าจดจำ การ ‘ซุม’ หรือกินข้าวร่วมกันใน ‘พา’ภาชนะจากธรรมชาตินั้นสะท้อนความมั่งมีในอาหารจากป่าเขาไว้ท่ามกลางบรรยากาศของญาติพี่น้อง แกงหน่อไม้กรอบหวาน ไก่บั้งสูตรดั้งเดิมของคนบ้านวังน้ำมอกที่ย่างหอมมาในกระบอกไม้ไผ่ ไม่นับรวมไวน์หมากหม้อ ที่เด็กๆ อันเป็น ‘เด็กรักษ์ป่า’ เก็บลูกหมากหม้อสีม่วงคล้ำจากบนภูเขามาช่วยกันหมักบ่มจนได้ที่ ทั้งหมดมากไปด้วยความรื่นรมย์ใยยามค่ำ

 

 ยิ่งในยามบายศรีสู่ขวัญ ที่พวกเขาทำกันเป็นวิถีชีวิตยามมีแขกบ้านแขกเมืองมาเยี่ยมเยือน นาทีที่พ่อพราหมณ์บูชาปู่หลุบ แม่เฒ่าผูกเส้นฝ้ายเข้าที่ข้อมือให้ใครสักคนให้ขวัญกลับมาอยู่กับตัว ภาพตรงนั้นอบอุ่นด้วยความเป็นครอบครัว ความหวังดีและห่วงใยกัน เท่าที่ความเป็นจริงแห่งมิตรภาพยังดำเนิน

 

ไกลแสนไกลกว่าใครสักคนจะเดินทางมาถึงหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ หมู่บ้านที่มากไปด้วยหนทางในการดำเนินชีวิต แต่มีเพียง ‘ทิศทาง’ เดียวที่จะดำรงอยู่

ในบรรยากาศอันมากไปด้วยความอบอุ่น รอยยิ้ม และสิ่งตกทอดสั่งสม ความยาวไกลแสนมีค่าอาจไม่กินความอยู่แค่เรื่องระยะทาง 

 

2. ป่าเขากว่า 3,500 ไร่ที่เหมือนกำแพงปิดกั้นคนบ้านวังน้ำมอกจากภายนอก ทำให้หมู่บ้านปิดแห่งนี้ต่อ

ยอดเติบโตล้วนอยู่ในสายตาและชีวิตของพวกขาตั้งแต่แรกเกิด

ผมเองได้เข้าใจคำว่าป่าพื้นบ้าน อาหารชุมชน ก็ต่อเมื่อเดินตามเด็กๆ ลูกหลานบ้านวังน้ำมอกขึ้นสู่ภูผีปอบในยามสาย แดดเริ่มฉายชัด ทว่าทางเดินกลับครึ้มร่ม เย็นรื่นด้วยไม้ใหญ่เสียดยอด

 

ติณณภพเดินนำหน้าไปกับเด็กๆ ปล่อยผมและเพื่อนร่วมทางชื่นชมกับดอกไม้เล็กๆ อย่างลิ้นมังกร เอนอ้า และแววมยุรา มันผลิพร่างในวันฝน ประดับสีม่วงสวยตลอดทางเดิน ลัดตัดทางชันขึ้นไปในเขต ‘ซุปเป้อร์มาร์เก็ต’ อันเก่าแก่ศักดิ์สิทธิ์ของคนบ้านวังน้ำมอก

 

กระเจียวแทงดอกสีแดงบ้าง ชมพูบ้าง ไล่เรียดรายทาง ผมหยุดดูเตาเผาถ่านโบราณที่รกเรื้อไปด้วยไม้ขึ้นคลุม อาชีพทำถ่านเหลือเพียงอดีตให้เล่าถึงการปักหลักในยุคแรกของคนบ้านวังน้ำมอก นาทีนี้มากล้นอยู่ด้วยการทำความรู้จัก เคารพ และต่อยอดการดูแลแหล่งอาหารชั้นดีไปสู่รุ่นต่อรุ่น

 

ผ่านป่าเพ็ก ป่าเต็งรัง ไล่เลยไปขึ้นไปตามความสูง ต้นยางเก่าแก่สูงเด่น มัคคุเทศก์น้อยๆ ราวกับเดินเล่นในสวนสนุกของพวกเขา ส่งเสียงเจื้อยแจ้วหยอกล้อ ทว่าของเล่นกลับคือพืชพรรณนานา บางคนเก็บกระบกไปทำกระดุม เห็ดมันปูสีเหลืองเด่นเป็นกอบกำคือแกงเห็ดของผู่ย่าข้างล่าง สิ่งที่พวกเขารู้จัก ผมเองแทบจะไม่เคยเห็น หรือถ้าเคยก็ล้วนห่างไกล ทำอะไรหรือเข้าใจอะไรอย่างพวกเขาไม่ได้สักอย่าง

 

“ภูผีปอบ ชื่อฟังน่ากลัวนะครับ แต่จริงๆ สะท้อนความแน่นขนัดในอดีต ที่ว่าคนแต่ก่อนขึ้นมาหาของป่า พอหลงก็ร้องว่ากล่าวเปรียบเทียบ เหมือนสบถนั่นล่ะครับ” ติณณภาพเล่าถึงที่มาของภูเขา ขณะดวงตาเราทอดมองแม่น้ำโขงและฝั่ง สปป. ลาวแถบนอกกำแพงนครเวียงจันทน์ มันงดงามด้วยภาพเปิดกว้าง ถนนสายเงียบงันของทั้งสองฝั่งดูรื่นรมย์ไม่แตกต่าง

 

จากการเปิดสัมปทานทำไม้ในปี พ.ศ.2507 ที่ดึงให้คนเข้ามาเยือนแผ่นผืนภูเขาที่สูงราว 350 เมตร จากระดับทะเลปานกลางลูกนี้ ใครจะรู้ว่าจากการตัดได้เผาถ่านที่เหมือนจะหอมหวานและคล้ายจะเป็นทางเดินให้ชีวิตเติบโต กินเวลาไม่ถึง 30 ปี ภูเขาอันเก่าแก่ สมบูรณ์คงทน ล้วนหายสูญไม้ใหญ่ ว่ากันว่าคนที่นี่เห็นหมอกน้อยลงก็ด้วยต้นธารข้างบนนี้แปรเปลี่ยน

 

จนเมื่อปี พ.ศ.2537 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมานมัสการหลวงปู่เทสก์ เทสก์รังสี ที่วัดหินหมากเป้ง แล้วมีพระราชดำรัสว่าป่าไม้แถบลุ่มแม่น้ำโขงนี้ควรจะอนุรักษ์ไว้ เช่นนั้นเองศูนย์พัฒนาลุ่มน้ำทอน ตามพระราชดำริ จึงเกิดขึ้นพร้อมๆ การเกิดกลุ่ม ‘เด็กรักษ์ป่า’ ตามมา การหันมาใส่ใจและดูแลต้นทุนทางสังคมป่าของพวกเขามากล้นไปด้วยความคึกคักและดูแลซึ่งกันและกัน

 

“เด็กๆ อาจไม่รู้ว่าพวกเขากำลังทำงานอนุรักษ์อยู่อย่างชัดเจนนะครับ แรกๆ พวกเขารู้เพียงว่าในป่าในป่ามีอะไร ตรงไหนสวย ตรงไหนงาม พ่อเม่เขาหาพืชพรรณอะไรมาเป็นอาหารเลี้ยงดูพวกเขา” น้าหน่อยของเด็กๆ บ้านวังน้ำมอกบอกว่าเป้าหมายไม่ได้มีไว้เพื่อคนนอก เพื่อการรับรู้หรืองบประมาณ แต่เพียงเพื่อที่จะให้คนบ้านวังน้ำมอกยุคหลังๆ รู้จักบ้านของพวกเขาดีกว่าที่อื่นๆ

 

เราผ่านไปเที่ยวชมอีกหลายต่อหลายจุดในเส้นทางศึกษาธรรมชาติง่ายๆ ที่เด็กพาไปชมบ่อน้ำทิพย์ ดงสลัดได และผ่านพ้นยามบ่ายกันด้วยความรื่นเย็นของน้ำตกวัวน้ำมอก มอสเขียวขึ้นคลุมราวโลกในนิทาน ห้วยน้ำทอนไหลเรื่อยจากธารน้ำผ่านพ้นไปสู่ที่ราบเบื้องล่าง

 

หลุดพ้นจากแนวป่าลงสู่หมู่บ้าน สะพานไม้ที่ทอดผ่านห้วยน้ำทอนยามนี้มากมายไปด้วยเด็กๆ ต่างวัย โจนเล่นในลานหินที่เรียงรายด้วยกุมภลักษณ์ สายน้ำเย็นเยียบสัมผัสได้จากรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของพวกเขา ผมนั่งมองโลกใบเล็กกลางหมู่บ้านอันรื่นเย็นอย่างผ่อนคลาย เป็นสุข

 

โลกที่ขับเคลื่อนอยู่ด้วยป่าเขา สายน้ำ และความเคารพหวงแหนพื้นที่ของพวกเขาราวดินแดนศักดิ์สิทธิ์

 

...................................................................

ระหว่างภูเขาที่กินค่าความหมายมากมายกับชีวิตรายรอบ หรือสายน้ำอันเย็นชื่นแสนอารี ที่หล่อเลี้ยงหมู่บ้านเล็กแห่งหนึ่งให้มากล้นไปด้วย ‘ที่มา’ ยามที่ใครสักคนนั่งลงตรงริมลำธาร ทอดมองความเขียวครึ้มของป่าเขา และสดับฟังเสียงหัวเราะอันเรียบง่ายในถ้อยคำของผู้ที่ปักหลักหายใจอยู่กับภาพเหล่านี้

 

นาทีนั้นเขาอาจคล้ายกำลังรื่นรมย์กับทำนองอันงดงาม มีความสุขกับบทเพลงที่บรรเลงด้วยตัวโน้ตอันเรียบง่าย ทว่าแสนเป็นจริงเป็นจังกับการใช้ชีวิต 

ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งทำให้ผมพบว่าชีวิตมี ‘ที่ทาง’