ศาสตราจารย์  ระพี สาคริก

ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก

ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก นับเป็นปูชนียบุคคลสำคัญของประเทศคนหนึ่ง ท่านเป็นทั้งนักวิชาการ นักวิจัย นักปกครอง นักคิด นักเขียน นักดนตรี นักแต่งเพลง นักศิลปะ นักปราชญ์ และอีกหลายๆ นัก ท่านคือสัญลักษณ์ของคุณงามความดีแห่งสยามประเทศมีชีวิตผ่านหลายช่วงหลายสมัย ผ่านเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองนับไม่ถ้วน จึงเป็นเสมือนเสาหลักที่ควรค่าแก่การนับถือของอนุชนคนรุ่นหลังที่ควรนำไปเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตและการทำงาน

ในวัยขนาดนี้ แต่ท่านก็ยังนิยมทำงานอยู่เป็นนิจ บ่อยครั้งที่มุ่งมั่นทำงานจนดึกดื่นอยู่เสมอๆ นอกจากนี้ท่านยังเดินสายปาฐกถาแสดงทัศนะจากประสบการณ์และความรู้ให้กับหน่วยงานสำคัญต่างๆ อย่างไม่รู้จักเหนื่อย เหมือนเช่นที่เคยทำมาเมื่อหลายสิบปีก่อน

“ชีวิตของผมทำงานไม่เคยหยุดนิ่ง อย่างมีอยู่ครั้งนึง ผมไปถึงเชียงใหม่ตอนกลางวัน พอตกกลางคืนนอน แต่ตอนตี 5 ก็ต้องออกเดินทางไปนครศรีธรรมราชต่อก็มี ผมเดินทางเรื่อยๆ ครับ แล้วที่ผมทำงานดึกก็เพราะทำแล้วมีความสุขดี คือคนเราถ้าทำอะไร แล้วสบายใจก็รีบทำเถอะ ปีนี้ผมอายุ 90 ปี มีคนจะมาร่วมกันจัดงานฉลองให้ผม แต่ผมบอกไปว่าไม่ต้องทำอะไรให้มันหรูหรา แต่ทำอะไรให้มีสาระเป็นประโยชน์แก่ประชาชนดีกว่า”

ด้วยบุคลิกที่ไม่ถือตัว ติดดิน และมีจิตใจดี ศาสตราจารย์ระพีจึงเหมือนการตกผลึกทางความคิด มีการมองโลกในแง่มุมที่เข้าใจเรื่องราวของสังคม และชีวิตได้อย่างน่าชื่นชม ส่วนหนึ่งที่เป็นแบบนี้ได้นั้น ท่านได้รับการเลี้ยงดูอบรมมากจากคุณพ่อ ขุนตำรวจเอกพระมหาเทพกษัตริยสมุห (เนื่อง สาคริก) และคุณแม่ สนิท ภมรสูตร มาอย่างดี โดยเฉพาะคุณพ่อของท่านได้ให้หลักการคิดและการใช้ชีวิตไว้มากมายอยู่พอสมควร

“เวลาเลี้ยงลูก ท่านรู้จักแยกแยะระหว่างความรักกับความหลงออกจากกัน ท่านรักลูก แต่ไม่หลงลูก สมัยเด็กผมก็ถูกส่งไปทำงานหนักๆ เหมือนคนทั่วไป ไม่มีอภิสิทธิ์เหนือใคร เวลามีการทะเลาะกันในหน่วยงาน พ่อผมเป็นคนที่เป็นวางตัวเป็นกลางเสมอ ท่านไม่เคยเข้ากับพวกไหนเลย

“ผมเคยตามพ่อไปนอนต่างจังหวัด ได้เห็นท่านนอนบนเตียงผ้าใบเหมือนลูกน้อง เวลาตรวจงานในสถานที่ที่มีอันตรายหรือเปลี่ยวแค่ไหน ท่านก็จะออกหน้าตลอด

“จำได้ว่าพ่อผมจะไม่เก็บสมบัติอะไรไว้เลย แล้วก็ไม่เคยขอของใคร เวลาพ่อเสียชีวิตไม่มีใครได้อะไรสักอย่างที่เป็นสมบัติมีมูลค่า แต่ผมได้ไวโอลินของท่านมาตัวเดียว เหมือนเป็นการสอนหลักธรรม ผมจึงเขียนบันทึกไว้ว่า พ่อมาตัวเปล่า ตายไปก็ไปตัวเปล่า แต่ทรัพย์สินที่ยิ่งใช้ยิ่งเพิ่มก็คือสติปัญญา”

ผลงานที่สร้างชื่อเสียงของศาสตราจารย์ระพีจะเน้นไปที่เรื่องของเกษตรเป็นหลัก ท่านเป็นนักวิจัยพันธุ์ข้าว พันธุ์ผัก ยาสูบ แต่ที่โดดเด่นมากที่สุดก็คือการอุทิศทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ในค้นคว้าและวิจัยกล้วยไม้อย่างจริงจัง ท่านเป็นคนริเริ่มปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์กล้วยไม้เพื่อการส่งออกไปยังต่างประเทศ สร้างรายได้ให้กับคนรุ่นหลังมากมาย ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันในความสามารถของท่านทั้งในและต่างประเทศ จนท่านได้รับการยกย่องให้ “เป็นบิดาแห่งกล้วยไม้ไทย”

คนสมัยนี้ไม่รู้หรอกว่ากล้วยไม้ในยุคแรกๆ นั้นมีค่ามาก คือต้องเป็นกลุ่มคนที่มีเงินจริงๆ เท่านั้นที่สามารถเล่นกล้วยไม้ได้ คนพวกนี้บางคนจะเป็นคนที่ค่อนข้างลืมตัวลงข้างล่างไม่ได้ พอคิดว่าตัวเองมีสิ่งที่คนอื่นไม่มีก็เอากล้วยไม้มาดูถูกชาวบ้านดูถูกเด็กที่ยากจน แต่เขาลืมไปว่าทั้งเด็กและชาวบ้านเป็นฐานของสังคม ผมเห็นเรื่องแบบนี้มาตั้งแต่อายุไม่เท่าไหร่ พอโตขึ้นก็คิดว่าจะต้องต่อสู้เพื่อให้สังคมให้มันเท่าเทียมทำลายกำแพงกั้นระหว่างชนชั้น โดยใช้กล้วยไม้เป็นสื่อ

“สมัยก่อนก็มีการค้าขายกล้วยไม้กับต่างประเทศ แต่เป็นในลักษณะของการเก็บกล้วยไม้ป่ามาขาย แล้วส่งออกไปต่างประเทศหลังจากนั้นฝรั่งเขาก็ทำกล้วยไม้สำเร็จรูปส่งมาขายเราอีกที ธรรมชาติของเราก็ถูกทำลายแถมเสียเงินอีก แล้วในอดีตคนไทยที่มีพันธุ์กล้วยไม้เขาจะปิดเป็นความลับ ทำให้ผมอยากศึกษา พอผมมีความรู้จากการศึกษาอย่างจริงจัง กลายเป็นว่าพวกพ่อค้ากล้วยไม้ต่างประเทศบางคนเขาไม่ชอบผม เพราะผมไปเปิดเผยกระบวนการปลูกกล้วยไม้ทั้งหมด

“มีบางคนกล่าวหาว่ากล้วยไม้ทำลายเศรษฐกิจ ผมบอกว่ามันไมใช่ กล้วยไม้มันพูดไม่ได้ ทำอะไรใครก็ไม่ได้ แล้วจะไปทำลายเศรษฐกิจได้อย่างไร แต่สิ่งที่ผมทำมันไปขัดผลประโยชน์ของคนบางคน แต่ใครจะว่ายังไงผมจะเฉย ทำงานในส่วนของผมไป”

ศาสตราจารย์ระพีเคยก้าวไปถึงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่ดูเหมือนว่าท่านจะไม่ได้ยึดถือในตำแหน่งนี้เลยแถมยังใช้หลักการเพื่อนมนุษย์ในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในยุคนั้นได้อย่างน่าสนใจ

“การทำงานที่มหาวิทยาลัยเกษตร ผมยึดหลักเพียงว่าอย่าดูถูกเรื่องเล็กน้อยๆ ต้องละเอียดรอบคอบ ต้องเห็นใจคนอื่น โดยเฉพาะคนข้างหลังอยู่ตลอด เอาใจเขามาใส่ใจเรา สมัยเราอยู่ข้างล่างมองคนข้างบนอย่างไร ถ้าไม่ดีก็อย่าทำ ยกตัวอย่าง บางทีผมเจอคนดายหญ้าอยู่ในมหาวิทยาลัย ผมหยุดรถจักรยานแล้วคุยกับเขานิดนึง เป็นยังไงเหนื่อยไหม แบบนี้ผมว่ามันช่วยเติมพลังให้เขาได้นะ นิสิตบางคนเดินอยู่ข้างถนนผมก็ไปส่งถึงห้องเรียน ตอนนั้นในมหาวิทยาลัยเกษตรเขาเรียกผมคุณพ่อหมดเลย ผมก็รักพวกเขาเหมือนลูก

“เพราะฉะนั้นช่วงเวลาที่ผมเป็นอธิการบดี เวลามีการจัดงานจะมีคนมาช่วยเหลือแบบเต็มใจมากมาย ผมจึงพูดในหลายๆ ครั้งไว้ว่าคนเขาไหว้เราจากข้างหน้า บางทีมันก็ไม่ใช่ของจริง ของจริงคือการให้คนไหว้เราจากข้างหลังต่างหาก”

ในปีพ.ศ.2520 บ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลง โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งมีพลเอกเกรียงศักดิ์ชมะนันทน์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยนั้นมีการปฏิรูปโครงการต่างๆ ในรัฐบาล เช่น การปรับปรุงสัมพันธภาพกับประเทศเพื่อนบ้าน มีการจัดตั้งหน่วยงานสำคัญๆ เพิ่มขึ้นอีกหลายหน่วยงาน เช่น การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ฯลฯ

แม้รัฐบาลจะมีการทำงานมากมาย แต่เพื่อให้คนเชื่อมั่นในรัฐบาลมากขึ้นจึงต้องเชิญบุคคลที่คิดดีมีคุณธรรมเข้ามาร่วมบริหารงานภายในประเทศเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน เมื่อพิจารณาแล้ว ศาสตราจารย์ ระพี จึงได้รับเชิญให้เข้าร่วมรัฐบาล ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

“สมัยนั้นผมไม่รู้จักนายกนะ มีอยู่วันหนึ่งเขาชวนผมมากินข้าว เขาบอกว่าเชิญอาจารย์มาขอบคุณที่เป็นแบบอย่างในการทำงานที่ทำให้ทหารผมเรียบร้อย เพราะผมเคยอบรมทหารเรื่องการเกษตร หลังจากที่ได้คุยกันผมก็ตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาล

“ผมเองเป็นรัฐมนตรีที่ลงไปหาชาวบ้าน ชาวบ้านเองก็อยากรู้ว่าข้าราชการเป็นยังไง ชาวบ้านก็ตามมาดูผมทำงาน อย่างมีงานเกษตรที่ต้องทำนา ผมก็ลงไปดำนาเอง มีข้าราชการส่วนนึงตามผมลงมาในนา แต่อีกส่วนก็หนีไปยืนรอ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ต้องไปว่ากัน ถือว่าเป็นความรู้ทั้งนั้น ผมถือว่าผมเป็นผู้ให้กับคนเล็กกว่า แทนที่ผมจะเดินไปหาข้าราชการ หรือไปหาอธิบดี ผมเดินเข้าไปหาคนที่เรียนจบมาใหม่ๆ ไปถามสารทุกข์สุขดิบของเขา

“ตอนหลังมีคนมาเชิญให้ผมไปเป็นคณะร่างรัฐธรรมนูญ แต่ผมก็ไม่เหมือนคนอื่น ไม่เคยเลียแข้งเลียขาใคร ไม่เคยเข้าบ้านนายกโดยไม่จำเป็น ผมทำงานจนมีนักการเมืองหนุ่มคนหนึ่งเขียนจดหมายมาหาผม บอกว่ารัฐบาลชุดนี้ได้ท่านอาจารย์ทำให้ภาพดีขึ้นเยอะเลย แต่ผมไม่ได้คิดอย่างนั้น ผมคิดว่า แค่ทำงานให้ดีที่สุดก็พอ”

ที่เห็นศาสตราจารย์ระพีทำงานหนักมาตลอด จนเรียกได้ว่าเหนื่อยมาทั้งชีวิตนั้น ท่านบอกว่าได้รับแบบอย่างโดยตรงมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยยึดหลักคำสอนต่างๆ มาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และยังมีกำลังใจที่ดีในการทำงานอยู่เสมอแม้ว่ากาลเวลาจะผ่านมานานเท่าไหร่ก็ตาม

“ผมทำงานถวายในหลวง ครั้งนึงมีรับสั่งโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าที่ตำหนักจิตรดา ท่านรับสั่งกับผมว่าติดตามผลงานของผมมาโดยตลอด ขอเป็นกำลังใจให้อย่าท้อ ผมพูดอะไรไม่ออกเลย ได้แต่น้ำตาไหลออกมา

“ช่วงที่ผมเป็นอธิการบดีฯ ในหลวงท่านเสด็จมาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท่านรับสั่งว่า ‘การเกษตรฉันต้องมา’ ผมยังบอกหลายๆ คนว่าท่านหวังว่าเกษตรจะเป็นแม่พิมพ์ให้กับสถาบันที่ทำเกษตรอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งน้ำท่วมป่าละอู ที่อยู่ชายแดนไทยพม่า ซึ่งตอนนั้นยังเป็นป่าจริงๆ ช่วงหนึ่งมันแห้งชาวบ้านก็ไปอยู่ทำมาหากิน จนอยู่มาปีหนึ่ง มีพายุผ่านมา น้ำป่าเข้าชาวบ้านเสียชีวิตกันเยอะ ท่านก็สั่งให้หน่วยงานเกษตรเข้าไปช่วยชาวบ้าน แล้วท่านก็เสด็จมาเยี่ยม มาทรงดนตรีให้กำลังใจ

“ทุกวันนี้ผมปล่อยวาง ไม่ใช่ไม่ทำอะไรนะ กลับกลายเป็นว่าได้ทำมากกว่าเก่าอีก พอปัญญามันเกิด สมองมันก็แล่น มองเห็นหมดเลยว่าอะไรอยู่ตรงไหน เห็นด้วยปัญญาคิดอยู่ตลอดเวลา แต่ตอนผมหลับ ผมหลับสนิท ไม่คิดอะไร พอตื่นขึ้นมาคิดอะไรได้ก็เอามาจดไว้ก่อน เช้าขึ้นเอามาขยาย แล้วโพสต์ลงใน facebook ใครส่งอะไรมาผมตอบทุกคน ไม่มีที่ผมจะไม่ตอบ เพราะสิ่งที่ตอบไปจะเป็นกำลังใจให้เขา เราเองต้องเปิดใจ การจะคิดริเริ่มอะไรใหม่ๆ มันเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้ายังเดินตามหลังคนอื่น

“ผมเองก็ไม่ใช่คนเก่ง แต่เป็นชิ้นส่วนหนึ่งของความหลากหลาย จะให้แต่ละคนเก่งเหมือนกันมันไม่ได้หรอก เพียงแต่ทุกคนทำงานของตัวเอง และขอให้ทำจากความจริงที่อยู่ในจิตใจเรานี่แหละ ขอให้รู้จักพิจารณาตัวเองอยู่ตลอด

“เวลาคิดงาน ผมจะขึ้นต้นหวนกลับไปนึกถึงอดีต คือค้นหาตัวเองจากใจ อดีตเราทำอะไรอยู่เหมือนปลูกเรือนทำเสาเรือนให้ดีแล้วข้างบนก็จะต่อเติมได้ดีเอง ผมบอกว่าผมไม่มีพรให้ใคร หรือบังอาจให้พรใคร เพราะทุกคนมีพรสวรรค์อยู่แล้ว ที่เขาเรียกว่าพรสวรรค์ก็เพราะแปลว่าพรที่ธรรมชาติให้มา ฉะนั้นทุกข์เมื่อไหร่ ก็ค้นหาจากใจเราเอง

About Him
- ศาสตราจารย์ระพี สาคริก เป็นคนกรุงเทพโดยกำเนิด จบชั้นมัธยมบริบูรณ์และได้รับประกาศนียบัตรจากกระทรวงศึกษาธิการถึง 2 ใบ จากนั้นจึงได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ต่อมาสถาปนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หลักสูตรปริญญาตรี 5 ปี เมื่อ พ.ศ. 2486) ซึ่งเปิดสอนระดับเตรียมมหาวิทยาลัยที่แม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ (แม่โจ้รุ่น 7) โดยศึกษาในคณะเกษตร ท่านได้เลือกศึกษาด้านกสิกรรมและสัตวบาล สาขาปฐพีวิทยาระดับปริญญาตรี และได้รับพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อ พ.ศ.2490

- ท่านได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา สาขาเกษตรศาสตร์ (พ.ศ.2511) ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดด้านวิชาการ

- ศาสตราจารย์ระพี สาคริก เคยเป็นสมาชิกรุ่นก่อตั้งและนักดนตรีวงดนตรีเคยูแบนด์ และเข้าร่วมวงดนตรี อ.ส. ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ออกอากาศทางสถานีวิทยา อ.ส. เมื่อ พ.ศ.2495

- ท่านยังมีผลงานเขียนบทความและหนังสือในด้านวิชาการและด้านอื่นๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะหนังสือเรื่องกล้วยไม้อีกนับสิบเล่ม

การสีไวโอลินของศาสตราจารย์ ระพี สาคริก ในวัย 90 ปี