เสียมเรียบ

เสียมเรียบ

ทวยเทพหลากหลายในความคิดความเชื่อของศาสนาพราหมณ์เกี่ยวกอดน้อมนำให้บรรพชนของเขมรโบราณเอาศรัทธาเข้าร่วมกับการก่อสร้าง และภาพตรงหน้าของปราสาทนครวัดก็คือคำตอบอันชัดเจนที่สุดว่าเหตุใดโลกจึงยกย่องให้เหล่าหินทรายที่ก่อรูปขึ้นดั่งสวรรค์ของทวยเทพนี้คือหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลก

พื้นที่ราว 1.9 ล้านตารางเมตรล้อมรอบด้วยบารายขนาดใหญ่โตเต็มไปด้วยภาพชัดของวันวาน และวันนี้ที่กำแพงชั้นนอกบริเวณโคปุระกลาง หลายคนหยุดดูลูกเล่นของช่างโบราณ อัปสราเผยยิ้มตนเดียวในอัปสรา 4,000 กว่าตนของนครวัด รวมไปถึงเทวรูป8 กรที่ใหญ่โตราวสองเท่าของตัวคน

ภาพจำหลักที่ระเบียงคดชั้นแรกทั้ง 4 ทิศนั้น ไม่เพียงแต่ดึงดูดทุกสายตาให้หยุดนิ่ง ความคิดความเชื่อทางศาสนาเมื่อถ่ายทอดมาในวรรณกรรม บทกวีอันแสนเก่าแก่ ข้ามผ่านโพ้นทะเลจากอินเดียมาตกสะท้อนอยู่ในศรัทธาของบรรพชนเขมร กลายเป็นภาพจำหลักที่ยาวที่สุดในโลก ทั้งเรื่องรามเกียรติ์ มหาภารตะยุทธ ตำนานการกวนเกษียรสมุทร และกองทัพอันเกรียงไกรของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ที่ปรากฏภาพ “เสียมกุก” อันเลื่องลือ แนวทหารไร้ระเบียบอันมากมายด้วยชีวิตชีวาถูกตีความถึงที่มาไปหลากหลาย

ทว่าที่ชัดเจนคือการเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกันของโลกโบราณ ผ่านความคิดความเชื่อ ศึกสงคราม และสิ่งที่เรียงร้อยศรัทธาเข้ากับประวัติศาสตร์อย่างเหนียวแน่น

ผ่านพ้นรูปอัปสราที่ระเบียงคดชั้น 2 ว่ากันว่างดงามที่สุดด้วยทรงผมและเครื่องสูงประดับศีรษะกว่า 1,700 ตน ซึ่งหนาแน่นที่สุดในนครวัด ผ้าทิ้งชายของบางตนเบาบาง โปร่งใสราวไม่ใช่การแกะหิน นาทีนั้นผมนึกถึงผู้คนในยุคสมัยโบราณที่ใช้มากกว่าหัวใจทุ่มลงไปกับสิ่งที่ทำ บางทีสิ่งตรงหน้าก็อธิบายคำว่าศรัทธาออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรม

เมื่อผ่านขึ้นสู่ “บากาน” หรือชั้นบนสุดของปราสาทอันเป็นที่ตั้งของปรางค์ทั้ง 5 องค์ตามความเชื่อว่าเป็นที่ประทับขององค์วิษณุเทพ มุมมองจากเบื้องบนนั้นกระจ่างตา เห็นความเป็นไปอันแสนมีชีวิตชาที่รายล้อมศาสนสถานอันแสนยิ่งใหญ่แห่งนี้

หาก อองรี มูโอต์ เคยนิยามนครวัดไว้ในครั้งแรกที่ดวงตาได้พบเห็นว่า “...มันยิ่งใหญ่กว่าสิ่งใดๆ ที่กรีกและโรมันทิ้งไว้เป็นมรดกแก่เรา เป็นภาพขัดแย้งอันน่าสลดใจ ท่ามกลางความเสื่อมโทรมป่าเถื่อนของดินแดนที่ให้กำเนิดมันขึ้นมา...”

ภาพตรงหน้าที่เห็น เบื้องล่างล้วนเดินไปตามหนทางอย่างที่มันเคยเป็นมา ประวัติศาสตร์แทบทุกอณูของปราสาทอันอลังการถูกย่นยอและทำความเข้าใจอยู่ในตัวตนของไกด์หลากหลายภาษา สุ้มเสียงล่องลอยตามแนวระเบียงคด บ่งบอกถึงความสำคัญของสิ่งที่หล่อหลอมความเป็นพวกเขาขึ้นมา

นครวัดไม่ใช่ปราสาทลึกลับดิบเถื่อนสำหรับใครอีกต่อไป มันปรากฏชัดอยู่ในภาพถ่าย เรื่องเล่า บทบันทึก หรือแม้แต่ภาพวาดของช่างเขียนตัวเล็กๆ ที่ค่อยขึ้นรูปมหาปราสาทหรือนางอัปสราสักตนอยู่ริมบารายด้านนอก

หากแต่คุณค่าอันจริงแท้ของศาสนสถานเก่าแก่ที่ถวายแด่องค์วิษณุแห่งนี้ ล้วนอยู่ที่ผู้คนซึ่งหายใจร่วมกับมัน อันได้ก้าวเดินและใช้ชีวิตอยู่เคียงข้างราวกับเป็นส่วนหนึ่งในบ้านที่มากมายด้วยความมีชีวิต

รายรอบเมืองพระนครคือตัวตนของโลกโบราณที่ยังคงวิ่งเต้นอยู่ในรอยจำหลักของหินทรายและฐานศิลาแลงที่ก่อกันขึ้นเป็นปราสาทมากมาย 

“กอง” ไกด์หนุ่มชาวเขมรพาผมมายืนอยู่หน้าปราสาทบันทายสรี เพียงเพื่อจะพบว่าความละเอียดอ่อนและชั้นเชิงของช่างที่ว่ากันว่าราวกับไม่ใช่ฝีมือมนุษย์นั้นเป็นเช่นไร

ปราสาทหินทรายสีชมพูที่กองมักให้ผมออกเสียงตามว่า “บ็อนเตียซเร็ย” นั้นชัดเจนในความหมายของลวดลายและรูปทรงว่าคือเทวาลัยแห่งสตรี งดงาม อ่อนช้อย มากมายไปด้วยรายละเอียดอันแสนน่าทึ่ง

แทบไม่เหลือความว่างเปล่าบนเนื้อหิน ใครก็ตามที่ได้เห็นงานแกะสลักอันแสนเป็นตัวของตัวเองของบันทายสรี คงเห็นชัดในคำว่า“รัตนชาติแห่งศิลปะเขมร” ผมเดินตามกองไปในมนตราแห่งศิลาทราย ลวดลายพรรณพฤกษาและลายก้านขดนั้น กลีบดอกไม้นั้นคมกริบราวมือปั้น

เรื่องราวตำนานทวยเทพอวตารกลายมาเป็นงานสลักทับหลังอันหลากหลาย ยิ่งเดินยิ่งเพลินไปกับความงดงามสมบูรณ์ที่ทับหลังต่างๆ ซึ่ง “ยัชญวราหะ” พราหมณ์ใหญ่ในสมัยพระเจ้าราเชนทรวรมันสร้างถวายแด่พระอิศวร ในปี พ.ศ.1510

ทุกซุ้มประตู พลับพลา และองค์ปรางค์ประธานเด่นสวยด้วยทับหลังอันวิจิตร เรื่องราวของนรสิงหาวตารดูจะไม่มีใครพลาดที่จะเข้าไปทำความเข้าใจถึงภาคอวตาร เป็นครึ่งคนครึ่งสิงห์ของพระวิษณุ ที่เรียกว่านรสิงห์ อันมีเฉพาะที่บันทายสรีเท่านั้น 

บางเรื่องก็น่าทึ่งในความชำนาญในงานแกะสลัก อย่างลูกธนูนับร้อยดอกที่พระกฤษณะและอรชุนยิงขึ้นไปบังฝนของพระอินทร์ในเรื่องพระกฤษณะประลองกับพระอินทร์ 

หรือที่ถ่ายทอดออกมาได้อย่างมีชีวิตชีวาอย่างตอนทศกัณฑ์โยกเขาไกรลาสเพื่อทดสอบความเพียรของพระศิวะขณะกำลังเข้าฌาน เห็นพระอุมานั่งบนตักพระศิวะ ทว่าพระศิวะมิได้ออกจากสมาธิ ยังคงหลับตาบำเพ็ญอย่างสงบนิ่ง

อีกหลายเรื่องราวแกะสลักบนหินทรายสีชมพูอันแสนคงทนที่ทำให้บันทายสรีถูกนิยามว่าเป็นปราสาทหินที่สวยที่สุดในอาณาจักรเขมรโบราณ แม้จะมีขนาดเล็กและสร้างก่อนนครวัด ทว่าในความโดดเด่นของงานแกะสลักนั้นกลับลึกซึ้งและละเอียดอ่อนจนต้องแยกประวัติศาสตร์ศิลป์ออกเป็นช่วงศิลปะบันทายสรี (พ.ศ.1510-1543) 

แดดบ่ายฉายจัด ทว่าเราเข้าสู่ความร่มรื่นอันแสนใหญ่โตของปราสาทตาพรม อีกหนึ่งศาสนสถานอันมากด้วยภาพติดตาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่พระองค์สร้างถวายพระราชมารดา

“เดี๋ยวนี้มีป้ายทางบอกชัดครับ แต่ก่อนหลงเอาง่ายๆ” ก่อนเข้าสู่ความใหญ่โตของปราสาททั้ง 24 หลังของตาพรม บรรยากาศลึกลับ ชวนจินตนาการโลดแล่น คือหนึ่งภาพที่เราต่างพกพาติดความคิดมาก่อนหน้านี้

และมันก็เป็นเช่นนั้นอย่างที่สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศได้ตั้งใจบูรณะเพื่อให้ที่นี่ได้คงเดิมและมีบรรยากาศใกล้เคียงกับที่มันเคยเป็นมากที่สุด รากของต้นสะปงที่ขึ้นคลุมและค้ำยันองค์ปราสาทไว้แทบทุกมุมล้วนผ่านพามิติทางสายตาให้พบแต่ความอลังการ 

“บ้างก็ว่ารากสะปงไม่ได้แค่ซอกซอนไปทำลายปราสาทครับ แต่มีส่วนในการค้ำยันรวมถึงห่อหุ้มอิฐหลายก้อนไว้ให้คงอยู่”

กองชี้ชวนให้เราดูรูปสลักสัตว์ที่มุมเสาประดับกรอบประตูทิศใต้ แลคล้ายไดโนเสาร์พันธุ์สเตโกซอรัส อันเป็นลูกเล่นหรือสิ่งที่ช่างโบราณต้องการสื่อสารความเป็นปริศนานี้มาสู่คนรุ่นหลัง 

“ไม่มีคำตอบสักทีครับ ผมเองก็รออยู่” เขาเริ่มติดตลกเมื่อบรรยากาศผ่อนคลาย

จนเมื่อใครสักคนเริ่มต้นจะทำความรู้จักเพื่อเข้าใจตนเอง ภาพร่างอันกระจัดกระจายเหล่านี้กลับถูกนำมาปะติดปะต่อ แต่งเสริมหรือบิดเบือนให้เป็นไปตามความต้องการเฉพาะด้าน

และเมื่อรู้ตัวอีกครั้ง เราต่างก็ผ่านการหมุนเวียนของวันเวลามาแล้วนานแสนนาน 

เย็นย่ำเราอยู่กันที่หมู่บ้านกำปงพล๊วก ชายขอบโตนเลสาบด้านที่ไร้การท่องเที่ยวอย่างแท้จริง ชีวิตชายขอบทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของที่นี่ชัดเจนด้วยแววตาและสุ้มเสียงของคนเขมรอย่างเดียว ไร้คนจามหรือเวียดเข้ามาปะปน

ตลาดนัดยามเย็นมากมายด้วยปลาจากโตนเลสาบ แม้ยามนี้จะเป็นฤดูที่น้ำแห้งที่สุด การล่องเรือของเราทำได้เพียงผ่านพ้นตัวเองไปตามแม่น้ำเรอลัวะที่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาพนมกุเลน และทึ่งกับหมู่บ้านที่กอดกุมผู้คนกว่า 300 หลังคาเรือนไว้ในภาพงดงามเหนือจริง

แต่ละบ้านสูงจากพื้นดินราว 14 เมตร ด้วยโครงเสาไม้ และจะกลายเป็นหมู่บ้านลอยน้ำเมื่อเข้าเดือนพฤศจิกายน ที่น้ำ 55เปอร์เซ็นต์ซึ่งหลากไหลมาจากแม่น้ำโขงยังระบายออกไม่ทันตรงแม่โขงเดลตาในเขตเวียดนามตอนใต้ โลกแห่งประมงขับเคลื่อนให้พวกเขามีชีวิต และปลาคือคำตอบของการมีชีวิตที่ดีในแต่ละวัน

ริมตลิ่งคือนาข้าวและตามบ้านเรือนคือห้วงยามแห่งการซ่อมแซมบ้านเรือน เตรียมข่ายปลา รวมถึงอุปกรณ์หาปลาอันแสนน่าทึ่ง

“เรามีความมั่งคั่งมั่นคงมากมาย อุดมสมบูรณ์ทรัพยากร ไม่เช่นนั้นอะไรเลยจะก่อให้เกิดศิลปินและช่างมากมาย ปราสาทเหล่านี้ย่อมยืนยันได้” เขาพูดอย่างคนเคยลำบาก เคยรับผลกระทบ และมากมายไปด้วยคำถามต่อโลกใหม่

สำหรับเราซึ่งเป็นคนนอก อาจไม่แตกต่างกันนักท่องเที่ยว มาเยือนและจากไป แววตาที่เห็นในเมืองใหญ่อย่างเสียมเรียบนั้น หาได้เหมือนกันกับคนที่มีชีวิตอยู่รอบนอกถ้วนทั่วดินแดนนี้ ที่การเอาชีวิตรอดในแต่ละยุคสมัยอาจเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ในโลกไม่อาจแม้จะทนรับฟังได้

เพราะทุกความเปลี่ยนแปลงล้วนหล่อหลอมความเป็นเขาขึ้นมา เต็มไปด้วยทั้งเลือดเนื้อและฉากผ่านของวันเวลาอันไม่อาจทะนุถนอมอะไรไว้มากนัก

นอกจากความทรงจำ

จุดหมายของทุกคนมุ่งตรงมาสู่เสียมเรียบ